ล็อกกระเป๋าการเงินครึ่งปีหลัง ด้วยหลักการกระจายความเสี่ยงให้ชีวิตไม่เดือนชนเดือน

ล็อกกระเป๋าการเงินครึ่งปีหลัง ด้วยหลักการกระจายความเสี่ยงให้ชีวิตไม่เดือนชนเดือน

“เดือนแรกของปี – ปีนี้จะต้องเก็บให้ได้สักก้อน”

“ผ่านมาสามเดือน – ช่วงนี้เงินไม่พอใช้ค่อยเริ่มช่วงกลางปีก็ยังทัน”

“ครึ่งปีแรกผ่านมา – ดูท่าจะเดือนชนเดือนทั้งปีไว้เริ่มเก็บปีหน้าแล้วกัน”

คุณเคยอยู่ในสถานการณ์ที่ว่านี้ไหม? ต้นปีวางแผนจะเก็บเงินมาซะดิบดี แต่มาเข้ามาช่วงกลางปี คิดว่าที่ผ่านมาใช้เงินเดือนชนเดือน เริ่มรู้สึกว่ายกยอดไปปีหน้าจะดีกว่า

การสร้างนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ทำให้เราเสียโอกาสดี ๆ ไปมากมายแน่นอนว่ารวมไปถึงเรื่องการออมเงินด้วยเช่นกัน เพราะในช่วงระยะเวลาที่เราทิ้งไป อาจเป็นช่วงเวลาที่สามารถทำให้ ‘เงินงอกเงย’ ขึ้นมาได้ ดังนั้น เพื่อแก้นิสัยไม่ดีทางการเงิน อีกกว่า 6 เดือนที่เหลือ เรามาล็อกกระเป๋าการเงิน ด้วยหลักการกระจายความเสี่ยงกันดีกว่า

เหตุผลที่ควรกระจายความเสี่ยง

การกระจายความเสี่ยงก็คือการวางเป้าหมายทางการเงินของเรานั่นแหละ เพียงแค่ว่าถ้าหากเรามีเป้าหมายทางการเงินที่แน่ชัดแล้ว เราก็จะรู้ได้ว่าเราควรกระจายความเสี่ยงไปในรูปแบบไหน

ตัวอย่าง 1

เก็บเงิน 1 แสนบาท ภายใน 3 ปี

ซึ่งเงินก้อนนี้จะเป็นเงินเย็นเพื่อนำไปลงทุนต่อไปในอนาคต

เราก็จะรู้เป้าหมายแล้วว่าเงินก้อนนี้จะเป็น ‘เงินเย็น’ ใช้ลงทุนโดยเฉพาะ เราก็จะต้องมาคิดต่อว่าวิธีที่จะเก็บเงินเย็นให้ได้ 1 แสน ภายใน 3 ปี ควรทำยังไง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการฝากประจำ เดือนละ 3,500 บาท

ตัวอย่าง 2

มีเงินเกษียณ 7 ล้านบาท ภายในอายุ 60 ปี

เป้าหมายคือหลังเกษียณจะต้องมีเงินใช้ราว ๆ  7 ล้านบาท พอเรารู้แบบนี้เราก็จะสามารถวางแผนได้ว่า ควรกระจายความเสี่ยง หรือลงทุนแบบไหนให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น อาจนำเงินก้อนที่เก็บมาต่อยอดในหุ้น กองทุน เป็นต้น

ทำไมต้องประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุน

ในการลงทุนแต่ละรูปแบบโดยเฉพาะการลงทุนที่มีความเสี่ยงมักจะมีแบบประเมินให้เราทำการทดสอบระดับความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ระดับ 1-8 ก็คือความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนน้อย ไปจนถึง ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง ซึ่งการที่เราประเมินความเสี่ยงก็เพื่อที่จะได้รู้แนวทางในการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเองได้ง่ายมากขึ้น

ตัวอย่างเปรียบเทียบการกระจายความเสี่ยง

การกระจายความเสี่ยงมีหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 2 แบบ ดังนี้

  • ทุ่มลงทุนรูปแบบเดียว

หมายถึงเลือกรูปแบบการลงทุนอย่างเดียวอย่างหนึ่ง แล้วรอรับผลตอบแทนกลับมา เช่น นำเงินก้อนมาลงทุนในกองทุน A ที่ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี โดยลงทุนตัวนี้เพียงตัวเดียว แล้วรอรับผลตอบแทนในอีก 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เราไม่ต้องใช้เงินนั้น ๆ

  • กระจายการลงทุนในรูปแบบที่หลากหลาย

คือการหว่านกระจายลงทุน ที่ได้ผลตอบแทนที่ต่างกันไป เช่น ฝากออมทรัพย์เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน 30% ลงทุนในกองทุนรวม 20% ลงทุนในหุ้น 30% สกุลเงินดิจิทัล 20% เป็นต้น

รูปแบบการกระจายความเสี่ยง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นก็ได้พูดถึงรูปแบบการลงทุนไปบ้างพอสมควร แต่แน่นอนว่าการกระจายความเสี่ยงไม่ใช่แค่ลงทุนในกองทุนรวม หุ้น แต่เพียงเท่านั้น ยังมีรูปแบบการกระจายความเสี่ยงอีกมากมาย

เช่น พันธบัตรรัฐบาล ประกันสะสมทรัพย์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หุ้นอนุพันธ์ Forex เป็นต้น

โดยการลงทุนที่กล่าวมาโดยส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ที่ควรจะต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนการลงทุน

สุดท้ายท้ายสุด หลักการกระจายความเสี่ยงก็เป็นเพียงหนึ่งในการวางเป้าหมายทางการเงิน เพื่อให้เราสามารถเห็นภาพออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม ลองนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้กับการวางแผนการเงินของตนเองในช่วงครึ่งปีหลัง ไม่แน่ว่านอกจากจะไม่ใช้เงินเดือนชนเดือนแล้ว เราอาจจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้เมื่อตอนต้นปีก็ได้