รู้มั้ย? ทำไมต้องวางแผนทางการเงิน

การใช้เงินเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน แต่รายรับเราไม่ได้มีทุกวันเหมือนรายจ่าย แถมเราจะสามารถหาเงินใช้ได้จนถึงเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครทราบได้ ดังนั้นทุกคนจึงต้องวางแผนทางการเงินให้ดี ให้พอใช้ ให้อยู่สบาย เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่อย่างราบรื่นไม่ลำบาก ให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย และมีเงินเหลือไว้ใช้ยามฉุกเฉิน มีเงินออมไว้เก็บเกี่ยวดอกผล หรือลงทุนในอนาคตได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสและมั่นคงนั่นเอง

ใครบ้างที่ต้องวางแผนการเงิน

ไม่ว่าจะวัยไหน ๆ ก็ต้องรู้จักเก็บออมและวางแผนการเงินให้เหมาะสมกับวัยและอาชีพของตนเอง เริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่ต้องเริ่มฝึกวินัยทางการเงินเพื่อเป็นนิสัยไปตอนโต จนไปถึงวัยเกษียณที่ต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ได้อย่างสบายตลอดชีวิต

วัยเด็ก เป็นวัยที่พ่อแม่จะบ่มเพาะนิสัยการเก็บออมและวินัยในการใช้เงิน ซึ่งหากมีการปลูกฝังที่ดีตั้งแต่วัยนี้ เด็ก ๆ ก็จะเติบโตมาโดยมีนิสัยประหยัด มัธยัสถ์ มีวินัยในการใช้เงินติดตัวมา จนเป็นพื้นฐานที่ดีให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้เงินเป็น

วัยทำงาน เป็นวัยที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว มีรายได้เป็นของตัวเองและมีอิสระในการใช้จ่าย ซึ่งหากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดีแล้ว โอกาสที่เงินจะรั่วไหลไปตามกระแสสังคม กิน เที่ยว ใช้ ช็อป ย่อมเกิดขึ้นได้มาก และโอกาสที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน สร้างครอบครัว ก็ย่อมถอยห่างออกไปเช่นกัน

วัยสร้างครอบครัว การสร้างครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ได้รับผิดชอบเฉพาะตัวเอง หากยังมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องดูแล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนการเงินให้รัดกุม เพราะนอกจากจะต้องจัดสรรรายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่ากินใช้ ค่าขนมลูก ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ แล้วยังมี ค่าเทอมลูก และรายจ่ายจำเป็น เช่น ค่าซ่อมรถ ซ่อมบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ฯลฯ

วัยเกษียณ แม้ว่าภาระการเงินต่าง ๆ จะน้อยลงแต่ก็ยังจำเป็นต้องวางแผนการเงินเช่นกัน เพื่อไม่เป็นภาระของลูกหลาน เนื่องจากคนวัยนี้ส่วนใหญ่รายรับจะน้อยลง ในขณะที่รายจ่ายด้านการดูแลสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เพราะอะไรทำไมต้องวางแผนการเงิน

  1. คนมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น

เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น ก็จำเป็นที่ต้องเตรียมเงินเผื่อตอนเราเกษียณอายุมากขึ้นเช่นกัน แค่ลองคิดง่าย ๆ ว่าเมื่อก่อนอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปี เราจะมีอายุเฉลี่ยหลังเกษียณเท่ากับ 10 ปีเท่านั้นเอง (หากคิดคำนวณการเกษียณอายุอยู่ที่ 60 ปี) แต่ในปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 76 ปี นั่นแปลว่า เรามีเวลาทำงานเท่าเดิมแต่เราต้องเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณอายุสูงขึ้น ถ้าเรายังทำงานอยู่จนถึงอายุ 60 ปี เท่ากับว่าเราจะต้องวางแผนอย่างน้อย 15 ปีหลังเกษียณ

  1. โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุมีมากขึ้น และเราเองอาจไม่มีบุตร

ยุค Baby Boomer เป็นยุคที่มีอัตราการเกิดสูงที่สุด และปัจจุบันคนกลุ่มนี้ก็เข้าสู่ช่วงทำงานตอนปลายทำให้คนทำงานจะน้อยลง นั่นหมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกำลังจะเป็นผู้สูงอายุ คนเกษียณจะมากขึ้นสวัสดิการของรัฐที่มีอยู่ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่เพียงพอ การวางแผนการเงินเพื่อดูแลตัวเองโดยที่พึ่งพารัฐบาลให้น้อยที่สุดก็เลยเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น ถ้าใครมีบุตรก็อาจจะโชคดีถ้าอนาคตบุตรให้ความช่วยเหลือเรื่องการเงิน แต่ถ้าเป็นโสดหรือไม่มีบุตร ก็ต้องเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ และเพื่อให้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

  1. เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ดอกเบี้ยต่ำลง

เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อในอดีตดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารของประเทศไทยเราเคยสูงถึง 15% ชนิดที่เรียกว่าฝากธนาคารก็เอาดอกผลมากินมาใช้ได้สบาย ๆ เลย แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยที่มีอยู่น้อยลงอย่างมาก ถ้าเราไปดูที่ธนาคารตอนนี้ก็น่าจะอยู่ 0.5-1% เท่านั้น ไม่นับเงินฝากชนิดพิเศษต่าง ๆ หากเราย้อนกลับมาดูที่เงินเฟ้อที่ตอนนี้อยู่ที่ 2.5-3% แปลว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเอาแต่ฝากเงิน ก็จะมีความมั่งคั่งลดลงไปเรื่อย ๆ

  1. ความไม่แน่นอนของชีวิต

บางครั้งสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้ เช่น อุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรือเหตุการณ์วาตภัย อัคคีภัย อุทกภัยใหญ่ที่เราไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ บางเหตุการณ์อาจเป็นอุปสรรคเล็ก ๆ ในชีวิต แต่บางเหตุการณ์อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ ที่ทำให้เรารับมือได้ยาก ดังนั้นการมีเงินสดฉุกเฉิน (Emergency Fund) และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

  1. เพื่อที่จะปลดภาระหนี้สิน

สำหรับบางคนแล้ว การไม่มีหนี้ถือเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะมีหลาย ๆ คนที่มีภาระหนี้สินอยู่หลายอย่าง เช่น ต้องผ่อนรถ ผ่อนบ้าน แถมยังมีหนี้บัตรเครดิตอีก ดังนั้นการไม่มีหนี้สินเลยถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นการที่จะมีเงินเก็บได้ยิ่งเป็นความสำเร็จที่สูงขึ้นไปอีก เพราะเขาสามารถเปลี่ยนสถานะตนเองจากคนที่มีหนี้เป็นคนที่มีเงินเก็บได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มีการวางแผนที่ดี

การวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะเริ่มเก็บออมเงินและมีวินัยในการใช้เงิน และเริ่มวางแผนทางการเงินอย่างจริงจัง เพื่อชีวิตที่มีความสุขโดยแท้จริง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศคง. และธนาคารกรุงไทย
http://multimedia.gpf.or.th/microsite/content/c14b331a42112c4d6b74fe6176de435f.pdf
https://www.ktb.co.th/th/financial-partner/learn-financial/145