ไฟมอดต้องจุด 5 วิธีปลุกพลังใจ เมื่อหมดไฟในการออมเงิน

ไฟมอดต้องจุด 5 วิธีปลุกพลังใจ เมื่อหมดไฟในการออมเงิน

เคยไหม? บางครั้งไถหน้าฟีดโซเชียลมีเดีย เห็นคนที่ประสบความสำเร็จ แทนที่จะมีแรงฮึดสู้ แต่กลับหมดไฟ หมดกำลังใจในการออมเงินไปซะดื้อ ๆ นั่นเป็นเพราะเรากำลังเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ พอมีการเปรียบเทียบเราก็จะพยายามหาจุดด้อย โดยที่อาจหลงลืมสิ่งที่เราพยายามทำมาทั้งหมด ดังนั้นเพื่อจุดไฟที่มอดจากการออมเงิน มาดูวิธีปลุกพลังใจ ให้กลับมามีแรงฮึดสู้ขึ้นใหม่กัน

  1. มีเป้าหมายอะไรต้องเขียนแปะไว้

การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแปะไว้ในจุดที่เรามองเห็นได้ง่าย และเห็นได้ทุกวัน เช่น โต๊ะทำงาน สมุดโน้ตคู่ใจ เป็นต้น ซึ่งการเขียนเป้าหมาย จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการออมเงินที่จะไปถึงเป้าหมายได้

  1. ออมเงินไว้ในที่เรามองเห็นเสมอ

ตัวเลขของจำนวนเงินออมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างพลังใจในการออม และมีแรงฮึดสู้ได้เป็นอย่างดี โดยการออมเงินเริ่มต้นอาจจะเริ่มจากการออมเงินเท่ากันในทุก ๆ เดือนอย่างสม่ำเสมอในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ หรือจะหยอดใส่กระปุกออมสินที่เราสามารถมองเห็นเงินจำนวนที่ออมได้

  1. ชวนเพื่อนออมเงิน

การมีเพื่อนร่วมทางจะเป็นตัวปลุกไฟ สร้างพลังใจได้อีกทางหนึ่ง เพราะเราจะเกิดความรู้สึกต้องการไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ ลองชวนเพื่อนสักคนมาออมเงินโดยมีการกำหนดระยะเวลาในการออม หากใครออมเงินได้มากที่สุดก็ชนะ ส่วนผู้ที่แพ้ก็มีบทลงโทษเล็ก ๆ เช่น เลี้ยงข้าวสักมื้อ เลี้ยงน้ำ เป็นต้น

  1. หาไอดอลสร้างแรงบันดาลใจ

การหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ  อาจจะทำให้เราเกิดไอเดีย หรือทำให้จิตใจของเรารีเฟรชมากขึ้นหรือหากเป็นไปได้การมีไอดอลในด้านทางเงินสักคนเพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเราจะได้นำแนวคิดของเขานำมาปรับใช้ในการออมเงินของเรา ทั้งยังช่วยให้เรามีแรงฮึดที่จะทำให้มีไฟในการออมเงินต่อไป

  1. ให้รางวัลตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ในบางครั้งการออมเงินที่หักโหม โดยที่ไม่แบ่งเงินบางส่วนมาสร้างความสุขให้ตัวเองคงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะจะทำให้เราเกิดความกดดัน และเครียด จนในที่สุดก็หมดไฟในการออมเงินไปอย่างง่ายดาย ดังนั้นอย่างน้อย ๆ 1 ครั้งในแต่ละเดือน เราควรแบ่งเงินบางส่วนมาให้รางวัลกับตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ขยับใกล้เข้าไปถึงเป้าหมาย เพื่อไม่ให้การออมเงินเป็นเรื่องที่เครียดจนเกินไป

การออมเงินควรแบ่งสัดส่วนการออมที่เหมาะสมกับรายได้  หรือตามกำลังที่ตัวเองไหว และไม่ให้เกิดความเดือดร้อน กระทบต่อการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อไปถึงเป้าหมายได้อย่างสำเร็จต้องไม่กดดัน หรือสร้างความเครียดในการออมเงินให้กับตัวเองจนเกินไป มีผ่อนปรน ให้รางวัลกับตัวเองบ้างเพื่อให้แพชชัน หรือไฟในการออมไม่หมดไปจากตัวเรา