7 ข้อห้ามที่ต้องเลี่ยงให้ไกลเมื่อวางแผนชำระหนี้

 

การมีเงินใช้จ่ายตามความต้องการเป็นเรื่องที่มีความสุข แต่การใช้จ่ายเกินตัวจนเกิดเป็นภาระหนี้นั้นตามมาแต่ความทุกข์และความเครียดในการหาเงินมาคืน

การปลดหนี้ก็เปรียบเสมือนกับปลดภาระที่สร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้กับชีวิต แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ดูเหมือนว่าจะหลุดพ้นจากวงจรหนี้ไปแล้วก็ยังกลับเข้ามาใหม่ด้วยพฤติกรรมการใช้จ่าย และนิสัยการใช้เงินฟุ้งเฟ้อ

ดังนั้นเผื่อให้การวางแผนการชำระหนี้เป็นไปตามเป้าหมาย มาสำรวจนิสัยต้องห้ามมี่คุณต้องหลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุดเมื่อวางแผนชำระหนี้

 

  1. จ่ายหนี้แต่ไม่เปลี่ยนนิสัยการใช้เงิน

ถ้าคุณบอกว่าคุณชำระหนี้ตรงเวลา ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคุณจ่ายหนี้ แต่ยังคงเอาเงินมาหมุนวนไปแบบนี้คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะสุดท้ายถ้าเรายังจ่ายหนี้แต่ยังใช้จ่ายเงินเข้ากระเป๋าซ้ายออกกระเป๋าขวา โอกาสที่หนี้จะลดลงแทบจะเป็นไปได้ยากมาก หากอยากจะปลดหนี้โดยเร็วต้องมีวินัยการใช้เงินอย่างรัดกุม ตัวอย่างเช่น จากที่ชอบกินข้าวนอกบ้าน ก็ซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารกินเองที่บ้านแทน เป็นต้น

 

  1. หนี้ยังไม่หมดแต่ยังรูดบัตรเครดิตใช้จ่ายตลอด

การปลดหนี้ก็เหมือนกับการเล่นเกมจิตวิทยากับตัวเอง หากเราใจไม่แข็งพอก็อาจโบกธงขาวยอมแพ้ และท้ายที่สุดก็ติดกับดักหนี้จนไม่สามารถหาทางออกได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้คือกำจัดหนี้บัตรเครดิตให้หมด และไม่ก่อหนี้ใหม่ระหว่างที่กำลังจะชำระหนี้คืน

 

  1. จ่ายหนี้พร้อมกันในครั้งเดียว

หากมีหนี้มากกว่า 1 บัญชี และในแต่ละเดือนต้องจ่ายหนี้พร้อมกันทีละมาก ๆ ซึ่งบางคนก็เลือกที่จะจ่ายอีกที่ และกู้ใหม่เพื่อมาโปะอีกที่ หมุนเงินวนไปอย่างนั้นจนยอดหนี้ไม่ได้ลดลง นี่คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง และเริ่มต้นจากการจ่ายขั้นต่ำของแต่ละที่ และให้ทยอยโปะหนี้ที่ก้อนเล็กที่สุดก่อนจากนั้นค่อยทบไปเรื่อย ๆ

 

  1. จ่ายหนี้หมดแต่ไม่ปิดบัญชีหนี้

อีกปัญหาคือหลายคนจ่ายหนี้จนครบหมดแล้ว เคลียร์ยอดหนี้เป็น 0 แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ปิดบัญชีหนี้ นั่นก็ทำให้เรามีโอกาสที่จะก่อหนี้ ตะติดกับดักหนี้ได้อีกครั้งเช่นกัน ดังนั้นเมื่อวางแผนการชำระหนี้หมดแล้วควรรีบปิดบัญชีหนี้โดยทันที

 

  1. จ่ายหนี้หมดแต่ไม่เก็บออมเงิน

หนี้ก็ต้องจ่าย เงินก็ต้องเก็บออม บางคนอาจมีในกรณีที่ว่าเคลียร์หนี้หมดแล้วแต่ก็ยังคงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายไม่เก็บออมเงินอยู่ หรือบางคนก็เอาเงินไปจ่ายหนี้และไม่ได้แบ่งสัดส่วนมาออมเงิน พอถึงเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินฉุกเฉินเราก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายหมุนเวียนอยู่ดี เพราะเราไม่มีเงินเก็บ หากเรายังไม่อุดรอยรั่วตรงนี้การเคลียร์หนี้ของเราก็ไม่ไปถึงเป้าหมายสักที

 

  1. ไม่จัดลำดับความสำคัญของหนี้

บางคนพอเห็นว่ามีภาระหนี้สินเยอะก็เริ่มจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ว่าหนี้ก้อนไหนที่ต้องจัดการก่อน ซึ่งหากต้องการปิดช่องโหว่ทางการเงินของตนเองให้หมด ต้องจดรายการหนี้สินที่มีเพื่อเรียงลำดับและวางแผนการชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมกับรายรับที่มี และจะได้รู้ว่าเราต้องหารายได้เพิ่มเติมเพื่อมาจ่ายหนี้ด้วยหรือไม่

 

  1. ไม่ตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเอง

บางคนอาจมีการจ่ายหนี้ล่าช้า หรือไม่ได้ชำระหนี้เป็นไปตามที่กำหนดและมองว่าคงไม่ส่งผลต่อเครดิตทางการเงิน จึงไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเอง เพราะการตรวจเครดิตบูโรจะช่วยให้เราสถานะทางการเงินได้ว่าการเงินตอนนี้ของเราเป็นอย่างไร มีการค้างชำระหนี้หรือไม่เพื่อที่จะได้มาวางแผนจัดการหนี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

การรัดเข็มขัดหรือควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในกรอบอาจดูเครียด ไม่สนุก แต่การลดทอนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่ไม่ดีก็จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้สถานะการเงินของเราไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้โดยเร็วที่สุด