Blog Page 146

มารู้จักบัญชีธนาคารแต่ละประเภทกัน

Come-to-know-each-bank-account-type

หลายคนคงคุ้นเคยกับการฝากเงินในบัญชีธนาคารดี แต่ก็คงสงสัยกันว่าทำไมมันมีบัญชีเงินฝากหลากหลายประเภทจัง มันต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะพามารู้จักกับบัญชีธนาคารประเภทต่างๆ กันค่ะ

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (Savings Account)
เริ่มกันที่บัญชีที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอย่างบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ บัญชีประเภทนี้เหมาะสำหรับการออมเงินในระยะสั้น หรือการเก็บเงินเผื่อไว้ยามใช้ฉุกเฉิน ถอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายรายเดือน การเก็บเงินไว้สำหรับการใช้จ่ายประจำวัน บัญชีประเภทนี้มักกำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่สูงและอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ

การเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ส่วนใหญ่ธนาคารจะให้สมัครบัตร ATM หรือบัตรเดบิต เพื่อสะดวกในการทำธุรกรรมด้วยตัวเองผ่านตู้ ATM แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรในแต่ละปีด้วย ที่สำคัญบางธนาคารมีการเสนอขายบัตรที่ผูกกับประกันอุบัติเหตุที่จะมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่าปกติ ต้องศึกษาเงื่อนขและรายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจ

บัญชีเงินฝากประจำ (Fixed Deposit Account)
บัญชีต่อมาที่หลายคนคงคุ้นหูเช่นกัน คือ บัญชีเงินฝากประจำ เป็นบัญชีที่มีกำหนดระยะเวลาการฝากถอนที่แน่นอน เช่น 1 ปี 5 ปี และมีการจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบออมทรัพย์ธรรมดา เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจผันผวน จะได้มีบัญชีธนาคารที่มั่นคงสำหรับการออมเงิน บัญชีนี้เหมาะใช้สำหรับเก็บเงินเตรียมเกษียณ ผู้ที่มีเงินแต่ยังไม่ต้องการใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เงินเย็น) หรือต้องการออมเงินระยะยาวและหวังผลตอบแทนในรูปแบบอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์

สำหรับเงินฝากประจำนั้นจะมีเงื่อนไขในการฝากเงินที่ไม่เหมือนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เช่น หากถอนก่อนครบกำหนดก็อาจได้รับดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่สถาบันการเงินประกาศไว้ หรือธนาคารบางแห่งจะกำหนดให้ผู้ฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำเปิดบัญชีออมทรัพย์ด้วย เพื่อที่ธนาคารจะโอนดอกเบี้ยเข้าไปในบัญชีออมทรัพย์อัตโนมัติเมื่อครบกำหนดการจ่ายดอกเบี้ย หรืออาจโอนเงินต้นเข้าไปด้วยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา

บัญชีเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษี
หลายคนคงเคยได้ยินธนาคารต่างๆ โปรโมตผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เป็นบัญชีเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ต้องฝากเงินทุกๆ เดือนเป็นจำนวนเท่ากันตลอดอายุสัญญา ซึ่งระยะเวลาอาจกำหนดไว้แตกต่างกันในแต่ละธนาคาร เช่น 24 เดือน 36 เดือนและมักกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่ต่ำกว่า 500 – 1,000 บาท ดังนั้น คนที่อยากเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ควรมีรายได้ประจำ และสามารถนำเงินเข้าบัญชีได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ละคนมีสิทธิเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น ถ้าขาดฝากเกินกว่าจำนวนครั้งที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ไม่เกิน 2 ครั้ง ก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ธนาคารประกาศ

บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน หรือบัญชีเงินฝากเดินสะพัด (Current Account)
บัญชีประเภททต่อมาเป็นบัญชีที่มีไว้สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเงินของบริษัทหรือร้านค้า เพราะสามารถใช้เช็คในการเบิกจ่ายเงินได้ บัญชีเงินฝากกระแสรายวันจะไม่มีดอกเบี้ยนะคะ

บัญชีประเภทนี้สามารถขอใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี (overdraft) หรือที่เรียกว่าเงิน O/D ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในกรณีเงินขาดบัญชีและช่วยลดปัญหาเช็คเด้งได้ โดยต้องเสียดอกเบี้ยเฉพาะเงินส่วนที่เบิกเกินบัญชีตามระยะเวลาที่เบิกเกินบัญชี บัญชีประเภทนี้ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่สถาบันการเงินจะจัดส่งสเตทเมนท์ (statement) ทางไปรษณีย์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแจ้งยอดเคลื่อนไหวของบัญชีให้ลูกค้าทราบ

ก่อนเลือกเปิดบัญชีกระแสรายวันควรพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยและข้อกำหนดต่างๆ อย่างละเอียด เช่น จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ เงื่อนไขการใช้วงเงิน O/D หรือบางแห่งสามารถใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นทางเลือกในการเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการเงิน

บัญชีเงินตราระหว่างประเทศ
บัญชีสุดท้ายที่จะแนะนำให้รู้จักคือ บัญชีเงินตราระหว่างประเทศ คือบัญชีเงินฝากธนาคารที่เงินในบัญชีเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในประเทศไทยสามารถเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศกับธนาคารรับอนุญาตในประเทศไทยได้ เป็นบัญชีเงินฝากที่เหมาะกับผู้ที่มีรายรับหรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ คนที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินสลับไปมาระหว่างหลายสกุลเงิน

การฝาก กรณีเป็นเงินที่มีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ (เช่น รายได้ ค่าบริการ เงินลงทุนที่ได้รับมาจากต่างประเทศ) สามารถฝากได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่ต้องแสดงภาระผูกพันในต่างประเทศ ส่วนกรณีฝากธนบัตรเงินตราต่างประเทศ สามารถฝากได้ไม่เกินวันละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า

การถอน สามารถทำการถอนได้โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เพื่อชำระภาระผูกพันของตนเอง หรือของธุรกิจในเครือให้แก่บุคคลในต่างประเทศ
  2. เพื่อชำระหนี้เงินตราต่างประเทศของตนเอง หรือของธุรกิจในเครือให้แก่ธนาคารรับอนุญาต
  3. เพื่อฝากเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศบัญชีอื่นของตนเอง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการฝากเงินตราต่างประเทศตามที่กล่าวข้างต้นด้วย
  4. เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นก่อนฝากเข้าบัญชีสกุลอื่นของตนเอง หรือแลกเปลี่ยนแล้วนำเงินตราต่างประเทศดังกล่าวไปชำระภาระให้แก่บุคคลในต่างประเทศ หรือชำระหนี้ให้แก่ธนาคารรับอนุญาตทันที
  5. เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท
  6. นิติบุคคลสามารถถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศประเภทแหล่งต่างประเทศ (ที่มีแหล่งเงินได้มาจากค่าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ) ของตนเอง เข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศของคู่ค้าในประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าบริการได้

ทั้งหมดนี้เป็นบัญชีเงินฝากพื้นฐานที่หลายคนควรรู้จักกัน เมื่อรู้เช่นนี้แล้วหลายคนคงเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับการใช้เงินของตัวเองแล้ว อย่างไรก็ตามแต่ละธนาคารก็มีรายละเอียดปลีกย่อยในการเปิดบัญชีต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนที่จะเปิดบัญชีกับธนาคารควรต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขอย่างละเอียดเสียก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเลือกค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้รับบริการทางการเงิน (ศคง.) 1213 https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/FX/Pages/acccurrency.aspx

LTF และ RMF ต่างกันอย่างไร รู้ไว้ก่อนออมเงิน

What-is-the-difference-between-LTF-and-RMF

อย่างที่ทราบกันดีว่าการออมเงินและการลงทุนมีหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือการซื้อกองทุน ซึ่งมนุษย์เงินเดือนหลายคนนิยมกัน เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่ต้องมีทุนมากนัก และเป็นเหมือนการออมเงินระยะยาว ซึ่งเมื่อถึงเวลาผู้ลงทุนก็ยังได้เงินเป็นก้อนมาเก็บไว้ แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกกองทุน ก็ต้องรู้จักและเข้าใจความแตกต่างระหว่างกองทุน LTF และ RMF ก่อน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ  

เรามาทำความรู้จักกับกองทุนทั้ง 2 แบบอย่างกว้างๆ กันก่อน เริ่มจากกองทุน LTF มีกองทุนรวมเพียงประเภทเดียว คือ กองทุนรวมตราสารทุน ส่วนกองทุน RMF นั้น มีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือก เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน กองทุนรวมผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม เป็นต้น

วัตถุประสงค์และเป้าหมายการลงทุน

กองทุน LTF กองทุน RMF
วัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของตลาดหุ้น ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนในตลาดหุ้นผ่านกองทุนรวม โดยมีระยะเวลาในการลงทุนในระยะเวลาหนึ่ง เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นระยะยาว แต่อาจไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น หรือไม่มีเวลา และต้องยอมรับความเสี่ยงและเงื่อนไขของการลงทุนได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมเงินในระยะยาวสำหรับชีวิตหลังเกษียณ เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมารองรับ หรือมีสวัสดิการแต่มีความต้องการออมเพิ่ม


นโยบายและเงื่อนไขการลงทุน

กองทุน LTF กองทุน RMF
ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV เมื่อลงทุนแล้วต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือ ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุน (ถ้ามี) และไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาจากเงินลงทุนที่ขายคืนนั้น มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน ผู้ซื้อกองทุนต้องซื้อหน่วยลงทุนในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี จะต้องมีปีในการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องถือไว้จนกระทั่งอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน


เงินลงทุนขั้นต่ำสุดและสูงสุด

กองทุน LTF กองทุน RMF
ไม่มีการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ แต่สามารถลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปีอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าจำนวนเงินใดจะต่ำกว่า และสามารถลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปีและเมื่อรวมเข้ากับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กบข. ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี


สิทธิประโยชน์ทางภาษี

กองทุน LTF กองทุน RMF
·         เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

·         กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษี

·         เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

·         กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษี


กำหนดการขายคืนหน่วยลงทุน

กองทุน LTF กองทุน RMF
ไม่เกินปีละ 2 ครั้งตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ทุกวันทำการ หรือตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน


ความต่อเนื่องในการลงทุน

กองทุน LTF กองทุน RMF
ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง โดยจะนับเงินที่ลงทุนแยกกันไปในแต่ละปี ต้องลงทุนต่อเนื่องตามเงื่อนไข โดยนับเวลาแบบวันชนวัน เริ่มจากวันแรกที่ได้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุน


เมื่อเราทราบถึงข้อแตกต่างระหว่างกองทุนทั้ง 2 แบบแล้ว เราจึงต้องวางแผนทางการเงินให้ดี อย่ามุ่งหวังในเรื่องของเงินมากจนเกินไป เพราะเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ปลีกย่อยของกองทุนแต่ละที่ก็ไม่เหมืออนกัน จึงต้องทำการศึกษารายละเอียดการลงทุนให้มั่นใจเสียก่อนว่าเหมาะสมกับสภาพคล่องทางการเงินของเราเป็นสำคัญ และอย่าลืมเป้าหมายหลักๆ ที่จะตั้งใจลงทุนเพื่อชีวิตหลังเกษียณ และถึงแม้ว่าแต่ละกองทุนจะมีสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี แต่อย่ายึดเป็นเหตุผลหลักที่จะตัดสินใจเลือกที่จะลงทุนในกองทุนนั้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://www.set.or.th/education/th/begin/mutualfund_content11.pdf

4 เรื่องเงินที่ต้องเคลียร์ก่อนเข้าพิธีวิวาห์

4-Money-matters-before-weddings

เมื่อตัดสินใจแต่งงานนั่นหมายความว่าคุณเลือกที่จะใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งที่เหลือกับคู่ชีวิตของคุณ แน่นอนว่าคนสองคนที่เติบโตมาในสังคมที่แตกต่างจะต้องมีการปรับตัว ปรับใจ ปรับนิสัยเพื่อให้อยู่ร่วมชีวิตด้วยกันได้อย่างยาวนาน แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญก่อนที่จะตกลงใช้ชีวิตร่วมกันนั่นคือเรื่องของ “เงิน” นั่นเอง เมื่อจะสร้างครอบครัวด้วยกัน คงไม่ใช่แค่กระเป๋าเธอ กระเป๋าฉันแยกกันชัดเจนเหมือนตอนเป็นแฟน ยิ่งถ้าครอบครัวไหนวางแผนที่จะมีลูกด้วยกันแล้ว การจัดการเรื่องเงินยิ่งต้องพูดคุยให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกค่ะ แล้วเรื่องเงินเรื่องไหนที่ต้องคุยต้องเคลียร์กันก่อนแต่งงาน เรามาดูกันเลย

1. รายรับ รายจ่าย ค่าใช้จ่ายในบ้าน คุยกันให้เคลียร์
ก่อนอื่นเลยทั้งสองคนต้องมาแชร์รายรับ รายจ่ายของตัวเองให้สามีหรือภรรยาทราบกันก่อนว่าแต่ละคนมีรายรับเท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวอะไรบ้าง คิดเป็นเงินเท่าไหร่ และเมื่อมาสร้างครอบครัวแล้วจะมีเงินกองกลางกี่เปอร์เซ็นต์ของรายรับ ค่าใช้จ่ายในบ้านแบ่งกันอย่างไร ใครจ่ายส่วนไหนบ้าง คุยกันให้เคลียร์ก่อนตั้งแต่แรกเลยค่ะ จะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง

2. หนี้สินมีหรือเปล่า เคลียร์หรือยัง
ลำดับถัดมาก็ต้องมาดูเรื่องของหนี้สิน มาแชร์กันอย่างตรงไปตรงมาว่าใครมีหนี้อะไรบ้าง เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิต หนี้กู้ยืมต่างๆ จำนวเงินที่เป็นหนี้ รายจ่ายหนี้ต่องวด กี่งวด เหลือเวลากี่ปี ฯลฯ เพื่อที่ทั้งคู่จะได้วางแผนการเก็บเงิน การใช้ชีวิตคู่ กันอย่างสะดวก เช่น หากรู้ว่ามีหนี้ก็จะเคลียร์หนี้ก่อนค่อยแต่งงาน หรือเคลียร์กันว่าจะจัดการหนี้สินอย่างไร เป็นต้น เมื่อทั้งคู่สามารถจัดการหนี้สินได้อย่างลงตัว ก็สามารถจัดการเรื่องเงินอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นค่ะ

3. เงินออม เงินลงทุน จะตุนเงินอย่างไร
เมื่อเราเคลียร์เรื่องรายรับ รายจ่าย หนี้สิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ก็มาถึงเรื่องการลงทุน เงินออมแล้วค่ะ ยิ่งครอบครัวไหนมีแผนที่จะมีบุตรด้วยแล้ว การวางแผนทางการเงินเพื่อบุตรเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นต้องคุยกันค่ะว่าหลังจากที่หักลบกลบหนี้ หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว เราจะเหลือเงินออมกันคนละเท่าไหร่ แล้วจะออมอย่างไรบ้าง เช่น ฝากเงินเข้าบัญชี และจะเอาเงินไปลงทุนอะไรบ้าง รวมไปถึงการทำประกันชีวิต ประกันภัย ตกลงกันก่อนเลยค่ะว่าจะทำหรือไม่ เพื่อที่จะได้คำนวณได้ค่ะว่าเราจะมีเงินเก็บเท่าไหร่ มีเป้าหมายในการออมว่าจะใช้ระยะเวลากี่ปี ที่สำคัญเราจะได้รู้ค่ะว่าควรจะมีลูกเมื่อไหร่ดี รวมถึงวางแผนหลังเกษียณกันด้วยนะคะ

4. ทรัพย์สินของใคร เคลียร์ให้จบก่อนจดทะเบียน
ก่อนแต่งงานแต่ละคนก็จะมีทรัพย์สินส่วนตัวกันมาก่อนแล้ว แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องจดทะเบียนสมรสกัน ก็ต้องแบ่งกันให้ชัดเจนว่าอันไหนเป็นสินส่วนตัวที่มีมาแต่เดิมแล้ว ส่วนทรัพย์สินใหญ่ๆ อย่าง บ้าน รถ ก็เคลียร์กันดีๆ นะคะจะได้ไม่ยุ่งยากกันภายหลัง เพราะอย่าลืมว่าทรัพย์สินบางอย่างของเรา ผูกพันกับครอบครัวเดิมของเราด้วยนะคะ

ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นเรื่องการเงินที่ต้องคุยต้องเคลียร์ให้ชัดเจนก่อนที่จะตกลงแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อทุกอย่างราบรื่น เรื่องเงินลงตัวแล้ว สเต็ปต่อไปของการแต่งงาน การสร้างครอบครัวก็จะง่ายขึ้น มีการวางแผนอย่างเป็นระบบมากขึ้น เรื่องเงินก็จะไม่ใช่ปัญหาในชีวิตคู่ ถือว่าหมดเรื่องเครียดไปอีกหนึ่งเรื่อง ใครที่กำลังจะแต่งงานก็อย่าลืมเคลียร์เรื่องเงินๆ ทองๆ ให้เรียบร้อยนะคะ

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : ยามอากาศขุ่นมัว ดอกเบี้ยก็แอบเริ่มชูช่อเนียนๆ : วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

ยามอากาศขุ่นมัว ดอกเบี้ยก็แอบเริ่มชูช่อเนียนๆ

นสพ.โพสต์ทูเดย์  วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562

ตื่นเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นวันศุกร์ที่ขมุกขมัว มองออกไปจากรถยนต์ที่นั่งกันสามคน (ตามเกณฑ์เป๊ะ) เห็นสภาพอากาศ ท้องฟ้าที่ยังไม่สดใส อ่านข่าวจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ในมือก็มีแต่ข่าวเกี่ยวกับรอบตัวเราและเพื่อนร่วมชะตาชีวิตในกรุงคงต้องเจอมลพิษทางอากาศไปจนถึงต้น มี.ค. (แม่เจ้า…อีกหนึ่งเดือนเลยนะ) พอดูข่าวของหน่วยงานบริหารเมืองหลวงเราประชุมกับพ่อเมือง กทม. (คำโบราณ) ในเฟซบุ๊กที่แชร์ก็ได้แต่คิดถึงหนังตอนที่นักวิทยาศาสตร์ นักพูด นักการเมืองและนักอื่นๆ กำลังหาทางรับมือกับอุกกาบาตที่ชื่อว่า อาร์มาเก็ดดอน เหลียวมามองอีกข่าวก็พบกับอุปนิสัยไทยคือ ต้องยิ้มได้เมื่อภัยมา ข่าวนี้แนะนำให้สวดมนต์ทำสมาธิต้านฝุ่น แนะให้แห่นางแมวขอฝนหลายๆ ตัวเพื่อได้น้ำฝนมาชะล้างฝุ่น ย้อนกลับจากเรื่องของการเจอปัญหามลพิษในระดับตื่นตระหนกของคนเมืองเวลานี้ผมมีความเห็นดังนี้

1.คนที่ทำงานกินเงินค่าจ้าง รายวัน จะสามารถป้องกันตัวเองในต้นทุนที่พอรับได้ขนาดไหน ค่าแรง 300 บาท/วัน เจอค่าหน้ากาก 2 ชิ้น 90 บาทมันจะไม่ไหว องค์กรทางการแพทย์ NGO รักโลกสวยพอจะมีอะไรมาช่วยบรรเทาเขาเหล่านี้หรือไม่ ในอดีตถ้าเรามีภัยพิบัติเรามีการตั้งโรงทาน โรงอาหาร พยาบาลสนาม เราลองเทียบเคียงกรณีนี้ได้หรือไม่…คิดแบบบ้านๆ

2.อาหารที่วางขายตามทางหรือ Street Food  มันจะมีผลหรือไม่จากมลพิษฝุ่นละออง ควรมีมาตรการแนะนำ ปกป้อง ตรวจตรา ช่วยเหลือ คุ้มครองคนซื้อ-คนขายหรือไม่ในเวลานี้ หรือจะเอาแต่กฎกติกาเทศกิจไล่จับกันจนไม่ดูตาม้าตาเรือ ยามนี้มันก็ไทยด้วยกัน ทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

3.ผมขอชื่นชมความคิดริเริ่มของ ผู้บริหารในองค์กรหลายแห่ง ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาบอกกับหัวหน้าพนักงานต่างๆ ว่า คนท้อง คนเป็นภูมิแพ้ คนที่ต้องดูแลลูกเล็กในยามโรงเรียนปิด สามารถทำงานที่บ้าน หยุดงานโดยไม่นับเป็นวันลาได้ อันนี้น่าชื่นชมครับ ได้ใจผู้คนมากๆ นะครับ มันคือน้ำใจที่คนไทยให้กัน อย่ามองเป็นเรื่องนายจ้างลูกจ้างแต่มันคือใจที่ให้ใจกันในยามนี้

พอเหลียวมามองข่าวการเงินก็มาสะดุดเอากับข่าวรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารลูกครึ่งรายหนึ่งที่มีต่างประเทศเพื่อนบ้านเราทางใต้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แจ้งว่าธนาคารได้ปรับดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงประเภทอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ขึ้น 0.125% ต่อปี จาก 7.75% เป็น 7.875% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี

ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยลูกค้า สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากภาระค่างวดต่อเดือนเพิ่มหลักร้อยบาทในการกู้ต่อ 1 ล้านบาท(ผู้เขียนขอแย้งนิดๆ นะครับว่าอะไรที่เพิ่มไม่ว่าเล็กว่าน้อยมันขึ้นอยู่กับรายได้คนกู้ครับ 100 บาท สำหรับคนเงินเดือน 2 หมื่นบาท มันมีความหมายที่อาจ ไม่เท่ากับคนกินเงินเดือนระดับผู้บริหารระดับสูงในระบบสถาบันการเงิน…อันนี้ขอมองต่างมุมนิดหนึ่งนะครับ หรือคนที่มี Debt Service Coverage Ratio ที่ต่างกันมันก็มีผลต่างกัน หรือคนที่อยู่บ้านเช่ากินข้าวกล่องโฟมต้องจ่ายหนี้บ้านที่กู้ไว้เพิ่มมันก็ต้องรู้สึกมากกว่าคนมีรถประจำตำแหน่ง

ข้อความตามข่าวที่บรรยายเป็นคำพูดที่ระบุว่า… “หลังจาก ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ตลาดเงินมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงต้องระดมทุน ทำให้ต้นทุนเพิ่มก็จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น และเชื่อว่าธนาคารอื่นจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตาม” นอกจากนี้ ผมขอความอนุเคราะห์เรียนถามธนาคารกลางในประเทศสารขัณฑ์แห่งนี้ว่า ก็ไหนว่า  กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้คงยังไม่ขยับอย่างรวดเร็วนัก ควรขยับดอกเบี้ยเงินฝากก่อน ผมยังจำข้อแนะนำในข่าวสารเวลานั้นได้ มีใครเข้าไปสอดส่องดูแล Asset-Liability Management หรือเปล่าครับ Rate Sensitive Asset สูงกว่าหรือต่ำกว่า Rate Sensitive Liability (คนที่เป็นนักการเงินจะเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามสื่อในเวลานี้)

ประเด็นเงินฝากก็มีการขยับเหมือนกันคือ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน ในอัตรา 0.25% ต่อปี และปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.10% มีผลวันที่ 1 ก.พ. 2562 ผมมีข้อท้าทายว่าถ้าแน่จริงนะครับให้ปรับดอกเบี้ยออมทรัพย์สิครับ ปรับเพิ่มเลยเป็น 2.5% หากหาเหตุไม่ได้ว่าทำไมต้องขึ้นออมทรัพย์ 2.5% ก็ใช้ไสยศาสตร์ว่าเพราะเราเจอฝุ่น PM2.5 เราเลยขอปรับออมทรัพย์เป็น 2.5% มาสู้ฝุ่นให้มันรู้กันเลยว่าฝุ่นกับดอกเบี้ยใครแน่กว่ากัน

เคล็ด (ไม่) ลับ ออมเงินอย่างง่ายไว้ใช้วัยเกษียณ

การออมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ออมเงินบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ เช่น การกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะซื้อบ้านให้ได้ในอนาคต ซึ่งการออมถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้การออมยังช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง เช่น มีเงินฉุกเฉินยามเจ็บป่วย หรือมีเงินไว้ใช้ช่วงว่างงาน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เงินออมจะเป็นสิ่งที่ช่วยคุณในยามแก่เฒ่า ช่วยให้คุณมีเงินใช้ต่อไปในยามที่คุณไม่มีแรงที่จะหารายได้เพิ่มแล้ว (ออมก่อนรวยกว่า มาดูความสำคัญของเงินออมได้ที่นี่เลย https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/why-save-money )

ออมเงินก่อนเกษียณอย่างง่าย ทำได้สบายแน่นอน

  1. คำนวณการใช้เงินหลังเกษียณ

ก่อนอื่นเลยคุณต้องคำนวณดูก่อนว่า หลังจากคุณเกษียณอายุไปแล้วคุณต้องใช้เงินต่อเดือนเท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้เงินประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือนในปัจจุบัน ดังนั้นคุณต้องแน่ใจว่าหลังเกษียณอายุคุณจะมีเงินใช้ 70-90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือนในปัจจุบัน หากคุณไม่แน่ใจว่าจะมีเงินใช้ถึงเป้าหมายดังกล่าว คุณก็อาจต้องหารายได้เสริมอื่นๆ ด้วย

  1. สร้างงบประมาณให้รายได้มากกว่ารายจ่าย

ขั้นตอนต่อไปคือคุณต้องสร้างงบประมาณให้รายได้มากกว่ารายจ่ายในแต่ละเดือน จนมีเงินเหลือเก็บเพื่อเอาไว้เกษียณ และดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หากคุณมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ หรือไม่ได้เก็บเงินเพื่อเกษียณเลย คุณก็ต้องหารายได้เสริม รวมถึงประหยัดให้มากขึ้น หรือคุณอาจทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่าในหนึ่งเดือนใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ทำให้รู้ว่าสิ่งไหนสามารถตัดออกจากรายจ่ายของคุณได้ค่ะ

  1. หาวิธีออมเงินเพื่อเกษียณ

หากอยากเก็บเงินเพื่อเกษียณด้วยวิธีอื่น ๆ คุณสามารถเลือกออมเงินได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวม LTF-RMF การลงทุนในหุ้น หรือจะฝากเงินแบบฝากประจำก็ได้ ซึ่งวิธีนี้คุณยังจะได้ดอกเบี้ยอีกด้วย แต่หากจะใช้วิธีการเหล่านี้คุณจำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดและข้อมูลก่อนการลงทุนให้ดี จะได้ไม่เสียเปรียบหรือพลาดสิทธิประโยชน์

  1. จัดการกับหนี้สิน

เมื่อคุณรู้แล้วว่าคุณต้องเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุเท่าไหร่ ขั้นต่อไปคือคุณต้องมาจัดการกับหนี้ของคุณให้หมดเสียก่อน เพราะถ้าคุณไม่รีบจัดการหนี้ให้หมด คุณก็จะเก็บเงินเพื่อเกษียณน้อยลง เพราะฉะนั้นตอนนี้มีหนี้อะไร ก็รับจัดการไปให้หมดเสีย อย่าปล่อยไว้นานหลายปีนะคะ

  1. เก็บเงินก่อนใช้จ่าย

เมื่อคุณได้รับเงินเดือนมาในแต่ละเดือน สิ่งแรกที่คุณควรทำคือเก็บเงินเพื่อเกษียณก่อนเลยค่ะ ส่วนที่เหลือจึงจะเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายในเดือนนั้นๆ  ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณมีวินัยในการใช้เงินมากขึ้น และจะไม่ลำบากหลังเกษียณอายุแน่นอน

  1. รีไฟแนนซ์บ้าน

การมีบ้านส่วนใหญ่มักต้องผ่านขั้นตอนในการขอสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ก่อน เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระ แต่หากผ่อนจ่ายไปได้สักระยะหนึ่ง แล้วเกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน หรืออยากเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุ การรีไฟแนนซ์บ้านก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีนะคะ ซึ่งการจัดไฟแนนซ์บ้านเป็นการกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่มาแทนสินเชื่อเดิม โดยผู้ขอสินเชื่อจะได้เงินก้อนมาปิดภาระสินเชื่อเดิม เพื่อเป็นการลดดอกเบี้ย และอาจมีเงินส่วนต่างมาใช้ในยามฉุนเฉินตอนที่เกษียณอายุแล้วด้วยค่ะ

เมื่อเราอยากบรรลุเป้าหมายทางการเงินไว ๆ  จึงต้องออมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ออมให้เร็วที่สุดตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ปัญหาจริง ๆ ก็คือ เรื่องค่าใช้จ่าย หลาย ๆ คนมีค่อนข้างมาก เงินเดือนหรือรายได้ที่เข้ามาก็มีรายจ่ายที่ต้องออกไป  ดังนั้นราจึงต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้สมดุลกับรายรับที่มีเข้ามา เพื่อที่จะได้ไม่ติดลบและมีเหลือเก็บ

ตรวจเครดิตบูโรผ่านโมบายแอป”Krungthai Next” รับรายงานข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมล 3 วันทำการ

บริการใหม่ล่าสุด! พร้อมแล้ว

ตรวจเครดิตบูโรผ่านโมบายแอป “Krungthai Next”
รับรายงานข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ

รู้ผลทันใจ มั่นใจได้จริง

อยู่ที่ไหน ก็รับข้อมูลเครดิตได้ทุกที่ ทุกเวลา

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสินเชื่อ บัตรเครดิต หรือสถานะบัญชี ก็ตรวจได้ง่ายๆ ผ่าน โมบายแอป “Krungthai Next” พร้อมเลือกวิธีรับผลได้ดั่งใจ 2 วิธี 

1.รับผลทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ (ข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์)

2.รับผลทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ (ข้อมูลเครดิตรูปแบบเอกสาร)

หมายเหตุ :
– หากไม่ได้รับภายในกำหนด โปรดติดต่อ consumer@ncb.co.th
– บริการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่านเคาน์เตอร์สาขา และ ATM ของธนาคารกรุงไทย พร้อมรับผลทางไปรษณีย์ลงทะเบียนได้เช่นเดิม

ตรวจสอบเครดิตบูโร - Krungthai NEXT

เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktb.co.th/th/content/personal/krungthai-next/credit-bureau-status-check-service

 

เรื่องน่าอ่าน