Blog Page 15

ข่าวประชาสัมพันธ์ : เช็กเครดิตบูโรผ่านแอป Krungthai NEXT รับคูปองส่วนลด LAZADA 50 บาท เพียงลงทะเบียนรับสิทธิ์และทำรายการตรวจเครดิตบูโร

ข่าวประชาสัมพันธ์

สุดคุ้ม! รับคูปองส่วนลด LAZADA 50 บาท
เพียงลงทะเบียนรับสิทธิ์และทำรายการตรวจเครดิตบูโร
ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://krungthai.com/th/content/personal/krungthai-next/sep-oct-2023-ncb-lazada50
  • รับคูปองส่วนลด LAZADA 50 บาท เมื่อ
    1.ลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่าน LINE Krungthai Connext หรือ Application Krungthai NEXT
    2.ทำรายการตรวจเครดิตบูโร ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT
  • ระยะเวลา: 11 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2566
  • จำกัดสิทธิ์การรับคูปองส่วนลด LAZADA 1,000 สิทธิ์ต่อสัปดาห์ โดยสิทธิ์จะเริ่มนับใหม่ทุกๆ วันจันทร์ เวลา 00.01 น.
  • บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิตและคะแนนเครดิตมีค่าธรรมเนียม ดังนี้
  • บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิต ช่องทาง Krungthai NEXT ค่าธรรมเนียม 150 บาท
  • บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิตและคะแนนเครดิต ช่องทาง Krungthai NEXT ค่าธรรมเนียม 200 บาท

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เช็กสุขภาพการเงินแบบง่ายๆ ตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ ผ่าน “เป๋าตังเปย์” บนแอปเป๋าตัง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 22 กันยายน 2566

เช็กสุขภาพการเงินแบบง่ายๆ ตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ ผ่าน “เป๋าตังเปย์” บนแอปเป๋าตัง

บทความวันนี้ ผมอยากจะชวนทุกท่านเช็กสุขภาพการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอกันนะครับ โดยเครดิตบูโรเพิ่มช่องทางบริการตรวจเครดิตบูโรออนไลน์  ผ่าน “เป๋าตังเปย์”  ซูเปอร์วอลเล็ตยอดนิยมของคนไทย บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” นับว่าเป็นการตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบดิจิทัลไลฟ์สไตล์วิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจเครดิตบูโรแบบง่าย ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา  ครบทุกข้อมูลสินเชื่อ ทุกสถานะบัญชี 

สำหรับขั้นตอนตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ ผ่านเป๋าตังเปย์ บนแอปเป๋าตัง ทำได้โดยคลิกที่ “เป๋าตังเปย์” และเลือก “ตรวจเครดิตบูโร” ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเลือกรายงานข้อมูลได้ 2 ประเภท คือ 1.ข้อมูลเครดิต 2.ข้อมูลเครดิตและคะแนนเครดิต (เครดิตสกอริ่ง)  และเลือกรับรายงานทางอีเมลภายใน 24 ชั่วโมง หรือรับผลทางไปรษณีย์ภายใน 7 วันทำการ  ทั้งนี้ ขอให้เช็กข้อมูลส่วนบุคคลในระบบแอปพลิเคชันที่ใช้บริการ ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์ มือถือ และที่อยู่ของท่าน  กรณีมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาปรับแก้ไขในระบบให้ถูกต้อง ก่อนใช้บริการ หากยังไม่ได้รับรายงาน โปรดแจ้งรายละเอียดการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโร ได้ที่อีเมล consumer@ncb.co.th   

สำหรับเหตุผลดี ๆ ที่ควรตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีดังนี้ครับ  1) ช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน  เช็กว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่  2) การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ  3) เช็กว่าข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลเครดิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่  4) ข้อมูลสินเชื่อของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้ 5) เช็กให้ชัวร์ว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่ 6) เช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว สถานะข้อมูลเครดิตขึ้นเป็นปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่  ทั้งนี้ การตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองครับ

เครดิตบูโรรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : นิติบุคคลยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรได้ทางไหนบ้าง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 8 กันยายน 2566

นิติบุคคลยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรได้ทางไหนบ้าง

บทความวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรสำหรับนิติบุคคล โดยเหตุผลที่ต้องตรวจเครดิตบูโรแบบเจ้าของข้อมูลเครดิตที่เป็นนิติตบุคคล เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจตนเอง  สร้างโอกาสในการยื่นของสินเชื่อหากมีเครดิตดี และแสดงตัวตนเบื้องต้นให้กับสถาบันการเงินว่าประกอบธุรกิจอะไร รวมทั้งเป็นการแสดงวินัยการเงิน ธุรกิจจากประวัติและสถานะบัญชีอีกด้วยครับ  สำหรับช่องทางและขั้นตอนการยื่นขอตรวจเครดิตบูโรแบบนิติบุคคล มีดังนี้ครับ

1 ยื่นคำขอตรวจแบบนิติบุคคล แบบรับรายงานได้เลย ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนธนาคาร) (ใกล้ MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9) โดยเตรียมหลักฐาน ได้แก่  สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล อายุไม่เกิน 3 เดือน ลงนามรับรองโดยกรรมการผู้มีอำนาจ และประทับตราบริษัท (ถ้ามี) และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

2 ยื่นคำขอตรวจทางไปรษณีย์ มรายละเอียดดังนี้ครับ

2.1 นิติบุคคลกรอกรายละเอียด “แบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตนิติบุคคล” ที่เว็บไซต์เครดิตบูโร เมนู ดาวน์โหลดเอกสารคำขอ หรือคลิก  www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/request-credit-bureau-doc-download  พร้อมลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจ และประทับตราบริษัท (ถ้ามี)   โดยแนบหลักฐานประกอบ ได้แก่ สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล อายุไม่เกิน 3 เดือน พร้อมลงนามรับรองโดยกรรมการผู้มีอำนาจ และประทับตราบริษัท (ถ้ามี) และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

2.2 ชำระค่าบริการตรวจข้อมูลเครดิต เป็นแคชเชียร์เช็ค (Cashier Cheque)  สั่งจ่าย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (รายละเอียดอัตราค่าบริการเลือกในแบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตนิติบุคคล หรือได้ที่เว็บไซต์เครดิตบูโร เมนู ตรวจเครดิตบูโรสำหรับนิติบุคคลทางไปรษณีย์ หรือคลิก  www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/corporate-check-credit-bureau-at-postoffice

2.3 จัดส่งเอกสารหลักฐานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จ่าหน้าถึง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (กรณีตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล) เลขที่ 33/4 อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรด์ พระรามเก้า ชั้น 2 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

2.4 รายงานข้อมูลเครดิตจะจัดส่งให้กรรมการผู้จัดการ ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองของนิติบุคคลเท่านั้นครับ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ consumer@ncb.co.th ครับ

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เช็กก่อน…ชัวร์แน่นอน ติดตามรายงานเครดิตบูโรทางอีเมลและไปรษณีย์ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 25 สิงหาคม 2566

เช็กก่อน…ชัวร์แน่นอน ติดตามรายงานเครดิตบูโรทางอีเมลและไปรษณีย์

มีหลาย ๆ ท่านสอบถามกันเข้ามาว่า ยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรไปแล้ว แต่ทำไมรายงานข้อมูลเครดิตยังไม่ส่งมาสักที วันนี้เราจะบอกวิธีการติดตามรายงานข้อมูลเครดิตกันครับ

1.กรณีรับรายงานทางอีเมล (NCB e-Credit Report) ยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน

เช็กให้ชัวร์ก่อนครับ ว่าอีเมลในส่วน Inbox (กล่องเข้า) ของท่าน มีข้อความแจ้งการนำส่งรายงาน…หรือไม่ หากไม่พบข้อความการนำส่งรายงาน โปรดตรวจสอบเพิ่มเติมในส่วนอื่น ๆ เช่น Junk (ขยะ จดหมายขยะ) Spambox (สแปมเมล อีเมลขยะ) Trash (ถังขยะ) Social (โซเชียล) Promotion (โปรโมชัน) เป็นต้น

และขอให้ท่านเช็กข้อมูลส่วนบุคคลในระบบแอปพลิเคชันที่ใช้บริการ ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์ มือถือ และที่อยู่ของท่าน  กรณีมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาปรับแก้ไขในระบบให้ถูกต้อง ก่อนใช้บริการ หากยังไม่ได้รับรายงาน โปรดแจ้งรายละเอียดการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโร ได้ที่อีเมล consumer@ncb.co.th ครับ

ข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ โปรดตรวจสอบก่อนทำรายการ ดังนี้ กรณีท่านใช้โทรศัพท์มือถือ 2 ซิม (Dual SIM) ขอให้เลือกใช้ซิมที่ยืนยันตัวตน หรือได้ลงทะเบียนไว้กับธนาคารเป็นซิมหลัก เพื่อรับรหัสผ่านบนโทรศัพท์มือถือของท่าน (หากใช้ซิมสำรอง อาจไม่ได้รับรหัสผ่าน)

ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางการตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน รับรายงานทางอีเมล มีดังนี้ครับ

–  แบบรับรายงานได้ทันที ผ่านแอป “KKP Mobile” (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) หรือโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ 

– แบบรับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านแอป “Krungthai NEXT” (ธนาคารกรุงไทย)  หรือแอป “MyMo” (ธนาคารออมสิน) หรือ “เป๋าตังเปย์” บนแอปเป๋าตัง  หรือแอป “Flash Express” (Flash Money)

– แบบรับรายงานภายใน 3 วันทำการ ผ่านแอป “ttb touch” (ธนาคารทีทีบี)

 2.กรณีรับรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (ภายใน 7 วันทำการ)  ยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย กรุงศรี ธอส. ธ.ก.ส. หรือตู้ ATM กรุงไทย ไทยพาณิชย์ หรือที่ทำการไปรษณีย์

หากท่านยังไม่ได้รับรายงาน ขอให้แจ้งชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน และรายละเอียดการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโร ได้ที่อีเมล consumer@ncb.co.th  เครดิตบูโรจะมีอีเมลตอบกลับ และแจ้งเลขที่เอกสาร ลงทะเบียน 13 หลัก  [ตัวอย่าง : EF582568151TH] เพื่อให้ท่านเช็กสถานะทางไปรษณีย์ออนไลน์ที่ http://track.thailandpost.co.th ครับ

สำหรับการยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต เจ้าของข้อมูลยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ เครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ข่าวเครดิตบูโร : 004/2566 NCB-NDID-SET-ICON ผนึกเปิดระบบ ICON Digital Mortgage ใหม่ หวังช่วยลดยอดการปฏิเสธสินเชื่อ

NCB-NDID-SET-ICON ผนึกเปิดระบบ ICON Digital Mortgage ใหม่ หวังช่วยลดยอดการปฏิเสธสินเชื่อ

19 กันยายน 2566 : บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด (NDID) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และบริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด (ICON) ร่วมเปิดตัว “ICON Digital Mortgage” สินเชื่อที่อยู่อาศัยออนไลน์แบบอัตโนมัติ Phase 2 ปรับ 2 ฟีเจอร์ใหม่เพิ่มประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น โดยมีฟีเจอร์ใหม่ คือ “NCB Self-Inquiry” ผู้ยื่นขอสินเชื่อสามารถขอตรวจสอบเครดิตบูโรได้ด้วยตนเองในแบบออนไลน์ได้ทันที

สำหรับฟีเจอร์ “NCB Self-Inquiry” พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับทางธนาคารที่เสียเวลาไปกับเคสที่ผู้ยื่นขอสินเชื่อไม่มีความสามารถในการยื่นกู้ โดยผู้ยื่นขอสินเชื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรได้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์ม ICON Digital Mortgage และทำการยืนยันตัวตนผ่าน NDID ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐาน และความปลอดภัย รวมถึงได้รับข้อมูลแบบ Real Time หลังจากยื่นขอตรวจเครดิตบูโรแล้ว จะได้รับรายงานเครดิตบูโรผ่านทางอีเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้ และสามารถอัปโหลดรายงานเครดิตบูโร และเอกสารประกอบการขอสินเชื่ออื่น ๆ ของตนเองผ่านแพลตฟอร์มฯ ไปยังธนาคารได้ ทำให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถส่งเอกสารให้ธนาคารได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น และลดความยุ่งยากในการติดตามเอกสารประกอบการขอสินเชื่อที่มีปริมาณมากและใช้เวลานาน ส่งผลให้ธนาคารสามารถพิจารณาเคสการยื่นขอสินเชื่อได้เร็วขึ้น อีกทั้งระบบดังกล่าวจะทำการประมวลผลและแนะนำธนาคารที่มีแนวโน้มสูงที่จะอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ยื่นขอสินเชื่อ (Bank Matching) เพื่อให้ธนาคารได้รับเคสที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข และมีแนวโน้มที่จะกู้ผ่านมากยิ่งขึ้น ลดยอดปฏิเสธสินเชื่อ ทั้งยังเพิ่มโอกาสปิดการขายที่อยู่อาศัยได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

(จากซ้าย) คุณตรีวิทย์ วังวรวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณวรรณเทพ หรูวิจิตร Chief Executive Officer ICON Framework คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด คุณบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

สูตรวางแผนการเงิน “เกษียณเร็ว” ด้วยแนวคิดแบบ F.I.R.E

อยากเกษียณเร็วไม่ใช่เรื่องยาก

แต่ต้องรู้วิธีการที่จะไปสู่การสร้างอิสรภาพทางการเงินได้แบบง่ายและโดยเร็วที่สุด

ปัจจุบันคนวัยทำงานและกลุ่มมนุษย์เงินเดือนมีความคิดที่อยากจะเกษียณก่อนอายุ 60 กันเยอะมากขึ้น หลายคนจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องของการวางแผนการเงินเพื่อที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายโดยเร็ว ซึ่งแนวคิดการเกษียณก่อนกำหนดที่ได้รับความนิยมมากในตอนนี้คือการวางแผนการเงินตามแนวคิด F.I.R.E แล้วแนวคิดการวางแผนการเงินนี้คืออะไร พฤติกรรมการใช้เงินของคนกลุ่มนี้เป็นแบบไหน มาทำความรู้จักกันก่อน

แนวคิดการเงินแบบ F.I.R.E คืออะไร

F.I.R.E หรือแนวคิดการเงินในรูปแบบ Financial Independence, Retire Early คือกลุ่มคนที่มีเป้าหมายว่าต้องการเก็บเงินเพื่อเกษียณให้โดยเร็วที่สุดโดยมีวิธีการเก็บออมเงินในแบบที่แตกต่างกันไปเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงินให้ได้มากที่สุด โดยพฤติกรรม F.I.R.E แบ่งออกได้อีกหลายกลุ่ม ดังนี้

  1. Fat F.I.R.E

คนกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นคนที่สุดโต่งในเรื่องของการออมเงินอย่างมาก เพื่อเก็บออมเงินก้อนใหญ่ให้ได้โดยเร็ว และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้จ่ายอะไรเพื่อความบันเทิงเท่าไหร่นัก ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก็จะถูกตัดออกไปให้หมด และเลือกนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูง ๆ

  1. Lean F.I.R.E

หากคนกลุ่มแรกสุดโต่งเรื่องของการเก็บออม คนกลุ่มนี้ก็ถือว่าเป็นที่สุดของความประหยัดในการใช้เงินเช่นกัน แต่พฤติกรรมของคนกลุ่มนี่จะมีความละเอียดยิบย่อย คิดเล็กคิดน้อย คิดจุกจิกมากกว่ากลุ่มแรก เพราะคนกลุ่ม Lean F.I.R.E มองว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ และการเก็บออมส่วนใหญ่ก็จะเก็บจากรายได้เป็นหลัก อาจมีแบ่งไปลงทุนบ้างแต่ไม่มากนัก ทำให้การใช้จ่ายในเรื่องของการเงินต้องคิดหลายตลบ และคิดอย่างถี่ถ้วน โดยส่วนใหญ่จะออมเงินมากกว่า 70-80% ของรายรับทั้งหมด

  1. Barista F.I.R.E

ในบรรดาคนทั้ง 3 กลุ่ม กลุ่มนี้ถือว่าเคร่งเครียดน้อยที่สุด โดยพฤติกรรมการเก็บออมเงินของคนกลุ่มนี้จะเน้นไปที่การหารายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำ และนำรายได้จากงานเสริมไปเป็นเงินเก็บออม และรายได้จากงานประจำก็นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการเงินแบบ F.I.R.E ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ไม่ได้มีภาระการเงินหรือหนี้สินมากเท่าไหร่นัก การเกษียณเร็วเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินและชีวิตเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ควรเก็บออมเงินเท่าที่ไหว หมั่นรักษาวินัยทางการเงินของตนเอง โดยเริ่มจากการวางแผนการเงินง่าย ๆ ตามนี้เลย

  1. รู้สถานะการเงินของตนเอง

ก่อนเกษียณเราควรจะต้องสำรวจตัวเองโดยเริ่มต้นจากการทบทวนรายได้และรายจ่ายของตนเอง เพื่อรู้ว่าสถานะการเงินในตอนนี้เป็นอย่างไร เช็กลิสต์ทรัพย์สินและหนี้สินที่มีเพื่อประเมินว่าเราจะต้องวางแผนการเงินและตั้งเป้าหมายการเงินไว้เท่าไหร่หากต้องการเกษียณในช่วงระยะเวลาตามที่ต้องการ

  1. สำรวจภาระหนี้สินที่มี

ตรวจสอบภาระหนี้สินทั้งหมดที่กำลังผ่อนชำระอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดีหรือหนี้ไม่ดีก็ตาม เพื่อที่เราจะได้รู้จำนวนยอดหนี้คงเหลือรวมไปถึงดอกเบี้ยและกำหนดการชำระหนี้ เพราะการที่จะเกษียณเราจำเป็นต้องปลอดหนี้ให้หมด เพื่อที่จะได้วางแผนการเงินหลังเกษียณได้สบายใจ

  1. ติดตามรายจ่ายของตนเองอยู่เสมอ

หากไม่มีเวลาจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายในทุก ๆ วัน อย่างน้อยควรมีการติดตามรายจ่ายของตนเองอยู่เสมออย่างน้อย ๆ ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน เพื่อที่จะได้ปรับการวางแผนการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ และสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องคือการติดตามรายจ่ายจะช่วยให้การบริหารจัดการการเงินของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

  1. อย่าปล่อยให้เงินนอนยิ่งอยู่เฉย ๆ

หากต้องการเกษียณโดยเร็ว แต่การเก็บออมปล่อยให้เงินนอนอยู่ในบัยชีเงินฝากธนาคารรอรับดอกเบี้ยรายปีคงไม่เพียงพอ การวางแผนการเงินและการศึกษาเรื่องลงทุนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ เพราะถือเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เงินที่เราเก็บสะสมมางอกเงยและเติบโตขึ้นทุกปี หากเราศึกษาและเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุด

สุดท้ายแล้วการวางแผนการเงิน หรือหลักการเกษียณก่อนกำหนดด้วยแนวคิด F.I.R.E สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัยทางการเงิน และการวางแผนการเงินที่เคร่งครัดรัดกุมเพื่อที่เราจะสามารถสร้างอิสรภาพทางการเงินได้ตามต้องการ

ทำไมหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่ต้องเคลียร์ให้หมดโดยเร็วที่สุด

บัตรเครดิต เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สามารถสร้างหนี้ได้ง่ายมากที่สุดเช่นกัน หากเราไม่รู้จักการใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์ ก็อาจก่อให้เกิดหนี้ที่สะสมอย่างรวดเร็ว และพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่เคยชำระหนี้ครบเต็มจำนวน ก็จะเหลือจ่ายขั้นต่ำ และร้ายแรงสุดก็อาจถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ กับสถาบันการเงินที่ส่งผลกระทบต่อประวัติการเงินของเรามากมาย เมื่อเป็นเช่นนั้นการเคลียร์หนี้บัตรเครดิตให้หมดโดยเร็วเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องเคลียร์หนี้บัตรเครดิตให้หมดโดยเร็วก่อนหนี้ก้อนอื่น ๆ

 

  1. ดอกเบี้ยสูง

หนี้บัตรเครดิตถือว่ามีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ๆ ซึ่งสูงถึง 16% ต่อปี รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลสูงสุดอยู่ที่ 25% ต่อปี หากไม่ได้มีการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำนวนยอดหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นมา กลายเป็นภาระทางการเงินที่คาราคาซังไม่รู้จบ

 

  1. สะสางหนี้ให้พ้นตัว

อันตรายของหนี้บัตรเครดิตคือการที่เราคิดว่าสามารถจ่ายขั้นต่ำและมีอัตราดอกเบี้ย 0% ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะหนี้บัตรเครดิตมีทั้งดอกเบี้ยทบต้น ดอกเบี้ยแฝงอีกมากมาย หากไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตให้เร็ว หนี้ก็จะยิ่งสะสมและเพิ่มขึ้น และอาจเกินวงเงินที่ต้องชำระ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการการเงินของเรายากขึ้นไปอีก

 

  1. ลดความเสี่ยงและภาระทางการเงิน

การเคลียร์หนี้ให้หมดโดยเร็วเป็นสิ่งที่จะช่วยลดการแบกรับภาระทางการเงิน และความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น เช่น การใช้เงินเดือนชนเดือน คะแนนเครดิตทางการเงินที่จะส่งผลต่อการกู้ยืมในอนาคต เป็นต้น

 

  1. รักษาประวัติเครดิตทางการเงินของตนเอง

หากมีภาระหนี้สินเยอะ เคลียร์ให้หมดในครั้งเดียวไม่ไหว การชำระหนี้ให้ตรงเวลาเป็นสิ่งที่จะช่วยรักษาประวัติการเงิน และคงเครดิตทางการเงินในสถานะที่ดีไว้อยู่ ซึ่งหากผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินหลาย ๆ อย่าง และมีผลต่อการยื่นขอสินเชื่อด้วย

 

  1. มีเงินเก็บออมมากขึ้น

หากเราสามารถเคลียร์หนี้บัตรเครดิตทั้งหมดที่มีหมดได้อย่างรวดเร็วไม่ใช่แค่จะช่วยลดค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย แต่ยังช่วยให้เราประหยัดเงินและวางแผนการเงินให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วย

 

  1. ป้องกันการโดนระงับบัตรเครดิต

ใครที่ใช้บัตรเครดิตจำนวนหลาย ๆ ใบ และมักรูดจนเต็มจำนวนวงเงิน บางครั้งก็ขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวซึ่งทำให้เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นไปอีก และเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ก็จ่ายไม่ทัน ไม่ตรงเวลาทำให้โดนระงับบัตรเครดิต หากเราสามารถจัดการหนี้ให้หมดได้อย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ไม่โดนระงับบัตรเครดิตและไม่มีผลกระทบต่อเครดิตการเงินของเราเอง

 

การเคลียร์หนี้บัตรเครดิตให้หมดโดยเร็ว จะส่งผลให้สุขภาพการเงินของเราดีในระยะยาว รวมไปถึงสุขภาพจิตเพราะเราก็จะไม่เครียด หรือวิตกกังวลในการหาเงินมาจ่ายหนี้ให้ทันในทุกเดือน และสำหรับทริคการออมเงินหรือการบริหารจัดการหนี้ที่เหมาะสมกับตัวคุณสามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความของเครดิตบูโรได้เลยค่ะ

เปิดสูตรตรวจสุขภาพหนี้การเงิน เป็นหนี้อย่างไรให้หนี้ไม่ท่วมหัว
https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/check-health-money-debt-enormous

○ อันตรายจากการเป็นหนี้ ที่อาจส่งผลต่อเครดิตทางการเงินคุณ
https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/dangerous-from-debt-impact-behavior/

4 ด่านการเงินที่พิชิตได้ไว ช่วยสร้างอิสรภาพทางการเงินยาว ๆ
https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/four-steps-make-freedom-financial/

โปรดระวังเงินผ่อน 0% สัญญาณเตือนการเป็นหนี้บัตรเครดิตไม่รู้ตัว
https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/trap-zero-danfer-credit-debt/

5 ทริคการออมเงินของคน GEN Z ที่ลองแล้วดีจนอยากบอกต่อ
https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/five-trick-save-money-genz/

 

8 นิสัยเริ่มต้นออมเงิน ฉบับวัยรุ่นอยากสร้างตัว

พื้นฐานการเงินเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ยังเป็นเด็กเพื่อปลูกฝังจนกลายเป็นลักษณะนิสัยและเป็นวินัยที่ดีที่ทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรู้เร็วก็จะช่วยให้เราสามารถสร้างความมั่นคงในอนาคตของตนเองได้ก่อนใคร

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สำหรับเด็ก ๆ วัยเรียนมาเริ่มต้นปรับเปลี่ยนนิสัยเพื่อให้ออมเงินไปถึงเป้าหมายตามที่ต้องการกัน

 

  1. ฝึกให้มีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน

เป้าหมายการเงินที่แน่วแน่ชัดเจน จะช่วยให้เราสามารถเซ็ตชีวิตได้ว่าการออมเงินในแต่ละครั้งเรามีวัตถุประสงค์หรือทำไปเพื่ออะไร เช่น ออมเงินเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ ออมเงินเพื่อซื้อรถยนต์ เป็นต้น เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เราเข้าใจเหตุผลในการออมเงินและมีแพชชันกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น

 

  1. สร้างวินัยการออมเงินอย่างสม่ำเสมอ

การมีวินัยเป็นเรื่องที่สำคัญมากในเรื่องของการออมเงิน ดังนั้นในช่วงวัยเรียนแม้จะไม่มีรายได้จากการทำงานก็สามารถเริ่มต้นเก็บออมเงินจากค่าขนมที่พ่อแม่ให้ในบัญชีเงินออมทุกเดือน และจะต้องไม่นำเอาออกมาใช้โดยไม่จำเป็น

 

  1. หาเกมออมเงินให้สนุกและไม่น่าเบื่อ

การตั้งเป้าว่าต้องออมเงินในทุกวัน ทุกเดือนคงจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่หากเราพยายามมีเกม หรือกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการออมเงินให้สนุกมากขึ้น เช่น เกมเศรษฐี เกมบันไดงู ตารางออมเงินประจำปี เป็นต้น เข้ามาช่วยก็จะทำให้การออมเงินเรามีความหลากหลาย ไม่น่าเบื่อได้

 

  1. ฝึกเขียนบันทึกรายรับ-รายจ่ายให้เป็น

วิธีฝึกนิสัยทางการเงินที่ดีอีกข้อนึงคือ เราต้องรู้ว่าเงินที่เรามี หรือรายรับของเราหมดไปกับค่าใช้จ่ายอะไร และการเขียนบันทึกรายรับ-รายจ่ายจะทำให้เราเห็นภาพรวมการเงินทั้งหมดของเรา และนั่นจะช่วยให้เราคำนวณได้ว่ารายจ่ายที่ไม่จำเป็นในส่วนไหนที่สามารถนำมาเป็นเงินออมได้

 

  1. ศึกษาการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ

เรื่องของการลงทุนหากเริ่มศึกษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะยิ่งได้เปรียบ เพื่อที่เราจะได้รู้รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเราในแต่ละช่วงวัย ซึ่งในปัจจุบันมีการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น  สลากออมสิน กองทุนรวม หุ้น ประกันสะสมทรัพย์ เป็นต้น เมื่อรู้ข้อมูลการลงทุนแต่ละแบบก็จะทำให้เราเข้าใจวิธีการทำงานที่ทำให้เงินงอกเงย และให้เราตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนได้ง่ายขึ้น

 

  1. มีบัญชีเงินฝากประจำของตนเอง

การออมเงินให้ได้ผลควรมีบัญชีเงินฝากประจำสำหรับการเก็บออมเงินไว้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยรักษาวินัยทางการเงินของเราได้เป็นอย่างดี และเช็กจำนวนเงินออมสะสมของเราได้ง่ายขึ้นด้วย

 

  1. ซื้อของใช้เท่าที่จำเป็น

ระมัดระวังในเรื่องของค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่มีราคาสูงเกินความจำเป็น หรือสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อในชีวิตประจำวัน

 

  1. รู้จักการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับนักเรียน/นักศึกษา

ในข่วงวัยเรียน นักเรียน/นักศึกษา จะมีสิทธิประโยชน์พิเศษมากมาย เช่น ส่วนลดสำหรับนักศึกษา หรือโปรโมชันพิเศษในการใช้บัตรนักศึกษา ในการซื้อสินค้า หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยประหยัดเงินในรายจ่ายต่าง ๆ ขึ้นไปได้อีก

 

ทั้ง 8 ข้อนี้ ถือเป็นพื้นฐานการเงินที่สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จนติดกลายเป็นนิสัยของตัวเราและช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์การเงินได้อย่างไม่มีปัญหา

 

เรื่องน่าอ่าน