เกิดอะไรขึ้นถ้าเราผิดนัดชำระหนี้ 1 ครั้ง
ใครที่มีภาระหนี้สิน เคยสงสัยกันไหมว่า ถ้าเราผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน 1 ครั้ง จะส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง?
ในช่วงสถานการณ์การเงินที่ย่ำแย่รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายรับ ภาระหนี้สินก็รัดตัว ยอดหนี้มีแต่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลง หันซ้าย หันขวาก็มองไม่เห็นทางออก ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไงดี ทำให้ใครหลาย ๆ เลือกที่จะไม่ชำระหนี้ แม้ว่าจะเป็นการจ่ายแบบขั้นต่ำก็ตาม ซึ่งหากเลือกได้คงไม่มีใครเลือกที่จะผิดชำระหนี้
แต่ความจำเป็นเหล่านั้น อาจนำพามาสู่ความผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะการผิดนัดชำระหนี้ 1 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้อย่างเรามากมาย มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
– ค่าติดตามทวงถามหนี้
เคยไหมที่ไม่ได้จ่ายหนี้ในระยะเวลาที่กำหนดของรอบบิลนั้น ๆ จะมีสายตรงต่อมาที่เบอร์โทรศัพท์ของเราเพื่อโทรมาทวงถามหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระ หากเราไม่จ่ายก็จะโทรมาอีก ซึ่งในการโทรเพื่อทวงถามหนี้ทุกครั้งของสถาบันการเงิน หรือธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เรียกว่า ค่าติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งจะถูกทบไปในรอบบิลถัด ๆ ไป
– ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ
ปกติหนี้ไม่ว่าจะหนี้บัตรเครดิต บ้าน รถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล จะมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่กำหนดไว้แต่เดิมอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้อย่างหนี้บัตรเครดิต จะมีดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายเพิ่มเติม เป็นค่าปรับที่ไม่ได้ชำระหนี้ในระยะเวลาที่กำหนด
– มีประวัติและเครดิตทางการเงินที่ไม่ดี
การผิดนัดชำระหนี้ 1 ครั้งจะส่งผลเสียต่อประวัติทางการเงินของเรา และจะทำให้เวลาเราไปทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ ก็จะถูกสถาบันการเงินหรือธนาคารตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขการพิจารณาตามที่สถาบันการเงินกำหนดไว้
– โดนฟ้องร้อง
ขั้นร้ายแรงที่สุดของการผิดนัดชำระหนี้คือการถูกฟ้องร้อง หากเรามีการค้างชำระหนี้เป็นระยะเวลานานเกินกว่าเวลาที่กำหนด สถาบันการเงินหรือธนาคารจะทำเรื่องฟ้องร้องคดีแพ่ง ดำเนินคดีเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืน และอาจจะถูกตัดสินให้กลายเป็นบุคคลล้มละลายได้
คงเห็นกันแล้วว่าการผิดนัดชำระหนี้ 1 ครั้ง ส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อตัวเรา แต่หากใครที่เจอทางตัน หาทางออกไม่เจอ มาลองดูแนวทางการจัดการหนี้สินเพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้กัน
– ลดอัตราดอกเบี้ย
หากใครที่ได้รับผลกระทบในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น โดนลดเงินเดือน 6 เดือน และเดือนต่อไปกลับมาเป็นปกติ อาจจะยื่นขอลดอัตราดอกเบี้ยต่อสถาบันการเงินในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อให้ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายลดลง
– ยืดระยะเวลาการชำระหนี้
คือการขยายเวลาในการชำระหนี้ หากใครที่เปลี่ยนที่ทำงานใหม่ รายได้ลดลง หรือถูกลดเงินเดือน ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้แบบเดิม ก็อาจจะทำเรื่องต่อสถาบันการเงินเพื่อขอขยายเวลาการชำระหนี้ แต่การขยายเวลาก็จะทำให้เราเป็นหนี้นานขึ้น แม้จะมีรายจ่ายหนี้ลดลง แต่สิ่งที่จะตามมาคือดอกเบี้ยที่ถูกทบต้น ทำให้เราต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน
– รีไฟแนนซ์
คือการทำเรื่องขอสินเชื่อกับสถาบันแห่งใหม่ หากใครที่มีหนี้หลายก้อนก็สามารถรวมหนี้ทั้งหมดเป็นก้อนเดียว ก็ถือเป็นการลดภาระหนี้ลงได้เช่นกัน
การผิดนัดชำระหนี้เพียงครั้งเดียวอาจส่งผลกระทบต่อประวัติทางการเงินของเราได้ ดังนั้นหากประเมินแล้วว่าเรากำลังมีความเสี่ยงที่จะจ่ายหนี้ไม่ไหว ให้รีบติดต่อสถาบันการเงินหรือธนาคารที่ขอสินเชื่อ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็วที่สุด
ข้อมูลจาก
https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/disadvantages-default-payment
https://www.1213.or.th/th/Pages/finresilience/mydebtrestructuring.aspx