มีลูก 1 คนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ก่อนที่จะมีลูก สิ่งที่ควรทำคือมองไปถึงอนาคตข้างหน้าว่าลูกเราจะโตมาแบบไหน ฉะนั้นการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การวางแผนการเงินที่ดีจะช่วยให้ลูกมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพตามที่ตั้งใจค่ะ สำหรับค่าใช้จ่ายของเด็กแต่ละคนแน่นอนว่าไม่เท่ากันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของแต่ละครอบครัวที่ไม่เท่ากัน แต่วันนี้เราจะมาดูกันว่าหลักๆ แล้วต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนของลูกบ้าง เรามาดูกันเลยค่ะ

ค่าใช้จ่ายช่วงตั้งครรภ์
ค่าใช้จ่ายเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งทำคลอด เฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 – 100,000 บาท ในช่วงต้นของการมีลูกเราจะมีค่าใช้จ่ายในช่วงเวลา 9 เดือน แบ่งเป็นค่าฝากครรภ์ และพบแพทย์ราวๆ 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน และค่าทำคลอดอยู่ในช่วง 30,000 – 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจที่เราเลือก รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และถ้าเราไม่ทำคลอดในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไปก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 บาทในรอบระยะเวลา 9 เดือน

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกเล็ก
ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูทารกช่วงแรกเกิดถึงอายุประมาณ 2 ปี สำหรับเด็กแรกเกิด คุณพ่อ และคุณแม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อันได้แก่ เสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม นม และเครื่องอุ่นนม เปลนอน เครื่องอาบน้ำ อาหารสำหรับเด็ก เป็นต้น ค่านม เฉลี่ยเดือนละ 1,500 – 3,500 บาท / ต่อคน เท่ากับปีละ 18,000 บาท – 42,000 บาท / ปี ค่าวัคซีน เฉลี่ยครั้งละ 500 – 1,800 บาท (แล้วแต่ชนิดของวัคซีน) หรือเลือกซื้อเป็นแพ็กเกจ ราคาอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 12,000 บาท (ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล) ค่ารักษาพยาบาล เฉลี่ยอยู่ที่ครั้งละ 500 – 1,000 บาทขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรง) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเสื้อผ้าเด็ก ค่าของใช้เด็กอ่อน ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป ขนม ประมาณ 5,000 บาท ขึ้นไป

ค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก

  • ค่าอาหาร
    สำหรับค่าอาหารของลูกเล็กนั้นจะพิเศษกว่ามาก ทำให้เราต้องกันเงินสำรองสำหรับส่วนนี้ไว้ราวๆ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่ารักษา ค่าวัคซีนต่างๆ ที่ต้องฉีดให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี แต่ถ้าเด็กโตตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไปก็เริ่มรับประทานได้เหมือนกับผู้ใหญ่
  • ค่าศึกษาเล่าเรียน
    ค่าศึกษาเล่าเรียน รวมค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมดประมาณ 20 ปีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาตรี เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 200,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์การเรียน หนังสือ เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเกือบทุกปีเพื่อให้เหมาะสมกับวัยและระดับชั้น
    เมื่อลูกโตขึ้นมาหน่อย เริ่มที่จะต้องเรียนอนุบาล ค่าเทอมลูกเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ในช่วงอนุบาลจนจบชั้นประถมนั้น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดหากเรียนโรงเรียนรัฐบาลก็จะไม่มากเท่าไร แต่ถ้าลูกของเราจำเป็นต้องเรียนโรงเรียนเอกชน คุณพ่อคุณแม่จะต้องจ่ายเงินมากขึ้น และต้องจ่ายมากขึ้นไปอีกทั้งในชั้นประถมและมัธยม การวางแผนการเงินสำหรับค่าเทอมลูก ผู้ปกครองต้องคำนวณให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของเราเอง โดยค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีตลอด 9 ปี (อนุบาลถึงประถม) ราวๆ 20,000 – 50,000 บาท รวมตลอด 9 -10 ปี อยู่ราวๆ 200,000 – 500,000 บาท ยังไม่รวมอุปกรณ์การเรียนขึ้นอยู่กับโรงเรียน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ส่วนระดับมัธยมถ้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ค่าใช้จ่ายจะตกปีละประมาณ 50,000 – 60,000 บาท แต่ถ้าเรียนโรงเรียนเอกชน โรงเรียน 2 ภาษา หรือโรงเรียนนานาชาติ ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นเป็นหลักแสนหรือหลักล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว และในระดับอุดมศึกษานั้น แต่ละสาขาวิชาจะมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน สาขาวิชาที่ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ก็จะมีค่าใข้จ่ายมากกว่า หลักสูตรนานาชาติแพงกว่าหลักสูตรปกติ เป็นต้น
  • ค่าพี่เลี้ยงเด็ก
    ผู้ปกครองบางคนต้องทำงานประจำ เมื่อหมดระยะเวลาลางานแล้ว คงต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็ก สำหรับค่าใช้จ่ายพี่เลี้ยงเด็กสมัยนี้มีตั้งแต่หลักพัน ถึงหลักหมื่น แต่ทางที่ดีถ้าเราต้องใช้บริการพี่เลี้ยงเด็กควรกันเงินส่วนนี้ไว้เดือนละ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือนเพื่อให้คลุมทุกค่าใช้จ่าย แต่ทางที่ดีถ้าบ้านใครยังมีญาติช่วยเลี้ยง เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย การที่ให้ท่านช่วยดูแลจะประหยัดกว่าและน่าวางใจมากกว่าด้วยค่ะ
    ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนเสริมต่างๆ อันได้แก่ ค่าเดินทางท่องเที่ยว ของเล่นลูก ค่ายานพาหนะ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะขึ้นลงค่อนข้างกว้าง ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว ภายในระยะเวลา 10 ปี สามารถกะไว้คร่าวๆ 500,000 – 1,000,000 บาท หรือเฉลี่ยอย่างต่ำเดือนละ 5,000 บาทขึ้นไปต่อคน (ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ ด้วย)

จะเห็นได้ว่าการมีบุตร 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ โดยค่าใช้จ่ายจะมีขึ้นตั้งแต่ลูกยังไม่ลืมตาดูโลก อย่างไรก็ตาม การมีลูกถือเป็นความสุขและเป็นส่วนที่ทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ หากใช้จ่ายไม่ฟุ่มเฟือยและมีการวางแผนครอบครัว เตรียมการเตรียมความพร้อมมาอย่างดีแล้ว ปัญหาการเงินจะเป็นเรื่องเล็กเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจากธนาคารออมสิน https://www.gsb.or.th/Blogs/Financial/babyplan.aspx