“อาชีพอิสระ แต่ความมั่นคงทางการเงินไม่อิสระอย่างที่คิด”
เมื่อเอ่ยถึงอาชีพอิสระ หรือที่หลายคนชอบเรียกว่า ฟรีแลนซ์ คนมักจะนึกถึงความสบาย มีอิสระ ไม่มีกฎเกณฑ์ในการทำงาน ไม่ต้องคอยตื่นเช้าเพื่อมาเผื่อเวลารอรถไปบริษัท แค่ทำงานที่ไหนก็ได้ ส่งงานตามกำหนด ก็ได้รับเงินมาใช้อย่างสบาย ๆ
แต่ภายใต้ความอิสระเหล่านี้ มีความไม่มั่นคงในชีวิตและทางการเงินอยู่ และเพื่อให้เหล่าฟรีแลนซ์ได้มีความมั่นคงทางการเงินที่ดีขึ้น มาดู 6 วิธีที่จะช่วยสร้างอิสรภาพ ที่ทำง่าย ใช้ได้จริงกันค่ะ
- จัดการรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน
อาชีพอิสระเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน บางเดือนอาจมีรายได้เข้ามาเป็นจำนวนมาก บางเดือนอาจมีรายได้เข้ามาน้อย เราจึงจำเป็นต้องจัดการรายได้ที่เข้ามา และกำหนดงบประมาณรายจ่ายในแต่ละเดือนอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลังในแต่ละเดือน
- เตรียมเงินสำรองล่วงหน้าไว้ในยามฉุกเฉิน
คนทำอาชีพอิสระมักไม่มีหลักประกันในชีวิต หรือสวัสดิการคุ้มครองมากนักเมื่อเทียบกับพนักงานบริษัท ฉะนั้นเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยจนเข้าโรงพยาบาล กระทั่งไม่มีงานเข้ามา จึงจำเป็นที่จะต้องสำรองเงินล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินอย่างน้อย 6-12 เดือน โดยประเมินจากรายจ่ายในแต่ละเดือนของเรา เพื่อไว้ใช้จ่ายทดแทน
- หมั่นลงทุนสร้างความมั่นคงในชีวิต
เพราะรายได้ที่ไม่แน่นอนของอาชีพอิสระอาจทำให้ถูกมองว่าไม่มีความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นเมื่อมีรายได้เข้ามาควรที่จะแบ่งสัดส่วนเพื่อไว้สำหรับลงทุนโดยเฉพาะโดยทันที เพื่อให้จำนวนเงินที่เราลงทุนไปได้เติบโต งอกเงยขึ้นมาและสามารถสร้างความมั่นคงในอนาคตได้ ซึ่งการลงทุนที่เหมาะกับฟรีแลนซ์ เช่น ฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวม ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เป็นต้น
ทั้งนี้ ก่อนการลงทุนควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างชัดเจน ติดตามข่าวสารการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการลงทุนด้วยนะคะ
- เช็กสิทธิประโยชน์สำหรับฟรีแลนซ์เสมอ
แม้ว่าหลักประกันของชีวิตฟรีแลนซ์จะไม่เทียบเท่ากับพนักงานบริษัท แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลยนะคะ เพราะประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ทำฟรีแลนซ์อยู่ โดยสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 40 ได้ หรือหากใครที่เคยเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม ตามมาตรา 33 แล้วลาออกมาก็ยังสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้เช่นกัน
อีกหนึ่งทางเลือกนั่นก็คือ การสมัครเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับอาชีพอิสระโดยเฉพาะ เพื่อสร้างหลักประกันในชีวิตในตนเองเพิ่มได้ค่ะ
- อย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น
หากคิดที่จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มให้กับตนเอง เช่น กู้บ้าน กู้รถ เป็นต้น เราจำเป็นที่จะต้องคิดอย่างรอบคอบก่อน เพราะรายจ่ายเหล่านี้ถือเป็นรายจ่ายระยะยาวที่จะเป็นพันธะผูกพันไปอีกหลายปี แต่หากเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะกู้จริง ๆ ก็ควรที่จะคำนวณความสามารถในการผ่อนต่อเดือน และความสม่ำเสมอในการชำระค่างวด เพราะหากไม่คำนวณให้ดีจากที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตก็กลายเป็นสร้างภาระเพิ่มแทนได้ค่ะ
การวางแผนและจัดสรรการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำฟรีแลนซ์ควรทำ เพราะด้วยรายรับที่เข้ามาไม่ได้มีความสม่ำเสมอ จึงจำเป็นที่จะต้องจัดสรรการเงิน สำรองรายจ่ายยามฉุกเฉินในอนาคต ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นการสร้างอิสรภาพการเงินที่ดีได้นั่นเองค่ะ