Blog Page 147

ข่าวเครดิตบูโร 001/2562 : กรุงไทยตั้งเป้าให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบครบวงจรสมบูรณ์แบบเป็นธนาคารแรก     

ข่าวเครดิตบูโร 001/2562

ข่าวประชาสัมพันธ์

กรุงไทยตั้งเป้าให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบครบวงจรสมบูรณ์แบบเป็นธนาคารแรก

ในวันนี้ (30 มกราคม 2562) ที่ธนาคารกรุงไทย อาคารสำนักงานใหญ่ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จํากัด (เครดิตบูโร) ร่วมลงนามในสัญญาให้บริการสมาชิก เรื่องการรับความยินยอมในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลโดยวิธีการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากเจ้าของข้อมูล เพื่อเตรียมให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบครบวงจรเป็นธนาคารแรกของประเทศ ผ่านแอปพลิเคชั่นกรุงไทย NEXT โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในปลายไตรมาสแรกนี้

นายผยง ศรีวณิช เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารกรุงไทย ได้ให้บริการตรวจข้อมูลเครดิตบูโรผ่านแอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT โดยลูกค้าสามารถตรวจข้อมูลเครดิตบูโรด้วยตนเอง ได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกรุงไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ลูกค้าสามารถตรวจข้อมูลเครดิตบูโรผ่านทาง  Mobile Application และรับรายงานข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit Report) ผ่านทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ โดยให้บริการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา  จากเดิมที่ใช้เวลา 7 วันทำการ หากขอข้อมูลผ่านสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม และนับว่าเป็นธนาคารแห่งแรกที่ลูกค้าสามารถตรวจข้อมูล    เครดิตบูโรได้ครบทุกช่องทางอีกด้วย  ขณะนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending หรือสินเชื่อออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเป็น NEXT to Invisible Banking ที่ติดตัวและเคลื่อนที่ไปกับลูกค้าในการทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา โดยขณะนี้อยู่ในช่วงนำร่องทดสอบ และคาดว่าจะสามารถให้บริการกับลูกค้าทั่วประเทศได้ในปลายเดือนมีนาคมนี้

“ธนาคารกรุงไทย จะเป็นธนาคารแห่งแรกที่สามารถให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบครบวงจรที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทุกขั้นตอนในการขอสินเชื่อจะเป็น Paperless  และทำผ่าน Mobile Application ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การสมัครสินเชื่อ (e-Application) การส่งเอกสารประกอบสินเชื่อ (e-Document) การให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลเครดิต (e-NCB Consent) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสัญญาสินเชื่อแบบ e-Contract  โดยไม่ต้องเตรียมสำเนาเอกสาร นับเป็นมิติใหม่ในการให้บริการของวงการธนาคารไทย  ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าในยุค Thailand 4.0  อย่างไรก็ตาม สำหรับความยินยอมในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลโดยวิธีการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากเจ้าของข้อมูลนั้น เครดิตบูโรต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ซึ่งคือลูกค้าที่มาขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อการเปิดเผยข้อมูล”

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “นับเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ทั้งสองหน่วยงานจับมือกันพัฒนาและส่งเสริมธุรกรรมการขอสินเชื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมทั้งการเพิ่มบริการตรวจข้อมูลเครดิตออนไลน์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในสังคมยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี  ที่ผ่านมา เครดิตบูโรดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิต  อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อต่างๆ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองและเพื่อป้องกันภัยการเงินในยุคปัจจุบันอีกด้วย”

 

อวสานสายเปย์ ภัยของคนใช้เงินเก่ง

อวสานสายเปย์ ภัยของคนใช้เงินเก่ง

หนึ่งในนิสัยทางการเงินที่ควรลด ละ เลิกให้เด็ดขาดเห็นจะเป็นเรื่องของการไม่มีสติในตอนจ่ายเงินค่ะ อยากได้ก็ซื้อ เพื่อนมีเรามีบ้าง ลิมิเต็ดคอลเล็กชั่นเราต้องเก็บ ใจใหญ่เลี้ยงไปหมด และอื่นๆ ที่เป็นพฤติกรรมทำให้เงินปลิวว่อนออกจากกระเป๋าอย่างไว คือมันก็เพลิดเพลินสนุกสนาน แต่ถ้าเพลินมากไปอาจตกใจกับผลของความเป็น “สายเปย์” ในภายหลังได้ ดังนั้นจึงต้องดึงสติให้เหล่าสายเปย์หรือกำลังจะเป็นสายเปย์ได้ฉุกคิดก่อนที่สุขภาพทางการเงินจะเข้าขั้นโคม่าค่ะ

จุดจบสายเปย์ เมื่อเงินที่ปลิวไปสร้างปัญหากลับมา
เงินสักวันก็มีวันหมด ต่อให้หาเงินเก่งสักแค่ไหนถ้าใช้ไม่ระวัง สุขภาพทางการเงินก็พังไม่เป็นท่าได้อยู่ดีค่ะ เรามาดูภัยของสายเปย์กัน เมื่อเวลาที่เงินหมดอดเปย์แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะได้ระวังการใช้เงินกันไว้นะคะ

  1. เงินเริ่มไม่พอใช้ เมื่อใช้เพลินไปหน่อย เงินก็เริ่มไม่พอทีนี้แค่รายได้หลักก็ไม่พอแล้ว ต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้ แรกๆ ก็ดี พอนานไปทำงานหนัก เงินที่หาได้จะต้องหมดไปกับสุขภาพและการรักษาพยาบาล มันดูไม่คุ้มกันเลยค่ะ หาพอดี ใช้พอดี มีเวลาสร้างสุขรักษาสุขภาพทั้งกายและใจตามอัตภาพ ชีวิตดีกว่าเยอะ สิ่งนี้แก้ปัญหาได้ด้วยการทำบันทึกรายรับรายจ่ายค่ะ เพื่อควบคุมการจ่ายเงินของเรานะคะ
  2. ไม่มีเงินเก็บ เพราะใช้เงินมากเกินเพลิดเพลินจนลืมเก็บ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา ทีนี้จะเกิดปัญหาตามมาเลยค่ะ เพราะเราไม่มีเงินสำรองนี่เอง เราจึงต้องทำการเก็บเงินบ้างนะคะ
  3. วงเงินบัตรเครดิตเริ่มเต็ม เมื่อจ่ายสดไม่พอก็ต้องรูดปรื๊ดๆ กันหน่อย มีทั้งโปรโมชั่นแลกรับเงินคืนบ้างล่ะ ผ่อน 0% บ้างล่ะ แลกแต้มบ้างล่ะ ถ้าระวังๆ มันก็คุ้มค่าน่าใช้นะคะ แต่ถ้ารูดไปไม่มีเบรกนี่อันตรายมากเลยค่ะ รูดไปรูดมาวงเงินเต็ม ใบหนึ่งเต็มยังพอว่า ถ้าเต็มหลายใบนี่เป็นหนี้หนักเลยค่ะ ระวังๆ กันหน่อยนะคะ
  4. ต้องยืมเงินคนอื่น เป็นสายเปย์สายป๋าอยู่ดีๆ เมื่อไม่มีก็ต้องหยิบยืมกันบ้าง เพื่อนฝูงหรือญาติมิตรทั้งหลายก็เป็นบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่นึกถึง บางทีอันตรายอาจเสียเพื่อนได้เลยนะคะเรื่องหยิบยืมเงินนี้ คิดให้ดีก่อนยืมเงินใคร หรือถ้าจะดีที่สุด ลดความเปย์ในตัวคุณก่อนเลยค่ะ
  5. เป็นหนี้หัวโต แล้วสิ่งที่ไม่อยากจะให้เกิดก็เกิดขึ้นค่ะ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดทั้งหลาย เมื่อต้องถึงวันที่เป็นหนี้ ทบต้น ทบดอก ทบไปทบมา ยังไงก็ไม่หมดเสียที จนบางคนต้องขายทรัพย์สินอย่างจำใจเพื่อนำมาใช้หนี้กันเลย สายเปย์ทั้งหลายระวังให้ดี อย่าเดินทางมาจนถึงจุดนี้นะคะ ขอเดือนจากใจ
  6. เพื่อนหาย อันนี้เป็นสัจธรรมของสายเปย์ที่วันหนึ่งเมื่อไม่มีให้เปย์แล้ว ผู้คนที่รายล้อมก็จะเริ่มหายหน้าไปทีละคนๆ เพราะพวกเขาคบคุณเพราะใจกว้างกล้าได้กล้าเสีย แต่ถ้าถึงวันที่คุณไม่มีจะเสีย คนเหล่านั้นก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะคบค้ากับคุณค่ะ นี่จึงเป็นเวลาทดสอบความจริงใจของคนเลย แต่แนะนำว่าควรทดสอบความจริงใจด้วยวิธีอื่นดีกว่านะคะ

เมื่อเห็นภัยของการเป็นสายเปย์เด่นชัดขนาดนี้ก็เพิ่มสติในการเปย์กันหน่อยนะคะ อย่าจ่ายหนักนักเดี๋ยวจะเกิดปัญหาให้กับชีวิตโดยไม่จำเป็น ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพทางการเงินกันด้วยค่ะ

วางแผนมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง ต้องทำอย่างไรบ้าง

วางแผนมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง ต้องทำอย่างไรบ้าง

การมีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นความใฝ่ฝันของทุกคนที่ต้องการความมั่นคงและมีทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของเองอย่างภูมิใจ แต่บ้านหลังหนี่งมูลค่ามันสูง เราไม่สามารถตัดสินใจซื้อได้ในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนที่จะซ้อบ้านก็ต้องสำรวจกำลังทรัพย์ของตัวเองเองก่อนแล้วตั้งงบประมาณว่าบ้านที่เราพอจะเป็นเจ้าของได้นั้นควรราคาเท่าไหร่ดี ทำเลเป็นอย่างไร แบบบ้าน จำนวนสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ

ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเลือกบ้านสักหลัง เราควรมีขั้นตอนและหลักการเลือกบ้าน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

  1. สำรวจฐานะทางการเงินของตัวเอง ถ้าเรามีเงินสดมากพอจะซื้อบ้านเงินสดก็ย่อมได้ ดีเสียอีกไม่เป็นภาระระยะยาว ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่น้อยคนนักที่จะมีเงินพอซื้อบ้านด้วยเงินสด ดังนั้นการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจึงเป็นทางออกในการจะได้มาซึ่งบ้านสักหลัง ดังนั้นผู้ที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองจะต้องยอมที่จะเป็นหนี้ระยะยาว เราจึงต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ทุกๆ เดือนเป็นเวลา 20 ปี ควรมีรายได้ที่มั่นคงและมากพอ คิดให้ถี่ถ้วนนะคะ ก่อนที่จะซื้อบ้าน
  2. ทำเลที่ตั้ง ตอนนี้บ้านในเมืองแพงมากกว่าชานเมือง บางคนที่คำนึงเรื่องทำเลเป็นหลักอาจจะเลือกอสังหาริมทรัพย์เป็นคอนโดมีเนียมที่มีความสะดวกสบายมากกว่า ส่วนถ้าใครอยากได้บ้านแต่อยู่ในทำเลใจกลางเมือง อาจจะต้องยอมจ่ายเงินที่มากกว่า หรือยอมซื้อเป็นบ้านมืองสองไป แต่ทั้งนี้ก็ต้อองพิจารณาวิถีชีวิตประจำวันมากที่สุดนะคะว่าสะดวกแบบไหน และเลือกให้เหมาะกับเรามากที่สุดค่ะ
  3. จำนวนสมาชิกในครอบครัว มีผลต่อขนาดและแบบบ้านที่จะเลือกนะคะ ถ้าอยู่คนเดียวหรือสองคน ข้อจำกัดอาจจะน้อยกว่าบ้านหลังไม่ใหญ่มาก หรืออยู่คอนโดก็สะดวกสบายดี แต่ถ้าอยู่เป็นครอบครัว การอยู่คอนโดหรือทาวน์เฮาส์หลังเล็กๆ อาจจะไม่ไม่เหมาะนัก ก็ต้องดูเป็นบ้านที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แออัดเกินไปค่ะ
  4. ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ ที่นอกจากตัวบ้าน เช่น ค่าซ่อมแซมต่อเติม ค่าตกแต่งต่างๆ ก่อนจะซื้อบ้านวางแผนให้ดีนะคะ ทางที่ดีควรตั้งงบในการตกแต่งซ่อมแซมภายในไว้ต่างหาก และกันเงินสำรองไว้เลยค่ะ

ขั้นตอนการเริ่มต้นซื้อบ้าน
เมื่อคิดสะระตะต่างๆ จนได้บ้านที่พึงใจแล้ว ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนที่จะได้มาซึ่งบ้านที่เราภาคภูมิใจกันแล้วค่ะ เพราะมันคือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงสุดของเราแล้ว อยากได้บ้านหลังนี้จะต้องทำยังไง มาดูกันเลยค่ะ

  1. เลือกโครงการและบ้านหลังที่ชอบ เรื่องนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะความชอบและความอยากได้อยู่เหนือสิ่งอื่นใด หลายคนซื้อบ้านโดยไม่คำนึงถึงทำเลและที่ตั้งเลย เอาเป็นว่าตัวบ้านอยู่ในงบประมาณที่พอจ่ายไหว ทำเลที่ตั้งอยู่ในเส้นทางการใช้ชีวิตประจำวัน
  2. จองและผ่อนดาวน์ เงินจอง คือ หากเราถูกใจทำเลบ้านหลังไหนก็ต้องจ่ายเงินเพื่อจองบ้านไว้ก่อน เป็นการรักษาสิทธิ์เพื่อไม่ให้คนอื่นซื้อบ้านตัดหน้าเรา เงินดาวน์ คือ เวลาซื้อบ้านจะต้องมีเงินก้อนใหญ่ๆ สักก้อนก่อนเพื่อวางเป็นเงินดาวน์ก่อน
  3. ทำเรื่องกู้ การยื่นเรื่องขอกู้เงินกับทางธนาคารสำหรับผู้ที่มีรายได้สูง เครดิตบูโร และเลือกบ้านราคาเหมาะสมกับความสามารถที่จะผ่อนไหว ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงเรื่องการกู้ตรงนี้เลย
  4. ดูงานก่อสร้างและตรวจรับบ้าน หากไม่ได้ซื้อบ้านกับโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมขาย หลังจากจองและวางเงินดาวน์แล้ว อย่าลืมเข้าไปเช็ครายละเอียดต่างๆ ในบ้าน เพื่อที่จะได้บ้านที่มีคุณภาพ

ปัญหาสารพันที่จะทำให้กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน

  1. มีบัตรเครดิตหลายใบ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้กำลังซื้อบ้านลดลง เนื่องจากธนาคารจะนำวงเงินจากบัตรเครดิตทุกใบมาคิดรวมเป็นภาระหนี้สินด้วย
  2. ผ่อนสินค้าผ่านบัตรเครดิตต่างๆ ถ้าบัตรเครดิตถูกใช้ในการผ่อนสินค้า ควรรีบผ่อนให้หมดแล้วปิดทันที
  3. ติดผ่อนรถยนต์คันแรก ส่วนใหญ่แล้วปัญหาของการกู้ไม่ผ่านคือ ผู้กู้มีภาระผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่ ดังนั้นก่อนยื่นกู้ควร Pre-approve กับสถาบันการเงิน ว่าเรายังมีความสามารถในการชำหระหนี้ได้อีกหรือเปล่า
  4. ปัญหาการค้ำประกัน การค้ำประกันจะถูกธนาคารนำมาคิดเป็นภาระหนี้ด้วย ทำให้ความสามารถในการกู้ลดลง
  5. การไม่ออมเงิน การออมเงินเป็นการสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเอง เพื่อที่ทางธนาคารจะมั่นใจได้ว่าเรามีวินัยทางการเงิน
  6. ปัญหาของผู้กู้ร่วม ถ้าคิดจะหาผู้กู้ร่วมควรจะหาผู้กู้ร่วมที่มีเครดิตดีๆ มีอาชีพมั่นคง เช่น ข้าราชการ , พนักงานรัฐวิสาหกิจ , แพทย์ , อัยการ ทำให้เรามีโอกาสได้รับสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น
  7. การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับกำลังซื้อ ซึ่งการเลือกซื้อบ้านเราควรจะดูด้วยว่า มีความสามารถในการชำระหนี้ได้แค่ไหน ไม่ใช่ซื้อบ้านตามความอยากได้ เพราะถ้าผ่อนไม่ไหวจะเป็นปัญหาตามมา
  8. ระยะเวลาผ่อน ควรเลือกระยะเวลาในการผ่อนบ้านให้นานๆ ไว้ก่อน เช่น 25-30 ปี เพื่อไม่กระทบกับรายได้มากนัก แต่ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นมีกำลังจ่ายเพิ่มขึ้น เราก็สามารถนำมาโปะได้
  9. ความไม่พร้อมในการซื้อบ้าน เพราะการซื้อบ้านจะทำให้เราเป็นหนี้ในระยะยาวมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ถ้าคิดจะซื้อบ้านแล้วก็ต้องมั่นใจในกำลังผ่อนของตัวเองว่าไหวหรือไม่

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าเรามีความตั้งใจจะซื้อบ้านสักหลัง เราก็เริ่มเตรียมความพร้อม ทำประวัติทางการเงินดีๆ เริ่ดๆ เพื่อที่จะได้เพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อผ่าน แต่ถ้าใครยังไม่พร้อม ก็ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำประวัติทางการเงินดีๆ เพื่อเวลาที่พร้อมจริงๆ นะคะ การซื้อบ้านเป็นเรื่องใหญ่และเราต้องเป็นหนี้ระยะยาว คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อนะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนมีบ้านในฝันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารอาคารสงเคราะห์และ https://www.home.co.th/hometips/detail/84486-10

รู้ทันก่อนกู้เงิน

รู้ทันก่อนกู้เงิน

ใครๆ ก็อยากจะสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง หลายคนจึงจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเองไม่ว่าจะซื้อรถ ซื้อบ้าน ลงทุนทำธุรกิจ กู้เพื่อการศึกษา หรือจำเป็นต้องใช้เงินในการแก้ปัญหาบางอย่าง เราก็คงหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกู้เงินหรือขอสินเชื่อ เรามาสำรวจจุดประสงค์ของการขอสินเชื่อและการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะกู้เงินกันเลยค่ะ

ก่อนที่จะขอสินเชื่อ เรามาสำรวจตัวเองกันก่อนดีกว่าว่าเราจะกู้เงินไปทำอะไรตามนี้เลยค่ะ

  1. จุดประสงค์ของการขอสินเชื่อ เมื่อคิดที่จะขอสินเชื่อ ก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ของตนเองว่าต้องการขอสินเชื่อเพื่ออะไร และจะเป็นหนี้ระยะยาวหรือสั้นแค่ไหน
  2. สำรวจตัวเอง ดูฐานะการเงินและความพร้อมในการต้องการกู้ของเรามีความพร้อมมากแค่ไหน มีหนี้ติดตัวมาหรือไม่ เช่น หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ซึ่งหนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้การกู้สินเชื่อ เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 40% ของรายได้หรือเงินเดือนของเรา
  3. สำรวจอัตราดอกเบี้ย เมื่อคิดทบทวนและตัดสินใจได้ว่าจำเป็นต้องขอสินเชื่อ ก็ต้องมาสำรวจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารว่าเป็นอย่างไร เช่น ธนาคารไหนที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวที่ต่ำที่สุด โดยทำการหาข้อมูลและทำตารางเปรียบเทียบ สิ่งที่ต้องเปรียบเทียบ เช่น วงเงินกู้ที่แต่ละธนาคารให้กู้ เช่น บางธนาคารให้กู้ 80-100% เปรียบเทียบ MLR ของแต่ละธนาคา เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 และอัตราดอกเบี้ยปีที่ 4 เพื่อใช้ในการคำนวณว่าตลอดอายุการผ่อนอย่างน้อย 3 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ เป็นต้น หรือถ้าจะขอสินเชื่อบัตรเครดิตก็ต้องศึกษาด้วยค่ะว่าดอกเบี้ยนั้นมากน้อยแค่ไหน มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เพราะแต่ละธนาคารก็ไม่เหมือนกันนะคะ
  4. สำรวจค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ธนาคารเรียกเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนในกรณีที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนด ค่าปรับต่างๆ ซึ่งจะต้องคำนวณและเปรียบเทียบของแต่ละธนาคารอย่างละเอียด เพราะแต่ละธนาคารก็มีค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไม่เท่ากันค่ะ
  5. ศึกษาเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ให้ดี แต่ละธนาคารมักมีข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น บางธนาคารมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ว่า ผู้กู้มีรายได้และมีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ อายุ อาชีพ รายรับทางบัญชี งบการเงิน ฯลฯ

เอกสารที่ใช้ในการขอสินเชื่อ
เมื่อตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะต้องขอสินเชื่อ ขั้นตอนต่อไปก็คือการเตรียมเอกสารค่ะ สำหรับเอกสารการยื่นขอสินเชื่อนั้นจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อว่าต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน เช่น การขอสินเชื่อบัตรเครดิตอาจยื่นเอกสารน้อยกว่าการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะยื่นขอสินเชื่อ เราจึ่งควรเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนค่ะ ซึ่งเอกสารที่จะยื่นขอกู้เงินนั้นหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่

เอกสารประจำตัว เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี) กรณีนิติบุคคล อาจใช้สำเนาทะเบียนการค้า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล

เอกสารเกี่ยวกับรายได้ เช่น ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารสำหรับผู้มีรายได้ประจำ ในส่วนของผู้มีอาชีพอิสระ จะใช้เอกสารที่บอกที่มาของรายได้ เช่น กรณีเป็นสัญญาจ้าง อาจใช้สำเนาสัญญาว่าจ้างและหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง กรณีเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้สอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ควรแสดงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย บัญชีเงินฝาก พร้อมใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (statement) ของบัญชีเงินฝากของตนเองหรือของกิจการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หรือหลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากธนาคาร

และในกรณีของนิติบุคคล เอกสารหลักๆ ที่จะใช้ในการขอกู้เงิน เช่น สำเนางบการเงินปีล่าสุด และย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี สำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำเนาเอกสารสิทธิในทรัพย์สินที่เสนอเป็นหลักประกัน แผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ

หลังจากที่เตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้วก็ทำการยื่นสินเชื่อได้เลย ซึ่งแต่ละธนาคารนั้นจะมีระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อไม่เท่ากัน ซึ่งหลักในกรพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อนั้น จะขึ้นอยู่กับนโยบายและหลักเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย โดยทั่วไปแล้วมีปัจจัยหลักๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณา คือ นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ เช่น ผู้ให้สินเชื่อบางรายอาจกำหนดว่าผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืองดให้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรือลงทุนขยายโรงงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต นอกจากนี้ยังดูลักษณะความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อว่ามีวินัยทางการเงินอย่างไร ประกอบอาชีพมั่นคงหรือไม่ ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ เงินทุน สินทรัพย์ของผู้กู้มีมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อในประเทศ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อด้วย

สำหรับเทคนิคง่ายๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้กู้รู้ทันและเตรียมตัวที่จะศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนเลือกสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่าเราต้องการเลือกสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด เงื่อนไขเหมาะสมกับเรามากที่สุด ขณะเดียวกันทางสถาบันการเงินก็ต้องเลือกคุณสมบัติของผู้กู้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่จะทำการกู้เงินหรือขอสินเชื่อธนาคาร นอกจากจะต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละธนาคารอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ยังต้องรักษาประวัติทางการเงินของตัวเองด้วยนะคะ เพื่อที่เวลายื่นขอสินเชื่อจะได้ผ่านฉลุย ไม่เสียเวลา และสามารถต่อยอดจุดมุ่งหมายในชีวิตได้อย่างไม่ขาดตอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/loans/Pages/beforeloan.aspx
และธนาคารกรุงศรีอยุธยา https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/think-before-recovery.html

มีลูก 1 คนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

มีลูก 1 คนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ก่อนที่จะมีลูก สิ่งที่ควรทำคือมองไปถึงอนาคตข้างหน้าว่าลูกเราจะโตมาแบบไหน ฉะนั้นการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การวางแผนการเงินที่ดีจะช่วยให้ลูกมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพตามที่ตั้งใจค่ะ สำหรับค่าใช้จ่ายของเด็กแต่ละคนแน่นอนว่าไม่เท่ากันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของแต่ละครอบครัวที่ไม่เท่ากัน แต่วันนี้เราจะมาดูกันว่าหลักๆ แล้วต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนของลูกบ้าง เรามาดูกันเลยค่ะ

ค่าใช้จ่ายช่วงตั้งครรภ์
ค่าใช้จ่ายเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งทำคลอด เฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 – 100,000 บาท ในช่วงต้นของการมีลูกเราจะมีค่าใช้จ่ายในช่วงเวลา 9 เดือน แบ่งเป็นค่าฝากครรภ์ และพบแพทย์ราวๆ 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน และค่าทำคลอดอยู่ในช่วง 30,000 – 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจที่เราเลือก รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และถ้าเราไม่ทำคลอดในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไปก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 บาทในรอบระยะเวลา 9 เดือน

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกเล็ก
ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูทารกช่วงแรกเกิดถึงอายุประมาณ 2 ปี สำหรับเด็กแรกเกิด คุณพ่อ และคุณแม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อันได้แก่ เสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม นม และเครื่องอุ่นนม เปลนอน เครื่องอาบน้ำ อาหารสำหรับเด็ก เป็นต้น ค่านม เฉลี่ยเดือนละ 1,500 – 3,500 บาท / ต่อคน เท่ากับปีละ 18,000 บาท – 42,000 บาท / ปี ค่าวัคซีน เฉลี่ยครั้งละ 500 – 1,800 บาท (แล้วแต่ชนิดของวัคซีน) หรือเลือกซื้อเป็นแพ็กเกจ ราคาอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 12,000 บาท (ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล) ค่ารักษาพยาบาล เฉลี่ยอยู่ที่ครั้งละ 500 – 1,000 บาทขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรง) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเสื้อผ้าเด็ก ค่าของใช้เด็กอ่อน ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป ขนม ประมาณ 5,000 บาท ขึ้นไป

ค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก

  • ค่าอาหาร
    สำหรับค่าอาหารของลูกเล็กนั้นจะพิเศษกว่ามาก ทำให้เราต้องกันเงินสำรองสำหรับส่วนนี้ไว้ราวๆ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่ารักษา ค่าวัคซีนต่างๆ ที่ต้องฉีดให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี แต่ถ้าเด็กโตตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไปก็เริ่มรับประทานได้เหมือนกับผู้ใหญ่
  • ค่าศึกษาเล่าเรียน
    ค่าศึกษาเล่าเรียน รวมค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมดประมาณ 20 ปีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาตรี เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 200,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์การเรียน หนังสือ เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเกือบทุกปีเพื่อให้เหมาะสมกับวัยและระดับชั้น
    เมื่อลูกโตขึ้นมาหน่อย เริ่มที่จะต้องเรียนอนุบาล ค่าเทอมลูกเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ในช่วงอนุบาลจนจบชั้นประถมนั้น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดหากเรียนโรงเรียนรัฐบาลก็จะไม่มากเท่าไร แต่ถ้าลูกของเราจำเป็นต้องเรียนโรงเรียนเอกชน คุณพ่อคุณแม่จะต้องจ่ายเงินมากขึ้น และต้องจ่ายมากขึ้นไปอีกทั้งในชั้นประถมและมัธยม การวางแผนการเงินสำหรับค่าเทอมลูก ผู้ปกครองต้องคำนวณให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของเราเอง โดยค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีตลอด 9 ปี (อนุบาลถึงประถม) ราวๆ 20,000 – 50,000 บาท รวมตลอด 9 -10 ปี อยู่ราวๆ 200,000 – 500,000 บาท ยังไม่รวมอุปกรณ์การเรียนขึ้นอยู่กับโรงเรียน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ส่วนระดับมัธยมถ้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ค่าใช้จ่ายจะตกปีละประมาณ 50,000 – 60,000 บาท แต่ถ้าเรียนโรงเรียนเอกชน โรงเรียน 2 ภาษา หรือโรงเรียนนานาชาติ ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นเป็นหลักแสนหรือหลักล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว และในระดับอุดมศึกษานั้น แต่ละสาขาวิชาจะมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน สาขาวิชาที่ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ก็จะมีค่าใข้จ่ายมากกว่า หลักสูตรนานาชาติแพงกว่าหลักสูตรปกติ เป็นต้น
  • ค่าพี่เลี้ยงเด็ก
    ผู้ปกครองบางคนต้องทำงานประจำ เมื่อหมดระยะเวลาลางานแล้ว คงต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็ก สำหรับค่าใช้จ่ายพี่เลี้ยงเด็กสมัยนี้มีตั้งแต่หลักพัน ถึงหลักหมื่น แต่ทางที่ดีถ้าเราต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็กควรกันเงินส่วนนี้ไว้เดือนละ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือนเพื่อให้คลุมทุกค่าใช้จ่าย แต่ทางที่ดีถ้าบ้านใครยังมีญาติช่วยเลี้ยง เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย การที่ให้ท่านช่วยดูแลจะประหยัดกว่าและน่าวางใจมากกว่าด้วยค่ะ
    ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนเสริมต่างๆ อันได้แก่ ค่าเดินทางท่องเที่ยว ของเล่นลูก ค่ายานพาหนะ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะขึ้นลงค่อนข้างกว้าง ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว ภายในระยะเวลา 10 ปี สามารถกะไว้คร่าวๆ 500,000 – 1,000,000 บาท หรือเฉลี่ยอย่างต่ำเดือนละ 5,000 บาทขึ้นไปต่อคน (ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ ด้วย)

จะเห็นได้ว่าการมีบุตร 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ โดยค่าใช้จ่ายจะมีขึ้นตั้งแต่ลูกยังไม่ลืมตาดูโลก อย่างไรก็ตาม การมีลูกถือเป็นความสุขและเป็นส่วนที่ทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ หากใช้จ่ายไม่ฟุ่มเฟือยและมีการวางแผนครอบครัว เตรียมการเตรียมความพร้อมมาอย่างดีแล้ว ปัญหาการเงินจะเป็นเรื่องเล็กเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจากธนาคารออมสิน https://www.gsb.or.th/Blogs/Financial/babyplan.aspx

ข้อผิดพลาดทางการเงินในแต่ละช่วงวัย รู้ก่อนแก้ไขทัน

ข้อผิดพลาดทางการเงินในแต่ละช่วงวัย รู้ก่อนแก้ไขทัน

การใช้เงินแม้จะเป็นเงินส่วนตัวของเราก็ตาม ก็ควรมีกลยุทธ์การใช้จ่ายและการวางแผนที่ดีนะคะ เพราะโลกนี้คือความไม่แน่นอนหากวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา (ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางการเงินหรือใดๆ ก็ตาม) ชีวิตอาจพลิกผันจนยากที่จะฟื้นคืนได้หากไม่ได้เตรียมการเผื่อรับมือ ดังนั้นนอกจากเราจะรู้หลักการออมแล้ว เราควรรู้ทันข้อผิดพลาดก่อนเพื่อวางแผนสกัดข้อผิดพลาดทางการเงินต่างๆ ไว้แต่เนิ่นๆ ค่ะ แต่ทั้งนี้แต่ละช่วงวัยก็จะมีข้อผิดพลาดใหญ่ๆ ที่แตกต่างกันไป เมื่อเราเจริญวัยถึงช่วงอายุหนึ่ง เราก็จะเจอปัญหาอีกอย่างหนึ่ง เมื่อรู้ทันข้อผิดพลาดแต่ละช่วงวัย ก็รับมือได้ทันท่วงที รู้ก่อนได้เปรียบกว่าค่ะ

รู้ทันข้อผิดพลาดทางการเงิน ชีวิตดีไม่มีสะดุด

  1. ในชีวิตคนเราต้องมีอุปสรรคขวากหนามบ้าง มีปัญหามาให้แก้ไขกันตลอด แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์กันไป การวางแผนการเงินก็เช่นกันค่ะ มันมักจะมีสถานการณ์มาท้าทายปณิธานทางการเงินตลอด ไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคมที่ทำให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มกว่าที่คิดไว้ สภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ปัญหาชีวิตที่ต้องใช้เงินในการแก้ปัญหา เป็นต้น
  2. ใช้จ่ายเกินตัว รายจ่ายสูงกว่ารายรับ ถ้าคุณรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมใช้เงินเกินตัว หรือมีรายจ่ายที่หมดไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยที่เกินกำลังทรัพย์ คุณต้องรู้จักประเมินตัวเองเสียใหม่ ต้องรู้จักวิธีทำให้รายรับและรายจ่ายสมดุลกัน คือมีรายได้ไม่น้อยกว่ารายจ่าย ด้วยการประหยัดทุกบาททุกสตางค์ก่อนที่จะจ่ายเงินในแต่ละครั้ง
  3. ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย คุณต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อทบทวนการใช้เงินในแต่ละเดือน และหาวิธีการจัดการทางการเงินได้อย่างลงตัว ทั้งเงินออม ค่าใช้จ่ายประจำ หรือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  4. ไม่วางแผนการออมเพื่ออนาคตและเหตุฉุกเฉิน การออมเงินมีวิธีให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น การออมเงินประจำ ลงทุนในกองทุน ลงทุนในหุ้น หรือออมเพื่อการเกษียณอายุ การออมเป็นสิ่งสำคัญในอนาคตที่ไม่แน่นอนของมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน เมื่อไม่ได้มีการออมเงิน พอมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น เราก็ลำบากเลยค่ะทีนี้ กลายเป็นว่าต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อแก้ปัญหา หนักเข้าไปอีกค่ะ
  5. ลงทุนก่อนที่จะมีเป้าหมายและแผนการลงทุนที่ชัดเจน หากปราศจากเป้าหมายและแผนการลงทุนที่ดี การลงทุนของคุณก็จะเป็นไปอย่างไม่มีจุดหมาย เป้าหมายที่คุณอยากได้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าคุณอยากเป็นอย่างไรในอนาคต ในขณะที่แผนการที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่จะพาคุณไปสู่เป้าหมาย ดังนั้นต้องวิเคราะห์ตัวเองและตั้งเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน เมื่อนั้นคุณก็จะสามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะสมและตอบโจทย์ชีวิตของคุณได้ค่ะ
  6. ประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำเกินไป มันคือสภาวะที่เงินลดค่าลงเรื่อยๆ เช่น เงิน 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถซื้อข้าวของ เครื่องใช้ได้เท่ากับการใช้เงิน 100 บาทซื้อข้าวของในวันนี้ เป็นต้น อย่าประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำจนเกินไป เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด เพราะเงินเฟ้อน่ากลัวนะคะ
  7. ไม่ให้ความสำคัญกับการเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ เวลาผ่านไปเร็วมากๆ เลยนะคะ แล้วเราก็ไม่รู้อนาคตว่าจะมีแรงหาเงินทำงานได้อีกนานแค่ไหน เมื่อถึงวัยเกษียณแต่ไม่ได้เตรียมการ ชีวิตลำบากตอนแก่แน่ค่ะ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น กว่าจะหาเงินมาได้ก็ลำบากกว่าหนุ่มสาวแน่นอน ดังนั้นควรเริ่มคิดเรื่องการออมเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ ไว้จะดีที่สุดค่ะ อ่าน เคล็ด (ไม่) ลับ ออมเงินอย่างง่ายไว้ใช้วัยเกษียณ เพิ่มเติมที่นี่เลย (https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/saving-money)

รู้ทันข้อผิดพลาดทางการเงินในแต่ละช่วงวัย ชีวิตปลอดภัยแน่นอน
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นข้อผิดพลาดทางการเงินโดยทั่วไปที่ทุกคนควรระวังกัน แต่อย่างที่เกริ่นไปแล้วค่ะว่าแต่ละช่วงวัยก็มีข้อผิดพลาดทางการเงินที่ต้องตระหนักมากๆ แตกต่างกัน เรามาดูกันค่ะว่าแต่ละช่วงวัยควรรู้เท่าทันข้อผิดพลาดทางการเงินอย่างไรบ้าง

ช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิตการทำงาน 20-29 ปี
เนื่องจากเป็นวัยที่เพิ่งออกมาหาประสบการณ์นอกรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ โดยคิดว่า เรื่องของการใช้จ่าย และวางแผนไกลไปจนถึงตอนเกษียณ เป็นเรื่องที่สามารถรอไปก่อนได้ วัยนี้จึงเป็นวัยที่เพลิดเพลินกับการตอบสนองไลฟ์สไตล์ ใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา หลายคนในวัยนี้จึงประสบกับปัญหาทางการเงินมากมาย เช่น เงินเดือนไม่พอใช้ เป็นหนี้บัตรเครดิต ฯลฯ เรามาดูกันว่าคนช่วงวัยนี้มีปัญหาทางการเงินอะไรบ้างค่ะ

  • ไม่มีเงินเก็บออมเผื่อฉุกเฉิน คนช่วงวัยนี้จำนวนมากไม่ได้มองว่าการมีเงินเก็บเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเพิ่งจบมาทำงานมาได้ไม่นาน ก็มักจะหลงระเริงและสนุกกับการใช้ชีวิตไปกับเงินที่เราเพิ่งได้มาใหม่ หรือนอกจากนี้ บางคนก็โชคร้ายได้งานที่ไม่ค่อยดีนัก เงินเดือนก็ยังไม่ค่อยดี ยังต้องมีเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าตัวเอง เช่น เรียนภาษา เรียนวิชาชีพ ทำให้ไม่ค่อยมีเงินเก็บ ดังนั้น ถ้าหากมีการเตรียมตัววางแผนการเงินให้พร้อมและหาทางเก็บเงินในส่วนนี้ได้ชีวิตก็ดูปลอดภัยขึ้นนะคะ
  • ไม่มีการวางแผนการเงิน จัดทำบัญชี ถ้าอยากวางแผนการเงิน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการจัดทำงบประมาณ เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีรายรับรายจ่ายอย่างไรเท่าไหร่ ถ้าหากเรามีวินัยทางการเงิน มีการวางแผนการเงินแล้วจัดทำงบประมาณที่ดี เราก็จะสามารถมีเงินเก็บเพิ่มเติมได้ค่ะ
  • ใช้จ่ายเกินตัว คนช่วงวัยนี้มักสนุกกับการใช้เงินเพราะเห็นใครๆ ก็ใช้กัน ทั้งการไปเที่ยวหรือการซื้อรถใหม่ เกิดการใช้จ่ายเงินเกินตัว เราก็จะเป็นหนี้ตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งไม่ดีแน่นอน เพราะฉะนั้น ก่อนจะซื้อของอะไรต้องวางแผนทางการเงินให้ดี ซื้อแค่พอตัว และพยายามจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้หมดโดยเร็วที่สุดนะคะ

ช่วงวัยทำงานเริ่มสร้างครอบครัว 30-39 ปี
ในช่วงวัยนี้รายได้เริ่มมั่นคงมากขึ้น หลายคนเริ่มสร้างครอบครัว ส่วนคนที่ไม่ได้แต่งงานก็เริ่มมองเรื่องของความมั่นคงในอนาคตมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าช่วงวัยนี้จะสามารถหารายได้มากขึ้น แต่ก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน หลายคนซื้อบ้านก็ต้องมีภาระผ่อนบ้าน บางคนก็ต้องดูแลรับภาระทางครอบครัวเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่อายุมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนการเงินของคนในวัยนี้จะต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่กำลังเผชิญ เช่น ภาระหนี้สินก้อนโต และที่สำคัญคือปัญหาเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุ การวางแผนการเงินจึงควรต้องกระจายความเสี่ยง เพราะมีภาระทางการเงินสูงขึ้น และควรเพิ่มในส่วนของแผนภาษี แผนการออมและการลงทุนเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ปัญหาทางการเงินที่คนในข่วงวัยนี้ประสบก็จะแตกต่างจากคนในวัยเริ่มต้นทำงานไปบ้าง เรามาดูข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินที่คนช่วงวัยนี้ประสบกันค่ะ

  • ไม่เริ่มทำประกันชีวิต การเริ่มทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพนั้น ควรทำเสียตั้งแต่ตอนที่เรายังมีสภาพร่างกายแข็งแรงที่สุด เราจึงจะได้เบี้ยประกันที่ดี แม้ในช่วงวัยนี้อาจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากมายทั้งค่าบ้าน ค่าเลี้ยงดูครอบครัว และค่าใช้จ่ายทางการเงินอื่นๆ แต่การซื้อประกันชีวิตก็เป็นการวางแผนการเงินที่ดีเพื่อจะได้คุ้มครองครอบครัวในกรณีที่เหตุไม่คาดฝัน
  • แต่งงานโดยที่ยังไม่ได้คุยกันเรื่องเงิน การพูดคุยกันเรื่องเงินก่อนที่จะแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ เนื่องจากคนแต่ละคนก็มีวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น ควรคุยกันให้เคลียร์ถึงวิธีวางแผนทางการเงินที่จะทำร่วมกัน เช่นมุมมองที่มีต่อการใช้จ่ายต่างๆ มุมมองที่มีต่อการเป็นหนี้ การวางแผนเงินเก็บ และเป้าหมายทางการเงินระยะยาวร่วมกัน
  • ซื้อบ้านใหญ่เกินตัว ใครๆ ก็อยากมีบ้านสวยๆ แต่ก็ต้องพิจารณาดูฐานะทางการเงินของตนเอง หากคำนวณแล้วจะทำให้เกิดสภาวะใช้เงินเกินตัว ก็เลี่ยงไปเสีย มิฉะนั้นจะทำให้มีหนี้ก้อนใหญ่ติดตัวไปนานเลยค่ะ

ช่วงวัยที่การงานมั่นคง 40-49 ปี
คนในวัยนี้เริ่มมีการงานที่มั่นคง มีรายได้สูง จึงเริ่มแสวงหาความสุขให้กับตัวเองหลังจากผ่านประสบการณ์ชีวิตมาพอสมควร แต่ลักษณะการหาความสุขของคนช่วงวัยนี้จะต่างกับช่วงวัย 20-29 ปี เพราะจะมองในแง่ของการเติมเต็มชีวิตของตังเองมากกว่าจะสนองความปรารถนาแบบหวือหวา เริ่มมีการสะสมสิ่งที่ตัวเองรัก แต่สิ่งที่คนในช่วงวัยนี้ต้องตระหนักมากๆ คือแผนการเงินหลังเกษียณ อย่าประมาทเด็ดขาดนะคะ อีกไม่นานแล้วค่ะ สำหรับคนช่วงวัยนี้แลดูชีวิตดี แต่ก็มีข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินเช่นกันนะคะ เรามาดูปัญหาทางการเงินของคนวัยนี้กันค่ะ

  • ไม่สนใจแผนเก็บเงินเกษียณ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ก็จะต้องหันมาสนใจการวางแผนการเงินเตรียมเกษียณอย่างจริงจัง ทั้งแผนเกษียณที่มาพร้อมกับที่ทำงานของเรา หรือแผนเกษียณอื่นๆ
  • ไม่หาหนทางเอาเงินไปลงทุน ในวัยนี้หากศึกษาเรื่องแนวทางการลงทุนย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากทิ้งเงินที่เก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ รอคอยดอกเบี้ยที่ต่ำแสนต่ำก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบนะคะ

ช่วงวัยก่อนเกษียณ 50-59 ปี
ถึงช่วงวัยนี้ ทุกคนจะคิดถึงตอนเกษียณอย่างจริงจัง กำลังเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเลย เริ่มเห็นความสำคัญในการเก็บออมเงินเพื่ออนาคต การรักษาสุขภาพ ฯลฯ ปัญหาทางการเงินในช่วงวัยนี้บางส่วนมาจากปัญหาสะสมจากวัยหนุ่มสาว บางส่วนก็ยังไม่มีความมั่นคงมากพอ เรามาดูกันเลยค่ะว่าข้อผิดพลาดและปัญหาทางการเงินของช่วงวัยนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

  • ไม่วางแผนเงินเก็บด้านสุขภาพ ในช่วงวัยนี้ค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้นและมีความสำคัญมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ตัวและไม่ได้เตรียมวางแผนการเงินสำหรับเรื่องนี้
  • ยังเก็บเงินเกษียณไม่ถึงไหน ในช่วงวัยโค้งสุดท้ายก่อนเกษียณ ต้องคอยเช็กสถานะทางการเงินของให้ดีค่ะว่าเงินเกษียณตอนนี้มีเท่าไหร่แล้ว และให้ลองคิดคำนวณให้ดีอีกครั้งว่า เงินที่เราจำเป็นต้องใช้ก่อนเกษียณเมื่อเทียบกับแผนเกษียณของเราตอนนี้ มีเพียงพอจริงๆ หรือไม่ และถ้าหากไม่เพียงพอ จะทำอย่างไรต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://info.thebkkresidence.com/news/index.php/2018/05/18/news_445173/

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “มูลเหตุที่ต้องเข้ามาคุม…สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

“มูลเหตุที่ต้องเข้ามาคุม…สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ”

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562

จากการสื่อสาร และข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในประเด็นของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ  ในมุมของ ผู้บริโภคหรือคนกู้ยืมว่าคิดดอกเบี้ยค่อนข้างแพง ภาษาชาวบ้านคือคนกู้จะจ่ายไม่ไหว หรือจะไปต่อกันได้ยาก นั้น ผู้เขียนเองได้ติดตามข้อมูลจากแหล่งที่มีการเปิดเผยและเชื่อถือได้ก็พบว่ามันมีประเด็นที่คนการเงินควรจะได้เข้ามาดูและช่วยๆ กันให้ข้อเท็จจริงเป็นความรู้กับคนที่คิดจะไปเป็นหนี้ในบริการนี้ ผู้เขียนต้องยอมรับในข้อเท็จจริงก่อนเข้าสู่รายละเอียดดังนี้ครับ

1.บริการทางการเงินดังกล่าวดูเหมือนจะมีการกำกับดูแลที่ไม่ชัดเจนกล่าวคือถ้าไปให้บริการในสถาบัน การเงินที่มีธนาคารกลางกำกับดูแลก็จะค่อนข้างชัดเจน  ส่วนที่เป็นแบบนิติบุคคลที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายทางการเงินกับสถาบันการเงินในระบบแล้ว ใครจะเป็นคนกำกับดูแลกันแน่ ยังเห็นข้อมูลไม่ชัดในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค

2.เห็นการเติบโตและการขยายตัวทั้งด้านฐานลูกค้า ยอดปล่อยสินเชื่อการเติบโตของกำไร จากที่เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วต้องยอมรับว่าเป็นกิจการที่มีศักยภาพสูงมากๆ  คิดในมุมนักลงทุนแล้วต้องบอกว่า หลักทรัพย์แบบนี้…ของมันต้องมีในพอร์ตเลย

ข้อมูลจากทางการระบุว่า ลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อทะเบียนรถมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 2 แสนล้านบาท เหตุที่ สินเชื่อนี้มีแต่คนชอบเพราะกู้ง่าย จบไว ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีคนมาค้ำประกัน หากแต่ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สื่อสารออกมานั้นมักจะเสนอเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบรายเดือน ตัวอย่างเช่น 2% หรือ 3% ต่อเดือน หากคนที่พอจะรู้เรื่องคำนวณมาเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีก็น่าจะประมาณ 24-36% ต่อปี ที่สำคัญคือมันอาจมีการคิดค่าธรรมเนียมเข้ามาผสมด้วย เช่น นาย ก. ขอกู้เงิน 1 หมื่นบาท แบบเอาทะเบียนรถไปจำนำ คนให้กู้อาจคิดค่าธรรมเนียมอีก 500 บาท บวกกับค่าประกันภัย 900 บาท ทำให้ยอดเงินกู้รวมทั้งหมด 1.14 หมื่นบาท เวลาคิดดอกเบี้ยจากวงเงิน 1.14 หมื่นบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อเดือน หรือเท่ากับ 30% ต่อปี ก็มีผลทำให้นาย ก. ต้องจ่ายดอกเบี้ย 3,420 บาท/ปี รวมเป็นหนี้ต้นบวกดอกทั้งหมด 14,820 บาท ดังนั้นสรุปว่าดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียมจะคิดเป็นเกือบ 50% ของเงินต้นดังกล่าว

ท่านผู้อ่านลองคิดตามรูปที่มี การคำนวณซึ่งผมได้มาจากสื่อสังคมออนไลน์นะครับ ค่อยๆ คิดตามว่ามันใช่หรือไม่

เป็นที่น่ายินดีครับว่าธนาคาร แห่งประเทศไทยได้เตรียมออกมาตรการกำกับดูแลบริษัทสินเชื่อทะเบียนรถ ไม่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยเกิน 28% ต่อปี โดยสามารถคิดค่าทวงถามหนี้ ค่าอากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายกรณีเช็คคืนได้เพิ่มเติมตามมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ดี โดยข่าวระบุว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสหนึ่งนี้
และจากบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารบริษัทที่ให้บริการทางการเงินชนิดนี้ ที่เปิดเผยต่อสื่อได้ระบุว่า “…เป้าหมายของเราในปีนี้ก็คือการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อของเรานะครับ โดยเน้นวงเงิน ที่ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อ 1 สัญญา ซึ่งปัจจุบันเรามีทั้งหมด ประมาณ 2 ล้านสัญญา เราต้องการเติบโตในตัว สัญญา

และก็ตัววงเงินในการปล่อยกู้ เบื้องต้น เป้าหมายปีนี้ คือการเพิ่มฐานวงเงินในการปล่อยกู้ หรือ นิวโลน (เงินปล่อยกู้ใหม่) อยากเพิ่มซัก 35% และเป้าหมายปีถัดไปอีก 30% ซึ่ง เป็นเป้าหมาย 3 ปีของเรา โดยปีที่แล้วคร่าวๆ 9 เดือน เราทำได้ 40% งั้นแผน 3 ปี ก็คือ 40%, 35% และ 30%…”

เราคงต้องมาคิดต่อว่าเหตุใดผู้คนจึงใช้บริการทางการเงินแบบนี้ดอกเบี้ยถูกหรือแพงไปเมื่อเทียบกับความเสี่ยง  การจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรของทางการจะมีผลให้เกิดต่อการเข้าถึงแหล่งเงินง่ายหรือยากขึ้นในผู้คนกลุ่มที่ต้องการแหล่งเงินเหล่านี้… ยังรอความคิดเห็นนะครับ

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี! งาน งาน “52 ปี ธ.ก.ส. สานพลังปฏิรูปภาคเกษตรไทย” วันที่ 28 มกราคม 2562 เวลา 9.00 – 15.00 น.อาคาร Hall 7 Impact Exhibition จ.นนทบุรี

ตรวจเครดิตบูโร ฟรี!

งาน งาน “52 ปี ธ.ก.ส. สานพลังปฏิรูปภาคเกษตรไทย”

วันที่ 28 มกราคม 2562 เวลา 9.00 – 15.00 น.อาคาร Hall 7 Impact Exhibition จ.นนทบุรี

ฟรี!!…บริการตรวจเครดิตบูโร แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคแทน พร้อมเปิดคลินิกเครดิตบูโรให้คำปรึกษา

ติดตามสัมภาษณ์สดทางวิทยุ “คัดข่าวมาคุย” ช่วง “หัวใจเศรษฐี” ทุกวันอังคารของเดือน เวลา 11.10 – 11.30 น. – ทางคลื่น FM 105 Smile Thailand – อออนไลน์ www.105smilethailand.com – www.facebook.com/105smilethailand

ติดตามสัมภาษณ์สดทางวิทยุ “คัดข่าวมาคุย” ช่วง “หัวใจเศรษฐี”
ทุกวันอังคารของเดือน เวลา 11.10 – 11.30 น.
– ทางคลื่น FM 105 Smile Thailand
– อออนไลน์ www.105smilethailand.com
– www.facebook.com/105smilethailand

ผู้ให้สัมภาษณ์ : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ผู้ดำเนินรายการ : คุณศลิลนา ภู่เอี่ยม

เรื่องน่าอ่าน