นอกจากสุขภาพร่างกายที่ต้องใส่ใจ สุขภาพทางการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย และควรหมั่นตรวจอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การจับจ่ายใช้สอยสามารถโอนออกได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้บางคนก็อาจมีภาระหนี้หนักเกินความจำเป็น และใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเครียด รู้สึกว่าไม่มีอิสรภาพทางการเงิน แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถมีหนี้ได้แต่ต้องชำระหนี้ในตรงเวลา และต้องรู้ว่าหนี้แบบไหนเป็นหนี้ดี และหนี้ไม่ดี
หนี้ดี คือหนี้ที่ก่อให้เกิดมูลค่าและเป็นประโยชน์หรือสร้างความมั่นคงในชีวิต เช่น หนี้บ้าน หนี้เพื่อการศึกษา หรือเพื่อการลงทุนหรือสร้างอาชีพ เป็นต้น
หนี้ไม่ดี คือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้จากการผ่อนสินค้า หรือรูดบัตรเครดิตเกินรายรับของตนเอง เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดหนี้ไม่ดีต่อตัวเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีการวางแผนจัดการหนี้ ให้หนี้ไม่ท่วมหัว และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้
การวางแผนทางการเงินที่ว่าก็คือ การใช้สูตรทางการเงินในการตรวจสุขภาพหนี้ และรับรู้ถึงสถานะทางการเงิน รายรับ รายจ่ายเบื้องต้นในแต่ละเดือน เพื่อที่จะได้กำหนดขอบเขต งบประมาณค่าใช้จ่ายให้ไม่เกินความจำเป็น โดยสามารถคำนวณจากแต่ละข้อ ดังนี้…
- สถานะการเงินอยู่ระดับไหน
สูตรการเช็กสถานะการเงินสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยคำนวนจาก รายได้ต่อเดือนทั้งหมด – รายจ่ายทั้งหมด – ภาระหนี้สินที่มี + ทรัพย์สินทั้งหมด = สถานะการเงินปัจจุบัน
หากคำนวณแล้ว สถานะการเงินยังคงเป็นบวกนั่นหมายความว่าสุขภาพทางการเงินของเรายังคงดีอยู่ แต่ถ้าหากติดลบก็แสดงว่าการเงินของเรากำลังมีปัญหา ซึ่งอาจเกิดมาจากภาระหนี้ที่มากเกินไปต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน
- เช็กสภาพคล่องทางการเงิน
เป็นสูตรการเงินที่เช็กความพร้อมว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เรามีเงินสำรองเพียงพอต่อการนำออกมาใช้จ่าย โดยที่ไม่กระทบกับภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือไม่ โดยคำนวณจาก สินทรัพย์ทั้งหมดที่มี ÷ รายได้ต่อเดือนทั้งหมด 6 เดือน = สภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบัน
หากคำนวณด้วยสูตรนี้แล้วพบว่า สภาพคล่องทางการเงินยังคงเป็นบวกอยู่ ก็แสดงว่าเรานั้นมีการเตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี แต่หากคำนวณแล้วพบว่าติดลบ และอาจจะต้องไปหยิบยืมหรือกู้หนี้ยืมสินมา นั่นอาจทำให้เรามีหนี้สินท่วมหัว ยากที่จะแก้ไข ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ และระมัดระวังการใช้จ่าย
- ประเมินความสามารถในการชำระหนี้
สูตรนี้มักจะใช้เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ก่อนยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อสำรวจความพร้อมของตัวเราเองเบื้องต้นว่าเมื่อมีหนี้จะจ่ายหนี้ไหวไหม โดยคำนวนจากสูตร จำนวนหนี้ที่คาดว่าต้องชำระ ÷ รายได้ต่อเดือน = ความสามารถในการชำระหนี้ โดยปกติความสามารถในการชำระหนี้ควรจะต้องไม่เกิน 5 เท่ารายได้ที่เราได้รับ
ตัวอย่างเช่น รายได้ 25,000 บาท จำนวนหนี้ที่คาดว่าต้องผ่อนชำระต่อเดือนคือ 8,000 เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่า มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ที่ 3.125
- สุขภาพภาระหนี้ยังไหวอยู่ไหม
สูตรสุดท้ายที่จะคำนวณให้เห็นภาพกันแบบชัดเจนไปเลยว่า สุขภาพหนี้และการเงินของเราในปัจจุบันนี้จัดอยู่ในเกณฑ์ดี หรือมีภาระหนี้สินท่วมหัว นั่นคือสูตร รายได้ต่อเดือน x ⅓ = ภาระหนี้สินที่ควรมีต่อเดือน
ตัวอย่างเช่น รายได้ต่อเดือน 25,000 บาท ภาระหนี้สินที่ควรมีควรจะต้องเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าภาระหนี้สินต่อเดือนควรอยู่ที่ประมาณ 8,333 บาท
หากใครลองคำนวณดูแล้วพบว่ามีภาระหนี้สินเกินว่าที่ควรจะเป็นก็แสดงว่าสุขภาพการเงินของคุณนั้นกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน
โดยวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพการเงิน สุขภาพหนี้สิน คือการปรับวินัยทางการเงินของตนเอง ใช้อย่างอย่างระวังมือ ไม่ลุ่มหลงไปกับสิ่งยั่วยุที่อาจไม่จำเป็นต่อชีวิตของเรา รู้จักบริหารการเงิน เก็บออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลาทุกครั้ง รวมไปถึงศึกษาเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หารายได้เสริมจากงานอดิเรก หรือสิ่งที่ชอบก็จะช่วยให้เราปลดล็อกภาระหนี้ท่วมหัวไปได้
แน่นอนว่าการมีสุขภาพทางการเงินที่ดีจะช่วยให้เรามีความสุข และไม่เครียด ยิ่งหากเรารู้ตัวได้เร็วว่ามีภาระหนี้ท่วมหัว และเร่งแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ เราก็จะสามารถพลิกวิกฤติไปสู่ความมั่นคงในระยะยาวได้ในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://salaryinvestor.com/guide/money-fitness/
https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/good-life/5-check-financially-strong