หลายคนคงคุ้นเคยกับการฝากเงินในบัญชีธนาคารดี แต่ก็คงสงสัยกันว่าทำไมมันมีบัญชีเงินฝากหลากหลายประเภทจัง มันต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะพามารู้จักกับบัญชีธนาคารประเภทต่างๆ กันค่ะ
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (Savings Account)
เริ่มกันที่บัญชีที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอย่างบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ บัญชีประเภทนี้เหมาะสำหรับการออมเงินในระยะสั้น หรือการเก็บเงินเผื่อไว้ยามใช้ฉุกเฉิน ถอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายรายเดือน การเก็บเงินไว้สำหรับการใช้จ่ายประจำวัน บัญชีประเภทนี้มักกำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่สูงและอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ
การเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ส่วนใหญ่ธนาคารจะให้สมัครบัตร ATM หรือบัตรเดบิต เพื่อสะดวกในการทำธุรกรรมด้วยตัวเองผ่านตู้ ATM แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรในแต่ละปีด้วย ที่สำคัญบางธนาคารมีการเสนอขายบัตรที่ผูกกับประกันอุบัติเหตุที่จะมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่าปกติ ต้องศึกษาเงื่อนขและรายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจ
บัญชีเงินฝากประจำ (Fixed Deposit Account)
บัญชีต่อมาที่หลายคนคงคุ้นหูเช่นกัน คือ บัญชีเงินฝากประจำ เป็นบัญชีที่มีกำหนดระยะเวลาการฝากถอนที่แน่นอน เช่น 1 ปี 5 ปี และมีการจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบออมทรัพย์ธรรมดา เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจผันผวน จะได้มีบัญชีธนาคารที่มั่นคงสำหรับการออมเงิน บัญชีนี้เหมาะใช้สำหรับเก็บเงินเตรียมเกษียณ ผู้ที่มีเงินแต่ยังไม่ต้องการใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เงินเย็น) หรือต้องการออมเงินระยะยาวและหวังผลตอบแทนในรูปแบบอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
สำหรับเงินฝากประจำนั้นจะมีเงื่อนไขในการฝากเงินที่ไม่เหมือนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เช่น หากถอนก่อนครบกำหนดก็อาจได้รับดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่สถาบันการเงินประกาศไว้ หรือธนาคารบางแห่งจะกำหนดให้ผู้ฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำเปิดบัญชีออมทรัพย์ด้วย เพื่อที่ธนาคารจะโอนดอกเบี้ยเข้าไปในบัญชีออมทรัพย์อัตโนมัติเมื่อครบกำหนดการจ่ายดอกเบี้ย หรืออาจโอนเงินต้นเข้าไปด้วยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา
บัญชีเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษี
หลายคนคงเคยได้ยินธนาคารต่างๆ โปรโมตผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เป็นบัญชีเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ต้องฝากเงินทุกๆ เดือนเป็นจำนวนเท่ากันตลอดอายุสัญญา ซึ่งระยะเวลาอาจกำหนดไว้แตกต่างกันในแต่ละธนาคาร เช่น 24 เดือน 36 เดือนและมักกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่ต่ำกว่า 500 – 1,000 บาท ดังนั้น คนที่อยากเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ควรมีรายได้ประจำ และสามารถนำเงินเข้าบัญชีได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ละคนมีสิทธิเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น ถ้าขาดฝากเกินกว่าจำนวนครั้งที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ไม่เกิน 2 ครั้ง ก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ธนาคารประกาศ
บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน หรือบัญชีเงินฝากเดินสะพัด (Current Account)
บัญชีประเภททต่อมาเป็นบัญชีที่มีไว้สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเงินของบริษัทหรือร้านค้า เพราะสามารถใช้เช็คในการเบิกจ่ายเงินได้ บัญชีเงินฝากกระแสรายวันจะไม่มีดอกเบี้ยนะคะ
บัญชีประเภทนี้สามารถขอใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี (overdraft) หรือที่เรียกว่าเงิน O/D ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในกรณีเงินขาดบัญชีและช่วยลดปัญหาเช็คเด้งได้ โดยต้องเสียดอกเบี้ยเฉพาะเงินส่วนที่เบิกเกินบัญชีตามระยะเวลาที่เบิกเกินบัญชี บัญชีประเภทนี้ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่สถาบันการเงินจะจัดส่งสเตทเมนท์ (statement) ทางไปรษณีย์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแจ้งยอดเคลื่อนไหวของบัญชีให้ลูกค้าทราบ
ก่อนเลือกเปิดบัญชีกระแสรายวันควรพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยและข้อกำหนดต่างๆ อย่างละเอียด เช่น จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ เงื่อนไขการใช้วงเงิน O/D หรือบางแห่งสามารถใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นทางเลือกในการเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการเงิน
บัญชีเงินตราระหว่างประเทศ
บัญชีสุดท้ายที่จะแนะนำให้รู้จักคือ บัญชีเงินตราระหว่างประเทศ คือบัญชีเงินฝากธนาคารที่เงินในบัญชีเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในประเทศไทยสามารถเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศกับธนาคารรับอนุญาตในประเทศไทยได้ เป็นบัญชีเงินฝากที่เหมาะกับผู้ที่มีรายรับหรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ คนที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินสลับไปมาระหว่างหลายสกุลเงิน
การฝาก กรณีเป็นเงินที่มีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ (เช่น รายได้ ค่าบริการ เงินลงทุนที่ได้รับมาจากต่างประเทศ) สามารถฝากได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่ต้องแสดงภาระผูกพันในต่างประเทศ ส่วนกรณีฝากธนบัตรเงินตราต่างประเทศ สามารถฝากได้ไม่เกินวันละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่า
การถอน สามารถทำการถอนได้โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อชำระภาระผูกพันของตนเอง หรือของธุรกิจในเครือให้แก่บุคคลในต่างประเทศ
- เพื่อชำระหนี้เงินตราต่างประเทศของตนเอง หรือของธุรกิจในเครือให้แก่ธนาคารรับอนุญาต
- เพื่อฝากเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศบัญชีอื่นของตนเอง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการฝากเงินตราต่างประเทศตามที่กล่าวข้างต้นด้วย
- เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นก่อนฝากเข้าบัญชีสกุลอื่นของตนเอง หรือแลกเปลี่ยนแล้วนำเงินตราต่างประเทศดังกล่าวไปชำระภาระให้แก่บุคคลในต่างประเทศ หรือชำระหนี้ให้แก่ธนาคารรับอนุญาตทันที
- เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท
- นิติบุคคลสามารถถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศประเภทแหล่งต่างประเทศ (ที่มีแหล่งเงินได้มาจากค่าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ) ของตนเอง เข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศของคู่ค้าในประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าบริการได้
ทั้งหมดนี้เป็นบัญชีเงินฝากพื้นฐานที่หลายคนควรรู้จักกัน เมื่อรู้เช่นนี้แล้วหลายคนคงเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับการใช้เงินของตัวเองแล้ว อย่างไรก็ตามแต่ละธนาคารก็มีรายละเอียดปลีกย่อยในการเปิดบัญชีต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนที่จะเปิดบัญชีกับธนาคารควรต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขอย่างละเอียดเสียก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเลือกค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้รับบริการทางการเงิน (ศคง.) 1213 https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/FX/Pages/acccurrency.aspx