การใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไข/โต้แย้งรายงานข้อมูลเครดิต

ขั้นตอนในการรับคำขอใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไขข้อมูล และคำขอใช้สิทธิบันทึกข้อโต้แย้ง

ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 และที่แก้ไข

เมื่อเจ้าของข้อมูลเห็นว่าข้อมูลเครดิตของตนไม่ถูกต้อง เจ้าของข้อมูลมีสิทธิยื่นคำขอใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไขกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1. เจ้าของข้อมูลยื่นคำขอใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเครดิตตามแบบที่บริษัทกำหนด หรือทำเป็นหนังสือ พร้อมแนบเอกสารประกอบ

บุคคลธรรมดา

• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานราชการ หรือหนังสือเดินทาง(กรณีเป็นชาวต่างชาติ)
พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
• สำเนารายงานข้อมูลเครดิตฉบับที่ต้องการแก้ไข(ถ้ามี)
• เอกสารหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี)

นิติบุคคล

• สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งผู้มีอำนาจลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
• สำเนารายงานข้อมูลเครดิตฉบับที่ต้องการแก้ไข (ถ้ามี)
• เอกสารหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี)

เจ้าของข้อมูลจะต้องให้รายละเอียดข้อมูลที่จำเป็น เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคล ประเภทบัญชีสินเชื่อ เลขที่บัญชีและชื่อสถาบันการเงินที่ต้องการให้ตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูล พร้อมลงลายมือชื่อเจ้าของข้อมูล กรณีนิติบุคคลให้กรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับ ตราบริษัท (ถ้ามี)

โดยเจ้าของข้อมูลนำส่งเอกสารแบบคำขอใช้สิทธิตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูลเครดิต /แบบคำขอแก้ไขรหัสสถานะบัญชีต้นฉบับพร้อมเอกสารแนบเอกสารประกอบมายัง ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ส่วนรับเรื่องร้องเรียน เลขที่ 33/4 อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระราม 9 ชั้น 2 (ห้องเลขที่ NS010-012) ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

2. NCB ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของคำขอใช้สิทธิตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูลเครดิตและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลกับสมาชิกให้เจ้าของข้อมูลได้รับทราบ ดังนี้

• บริษัทจะแจ้งไปยังสถาบันการเงินสมาชิกผู้นำส่งข้อมูลให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำขอ
• บริษัทจะแจ้งผลการตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
• เมื่อเจ้าของข้อมูลได้รับแจ้งผลการตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูลแล้ว หากเจ้าข้อมูลไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบหรือการ แก้ไขข้อมูลนั้น สามารถยื่นคำขอใช้สิทธิบันทึกข้อโต้แย้งไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทได้ และมีสิทธิในการยื่น     อุทธรณ์ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตได้ในกรณีที่เห็นว่าบริษัทข้อมูลเครดิต สมาชิก หรือผู้ใช้       บริการบันทึกข้อโต้แย้งไว้ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามหลักฐานที่ปรากฏ