ประวัติบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

|

แนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตนั้น ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยสมาคมธนาคารไทยได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่ามีความประสงค์ให้มีแหล่งกลางสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการให้กู้ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแหล่งกลางในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มงานทะเบียนเครดิตกลางขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2538 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบการเงินขึ้น โดยกล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตไว้ในส่วนขององค์กรทางการเงินที่สนับสนุนการพัฒนาระบบการเงิน และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านศูนย์ข้อมูลเครดิตขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมและดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต ซึ่งคณะทำงานดังกล่าว ก็ได้ดำเนินการจนกระทั่งจะมีการลงนามในข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในประเทศสหรัฐ อเมริกา ในปี พ.ศ. 2539 แต่ในระหว่างปี พ.ศ. 2539 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทย สถาบันการเงินถูกปิดกิจการไปจำนวนมาก และวิกฤตเศษฐกิจดังกล่าวนี้ก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตหยุดชะงักไป จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 กระทรวงการคลังได้ยืนยันนโยบายให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อและลดภาระหนี้เสียของสถาบันการเงินต่างๆ อันเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนของสถาบันการเงินในประเทศอยู่ในขณะนั้น ในเดือนกรกฎาคม 2541 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จึงได้สั่งการให้ ธอส. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศนโยบายให้สมาคมธนาคารไทยเร่งรัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต โดยสมาคมธนาคารไทยได้จัดตั้งทีมทำงานในรูปคณะกรรมการเพื่อสานภารกิจต่อไป การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตจึงได้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่จัดตั้งโดย ธอส. ได้จัดตั้ง บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด ขึ้น ส่วนฝ่ายธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้จัดตั้ง บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ขึ้น โดยทั้งสองบริษัทก็ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลลูกค้า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้สินเชื่อ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2542 ด้วยทุนจดทะเบียน 26 ล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์ไทย 13 แห่งที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทยเป็นผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ได้ให้บริการข้อมูลเครดิตทั้งด้านข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา และข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้สถาบันการเงินต่างๆ ได้ใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด และ ได้ลงทุนพัฒนาระบบรายงานข้อมูลเครดิต 2 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบรายงานข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา (Consumer Credit Reporting System) พัฒนาโดย บริษัท Trans Union International หนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการข้อมูลเครดิตของโลก และ 2) ระบบรายงานข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Credit Reporting System) พัฒนาโดย บริษัท Dun & Bradstreet บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน บริษัทผู้พัฒนาระบบทั้งสองบริษัทนับว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการพัฒนาระบบ และเพิ่มศักยภาพด้านบริการข้อมูลเครดิตของบริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ทั้งนี้ เพื่อให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น เป็นความร่วมมือระยะยาวและมีความต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2543 บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับทั้ง บริษัท Trans Union International และ บริษัท Dun & Bradstreet (ผ่านบริษัทร่วมทุนในประเทศไทยชื่อ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน)) และได้เพิ่มทุน เป็น 156 ล้านบาทและเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 โดยยังคงมีธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 13 แห่งถือหุ้นจำนวนเท่าๆ กัน ในอัตราส่วน 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% บริษัท TransUnion Inc. และบริษัท Business Online จำกัด ถือหุ้นรายละ 25% ซึ่งต่อมาได้เพิ่มทุนอีกเป็น 186 ล้านบาทในอัตราส่วนผู้ถือหุ้นที่เท่าเดิม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 บริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้รวมกิจการกับบริษัทข้อมูลเครดิตอีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 250 ล้านบาท และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 ซึ่งมีผู้ถือหุ้นของบริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และธนาคารรวมทั้งสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังการรวมกิจการ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทยถือหุ้นในอัตราส่วนเท่าๆ กันรวมเป็น 24.50% และบริษัท Business Online จำกัด (มหาชน) บริษัท TransUnion Inc. ถือหุ้นรายละ 12.25% รวมเป็น 24.50% รวมเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัทข้อมูลเครดิตกลางเดิมถือหุ้นเท่ากับ 49% และผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัทข้อมูลเครดิตไทยถือหุ้น 30% ได้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 15% และบริษัท พีซีซี แคปปิตอล จำกัด 15% ส่วนที่เหลืออีก 21% ถือหุ้นโดยสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือหุ้นในอัตราส่วน 9% 6% และ 6% ตามลำดับ

หลังจากการรวมกิจการเป็นต้นมา บริษัทได้พัฒนาระบบการประมวลผลและการรายงานผลข้อมูลเครดิตให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้นบริษัทยังได้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลให้มีความถูกต้องและทันสมัย โดยเพิ่มศักยภาพทางด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยบริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะทำการขอใบรับรองเกี่ยวกับระบบบริหารการจัดการความปลอดภัยด้านสารสนเทศ (Information Security Management System – ISMS) ตามมาตราฐานของ ISO 27001 ภายในปี 2550 นอกจากนั้น บริษัทได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลเครดิต ตลอดจนบทบาทของบริษัทข้อมูลเครดิตให้มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้ยึดถือหลักการในการปกป้องและรักษาความลับของข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนคำนึงถือการดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน