Blog Page 14

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : บริการใหม่ล่าสุด ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป ฟรี! รู้ผลทันที ผ่านแอป KKP MOBILE : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 10 พฤศจิกายน 2566

บริการใหม่ล่าสุด ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป ฟรี! รู้ผลทันที ผ่านแอป KKP MOBILE

บริการใหม่ล่าสุด…ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป ฟรี รู้ผลได้ทันที ผ่านแอปพลิเคชัน KKP MOBILE เมนู ตรวจสอบเครดิตบูโร นับว่าเป็นอำนวยความสะดวกให้เช็กสุขภาพทางการเงินของตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

ข้อมูลเครดิตแบบสรุป จะแสดงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับภาระหนี้ อาทิ จำนวนบัญชีสินเชื่อ วงเงินสินเชื่อรวม ยอดหนี้คงเหลือรวม และประเภทบัญชีสินเชื่อ เป็นต้น ทำให้ตรวจสุขภาพการเงินของตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลสินเชื่อ ตลอดจนเป็นการรู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน ที่อาจเกิดความผิดปกติของรายการหนี้ที่เกิดขึ้นหรือ หนี้งอก โดยที่ไม่รู้ตัวได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเครดิตแบบสรุปในบริการนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเจ้าของข้อมูล เพื่อตรวจสอบจำนวนบัญชีสินเชื่อ และยอดหนี้ที่ถูกจัดเก็บไว้ที่เครดิตบูโรเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงต่อบุคคลใดได้ครับ

การเช็กสุขภาพการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับการเข้าถึงบริการตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป (ฟรี) มีอีกหลายช่องทางที่สะดวกสบาย รวดเร็ว ดังนี้ครับ 1.โมบายแอป “ทางรัฐ” 2.ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ  (Government Smart Kiosk) 3.ที่ทำการไปรษณีย์ และเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ ทุกแห่งทั่วประเทศ 4.ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9) หรือ เครดิตบูโร คาเฟ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) (ด้านหลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ประตูทางเข้า 1 จุดติดตั้งนาฬิกาประจำสถานี หรือนาฬิกาหน้าปัดหมายเลข ๙) ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th 

กรณีที่ท่านตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : สิทธิของเจ้าของข้อมูล ตรวจเครดิตบูโร…ฟรี  เมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อโดยอ้างว่าเป็นเพราะเครดิตบูโร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 20 ตุลาคม 2566

สิทธิของเจ้าของข้อมูล ตรวจเครดิตบูโร…ฟรี  เมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อโดยอ้างว่าเป็นเพราะเครดิตบูโร

บทความวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงกรณีที่ท่านไปยื่นขอสินเชื่อ แล้วปรากฏว่าสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร มีเหตุให้ต้องปฏิเสธการให้สินเชื่อ โดยมีการอ้างว่าเป็นเพราะเครดิตบูโร ซึ่งตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ได้กำหนดการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูลหรือตัวท่านที่คุ้มครองดูแลประชาชน ดังนั้นเมื่อท่านถูกปฏิเสธ/ไม่ให้สินเชื่อ โดยมีการอ้างว่าเป็นเพราะ “เครดิตบูโร” เพียงนำหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกมาแสดงหลักฐาน พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของตนเอง สามารถตรวจเครดิตบูโร ฟรี! ภายใน 30 วันนับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อ ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00-16.30 น. 1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9)  วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น.  2) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) 3) Bureau Lab (บูโรแล็บ) ท่าเรือวังหลัง (บริเวณทางเข้า-ออก ท่าเรือ และใกล้ประตู 8 ของโรงพยาบาลศิริราช) วันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00-18.00 น. 4) Bureau Lab (บูโรแล็บ) สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต (ภายในสถานี) 5) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3

สำหรับกรณีขอตรวจสอบกรณีถูกปฏิเสธสินเชื่อผ่านทางไปรษณีย์ เพียงท่านนำกรอกแบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์เครดิตบูโร www.ncb.co.th) ให้ครบถ้วน พร้อมหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิก และสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงนามสำเนาถูกต้อง ส่งมาที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ส่วนบริการเจ้าของข้อมูล เลขที่ 33/4 อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2  ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โดยเครดิตบูโรจะจัดส่งรายงานข้อมูลเครดิตให้ตามที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือที่อยู่ที่ทางบริษัทจะสามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ การพิจารณาสินเชื่อเป็นดุลยพินิจของสถาบันการเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ หรือ นโยบายสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินในขณะนั้น ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ข้อมูลเครดิตเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งในการนำไปประกอบการพิจารณาสินเชื่อเท่านั้น นอกเหนือจากข้อมูลจากแหล่งอื่น ที่สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณา เช่น รายได้ รายจ่าย อาชีพ ประวัติการออม อายุงาน หรือ หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติหรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร บุคคลใดอ้างกับท่านแจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th

ข่าวเครดิตบูโร 005/2566 : KKP จับมือ เครดิตบูโร และ NDID ตรวจสอบข้อมูลเครดิตแบบรู้ผลทันที ผ่านแอป KKP MOBILE ฟรี!

ข่าวเครดิตบูโร 005/2566

KKP จับมือ เครดิตบูโร และ NDID ตรวจสอบข้อมูลเครดิตแบบรู้ผลทันที ผ่านแอป KKP MOBILE ฟรี!

31 ตุลาคม 2566 : ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เดินหน้าภารกิจสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงทรัพยากรอย่างมีคุณภาพ จับมือกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) เปิดให้บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิตแบบสรุปฟรี รู้ผลได้ทันที (Real Time) ผ่านแอปพลิเคชัน KKP MOBILE โดยถือเป็นครั้งแรกในประเทศ ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงประวัติการเงินแบบองค์รวมของตนเองผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการหนี้ การสร้างวินัยทางการเงิน ตลอดจนรู้เท่าทันสถานะทางการเงินของตนเอง เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริการนี้จะแสดงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับภาระหนี้ อาทิ จำนวนบัญชีสินเชื่อ วงเงินสินเชื่อรวม ยอดหนี้คงเหลือรวม และประเภทบัญชีสินเชื่อ เป็นต้น ทำให้ลูกค้าสามารถตรวจสุขภาพการเงินของตนเอง เพื่อเตรียมขออนุมัติสินเชื่อหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ กับสถาบันการเงิน อีกทั้งยังสามารถใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลส่วนบุคคลตลอดจนความผิดปกติของรายการหนี้ที่อาจเกิดจากภัยไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที ในทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร เพียงเข้าเมนู ‘ตรวจสอบเครดิตบูโร’ ในแอปพลิเคชัน KKP MOBILE

“ธนาคารเกียรตินาคินภัทร มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย โดยเป็นธนาคารแรกที่จับมือกับ เครดิตบูโร และ NDID เปิดให้บริการตรวจเครดิตบูโรแบบสรุปบนแพลตฟอร์มของธนาคารได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งรู้ผลได้แบบเรียลไทม์ โดยธนาคารและพันธมิตรเชื่อมั่นว่าการตรวจเครดิตบูโรอย่างสม่ำเสมอ จะสนับสนุนให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสถานะการเงินของตนเอง และสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น”

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า “ความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานในระบบสถาบันการเงินไทย จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี กล่าวว่า “NDID ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัลผ่าน NDID Platform นำไปสู่ความเชื่อมั่นเพื่อขอข้อมูลเครดิตของประชาชนแบบเรียลไทม์ผ่าน KKP Mobile Application เป็นการอำนวยความสะดวก ให้ประชาชนได้ตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตัวเองผ่านข้อมูลเครดิตอย่างสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ และสร้างวินัยทางการเงินของตนเอง เพื่อมีสุขภาพทางการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีได้”

ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเครดิตแบบสรุปในบริการนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเจ้าของข้อมูล เพื่อตรวจสอบจำนวนบัญชีสินเชื่อ และยอดหนี้ที่ถูกจัดเก็บไว้ที่เครดิตบูโรเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงต่อบุคคลที่สาม สำหรับลูกค้าของธนาคาร เกียรตินาคินภัทร สามารถใช้บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิตแบบสรุป ฟรี! รู้ผลทันที บนแอป KKP MOBILE ได้แล้ววันนี้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ KKP Contact Center โทร. 02-165-5555

(จากซ้าย) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)  นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)  นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

กฏการเงิน 70-20-10 สำหรับมือใหม่ สู่เป้าหมายทางการเงินไวกว่าเดิม

เป้าหมายทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนล้วนมีแพชชันในการออมเงิน แต่ในแง่ของการลงมือทำก็อาจจะไม่ง่ายนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นออมเงินแบบจริงจัง เพราะนอกจากแรงจูงใจที่ดีแล้ว แนวทางการวางแผนการเงินก็สำหรับเช่นกัน บางคนเลือกใช้วิธีที่เคร่งครัดจนเกินไป ทำให้ก้าวไปไม่ถึงเป้าหมาย บางคนก็หละหลวมไม่ใส่ใจเท่าที่ควร

ดังนั้นเพื่อให้มือใหม่สามารถเดินไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้สำเร็จง่ายขึ้น ลองเริ่มต้นด้วยกฎการเงิน 70-20-10 ที่จะช่วยไกด์แนวทางการออมเงิน และการใช้จ่ายเงินของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

กฎการเงิน 70-20-10 คืออะไร?

70-20-10 คือแนวทางการวางแผนการเงินที่คล้ายคลึงกับกฎ 50-30-20 แต่จะไม่เคร่งครัดเท่า และเน้นแบ่งสัดส่วนเพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายมากกว่า ซึ่งเหมาะกับผู้เริ่มต้นวางแผนการเงิน และจัดงบประมาณค่าใช้จ่ายแบบเบื้องต้น โดยการแบ่งสัดส่วนการเงินแบ่งได้เป็นดังนี้

 

70% ค่าใช้จ่ายประจำรายเดือน

แบ่ง 70% ของรายรับไว้สำหรับค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประจำวัน  โดยไม่ต้องแบ่งสัดส่วนย่อย ๆ ของรายจ่ายนั้น ๆ เราสามารถพิจารณาตามความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายได้ด้วยตนเอง เพียงแค่จัดรายจ่ายแต่ละประเภทไว้ว่าอยู่ในหมวดหมูไหน ใช่ค่าใช้จ่ายประจำเดือนหรือไม่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน, ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ค่าแพ็คเกจรายเดือนต่าง ๆ หรือแม้แต่ค่าคอร์สเรียนเพื่อพัฒนาตนเอง เป็นต้น

 

20% การออมเงินและการลงทุน

รายได้อีก 20% ให้นำมาจัดสรรสำหรับการออมเงินและการลงทุน หรือเก็บไว้สำหรับเงินทุนฉุกเฉิน สำรองสำหรับเหตุไม่คาดฝัน หรือเริ่มต้นด้วยการนำเงินไปฝากธนาคารเพื่อได้ดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากกลับมา

 

10% สำหรับการชำระหนี้

ในส่วน 10% สุดท้ายของรายรับของเราให้แบ่งไว้สำหรับการชำระหนี้ หรือถ้าหากใครที่กำลังคิดจะก่อหนี้ในส่วนนี้คือสัดส่วนที่จะสามารถสร้างหนี้ได้โดยที่ไม่กระทบกับการเงินในส่วนอื่น ๆ หรือสำหรับใครที่ไม่มีหนี้ เงินในสัดส่วนนี้อาจจะเก็บไว้สำหรับอนาคต เช่น เงินเพื่อการศึกษา เงินเพื่อการบริจาค เป็นต้น แต่หากใครที่มีภาระหนี้เยอะ ๆ ในส่วนนี้ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายหนี้ที่เป็นในส่วนของการจ่ายขั้นต่ำได้ด้วยเช่นกัน

 

การวางแผนการเงินด้วยกฎการเงิน 70-20-10 เป็นแนวทางเริ่มต้นการออมเงินที่เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นได้ดี เพราะครอบคลุมทุกงบประมาณการเงินตั้งแต่ค่าใช้จ่ายประจำวัน การออมเงิน การลงทุน และการบริหารจัดการหนี้สิน ซึ่งหากเริ่มต้นด้วยแนวทางนี้ก็มีโอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายการเงินได้อย่างหวังและมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

แก๊งมิจฉาชีพป่วน! หลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์โอนเงินเข้าบัญชีแล้วหาย ต้องทำยังไง จะได้เงินคืนไหม?

แก๊งมิจฉาชีพทุกวันนี้มักสรรหาสารพัดมุกมาหลอกลวงให้คนหลงเชื่อและโอนเงินเข้าไป กว่าเหยื่อแบบเราจะรู้ตัวก็สูญเงินในบัญชี จะขอเงินคืนก็ยาก และยิ่งทุกวันนี้การชอปปิงออนไลน์เป็นอะไรที่สะดวกรวดเร็ว ติดต่อกับคนขายได้โดยตรง แต่รู้ไหมว่าความสะดวกตรงนี้แหละที่ทำให้มิจฉาชีพเห็นช่องโหว่และหาทางหลอกให้เราโอนเงินให้

 

โดนหลอกให้ซื้อสินค้าแล้วก็หายไป… นี่คือหนึ่งในกลวิธีที่แก๊งมิจฉาชีพใช้แกล้งทำเป็นคนขายของออนไลน์ พอผู้ซื้อที่เป็นเหยื่อหลงกลโอนเงินค่าสินค้ามาก็บล็อกและหายไปไม่ตอบแชท และอีกฝ่ายก็เสียเงินไปฟรี ๆ โดยมุกที่นักต้มตุ๋นเหล่านี้มักชอบใช้ ตัวอย่างเช่น

  • หลอกให้โอนเงินค่าสินค้า แต่ต้องโอนเงินค่าสินค้ามาก่อน
  • หลอกเปิดพรีออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศ
  • หลอกให้โอนค่าดำเนินการการสั่งซื้อสินค้า

หากสายชอปปิงออนไลน์ใช้จ่ายซื้อของกันไม่ทันระวัง หรือไม่ตรวจสอบร้านค้าให้ดีก่อนโอกาสที่จะโดนหลอกจนเงินเกลี้ยงบัญชีก็มีมาก วันนี้เลยมาบอกวิธีการที่จะช่วยให้เราได้เงินคืนหลังจากที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพว่าจะต้องทำยังไงบ้าง

ทำยังไงเมื่อโดนหลอกให้ซื้อของออนไลน์

เมื่อโดนแก๊งมิจฉาชีพป่วนหัวหมุนหลอกเงินให้โอนเงินซื้อของ สิ่งสำคัญมาก ๆ คือเราต้องมีสติ และแก้ปัญหาไปทีละขั้นตอนตามนี้ค่ะ

  1. รวมหลักฐานข้อมูลและเอกสารทั้งหมดไว้ ไม่ว่าจะ
  • ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ร้านค้าหรือผู้ขาย
  • สลิปการโอนเงิน
  • หน้าเพจหรือเว็บไซต์ของร้านค้าหรือผู้ขาย
  • ข้อความใน inbox ทั้งหมดที่คุยกับร้านค้าหรือผู้ขาย
  1. ติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่ออายัดบัญชีปลายทางที่โอนเงินไป
  2. แจ้งความเพื่อดำเนินคดี หลังจากที่รวบรวมหลักฐานและติดต่อเพื่ออายัดบัญชีปลายทางให้ดำเนินการแจ้งความโดยทำได้ 2 วิธี
  • แจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ โดยแจ้งความประสงค์ขอแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย
  • แจ้งความออนไลน์ผ่านทาง thaipoliceonline.com และรอการนัดหมายจากเจ้าหน้าที่เพื่อสอบปากคำ

 

โดนหลอกให้โอนแล้วจะได้เงินคืนไหม?

แม้ว่าความเป็นไปได้แทบจะน้อยมาก ๆ เนื่องจากแก๊งมิจฉาชีพทำกันเป็นขบวนการเมื่อเราตกเป็นเหยื่อที่โอนเงินเข้าไป มิจฉาชีพเมื่อได้รับเงินก็รีบโอนเงินต่อกันเป็นทอด ๆ และมีบัญชีม้าคอยรับเงิน ทำให้การจะอายัดบัญชีเป็นทางเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากเราทำการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีและเอาเรื่องให้ถึงที่สุดแล้วความเป็นไปได้ที่จะได้เงินคืนนั้นก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง

 

วิธีป้องกันการโดนแก๊งมิจฉาชีพป่วนหลอกให้โอนเงิน

  1. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านหรือผู้ขาย ดูรีวิว โพสต์ หรือคอมเมนต์เก่า ๆ ก่อนหน้าว่ามีคนซื้อและได้รับสินค้าจริงหรือไม่ และต้องไม่หลงเชื่อคำเชิญชวนให้ซื้อโดยง่าย
  2. เช็กข้อมูลก่อนโอนเงิน ไม่ว่าจะชื่อผู้โอนเงิน เลขบัญชี โดยเราสามารถเสิร์ชข้อมูล เพื่อดูว่าบัญชีผู้ขายหรือร้านค้าที่กำลังจะโอนไปเป็นแก๊งมิจฉาชีพหรืออยู่ในกลุ่มหลอกลวงหรือไม่
  3. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวของตนเองก่อน เราจำเป็นต้องปกป้องข้อมูลของตนเอง หากอีกฝ่ายมีการถามถึงข้อมูลส่วนตัวของเรา ต้องไม่บอกข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะพาสเวิร์ด เลขบัตรเครดิต

 

ดังนั้นก่อนที่เราจะทำการโอนเงินให้ใคร ต่อให้จะสนิทหรือไม่สนิทกันก็ตามควรตรวจสอบข้อมูลของอีกฝ่ายให้โดยละเอียดก่อนโอนเงินทุกครั้ง เพราะบางทีมิจฉาชีพก็มักแฝงตัวมาแบบที่เราไม่รู้ตัวเช่นกันนะคะ

7 ข้อห้ามที่ต้องเลี่ยงให้ไกลเมื่อวางแผนชำระหนี้

 

การมีเงินใช้จ่ายตามความต้องการเป็นเรื่องที่มีความสุข แต่การใช้จ่ายเกินตัวจนเกิดเป็นภาระหนี้นั้นตามมาแต่ความทุกข์และความเครียดในการหาเงินมาคืน

การปลดหนี้ก็เปรียบเสมือนกับปลดภาระที่สร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้กับชีวิต แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ดูเหมือนว่าจะหลุดพ้นจากวงจรหนี้ไปแล้วก็ยังกลับเข้ามาใหม่ด้วยพฤติกรรมการใช้จ่าย และนิสัยการใช้เงินฟุ้งเฟ้อ

ดังนั้นเผื่อให้การวางแผนการชำระหนี้เป็นไปตามเป้าหมาย มาสำรวจนิสัยต้องห้ามมี่คุณต้องหลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุดเมื่อวางแผนชำระหนี้

 

  1. จ่ายหนี้แต่ไม่เปลี่ยนนิสัยการใช้เงิน

ถ้าคุณบอกว่าคุณชำระหนี้ตรงเวลา ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคุณจ่ายหนี้ แต่ยังคงเอาเงินมาหมุนวนไปแบบนี้คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะสุดท้ายถ้าเรายังจ่ายหนี้แต่ยังใช้จ่ายเงินเข้ากระเป๋าซ้ายออกกระเป๋าขวา โอกาสที่หนี้จะลดลงแทบจะเป็นไปได้ยากมาก หากอยากจะปลดหนี้โดยเร็วต้องมีวินัยการใช้เงินอย่างรัดกุม ตัวอย่างเช่น จากที่ชอบกินข้าวนอกบ้าน ก็ซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารกินเองที่บ้านแทน เป็นต้น

 

  1. หนี้ยังไม่หมดแต่ยังรูดบัตรเครดิตใช้จ่ายตลอด

การปลดหนี้ก็เหมือนกับการเล่นเกมจิตวิทยากับตัวเอง หากเราใจไม่แข็งพอก็อาจโบกธงขาวยอมแพ้ และท้ายที่สุดก็ติดกับดักหนี้จนไม่สามารถหาทางออกได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้คือกำจัดหนี้บัตรเครดิตให้หมด และไม่ก่อหนี้ใหม่ระหว่างที่กำลังจะชำระหนี้คืน

 

  1. จ่ายหนี้พร้อมกันในครั้งเดียว

หากมีหนี้มากกว่า 1 บัญชี และในแต่ละเดือนต้องจ่ายหนี้พร้อมกันทีละมาก ๆ ซึ่งบางคนก็เลือกที่จะจ่ายอีกที่ และกู้ใหม่เพื่อมาโปะอีกที่ หมุนเงินวนไปอย่างนั้นจนยอดหนี้ไม่ได้ลดลง นี่คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง และเริ่มต้นจากการจ่ายขั้นต่ำของแต่ละที่ และให้ทยอยโปะหนี้ที่ก้อนเล็กที่สุดก่อนจากนั้นค่อยทบไปเรื่อย ๆ

 

  1. จ่ายหนี้หมดแต่ไม่ปิดบัญชีหนี้

อีกปัญหาคือหลายคนจ่ายหนี้จนครบหมดแล้ว เคลียร์ยอดหนี้เป็น 0 แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ปิดบัญชีหนี้ นั่นก็ทำให้เรามีโอกาสที่จะก่อหนี้ ตะติดกับดักหนี้ได้อีกครั้งเช่นกัน ดังนั้นเมื่อวางแผนการชำระหนี้หมดแล้วควรรีบปิดบัญชีหนี้โดยทันที

 

  1. จ่ายหนี้หมดแต่ไม่เก็บออมเงิน

หนี้ก็ต้องจ่าย เงินก็ต้องเก็บออม บางคนอาจมีในกรณีที่ว่าเคลียร์หนี้หมดแล้วแต่ก็ยังคงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายไม่เก็บออมเงินอยู่ หรือบางคนก็เอาเงินไปจ่ายหนี้และไม่ได้แบ่งสัดส่วนมาออมเงิน พอถึงเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินฉุกเฉินเราก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายหมุนเวียนอยู่ดี เพราะเราไม่มีเงินเก็บ หากเรายังไม่อุดรอยรั่วตรงนี้การเคลียร์หนี้ของเราก็ไม่ไปถึงเป้าหมายสักที

 

  1. ไม่จัดลำดับความสำคัญของหนี้

บางคนพอเห็นว่ามีภาระหนี้สินเยอะก็เริ่มจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ว่าหนี้ก้อนไหนที่ต้องจัดการก่อน ซึ่งหากต้องการปิดช่องโหว่ทางการเงินของตนเองให้หมด ต้องจดรายการหนี้สินที่มีเพื่อเรียงลำดับและวางแผนการชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมกับรายรับที่มี และจะได้รู้ว่าเราต้องหารายได้เพิ่มเติมเพื่อมาจ่ายหนี้ด้วยหรือไม่

 

  1. ไม่ตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเอง

บางคนอาจมีการจ่ายหนี้ล่าช้า หรือไม่ได้ชำระหนี้เป็นไปตามที่กำหนดและมองว่าคงไม่ส่งผลต่อเครดิตทางการเงิน จึงไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเอง เพราะการตรวจเครดิตบูโรจะช่วยให้เราสถานะทางการเงินได้ว่าการเงินตอนนี้ของเราเป็นอย่างไร มีการค้างชำระหนี้หรือไม่เพื่อที่จะได้มาวางแผนจัดการหนี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

การรัดเข็มขัดหรือควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในกรอบอาจดูเครียด ไม่สนุก แต่การลดทอนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่ไม่ดีก็จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้สถานะการเงินของเราไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้โดยเร็วที่สุด

 

 

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ควรทำอย่างไร เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 6 ตุลาคม 2566

ควรทำอย่างไร เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว

บทความวันนี้ จะขออธิบายเมื่อท่านได้ชำระหนี้ปิดบัญชีสินเชื่อเรียบร้อยแล้ว ทั้ง 2 กรณี คือ ปิดบัญชีกับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร หรือ ปิดชำระหนี้ให้แก่นิติบุคคลผู้รับโอนหนี้แล้ว  ควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป  โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

  1. กรณีท่านปิดบัญชีกับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร คือ ปิดบัญชี ไม่มียอดค้างชำระใดๆ ทั้งสิ้น ท่านไม่ต้องทำอะไรต่อไปอีก เนื่องจากสถาบันการเงินมีหน้าที่ตามกฎหมายในการนำส่งข้อมูลปิดบัญชีเข้ามาที่เครดิตบูโรในเดือนถัดไป (จะปรากฎเป็นสถานะ 11 ปิดบัญชี)
  2. กรณีท่านได้ชำระหนี้ปิดบัญชีให้แก่นิติบุคคล ผู้รับโอนหนี้เสร็จสิ้นแล้ว และมีความประสงค์ยื่นคำขอแก้ไขรหัสสถานะบัญชี ในบัญชีสินเชื่อ/บัตรเครดิตในรายงานเครดิตบูโร (จากสถานะ 42 โอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน เป็น สถานะ 43 โอนหรือขายหนี้และชำระหนี้เสร็จสิ้น) ท่านสามารถยื่นคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย 1) แบบฟอร์มคำขอแก้ไขรหัสสถานะบัญชี (เนื่องจากได้ชำระหนี้ให้แก่นิติบุคคลผู้รับโอนหนี้เสร็จสิ้นแล้ว) ให้ครบถ้วนถูกต้อง ที่เว็บไซต์ www.ncb.co.th เมนู ดาวน์โหลดเอกสารคำขอ หรือhttps://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/form_download 2) สำเนาบัตรประชาชน ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 3) สำเนาหนังสือยืนยันการชำระหนี้ปิดบัญชี ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง

จากกรณีที่ 2 ท่านสามารถยื่นคำขอและเอกสารดังกล่าวได้ด้วยตนเอง ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ ถึง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ส่วนรับเรื่องร้องเรียน เลขที่ 33/4 อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 ถ.พระราม 9 เขตห้วยขวาง กทม. 10310

เมื่อได้รับคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องของท่าน ถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว เครดิตบูโรจะดำเนินการประสานงานตรวจสอบกับสถาบันการเงิน และเมื่อได้รับคำชี้แจงจากสถาบันการเงินแล้ว เครดิตบูโรจะแจ้งผลให้ท่านทราบ (ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอของท่านตามที่กฎหมายกำหนด

เรื่องน่าอ่าน