Blog

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เครดิตบูโรคืออะไร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 25 เมษายน 2568

เครดิตบูโรคืออะไร

เครดิตบูโร คือองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะรวมข้อมูลคนเป็นหนี้ ใครไปเป็นหนี้แบงก์ ใครไปเป็นหนี้นอน-แบงก์ จะมีองค์กรแบบนี้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลคนเป็นหนี้ ถ้าเปรียบเทียบ มันคือ “สมุดพกของคนเป็นหนี้” เหมือนว่าเราไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยนั้นหรือที่โรงเรียนนั้น แล้วก็จะมีสมุดพกเพื่อรวบรวมว่าคนนี้มีผลการเรียนเป็นอย่างไร มันก็เหมือนกันกับว่า คนนี้มีหนี้ที่ไหนบ้าง แล้วปฏิบัติหนี้แต่ละก้อน แต่ละที่อย่างไร องค์กรนี้ในต่างประเทศและในประเทศไทย เรียกว่า “เครดิตบูโร”

“เครดิตบูโร” จะมีหน้าที่ในการจัดเก็บ รวมรวบข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้สินเชื่อ โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลให้แก่เครดิตบูโรเป็นรายเดือนทุกเดือน

รายงานข้อมูลเครดิตเป็นการรายงานประวัติสินเชื่อตามข้อเท็จจริง กรณีลูกหนี้ชำระหนี้ได้หรือไม่ค้างชำระ รายงานก็จะแสดงว่าสถานะบัญชีปกติ กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ รายงานก็จะแสดงข้อมูลว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไว้ในระบบข้อมูลเช่นกัน ข้อมูลจะอัปเดตให้ในแต่ละเดือนไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด 36 เดือน จำนวน 36 บรรทัด เรียงทับกันเหมือน “ขนมชั้น” เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ข้อมูลบรรทัดเก่าของเมื่อ 36 เดือนที่แล้วก็จะหายไป โดยเครดิตบูโรมิได้มีหน้าที่ขึ้น “บัญชีดำ” หรือ “Blacklist” อย่างที่เข้าใจกัน

เมื่อท่านขอกู้เงิน หรือสินเชื่อแล้ว สถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน ภาระหนี้ที่ท่านมีอยู่ ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงประวัติการชำระหนี้ที่ปรากฏในรายงานของเครดิตบูโร

เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร บุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน แจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th ศึกษารายละเอียดข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 11 เมษายน 2568

ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร

บทความวันนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของข้อมูลเครดิต โดย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) จะเปรียบเสมือนเป็น “ถังข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมในเรื่องการก่อหนี้ การชำระหนี้” ที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไทย หากใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกรรมสินเชื่อในระบบ ก็สามารถขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตเหล่านี้ได้จากเครดิตบูโร

 

เครดิตบูโรนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งสามภาคส่วน ดังนี้

1.ระบบเศรษฐกิจไทย

– เป็นสัญญาณเตือนภัยของระบบการเงิน คือ สามารถนำเอาข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ให้เห็นทิศทางและความเสี่ยงของธุรกรรมสินเชื่อในระบบ

– เป็นเครื่องมือในการอ่านสัญญาณเศรษฐกิจของสถาบันต่างๆ เพื่อไปคิดต่อว่าควรต้องออกมาตรการหรือต้องไปทำอะไรในเชิงการบริหารความเสี่ยง

– เป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” ของระบบการเงิน คือ เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของระบบสถาบันการเงินในการนำมาใช้บริหารความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อ

“ป้องกันการเกิดความล่มสลายอย่างที่เกิดมาในอดีต หากระบบทุกส่วนตรงนี้ดีมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าระบบการเงินจะไม่มีปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องไปยุ่งกับการค้ำประกันเงินฝาก เพราะปัญหาจะถูกจัดการตั้งแต่ต้นมือ อีกทั้งก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะไปถึงจุดนั้น ต้องผ่านระบบการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก”

2.สถาบันการเงินในฐานะผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้

– มีระบบการบริหารความเสี่ยงในการให้กู้ยืม ป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาความไม่มั่นคงแก่ระบบสถาบันการเงิน และระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ผ่านการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร

– ตรวจเช็กอาการของลูกหนี้ เพื่อวิเคราะห์หรือทบทวนสินเชื่อ จึงจำเป็นต้องทราบฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้อย่างเพียงพอ ว่ามีประวัติการชำระหนี้อย่างไร และมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใดในขณะใดขณะหนึ่ง

3.ผู้กู้หรือลูกหนี้

– ตรวจเช็กข้อมูลเครดิต หรือตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเอง เพื่อป้องกันภัยการเงินและเตรียมพร้อมวางแผนก่อนจะไปขอกู้

– ตรวจเช็กประวัติการชำระทุกข้อมูลบัญชีสินเชื่อ หากข้อมูลไม่ถูกต้อง ขอแก้ไขได้

– การมีข้อมูลเครดิต สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อได้

– มีโอกาสที่จะได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้กู้ที่มีประวัติผ่อนชำระดี

การขอตรวจสอบกรณีถูกปฏิเสธสินเชื่อ

ขั้นตอนการยื่นขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตสำหรับบุคคลเจ้าของข้อมูลกรณีถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ

ในกรณีที่ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน และมีหนังสือแจ้งการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่มีข้อความว่าเป็นผลจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด บริษัทจะเปิดให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ทางที่ทำการบริษัท หรือ ทางไปรษณีย์

โดยเจ้าของข้อมูลต้องมีหนังสือปฏิเสธจากสถาบันการเงิน ที่ระบุสาเหตุการปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นผลจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติและนำมายื่นขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตพร้อมหลักฐานอื่นๆ ทั้งนี้บริษัทจะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครดิต หากยื่นคำขอภายใน 30 วัน นับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธดังกล่าว

การขอตรวจสอบกรณีถูกปฏิเสธสินเชื่อ ณ ที่ทำการบริษัทฯ

สามารถยื่นแบบคำขอ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1. ยื่นแบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต (ประเภทบุคคลธรรมดา หรือ ประเภทนิติบุคคล) พร้อมหลักฐานประกอบดังนี้

กรณีบุคคลธรรมดา

  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริง หรือหนังสือเดินทางฉบับตัวจริงมาแสดง**ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ ให้นำ**
    • หนังสือมอบอำนาจบุคคลธรรมดา
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง

กรณีนิติบุคคล

  • สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจพร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง **ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ ให้นำ**
    • หนังสือมอบอำนาจนิติบุคคล
    • สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้องโดย กรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมประทับตราสำคัญบริษัท (ถ้ามี)
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาแสดง
2. ยื่นเอกสารในข้อ 1 พร้อมหนังสือปฏิเสธจากสถาบันการเงินที่ระบุสาเหตุการปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นผลจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (ชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครดิตต่อเจ้าหน้าที่ของบริษัท กรณียื่นคำขอเกินกว่า 30 วันจากนับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธ)
3. เจ้าของข้อมูลสามารถขอรับรายงานภายในวันยื่นคำขอ หรือยื่นความจำนงให้จัดส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (กรณีให้จัดส่งทางไปรษณีย์ ฉบับละ 20 บาท)

การขอตรวจสอบกรณีถูกปฏิเสธสินเชื่อผ่านทางไปรษณีย์

1. เจ้าของข้อมูลกรอกแบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต ( ประเภทบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ) โดยแนบหลักฐาน ดังนี้

กรณีบุคคลธรรมดา

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่หน่วยงานราชการออกให้ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง กรณีเป็นชาวต่างชาติให้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

กรณีนิติบุคคล

  • สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

2. หนังสือปฏิเสธจากสถาบันการเงิน ที่ระบุสาเหตุการปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นผลจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ โดยหากมีอายุไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นไม่เสียค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครดิต

3. จัดส่งเอกสารหลักฐานตามข้อ 1 และ 2 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จ่าหน้าถึง

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ส่วนบริการเจ้าของข้อมูล เลขที่ 33/4 อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2  ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

4. บริษัท จัดส่งรายงานข้อมูลเครดิตให้ตามที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือที่อยู่ที่ทางบริษัทจะสามารถตรวจสอบได้

 

หมายเหตุ

  • โปรดระบุชื่อผู้ติดต่อ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ลงในแบบคำขอ เพื่อใช้ในกรณีที่บริษัท ต้องการสอบถามเพิ่มเติม
  • กรณีที่เอกสารและหลักฐานไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน บริษัท ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดส่งรายงานข้อมูลเครดิต
  • กรณีที่ท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต โปรดติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนบริหารเจ้าของข้อมูล

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : สร้างเครดิตทางการเงินให้ดี เพิ่มโอกาสการขอสินเชื่อ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2568

สร้างเครดิตทางการเงินให้ดี เพิ่มโอกาสการขอสินเชื่อ

คำกล่าวที่ว่า มีเครดิตดีทำอะไรก็ง่าย คงไม่เกินจริง โดยเฉพาะเครดิตทางการเงิน ที่ยิ่งมีเครดิตดีมากเท่าไหร่ สุขภาพการเงินก็ดี และโอกาสในการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการขอสินเชื่อเป็นไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น มาดูกันว่าถ้าอยากสร้างเครดิตให้ดีต้องทำอย่างไรกันบ้าง

  1. ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
  • การสร้างเครดิตทางการเงินที่จะช่วยให้สถาบันการเงินเห็นภาพพฤติกรรมการใช้จ่ายได้อย่างชัดเจนคือ ประวัติการชำระหนี้ ยิ่งใครที่มีบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด จะทำให้เห็นวินัยทางการเงินในส่วนตรงนี้มากขึ้น โอกาสในการขอสินเชื่อผ่านก็จะง่ายตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนดไว้
  1. ไม่มีภาระหนี้เยอะ
  • หากใครที่มีหนี้บัตรเครดิต หรือมีสินเชื่อหลายตัว โอกาสที่จะขอสินเชื่อผ่านได้ง่าย ๆ คือต้องสะสางหนี้ให้หมด หรือเหลือให้น้อยที่สุด เพื่อให้สถาบันการเงินพิจารณาในการให้สินเชื่อ
  1. มีเงินเข้า-ออกบัญชีอย่างสม่ำเสมอ
  • เพื่อเป็นหลักฐานที่สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบได้ ว่าในแต่ละเดือนมีรายรับและรายจ่ายเท่าไหร่ เป็นการสร้างเครดิตทางการเงินเบื้องต้นไปในตัว
  1. เปิดบัญชีออมเงินไว้โดยเฉพาะ
  • การเปิดบัญชีเงินฝากแยกไว้อีกส่วนซึ่งบัญชีนี้อาจจะเป็นเงินจำนวนหนึ่งที่มากกว่าฐานเงินเดือน จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในเรื่องของเครดิตทางการเงินได้
  1. ลงทุน DCA อย่างต่อเนื่อง
  • DCA หรือ Dollar-cost averaging เป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยไม่ว่าจะกองทุน หรือหุ้นในจำนวนเงินที่เท่า ๆ กันแต่ละเดือน ซึ่งการลงทุนรูปแบบนี้จะช่วยให้เห็นถึงวินัยทางการเงินเพราะเรามีการลงทุนอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ

ถ้าอยากมีเครดิตที่ดีหรือเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ ต้องหมั่นตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเองในการสร้างเครดิตทางการเงิน โดยสามารถเลือกช่องทางการตรวจเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ความน่าเชื่อถือข้อมูลเครดิต : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 14 มีนาคม 2568

ข้อมูลเครดิตมีผลต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินของเราแค่ไหน

ทำไมถึงต้องรักษาเครดิตการเงินไว้ให้ดีอย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลเครดิตถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเช็กสุขภาพการเงินของเรา และแสดงให้เห็นถึงประวัติการชำระหนี้สินต่อสถาบันการเงินต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นทุกวันนี้ข้อมูลเครดิตกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินมากมาย

ความสำคัญของข้อมูลเครดิตต่าง ๆ จึงกลายมาเป็น 5 เหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องรักษาเครดิตของตนเองให้ดี เพราะหากปล่อยปะละเลยนาน ๆ ก็อาจจะสายเกินแก้

  1. ข้อมูลเครดิตสำคัญต่อความเป็นอยู่ในชีวิต ข้อมูลเครดิตที่ดีอาจส่งผลไปถึงไลฟ์สไตล์และความเป็นอยู่ในชีวิต อาทิ การเลือกที่พักอาศัย หรือแม้แต่การทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะข้อมูลเครดิตเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินจะพิจารณา รวมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาระหนี้ รายได้ ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนดไว้ ยิ่งถ้าเรามีประวัติการเงินและเครดิตการเงินที่ดี โอกาสที่จะยื่นขอสินเชื่ออนุมัติผ่านก็มีความเป็นไปได้สูง
  2. เพิ่มโอกาสในการเจรจาต่อรองวงเงินที่สูงขึ้น หลายคนอาจไม่รู้ว่าการมีเครดิตดีมักจะตามมาด้วยโอกาสที่จะต่อรองกับสถาบันการเงินที่มากขึ้น เมื่อสถาบันการเงินประเมินแล้วว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระไหว เราก็จะได้รับการเจรจาวงเงินที่ยื่นขอไปได้ แต่ทั้งนี้สถาบันการเงินดูปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย เช่น รายได้ ประวัติการชำระหนี้ หรือแม้แต่เงื่อนไขข้อกำหนดของสถาบันการเงินที่กำหนดไว้แต่ละแห่ง เป็นต้น
  3. ข้อมูลเครดิตอาจมีผลต่อหน้าที่การงานในอนาคต ในบางสายงานใช้ข้อมูลเครดิตในการประเมินผู้สมัครงานด้วย โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เพื่อต้องการตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางการเงิน และเช็กพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อภาระการเงินที่มี
  4. การทำธุรกิจก็จำเป็นต้องมีเครดิตการเงินดี ไม่ใช่แค่บุคคลธรรมดาหรือคนทั่วไป แต่นิติบุคคล เจ้าของธุรกิจก็ต้องมีเครดิตดีก่อนการประกอบธุรกิจเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจในเวลาที่คู่ค้าต้องการจะเข้ามาทำธุรกิจร่วมกัน เป็นพาร์ตเนอร์ หุ้นส่วน มั่นใจได้ว่าธุรกิจจะไม่เสี่ยงต่อการล้มละลาย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องมีเครดิตการเงินที่ดี
  5. เครดิตการเงินดีช่วยกำหนดอนาคตได้ง่ายยิ่งขึ้น ข้อมูลเครดิตเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถวางแผนหรือคาดการณ์การเงินในอนาคต เพราะหากเรามีการจัดสรรรายจ่ายที่ดี ชำระหนี้ตรงต่อเวลา เราจะสามารถกำหนดเป้าหมายการเงินของเราให้เป็นไปตามแบบแผนที่วางไว้ได้

แน่นอนว่าการมีเครดิตที่ดีถือเป็นประโยชน์ต่อเราอย่างมาก ซึ่งหากใครที่ต้องการจะรู้ว่าข้อมูลเครดิต และประวัติการเงินในตอนนี้ของเราเป็นอย่างไร ก็สามารถตรวจเครดิตบูโรเพื่อเช็กข้อมูลเครดิตของตนเองได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการ โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th 

#เครดิตดีมีโอกาส

ตรวจข้อมูลเครดิต ฟรี! ในงาน “LAฬ Square” มหกรรมกฎหมาย เครือข่ายนิติจุฬาฯ สู่สังคม : วันที่ 15 มีนาคม 2568 เวลา 16.00 – 20.00 น. บริเวณ Siam Square Walking Street

ตรวจข้อมูลเครดิตฟรี! ในงาน “LAฬ Square” มหกรรมกฎหมาย เครือข่ายนิติจุฬาฯ สู่สังคม
วันที่ 15 มีนาคม 2568 เวลา 16.00 – 20.00 น. บริเวณ Siam Square Walking Street

ให้บริการตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้ตีออส) และแท็บเล็ต (Tablet) รอรับรายงานทางอีเมลได้ทันที *เฉพาะตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเท่านั้น
เตรียมให้พร้อมก่อนใช้บริการตรวจข้อมูลเครดิต
– บัตรประชาชนของตนเอง
– เบอร์โทรศัพท์มือถือของตนเอง (เพื่อรับรหัส OTP)
– อีเมลของตนเอง (สำหรับจัดส่งรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ NCB e-Credit Report)

เรื่องน่าอ่าน