อันตรายจากการเป็นหนี้ ที่อาจส่งผลต่อเครดิตทางการเงินคุณ

รู้หรือไม่ ว่าหนี้ที่คนไทยก่อเยอะมากที่สุดคืออะไร?

คำตอบคือ หนี้บัตรเครดิต

ไม่เพียงแต่เพียงหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น แต่หนี้สินจากสินเชื่ออื่น ๆ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อธุรกิจ เป็นต้น ส่วนหนึ่งเกิดจากไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมการใช้เงินของคนรุ่นใหม่ และการเข้าถึงธุรกรรมการเงินที่ง่าย สะดวกรวดเร็วมากขึ้น จนกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เราก่อหนี้ได้ง่ายแบบไม่รู้ตัว และเมื่อใช้จ่ายไม่ระวังมือก็ย่อมก่อหนี้บานจนหนี้ท่วมตัวจนรับมือไม่ทัน

และอันตรายจากการเป็นหนี้เพียงแค่ครั้งเดียว หากเราไม่มีวิธีการจัดการอย่างรอบคอบ ก็จะสุ่มเสี่ยงในการเข้าสู่วงจนหนี้สินได้ง่าย และยังส่งผลต่อเครดิตทางการเงิน ที่จะทำให้การขอสินเชื่อยากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

จ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ 1 ครั้ง จุดเริ่มต้นอันตรายสู่วงจรการเป็นหนี้

คนที่มีหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อหลายแห่งในเวลาพร้อมกัน เมื่อถึงเวลาที่มีแจ้งเตือนมาว่าถึงกำหนดวันครบชำระหนี้กรุณาชำระภายในวันที่ xxxxx พร้อมระบุขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในงวดนั้น ๆ หลายคนก็มักจะเลือกจ่ายขั้นต่ำแทนที่จ่ายแบบเต็มจำนวน เพื่อที่จะได้นำเงินสดไปหมุนต่อ แต่หารู้ไม่ว่าการที่เลือกจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน กำลังจะเป็นอันตรายต่อเครดิตทางการเงินของเรา และก้าวเข้าสู่วงจรหนี้โดยไม่รู้ตัว เพราะนอกจากเงินต้นที่เราต้องจ่าย เรายังต้องเสียดอกเบี้ยที่แฝงมากับหนี้ที่เราก่ออีกจำนวนไม่น้อยเลย ยิ่งถ้าพอมาคำนวณภายหลังเราอาจจะตกใจกับยอดเงินที่เราเสียให้กับดอกเบี้ยไปก็ได้

 

จะเป็นอย่างไรถ้าเราค้างชำระหนี้ 1 ครั้ง

เคสที่อันตรายที่สุดของการเป็นหนี้บัตรเครดิตคือการค้างหรือผิดนัดชำระหนี้ กับสถาบันการเงิน แม้จะแค่ 1 ครั้งแต่ก็อาจสร้างความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อเครดิตทางการเงินของเราอย่างมาก เพราะระบบจะจัดเก็บประวัติชำระหนี้ของเราไว้ทั้งหมด ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือยื่นขอสินเชื่อจะถูกตรวจสอบโดยละเอียด และอาจไม่ผ่านเกณฑ์เงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด

 

ไม่อยากประวัติทางการเงินไม่ดีต้องทำอย่างไร?

เมื่อเรามีหนี้หลายก้อนที่ต้องจัดการในเวลาเดียวกัน ควรจะต้องมีวิธีการวางแผนจัดการหนี้ ที่รัดกุม และมีวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด โดยลองทำตามคำแนะนำดังนี้ได้ค่ะ

  1. ชำระหนี้ให้ตรงเวลา

สิ่งสำคัญไม่ว่าจะมีหนี้มากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม ห้ามเบี้ยวไม่จ่ายหนี้เด็ดขาด หากจ่ายเต็มจำนวนไม่ไหวอย่างน้อย ๆ จ่ายขั้นต่ำก็ยังดีกว่าไม่จ่าย เพราะการผิดนัดชำระหนี้ครั้งนึง ส่งผลร้ายแรงอย่างหนักเลยทีเดียว

  1. เจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้

เจรจาต่อรองกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของเราเพื่อขอลดดอกเบี้ย หรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป เพื่อผ่อนหนักให้กลายเป็นเบา

  1. ไม่สร้างหนี้ใหม่

หากไม่ต้องการให้เครดิตทางการเงินลดลงไปอีก ต้องหยุดก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้น เพราะการมีหนี้จำนวนมาก ๆ จะยิ่งส่งผลให้เครดิตทางการเงินเราไม่ดีนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตามการมีหนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องอันตรายหากเรารู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเราเลือกใช้อย่างไม่รอบคอบก็จะส่งผลต่อวินัยทางการเงิน รวมไปถึงเครดิตทางการเงินของเราซึ่งจะเป็นผลไม่ดีในระยะยาวได้ ดังนั้นควรใช้อย่างรอบคอบ ไม่ประมาท หรือฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น และชำระหนี้ในเวลาที่กำหนด