ใครๆ ก็อยากจะสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง หลายคนจึงจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเองไม่ว่าจะซื้อรถ ซื้อบ้าน ลงทุนทำธุรกิจ กู้เพื่อการศึกษา หรือจำเป็นต้องใช้เงินในการแก้ปัญหาบางอย่าง เราก็คงหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกู้เงินหรือขอสินเชื่อ เรามาสำรวจจุดประสงค์ของการขอสินเชื่อและการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะกู้เงินกันเลยค่ะ
ก่อนที่จะขอสินเชื่อ เรามาสำรวจตัวเองกันก่อนดีกว่าว่าเราจะกู้เงินไปทำอะไรตามนี้เลยค่ะ
- จุดประสงค์ของการขอสินเชื่อ เมื่อคิดที่จะขอสินเชื่อ ก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ของตนเองว่าต้องการขอสินเชื่อเพื่ออะไร และจะเป็นหนี้ระยะยาวหรือสั้นแค่ไหน
- สำรวจตัวเอง ดูฐานะการเงินและความพร้อมในการต้องการกู้ของเรามีความพร้อมมากแค่ไหน มีหนี้ติดตัวมาหรือไม่ เช่น หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ซึ่งหนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้การกู้สินเชื่อ เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 40% ของรายได้หรือเงินเดือนของเรา
- สำรวจอัตราดอกเบี้ย เมื่อคิดทบทวนและตัดสินใจได้ว่าจำเป็นต้องขอสินเชื่อ ก็ต้องมาสำรวจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารว่าเป็นอย่างไร เช่น ธนาคารไหนที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวที่ต่ำที่สุด โดยทำการหาข้อมูลและทำตารางเปรียบเทียบ สิ่งที่ต้องเปรียบเทียบ เช่น วงเงินกู้ที่แต่ละธนาคารให้กู้ เช่น บางธนาคารให้กู้ 80-100% เปรียบเทียบ MLR ของแต่ละธนาคา เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 และอัตราดอกเบี้ยปีที่ 4 เพื่อใช้ในการคำนวณว่าตลอดอายุการผ่อนอย่างน้อย 3 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ เป็นต้น หรือถ้าจะขอสินเชื่อบัตรเครดิตก็ต้องศึกษาด้วยค่ะว่าดอกเบี้ยนั้นมากน้อยแค่ไหน มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เพราะแต่ละธนาคารก็ไม่เหมือนกันนะคะ
- สำรวจค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ธนาคารเรียกเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนในกรณีที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนด ค่าปรับต่างๆ ซึ่งจะต้องคำนวณและเปรียบเทียบของแต่ละธนาคารอย่างละเอียด เพราะแต่ละธนาคารก็มีค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไม่เท่ากันค่ะ
- ศึกษาเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ให้ดี แต่ละธนาคารมักมีข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น บางธนาคารมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ว่า ผู้กู้มีรายได้และมีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ อายุ อาชีพ รายรับทางบัญชี งบการเงิน ฯลฯ
เอกสารที่ใช้ในการขอสินเชื่อ
เมื่อตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะต้องขอสินเชื่อ ขั้นตอนต่อไปก็คือการเตรียมเอกสารค่ะ สำหรับเอกสารการยื่นขอสินเชื่อนั้นจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อว่าต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน เช่น การขอสินเชื่อบัตรเครดิตอาจยื่นเอกสารน้อยกว่าการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะยื่นขอสินเชื่อ เราจึ่งควรเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนค่ะ ซึ่งเอกสารที่จะยื่นขอกู้เงินนั้นหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
เอกสารประจำตัว เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี) กรณีนิติบุคคล อาจใช้สำเนาทะเบียนการค้า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
เอกสารเกี่ยวกับรายได้ เช่น ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารสำหรับผู้มีรายได้ประจำ ในส่วนของผู้มีอาชีพอิสระ จะใช้เอกสารที่บอกที่มาของรายได้ เช่น กรณีเป็นสัญญาจ้าง อาจใช้สำเนาสัญญาว่าจ้างและหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง กรณีเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้สอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ควรแสดงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย บัญชีเงินฝาก พร้อมใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (statement) ของบัญชีเงินฝากของตนเองหรือของกิจการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หรือหลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากธนาคาร
และในกรณีของนิติบุคคล เอกสารหลักๆ ที่จะใช้ในการขอกู้เงิน เช่น สำเนางบการเงินปีล่าสุด และย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี สำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำเนาเอกสารสิทธิในทรัพย์สินที่เสนอเป็นหลักประกัน แผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ
หลังจากที่เตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้วก็ทำการยื่นสินเชื่อได้เลย ซึ่งแต่ละธนาคารนั้นจะมีระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อไม่เท่ากัน ซึ่งหลักในกรพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อนั้น จะขึ้นอยู่กับนโยบายและหลักเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย โดยทั่วไปแล้วมีปัจจัยหลักๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณา คือ นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ เช่น ผู้ให้สินเชื่อบางรายอาจกำหนดว่าผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืองดให้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรือลงทุนขยายโรงงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต นอกจากนี้ยังดูลักษณะความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อว่ามีวินัยทางการเงินอย่างไร ประกอบอาชีพมั่นคงหรือไม่ ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ เงินทุน สินทรัพย์ของผู้กู้มีมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อในประเทศ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อด้วย
สำหรับเทคนิคง่ายๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้กู้รู้ทันและเตรียมตัวที่จะศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนเลือกสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่าเราต้องการเลือกสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด เงื่อนไขเหมาะสมกับเรามากที่สุด ขณะเดียวกันทางสถาบันการเงินก็ต้องเลือกคุณสมบัติของผู้กู้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่จะทำการกู้เงินหรือขอสินเชื่อธนาคาร นอกจากจะต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละธนาคารอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ยังต้องรักษาประวัติทางการเงินของตัวเองด้วยนะคะ เพื่อที่เวลายื่นขอสินเชื่อจะได้ผ่านฉลุย ไม่เสียเวลา และสามารถต่อยอดจุดมุ่งหมายในชีวิตได้อย่างไม่ขาดตอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/loans/Pages/beforeloan.aspx
และธนาคารกรุงศรีอยุธยา https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/think-before-recovery.html