Blog Page 16

4 เรื่องต้องรู้ เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ “Blacklist”

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Blacklist” และมักเข้าใจว่าเป็นสถานะทางการเงินที่ระบุอยู่บนรายงานข้อมูลเครดิตที่จัดเก็บโดยเครดิตบูโร แต่แท้จริงแล้วนั่นถือเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด… แล้ว Blacklist คืออะไร วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันใหม่ กับ 4 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Blacklist และ เครดิตบูโร เพื่อที่ข้อมูลจะไม่คาดเคลื่อนกันค่ะ

เรื่องที่ 1 – รู้จักเครดิตบูโร เป็นผู้ให้สถานะบัญชี Blacklist แก่ลูกหนี้จริงหรือไม่?

เครดิตบูโร มีหน้าที่รวบรวมจัดเก็บข้อมูลเครดิต ประวัติการชำระหนี้จากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร โดยจะแสดงข้อมูลว่าที่ผ่านมาผู้กู้เคยขอสินเชื่ออะไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงจำนวนบัญชีสินเชื่อที่มี การชำระหนี้ตรงหรือไม่ มีการค้างชำระเกิดขึ้นหรือเปล่า จะไม่มีแจ้งและให้สถานะบัญชี Blcklist แก่ผู้กู้หรือลูกหนี้แต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บ ได้แก่

– ข้อมูลส่วนบุคคล
ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส ฯลฯ

– ข้อมูลประวัติสินเชื่อ
ข้อมูลบัญชีสินเชื่อทั้งหมด ประเภทและเลขบัญชีสินเชื่อ วงเงินที่ได้รับอนุมัติ และวงเงินที่ใช้ สถานะบัญชี ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา รวมไปถึงวันปิดบัญชี

 

เรื่องที่ 2 – ตกลงแล้วสถานะ Blacklist มีอยู่จริงไหม?

ในการจัดเก็บข้อมูลประวัติการชำระหนี้ เครดิตบูโรจัดเก็บตามความเป็นจริงที่สถาบันการเงินส่งข้อมูลมาที่เครดิตบูโร และไม่ได้มีหน้าที่ให้สถานะ “บัญชีดำ” หรือ “Blacklist” กับใคร ซึ่งหากลูกหนี้ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดก็จะแสดงประวัติชำระว่า “ไม่ค้างชำระ” แต่หากไม่ชำระตรงตามเวลาจะแสดงในประวัติว่า “ค้างชำระ”

 

เรื่องที่ 3 – ขอสินเชื่อไม่ผ่านอ้างว่าติด Blacklist จากเครดิตบูโร

เครดิตบูโรไม่ได้มีหน้าที่ให้สถานะบัญชีดำกับใคร และไม่มีส่วนร่วมในการอนุมัติ หรือตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร การที่ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินไม่ผ่านอาจเกิดจากหลายปัจจัย ตามเงื่อนไขหรือเกณฑ์ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนดใช้ เช่น ภาระหนี้รวม รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น

 

เรื่องที่ 4 – เครดิตการเงินพังเกี่ยวกับ Blacklist ไหม แล้วส่งผลกระทบอะไรต่อตัวเรา

ในกรณีที่มีประวัติทางการเงินที่ไม่ดีอาจเกิดขึ้นมาจากการที่เราผิดนัดชำระหนี้ หรือมีประวัติ “ค้างชำระ” ในรายงานข้อมูลเครดิต เมื่อไม่มีการชำระหนี้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเครดิตทางการเงินของตัวเราเอง ทำให้ในการยื่นพิจารณาขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินผ่านได้ยากเนื่องจากขาดวินัยทางการเงิน แต่ทั้งนี้เราก็สามารถซ่อมเครดิตทางการเงินของตนเองขึ้นมาใหม่ได้ โดยการสร้างวินัยทางการเงิน ชำระหนี้ให้ตรงเวลาทุกครั้ง

 

สรุปแล้วเครดิตบูโรไม่ได้มีหน้าทีในการให้สถานะ Blacklist กับใครแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีบุคคลใดแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เครดิตบูโรเพื่ออนุมัติสินเชื่อ สามารถแจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th

6 หลุมพรางทางการเงินที่มนุษย์เงินเดือนมักติดกับ

พอเอ่ยถึงกับดักทางการเงินที่หลายคนมักตกหลุมพราง หรือตกม้าตายก่อนจะใช้ชีวิตไปจนถึงสิ้นเดือน โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่นับถอยหลังเฝ้ารอเพียงแค่วันเงินเดือนออกแล้วก็ใช้จ่ายหมดไป ซึ่งกับดักหรือหลุมพรางที่หลายคนนึกถึงมักจะเป็นเรื่องของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อรายได้ ติดขัดเรื่องการใช้เงิน รู้สึกไม่มีอิสรภาพทางการเงิน

แต่แท้จริงแล้วปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความซับซ้อนที่มากกว่านั้น เรามาดู 6 หลุมพรางทางการเงินที่มนุษย์เงินเดือนมักติดกับกันดีกว่าว่ามักจะมีอะไรบ้าง คุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้กันหรือเปล่า แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร

 

หลุมที่ 1 ไร้การควบคุมแผนการเงิน

ไม่มีการวางแผนการเงินล่วงหน้าหรือควบคุมรายจ่ายที่ชัดเจน ทำให้ในแต่ละเดือนเงินหมดไปโดยไม่รู้สาเหตุจับต้นชนปลายไม่ถูก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสถานะการเงินได้ในระยะยาว วิธีแก้คือเริ่มต้นจากการออกแบบแผนการเงินที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง ไม่ว่าจะการจัดการรายรับ รายจ่าย การออมเงิน การลงทุน เพื่อให้การเงินของเราเป็นระบบและมีวินัยมากขึ้น

 

หลุมที่ 2 กับดักใช้ไปผ่อนไป

การผ่อนไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหากเรามีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนบางคนก็ตกหลุมพรางของคำว่าการผ่อน 0% ที่แสนล่อตาล่อใจจนเกิดภาระหนี้สินในปริมาณมากทำให้ ต้องหมุนหนี้จ่ายหนี้ไม่ทัน ส่งผลให้สถานะการเงินไม่ดี วิธีป้องกันเรื่องนี้คือ ควรระมัดระวังการใช้จ่าย ผ่อนอย่างมีสติ และประเมินความสามาระในการชำระหนี้ของตนเองด้วย

 

หลุมที่ 3 การไม่มีกองทุนฉุกเฉิน

เงินฉุกเฉินเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ว่างงาน เจ็บป่วย หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด เป็นต้น ซึ่งมักเป็นหลุมพรางขนาดใหญ่ที่หลายคนมักมองข้าม หรือมองว่าการออมเงินเพื่อไว้เป็นเงินทุกฉุกเฉินไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ก่อนที่จะตกหลุมพรางแบบกู่ไม่กลับ

 

หลุมที่ 4 ละเลยนิ่งเฉยกับการลงทุน

หลายคนตกหลุมพรางความกลัว ความไม่กล้าตัดสินใจที่จะลงทุนทำให้เสียโอกาสที่จะทำให้เงินได้งอกเงย และเป็นช่องทางให้การสร้างรายได้ให้กับตนเองเพิ่มเติม วิธีแก้ไขง่าย ๆ คือศึกษาข้อมูลเรื่องการลงทุนอย่างจริงจังแล้วเราก็จะพบกับโอกาสในการที่จะทำให้เงินสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกในระยะยาว

 

หลุมที่ 5 การไม่ใส่ใจการตรวจสอบเครดิตการเงิน

สิ่งที่จะช่วยทบทวนการเงินของเราได้อย่างสม่ำเสมอนั่นก็คือการตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเอง เพื่อเช็กสุขภาพการเงินของตัวเรา และยังทำให้เห็นภาพรวมของสถานะการเงินในปัจจุบันตลอดจนพฤติกรรมการใช้เงินในอดีต เพื่อที่เราจะได้นำมาปรับหรือแก้ไขป้องกันปัญหาการเงินในอนาคต

 

หลุมที่ 6 ไม่ปรับตัวและติดตามสถานะการเงินของตนเอง

หลุมพรางที่เรามักไม่ทันได้คาดคิดนั่นคือการเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น เป็นต้น ทำให้เราอาจติดพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบเดิม ๆ ทำให้สถานะการเงินติดลบ หรือไม่ได้มีการติดตามรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวันที่ใช้ไปทำให้เช็กสถานการณ์การเงินได้ยาก ซึ่งหากไม่ปรับตัวซะตั้งแต่ตอนนี้ บอกเลยว่าได้ติดกับดักแบบถอนตัวไม่ขึ้นแน่นอน ดังนั้นควรปรับตัวรับการสถานะการเงิน และติดตามรายรับและรายจ่าย เพื่อช่วยให้คุณสามารถจัดการเงินได้เป็นอย่างดี

 

การจะเอาชนะกับดักในทุกหลุมพรางนี้ เราต้องกล้าที่จะเผชิญหน้าและพร้อมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะพัฒนาทักษะในการบริหารจัดการเงิน มีการทำแผนการเงินที่ชัดเจน ติดตามรายรับและรายจ่ายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การเงินของเรามีความมั่นคงและไม่ตกลงไปในหลุมพรางไหนได้อีกต่อไป

5 เรื่องวางแผนการเงินที่คนตัดสินใจโสดตลอดชีวิตควรรู้ เมื่อ Marriage Strike กำลังมา

รู้หรือไม่? ในปัจจุบันอัตราการถือครองตัวเป็นโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลการสำรวจล่าสุดพบว่าจำนวนคนโสดเพิ่มสูงขึ้นถึง 52% ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เป็นประเด็นระดับโลกเลยก็ว่าได้ จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ Marriage Strike หรือก็คือกลุ่มคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงที่จบการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลง หรือตัดสินใจเลือกที่จะเป็นโสดตลอดชีวิต เนื่องจากพวกเธอไม่ต้องการเสียโอกาสในการทำงาน และมองกว่าตลาดแรงงานเปิดกว้างมากขึ้น สามารถหางานและเงินมาเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบาย จึงทำให้คนกลุ่มนี้มองว่าการแต่งงาน หรือการมีครอบครัว มีลูก ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต

เมื่อเกิด Marriage Strike กันทั่วโลกแบบนี้ และหากตัวเราเองก็เป็นหนึ่งในคนที่มีความคิดและตัดสินใจที่จะอยู่เป็นโสดไปตลอดชีวิตแล้ว เราควรจะต้องวางแผนการเงินล่วงหน้าไว้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอิสระได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องกังวลหน้าพะวงหลัง

 

  1. ออมเงินเพื่ออนาคตตั้งแต่เนิ่น ๆ

เพราะว่าคนโสดจะมีรายจ่ายมากกว่าคนมีคู่ถึง 2 เท่า และยิ่งแก่ตัวลงไปก็ยิ่งมีรายจ่ายมากขึ้นตาม ซึ่งแนวทางการออมเงินก็จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสถานะทางการเงินและความถนัดของตัวเราที่ทำได้ในช่วงเวลานั้น ๆ แต่หากใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นในทิศทางไหนก็ขอแนะนำการออมเงินง่าย ๆ

ตัวอย่างเช่น 

ปัจจุบันอายุ 27 ปี ต้องการเกษียณอายุ 60 ปี และหลังเกษียณต้องการมีเงินใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท โดยคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 85 ปี แสดงว่าเราต้องเก็บเงินให้ได้ 9,000,000 บาท โดยมีระยะเวลาเก็บเงินอีกทั้งสิ้น 33 ปี

 

  1. แบ่งเงินเดือนไปลงทุนบ้าง

ในช่วงระยะเวลาที่เรายังทำงานหาเงินจากน้ำพักน้ำแรงเป็น Active Income ให้เราแบ่งเงินสัก 10-20% เพื่อสร้าง Passive Income เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติม หรือว่าง่าย ๆ คือปล่อยให้เงินได้ทำงานและเรารอรับผลตอบแทนจากการทำงานของเงินก้อนนั้น โดยวิธีการสร้าง Passive Income มีหลากหลายวิธีมาก ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลเพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเรา เช่น การเล่นหุ้น การปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์หรือของสะสม การสร้างผลงานที่มีลิขสิทธ์ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างการเขียนนิยาย การเขียนบทความ เป็นต้น

 

  1. วางแผนค่ารักษาพยาบาลไว้ด้วย

เมื่ออยู่ครองตัวเป็นโสดก็อาจจะขาดคนมาดูแลเคียงข้างยามคับขัน การวางแผนในส่วนของค่ารักษาหรือค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพเข้าโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หากอนาคตเราเกิดเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลก็จะได้ไม่เป็นภาระกับใคร เช่น การทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เป็นต้น เพื่อครอบคลุม และคุ้มครองเหตุที่ไม่คาดฝันกับชีวิตของเรา

 

  1. หาที่พักอาศัยลงหลักปักฐานให้เรียบร้อย

อย่างน้อยการมีที่พักพิงเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจนก็เป็นเครื่องช่วยยืนยันได้ว่ายามแก่เฒ่าไปเราก็จะมีที่อยู่อาศัยถาวร เป็นที่คอยพักพิงใจได้แม้ว่าเราจะต้องอยู่คนเดียว หรือหากใครที่รู้สึกว่าในช่วงบั้นปลายอยู่คนเดียวแล้วเหงา อีกตัวเลือกที่น่าสนใจคือบ้านพักคนชรา ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกไม่ว่าจะเป็นจ่ายรายเดือน หรือซื้อขาด สำหรับใครที่ต้องการเพื่อนถือว่าเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มาก ๆ

 

  1. จงสร้างอิสรภาพทางการเงินให้ได้มากที่สุด

อย่าคิดสร้างพันธะหรือข้อผูกมัดทางการเงินมากจนเกินไป เช่น การก่อหนี้ที่ไม่ดี หรือหนี้ที่มีแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิต และต้องตามมาเกิดเป็นภาระหนี้สินระยะยาวจนบั้นปลายเกษียณ เมื่อตัดสินใจอยู่เป็นโสดตลอดชีวิตแล้วเราควรให้ความสำคัญกับการบริหารการเงิน และระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเงินให้มาก ลิสต์สิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็นในชีวิตว่ามีรายจ่ายไหนที่พอจะลดได้ ก็ถือว่าช่วยได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

 

สุดท้ายนี้การวางแผนหรือการเตรียมพร้อมทางด้านการเงินสำหรับคนที่ตัดสินใจอยู่เป็นโสดตลอดชีวิตก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะออกแบบเป้าหมายอนาคตออกมาเป็นหน้าตาประมาณไหน 5 ข้อนี้ถือเป็นเพียงพื้นฐานการเงินเบื้องต้นที่จะให้ทุกคนได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง หากใครมีแนวทางที่น่าสนใจลองมาแชร์กันได้นะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://spacebar.th/business/TAGCLOUD-single-questionnaire

4 เรื่องสำคัญทางการเงินที่เริ่มต้นปลูกฝังลูกไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้จากครอบครัว

พื้นฐานการเงินเป็นเรื่องที่โรงเรียนไม่มีสอน แต่สิ่งเหล่านี้สามารถเริ่มต้นได้จากครอบครัว ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่จะช่วยปลูกฝังให้ลูกของคุณรู้จักการวางแผนและการบริหารการเงินตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อให้มีการเตรียมพร้อมทักษะความรู้ทางการเงินเพื่อสร้างความมั่นคงและประสบความสำเร็จในอนาคต

การที่เรามีความรู้ในเรื่องของการบริหารเงินตั้งแต่ยังเด็กถือเป็นวัคซีนชั้นดีที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แข็งแกร่ง และนี่คือ 4 เรื่องสำคัญทางการเงินที่คนเป็นพ่อแม่ควรสอนลูกของคุณตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

  1. สอนให้รู้จักการออมเงินที่ดี

การออมเงินเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเสริมสร้างวินัยทางการเงิน และยังเป็นการปูพื้นฐานให้กับเด็ก ๆ ได้ โดยเริ่มสอนให้รู้จักการจัดสรรปันส่วนเงินจากรายรับที่ได้มาให้ได้อย่างเหมาะสม เช่น หากต้องการซื้อของราคา 100 บาท เราเก็บออมเงินวันละ 10 บาทเป็นเวลา 10 วันก็จะสามารถซื้อของที่ต้องการได้ เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้กระบวนการในการออมเงินเพื่อสำหรับใช้ในอนาคต

 

  1. ทำความเข้าใจเพื่อให้เห็นคุณค่าของเงิน

เริ่มต้นจากให้เด็ก ๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจว่าเงินไม่ใช่สิ่งทีมีจำนวนไม่จำกัด หากใช้ไม่ระมัดระวังก็มีวันหมดได้ ดังนั้นควรเริ่มต้นสอนให้ใช้จ่ายอย่างรอบคอบจากเรื่องการใช้จ่ายเล็ก ๆ เช่น ซื้อขนม ซื้อของเล่น เป็นต้น โดยให้เด็ก ๆ มาคิดว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญกับตัวพวกเขาแค่ไหน และในแนวทางถัดไปคือสอนให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าของเงินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงจากการทำงาน และวิธีการจัดการกับเงิน เช่น ให้เด็ก ๆ ช่วยงานบ้าน และให้เงินเป็นค่าขนม และจากนั้นก็ลองให้นำเงินที่ได้ไปบริหารจัดการเงินเอง เป็นต้น

 

  1. เรียนรู้การจดบันทึกและตั้งเป้าหมายการเงิน

การปลูกฝังเรื่องของการอ่าน การเขียนตั้งแต่เด็ก ๆ จะช่วยสร้างวินัยและพฤติกรรมที่ดีเพราะเมื่อโตขึ้นพวกเขาก็จะเป็นคนที่สามารถจัดการเงินรายเดือน คอยสังเกตพฤติกรรมการเงินของตัวพวกเขาเองและควบคุมรายรับรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังรู้จักวิธีการวางแผนการเงินเพื่อไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

 

  1. บริหารจัดการการใช้เงินให้เป็น

สอนให้เรียนรู้และทำความเข้าใจการออมเงินกันแล้ว ข้อสุดท้ายคือการสอนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในการใช้เงินเพื่อหาวิธีในการบริหารจัดการเงินให้เป็น โดยอาจจะกำหนดงบประมาณการใช้จ่ายให้เด็ก ๆ ซื้อของในเงินที่จำกัด เพื่อที่จะดูว่าเด็ก ๆ จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร

 

การปลูกฝังเรื่องการเงินโดยปูพื้นฐานความรู้ให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่เนิ่น ๆ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มทักษะด้านการเงินได้อย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความมั่นคงให้มีวินัยทางการเงินเพื่อต่อยอดไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เปิด 6 ขั้นตอนตรวจเครดิตบูโร ผ่านเป๋าตังเปย์ บนแอปเป๋าตัง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 4 สิงหาคม 2566

เปิด 6 ขั้นตอนตรวจเครดิตบูโร ผ่านเป๋าตังเปย์ บนแอปเป๋าตัง

เปิด 6 ขั้นตอนตรวจเครดิตบูโร ผ่าน “เป๋าตังเปย์” บนโมบายแอปเป๋าตัง ทำอย่างไร? ตรวจบ่อยมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อหรือไม่

เครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิตได้อย่างสะดวด รวดเร็ว โดยแนะนำบริการ ตรวจเครดิตบูโร ผ่าน “เป๋าตังเปย์” บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชน ตรวจสุขภาพทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว ครบทุกข้อมูลสินเชื่อ ทุกสถานะบัญชี

สำหรับขั้นตอนตรวจเครดิตบูโรผ่านเป๋าตังเปย์ บนแอปเป๋าตัง ทำได้โดยคลิกที่

1.เลือกแอป “เป๋าตัง”

2.เลือก “เป๋าตังเปย์”

3.เลือกบริการ “ตรวจเครดิตบูโร”

4.เลือกประเภทรายงานและช่องทางการรับรายงานที่ต้องการ

5.ตรวจสอบยอมรับเงื่อนไข และยืนยันข้อมูล

6.ยืนยันการชำระเงิน ถือว่าทำรายการสำเร็จ

ผู้ใช้บริการสามารถเลือกรายงานข้อมูลได้ 2 ประเภท คือ 1.ข้อมูลเครดิต 2.ข้อมูลเครดิตและคะแนนเครดิต (เครดิตสกอริ่ง) และเลือกรับรายงานทางอีเมลภายใน 24 ชั่วโมง หรือรับผลทางไปรษณีย์ภายใน 7 วันทำการ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th  หากพบปัญหาในการรับข้อมูลเครดิต ติดต่อ consumer@ncb.co.th

ทั้งนี้ การตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้ง ก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ในการตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเองให้ถูกต้องรู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

เครดิตบูโรรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เครดิตสกอริ่งตัวชี้วัดความน่าจะเป็นในการชำระคืนหนี้

อยากรู้ไหมคะแนนเครดิต หรือเครดิตสกอริ่งจะมีส่วนในการตัดสินใจอนุมัติขอสินเชื่อกันได้ยังไง มาทำความเข้าใจเรื่องนี้กับน้องบูโรกันค่ะ

 


เช็กช่องทางการเครดิตบูโรเพิ่มเติม >>> http://bit.ly/2D5eZW3

ข้อมูลเพิ่มเติม
#เครดิตบูโร
คลิก ▶️ https://linktr.ee/ilovebureau

เปิดสูตรตรวจสุขภาพหนี้การเงิน เป็นหนี้อย่างไรให้หนี้ไม่ท่วมหัว

นอกจากสุขภาพร่างกายที่ต้องใส่ใจ สุขภาพทางการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย และควรหมั่นตรวจอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การจับจ่ายใช้สอยสามารถโอนออกได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้บางคนก็อาจมีภาระหนี้หนักเกินความจำเป็น และใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเครียด รู้สึกว่าไม่มีอิสรภาพทางการเงิน แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถมีหนี้ได้แต่ต้องชำระหนี้ในตรงเวลา และต้องรู้ว่าหนี้แบบไหนเป็นหนี้ดี และหนี้ไม่ดี

 

หนี้ดี คือหนี้ที่ก่อให้เกิดมูลค่าและเป็นประโยชน์หรือสร้างความมั่นคงในชีวิต เช่น หนี้บ้าน หนี้เพื่อการศึกษา หรือเพื่อการลงทุนหรือสร้างอาชีพ เป็นต้น

หนี้ไม่ดี คือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้จากการผ่อนสินค้า หรือรูดบัตรเครดิตเกินรายรับของตนเอง เป็นต้น

 

ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดหนี้ไม่ดีต่อตัวเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีการวางแผนจัดการหนี้ ให้หนี้ไม่ท่วมหัว และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้

การวางแผนทางการเงินที่ว่าก็คือ การใช้สูตรทางการเงินในการตรวจสุขภาพหนี้ และรับรู้ถึงสถานะทางการเงิน รายรับ รายจ่ายเบื้องต้นในแต่ละเดือน เพื่อที่จะได้กำหนดขอบเขต งบประมาณค่าใช้จ่ายให้ไม่เกินความจำเป็น โดยสามารถคำนวณจากแต่ละข้อ ดังนี้…

 

  1. สถานะการเงินอยู่ระดับไหน

สูตรการเช็กสถานะการเงินสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยคำนวนจาก รายได้ต่อเดือนทั้งหมด – รายจ่ายทั้งหมด – ภาระหนี้สินที่มี + ทรัพย์สินทั้งหมด = สถานะการเงินปัจจุบัน

หากคำนวณแล้ว สถานะการเงินยังคงเป็นบวกนั่นหมายความว่าสุขภาพทางการเงินของเรายังคงดีอยู่ แต่ถ้าหากติดลบก็แสดงว่าการเงินของเรากำลังมีปัญหา ซึ่งอาจเกิดมาจากภาระหนี้ที่มากเกินไปต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน

 

  1. เช็กสภาพคล่องทางการเงิน

เป็นสูตรการเงินที่เช็กความพร้อมว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เรามีเงินสำรองเพียงพอต่อการนำออกมาใช้จ่าย โดยที่ไม่กระทบกับภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือไม่ โดยคำนวณจาก สินทรัพย์ทั้งหมดที่มี ÷ รายได้ต่อเดือนทั้งหมด 6 เดือน = สภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบัน

หากคำนวณด้วยสูตรนี้แล้วพบว่า สภาพคล่องทางการเงินยังคงเป็นบวกอยู่ ก็แสดงว่าเรานั้นมีการเตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี แต่หากคำนวณแล้วพบว่าติดลบ และอาจจะต้องไปหยิบยืมหรือกู้หนี้ยืมสินมา นั่นอาจทำให้เรามีหนี้สินท่วมหัว ยากที่จะแก้ไข ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ และระมัดระวังการใช้จ่าย

 

  1. ประเมินความสามารถในการชำระหนี้

สูตรนี้มักจะใช้เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ก่อนยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อสำรวจความพร้อมของตัวเราเองเบื้องต้นว่าเมื่อมีหนี้จะจ่ายหนี้ไหวไหม โดยคำนวนจากสูตร จำนวนหนี้ที่คาดว่าต้องชำระ ÷ รายได้ต่อเดือน = ความสามารถในการชำระหนี้ โดยปกติความสามารถในการชำระหนี้ควรจะต้องไม่เกิน 5 เท่ารายได้ที่เราได้รับ

ตัวอย่างเช่น รายได้ 25,000 บาท จำนวนหนี้ที่คาดว่าต้องผ่อนชำระต่อเดือนคือ 8,000 เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่า มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ที่ 3.125

 

  1. สุขภาพภาระหนี้ยังไหวอยู่ไหม

สูตรสุดท้ายที่จะคำนวณให้เห็นภาพกันแบบชัดเจนไปเลยว่า สุขภาพหนี้และการเงินของเราในปัจจุบันนี้จัดอยู่ในเกณฑ์ดี หรือมีภาระหนี้สินท่วมหัว นั่นคือสูตร รายได้ต่อเดือน x ⅓ = ภาระหนี้สินที่ควรมีต่อเดือน

ตัวอย่างเช่น รายได้ต่อเดือน 25,000 บาท ภาระหนี้สินที่ควรมีควรจะต้องเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าภาระหนี้สินต่อเดือนควรอยู่ที่ประมาณ 8,333 บาท

หากใครลองคำนวณดูแล้วพบว่ามีภาระหนี้สินเกินว่าที่ควรจะเป็นก็แสดงว่าสุขภาพการเงินของคุณนั้นกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

 

โดยวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพการเงิน สุขภาพหนี้สิน คือการปรับวินัยทางการเงินของตนเอง ใช้อย่างอย่างระวังมือ ไม่ลุ่มหลงไปกับสิ่งยั่วยุที่อาจไม่จำเป็นต่อชีวิตของเรา รู้จักบริหารการเงิน เก็บออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลาทุกครั้ง รวมไปถึงศึกษาเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หารายได้เสริมจากงานอดิเรก หรือสิ่งที่ชอบก็จะช่วยให้เราปลดล็อกภาระหนี้ท่วมหัวไปได้

 

แน่นอนว่าการมีสุขภาพทางการเงินที่ดีจะช่วยให้เรามีความสุข และไม่เครียด ยิ่งหากเรารู้ตัวได้เร็วว่ามีภาระหนี้ท่วมหัว และเร่งแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ เราก็จะสามารถพลิกวิกฤติไปสู่ความมั่นคงในระยะยาวได้ในอนาคต

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://salaryinvestor.com/guide/money-fitness/

https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/good-life/5-check-financially-strong

โปรดระวังเงินผ่อน 0% สัญญาณเตือนการเป็นหนี้บัตรเครดิตไม่รู้ตัว

เวลาที่ได้ยินโปรโมชันผ่อน 0% จากบัตรเครดิต หลายคนคงตาลุกวาว เพราะถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่ดึงดูดผู้คนตัดสินใจเข้าไปซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดี และยังเหมือนเป็นการซื้อสินค้าแบบผ่อนโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย

ดูแล้วก็คล้ายว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่ใช้บัตรเครดิตหลาย ๆ คน แต่รู้หรือไม่ว่าโปรโมชันผ่อน 0% ที่เราเห็นกันนั้น อาจพาเราไปสู่วงจรหนี้บัตรเครดิตที่ใครหลายคนไม่ทันได้ฉุกคิด โดยเฉพาะในกลุ่มที่ละเลยไม่สนใจการวางแผนการใช้จ่าย และบริหารการเงินอย่างรอบคอบ

ความสะดวกสบายจากการใช้จ่ายอย่างเพลินมือกำลังจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราในระยะยาว ซึ่งหนึ่งในสัญญาณของการเป็นหนี้ คือเชื่อว่าการซื้อสินค้าแบบผ่อน 0% จะไม่มีดอกเบี้ย แต่ในความเป็นจริงแล้วการผ่อน 0% ยังมีเงื่อนไขหรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อีกด้วย และอีกปัจจัยคือทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตใช้จ่ายเกินกำลังของตนเอง และไม่สามารถจ่ายหนี้ที่ผ่อนพร้อม ๆ กันได้ในที่สุด

 

ข้อดีของการผ่อน 0%

ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ภายในครั้งเดียว โดยสามารถผ่อนจ่ายและนำเงินก้อนที่เหลือไปบริหารจัดการการเงินในส่วนอื่น ๆ ต่อได้ และเราก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยผ่อนชำระในช่วงระยะเวลาที่กำหนด

 

ข้อจำกัดของการผ่อน 0%

ไม่ใช่ว่าโปรโมชันการผ่อน 0% จะไม่มีดอกเบี้ยเสมอไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข หรือข้อกำหนดของทางร้านด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่น ต้องซื้อสินค้าราคาขั้นต่ำที่กำหนด หรือซื้อในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น เมื่อเกิดข้อจำกัดเพื่อแลกกับเงื่อนไขบางอย่าง ก็อาจทำให้เราเกิดภาระหนี้สินโดยไม่จำเป็น หรือบริหารเงินได้ไม่เป็นไปตามที่คิดนั่นเอง

 

เมื่อเป็นเช่นนี้เรามาลิสต์กันเป็นรายข้อกันดูดีกว่าว่า สัญญาณเตือนการเป็นหนี้จากเงินผ่อน 0% จะส่งผลกระทบอะไรต่อตัวเรากันบ้าง

 

  1. สุ่มเสี่ยงต่อเครดิตทางการเงินพัง

การผ่อนสินค้า 0% ด้วยบัตรเครดิต อาจสุ่มเสี่ยงให้เครดิตการเงินของเราพังไม่เป็นท่าได้ ยิ่งหากเรามีการผ่อนชำระสินค้าหลาย ๆ อย่างในเวลาพร้อมกัน ซึ่งจะแสดงถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเราในช่วง ณ ขณะนั้นว่ามีการใช้จ่ายเป็นอย่างไร เนื่องจากประวัติการชำระหนี้สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกจะนำส่งข้อมูลเหล่านี้มาที่เครดิตบูโร และเครดิตบูโรเป็นผู้จัดเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อแสดงผลบนรายงานข้อมูลเครดิต และถ้าหากเกิดผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาแม้เพียงครั้งเดียวก็จะส่งผลต่อเครดิตทางการเงินของเราในการยื่นขอสินเชื่อครั้งต่อไปได้ เนื่องจากสถาบันการเงินจะใช้ข้อมูลประวัติการชำระหนี้เป็นหนึ่งในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อด้วย

 

  1. ผ่อนนานไปอาจจ่ายดอกเบี้ยแทนเงินต้น

อย่างที่บอกว่าการซื้อสินค้าโดยการผ่อนแบบดอกเบี้ย 0% บางร้านอาจมีระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อถึงเวลานั้นแล้วยังคงผ่อนชำระไม่หมดสิ่งที่ตามมานั่นคือ ดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่เราต้องตามจ่ายทุกงวดที่ผ่อนชำระจนกว่าจะหมดไป และสิ่งที่ตามมาอาจเป็นภาระหนี้สินที่เราต้องแบกรับในระยะยาวนั่นเอง

 

  1. การบริหารจัดการการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ

การผ่อนชำระแม้ว่าจะเป็นการผ่อนจ่ายในรูปแบบดอกเบี้ย 0% แต่หากเลือกผ่อนจ่ายพร้อมกันในระยะเวลานาน ก็อาจทำให้รายรับของเราในแต่ละเดือนหมดไปกับการผ่อนจ่ายสินค้า โดยที่ไม่มีการออมเงินสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือต่อยอดการออมเงินเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า

 

สุดท้ายนี้ จริงอยู่ว่าการผ่อนจ่ายแบบ 0% ด้วยบัตรเครดิตอาจเป็นทางเลือกที่ดี และสร้างประโยชน์ให้แก่เราได้ หากเรามีวินัยและการบริหารจัดการการเงินที่ดี แต่ถ้าหากว่าเรานำโปรโมชันนี้มาใช้จ่ายมากเกินความจำเป็นโดยไม่ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ หรือตัดสินใจให้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินของตัวเรา สิ่งเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเราได้ในอนาคต

 

 

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ตรวจเครดิตบูโร  ผ่านโมบายแอป : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 21กรกฎาคม 2566

ตรวจเครดิตบูโร  ผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน  สะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา

เครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานเครดิตบูโร บทความวันนี้ ผมจึงขออัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรออนไลน์ ผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา รับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมลได้เลย นับว่าเป็นการรองรับไลฟ์สไตล์ของประชาชนในยุคสังคมดิจิทัลมากยิ่งขี้น ดังนี้ครับ

 แบบรับรายงานได้ทันที บริการตรวจรายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง

1.โมบายแบงก์กิ้งธนาคารกรุงเทพ  

2.โมบายแอป “KKP Mobile” (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) 

แบบรับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง (เป็นไปตามเงื่อนไขที่เครดิตบูโรกำหนด)  บริการตรวจรายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง 

3.โมบายแอป “Krungthai NEXT” (ธนาคารกรุงไทย)

4.โมบายแอป “MyMo” (ธนาคารออมสิน)

5.โมบายแอป เป๋าตังเปย์ บนแอปเป๋าตัง 

6.โมบายแอป “Flash Express” (Flash Money)

แบบรับรายงานภายใน 3 วันทำการ บริการตรวจรายงานข้อมูลเครดิต 

7.โมบายแอป “ttb touch” (ธนาคารทีทีบี) 

 กรณีชื่อ-นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์มือถือ และที่อยู่ของท่านมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาปรับแก้ไขในระบบให้ถูกต้อง ก่อนใช้บริการ

 หรือสามารถเลือกรับรายงานแบบส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันผ่านโมบายแอปธนาคารกรุงไทย ออมสิน เป๋าตัง และ Flash Express ได้อีกด้วยครับ

 ทั้งนี้ การยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต เจ้าของข้อมูลยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด

เรื่องน่าอ่าน