5 ทริคแก้ปัญหาการเงินยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือน

ปัญหาการเงินตามสไตล์มนุษย์เงินเดือนที่ต่างประสบพบเจอกันอยู่บ่อยครั้งคงไม่พ้น ปัญหาการใช้เงินเดือนชนเดือน เงินเข้าปุ๊บ เงินออกปั๊บ พอเข้ากลางเดือนก็เริ่มใช้จ่ายติด ๆ ขัด ๆ ถึงสิ้นเดือนยิ่งแล้วใหญ่ และยิ่งถ้าใครถามถึงเงินเก็บเงินออม ก็ขอเปลี่ยนหัวข้อการคุย เพราะไม่มีเงินเหลือเก็บเลยในแต่ละเดือน

หากปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรายรับ และภาระค่าใช้จ่าย รวมไปถึงภาระหนี้ของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน นั่นถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่หากปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมการเงินจ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีการวางแผนการเงินเลยตั้งแต่เริ่มล่ะ เราจะแก้ปัญหายังไง

เรามาดูทริคการแก้ปัญหาการเงินสำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือนกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละรูปแบบควรมีวิธีการแก้ทางไหนได้บ้าง

 

  1. ใช้ก่อนออมทีหลัง

หลายคนมักประมาทในเรื่องของการใช้เงินมากเกินไป และลืมเรื่องของการออมเงินโดยไม่รู้ตัว บางคนเมื่อมีรายรับเข้ามาในแต่ละเดือนก็มองว่าต้องใช้จ่ายไปหมดก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยออมเท่านั้น ซึ่งการทำแบบนั้นทำให้ใครหลายคนไม่มีเงินเก็บออมเลยสักบาท และไม่ใช่แนวทางการออมเงินที่ถูกต้องนัก

วิธีแก้ไขปัญหา :

วางแผนการเงินให้มีความละเอียดและรอบคอบ โดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ  เช่น ในแต่ละเดือนที่มีรายรับเข้ามา ให้เราหักเงินออมออกจากรายรับออกก่อนเป็นอย่างแรก ซึ่งสัดส่วนเงินออมขึ้นอยู่ตามความเหมาะสมของเรา โดยประเมินจากภาระค่าใช้จ่ายที่มีทั้งหมดเพื่อที่เราจะรู้ได้ว่าเงินจำนวนไหนที่เก็บออมไปแล้วเราจะไม่เดือดร้อน

 

  1. ผัดวันประกันพรุ่ง

การผัดวันประกันพรุ่งไม่ว่าจะเรื่องของการออมเงิน การลงทุน หรือการผลัดงวดจ่ายหนี้จนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัญหาที่มนุษย์เงินเดือนประสบพบเจอกันมาตลอด จนทำให้เครดิตทางการเงินของใครหลายคนเสียไปแบบน่าเสียดาย

วิธีแก้ไขปัญหา :

เราต้องหักดิบตนเอง สร้างวินัยทางการเงินขึ้นมาเพื่อมุ่งมั่นในการออมเงิน และตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะต้องกำจัดภาระหนี้สินออกไปให้พ้นตัวมากที่สุด ไม่ให้ประวัติการเงินของเราเสีย

 

  1. ไม่มีเงินสำรองในบัญชี

มนุษย์เงินเดือนหลายคนใช้จ่ายจนลืมนึกคิดถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การเจ็บป่วย การลาออก หรืออุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายที่เราจะคาดการณ์ได้ ซึ่งบางคนมักละเลยเรื่องนี้ทำให้ถึงเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินไม่มีเงินสำรองในการใช้จ่าย อีกทั้งบางคนยังพลั้งเผลอใช้จ่ายเกินตัวเป็นเดือนชนเดือน จนขั้นร้ายแรงสุดคือต้องหยิบยืมคนอื่นมาใช้จ่าย

วิธีแก้ไขปัญหา :

เคร่งครัดเรื่องการวางแผนการเงินและวางแผนอนาคตมากขึ้น ควรมีการจัดทำรายรับ-รายจ่าย และสำรองเงินสำหรับยามฉุกเฉินไว้อย่างน้อย ๆ 3-6 เดือน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

  1. มองประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตว่าไม่สำคัญ

หลายคนเพิกเฉยเรื่องการทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต เพราะอาจมองว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เราจะได้รับจากประกันไม่ใช่เรื่องของเงินแต่เป็นเรื่องความคุ้มครองชีวิตที่จะได้รับอย่างครอบคลุมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่มนุษย์เงินเดือนไม่ควรมองข้าม

วิธีแก้ไขปัญหา :

ศึกษาแผนประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง อาจจะเลือกแบบเบี้ยรายเดือน หรือรายปี โดยประเมินจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเรื่องของหน้าที่การงาน เรื่องของสุขภาพโรคภัย และยิ่งถ้าหากเราทำประกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากที่จะได้ค่าเบี้ยประกันที่ถูกแล้ว โอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุมก็มากกว่า

 

  1. ไม่คิดเรื่องเกษียณหรืออนาคต

บางคนอาจมองว่าระยะเวลาที่จะเกษียณยังเหลืออยู่อีกนาน ยังไม่จำเป็นต้องเร่งเก็บออมเงิน หรือเร่งวางแผนอนาคต แต่ความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไป อายุและสังขารเราก็เพิ่มขึ้นทุกปี สุขภาพร่างกายที่เคยแข็งแรงเฉกเช่นคนหนุ่มสาวก็โรยราไปทุกวัน ๆ หากไม่คิดถึงแผนเกษียณหรืออนาคตก็อาจไม่ทันเวลา จนกลายเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน

วิธีแก้ไขปัญหา :

มองหาแผนการเงินที่สามารถเก็บออมได้ในระยะยาวไปจนถึงช่วงวัยเกษียณได้ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม เป็นต้น โดยค่อย ๆ แบ่งสัดส่วนจากรายรับของเราเล็ก ๆ ทยอยสะสมไป จากเงินจำนวนเล็ก ๆ ก็กลายมาเป็นเงินก้อนใหญ่ได้

 

จริงอยู่ว่าปัญหาการเงินที่มีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลให้ความตั้งใจในการออมเงินไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ปัญหาเหล่านี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่จะลามกลายเป็นแผลใหญ่ส่งผลให้สุขภาพการเงินของเราไม่ดีตามไปด้วย แต่ถ้าเราเริ่มแก้ไขจากจุดเล็ก ๆ วางแผนการเงิน สร้างความมั่นคงทีละนิด ปัญหาเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ หายไปนั่นเอง