ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนยุคใหม่เริ่มใส่ใจการออมเงินมากขึ้น เห็นได้จากกระแสตอบรับในบทความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการออมเงิน ยิ่งเป็นเทคนิคการเก็บเงิน ตัวอย่างเช่น เก็บเงินจากแบงก์ 50 เก็บเงินตามวันที่ จะมีกระแสตอบรับที่ดีมากเลยค่ะ ยอดการแชร์ที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เริ่มรักและใส่ใจในสุขภาพการเงินของตนเอง ก่อนจะพูดถึงเทคนิคหรือเคล็ดลับ เราลองมองย้อนกลับมาในเรื่องของเป้าหมายในการออมเงิน ในการออมเงินของแต่ละคนนั้น ย่อมมีเป้าหมายการออมเงินแตกต่างกันไป เรามาลองดู 4 เป้าหมายยอดฮิตในการออมเงินของคนรุ่นใหม่กันว่ามีอะไรบ้าง? แล้วเคล็ดลับของแต่ละเป้าหมายเป็นอย่างไร?
1.ออมไว้ลงทุน เตรียมขุนเงินให้งอกเงย
วิธีการออมเงินด้วยการลงทุนเป็นวิธีที่น่าสนใจ เพราะการออมเงินแบบออมทรัพย์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วค่ะ ควรหาแนวทางการออมเงิน เช่น การลงทุนในกองทุนต่าง ๆ มาเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่เราจะได้ดอกเบื้ยที่สูงขึ้น แต่เงินก้อนนั้นที่เรานำไปลงทุนสามารถสร้างกำไรให้เราได้งอกเงย
เคล็ดลับ: ควรศึกษาการลงทุนต่าง ๆ ให้ดี ในระยะแรกอาจเริ่มต้นเลือกซื้อกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่สามารถทำให้เราได้ดอกเบี้ยมากกว่าฝากธนาคารเฉย ๆ แน่นอน หลังจากนั้นค่อยขยับขยายตามความเหมาะสม
2.ออมไว้ฉุกเฉิน เป็นเงินเฝ้าระวัง
เงินส่วนนี้สำคัญและขาดไม่ได้ เมื่อไหร่ที่เกิดปัญหาการเงิน หลายคนอาจจะลืมมันไปแต่เงินส่วนนี้แหละค่ะที่จะเป็นพระเอกช่วยคุณได้ในยามฉุกเฉิน
เคล็ดลับ: ควรออมเงินฉุกเฉินนั้นควรมีเตรียมไว้ถึง 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แบบนี้ถึงเรียกว่า “ปลอดภัย”
3.ออมไว้เกษียณ ผลัดเปลี่ยนช่วงอายุ
อย่าคิดว่ามันยังไม่ถึงเวลา ใช้ชีวิตโดยที่ไม่ได้คิดถึงบั้นปลายชีวิต มีหวังต้องลำบากแน่ ๆ ค่ะ การออมเงินไว้ใช้ตอนเกษียณนั้น ควรทำการวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่เดือดร้อนใครค่ะ
เคล็ดลับ: เริ่มวางแผนออมเงินเก็บไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หาวิธีคำนวนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ใช้หลังเกษียณ
4.ออมสร้างความสุข ให้รางวัลแก่ตัวเอง
คนยุคใหม่ใส่ใจกับความสุขของตัวเองมาก หลายคนต้องเหน็ดเหนื่อย ทุ่มเทแรงกายไปให้กับการทำงาน อาจมีอาการท้อถอยไปบ้างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราควรออมเงินเพื่อซื้อความสุข หาแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิต ให้รางวัลกับตัวเองต่อไปค่ะ
เคล็ดลับ: แยกบัญชีสำหรับสร้างความสุขของตัวเองโดยเฉพาะ จะเป็นฝากประจำหรือออมทรัพย์ก็ได้ค่ะ แล้วตั้งเป้าหมายว่าเงินเก็บนี้สามารถซื้อความสุขอะไรเพื่อตัวเองได้บ้าง เมื่อครบกำหนดแล้วเราก็สามารถนำเงินออกมาใช้เพื่อซื้อความสุขได้แล้วค่ะ
เป้าหมายการออมเงินทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ควรทำควบคู่กันไปเพื่อให้สุขภาพการเงินของเรามีความมั่นคงและยั่งยืนค่ะ