5 โรคร้ายทางการเงินที่ต้องรีบรักษาให้หายก่อนเริ่มปีใหม่

เรื่องของสุขภาพเป็นประเด็นที่ทุกคนควรให้ความสำคัญและใส่ใจ เพราะหากเจ็บป่วยมาเราก็จะได้รักษาได้ทันเวลา สุขภาพการเงินก็เช่นกัน เราก็ต้องยิ่งหมั่นตรวจเช็กอาการ เพราะไม่แน่ว่าพฤติกรรมการใช้จ่าย และวินัยทางการเงินของเรานั้นอาจกำลังบ่งบอกถึงสัญญาณโรคร้ายแรงที่มาพร้อมกับนิสัยการเงินที่ไม่ดีของเรา

 

ว่าแล้วเราก็มาลองตรวจเช็กสุขภาพการเงินจากพฤติกรรมการเงินของแต่ละคนกันดีกว่าว่าในตอนนี้ คุณกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงทางการเงินอยู่หรือเปล่า

 

  1. โรคความดัน(อยากมี)สูง

อาการของคนที่เป็นโรคนี้ จะมีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินฐานะ เกินรายรับของตนเอง ไม่สนใจความสิ่งของเหล่านั้นจะถูกหรือแพง จะจำเป็นต่อในชีวิตประจำวันหรือไม่ ขอแค่ให้ได้มีของตามกระแสไว้อวดคนอื่น ถ่ายรูปลงบนโซเชียล และหากไม่หยุดพฤติกรรมเหล่านี้ อาการอาจร้ายแรงถึงขั้นลุกลามไปโรคอื่น ๆ ได้

 

วิธีรักษาสำหรับโรคนี้ง่าย ๆ คือเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างเร่งด่วน หันมาใส่ใจวางแผนการเงินทั้งในรายรับและรายจ่าย ไม่ซื้อสินค้าตามกระแส หักห้ามใจเอาเงินเหล่านั้นมาเก็บออมแทน

 

  1. โรคภูมิคุ้มกัน(การเงิน)ต่ำ

ร่างกายของเราอาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำให้ภูมิคุ้นกันตกยังไง เรื่องของการเงินในกระเป๋าหรือบัญชีเราก็เป็นแบบนั้นเช่นเดียวกัน หากมีสิ่งที่ล่อตาล่อใจ ชวนให้ชอปกระจายจนเงินหมดกระเป๋า ผ่อนสินค้า รูดบัตรเครดิตก็เลือกจ่ายแต่ขั้นต่ำวนไป อาการเหล่านี้แหละที่กำลังบ่งบอกว่าภูมิคุ้มกันการเงินเราต่ำ และอ่อนแอ หากทิ้งไว้นาน ๆ ก็อาจร้ายแรงได้

 

วิธีรักษาโรคนี้คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่ง ไม่โอนอ่อนต่อสิ่งเร้ารอบกาย สร้างกฎการเงิน อย่างเคร่งครัด จัดระเบียบทางการเงินของตนเองให้เป็นระบบ พยายามออกนอกลู่นอกทางให้น้อยที่สุด

 

  1. โรคทรัพย์จาง

โรคยอดฮิตของของใครหลายคน อาการของคนที่เป็นโรคทรัพย์จางคือ เผลอใช้จ่ายมากกว่ารายรับไปบ้างในบางช่วง บางเดือน มีขัดสนการเงินตั้งแต่กลางเดือนไป หรือว่าง่าย ๆ ก็คือต้นเดือนกินหรู สิ้นเดือนกินมาม่า และจะกลับมาหายใจได้อีกครั้งก็หลังจากที่เงินเดือนออกไปแล้ว และก็จะวนลูปแบบนี้ซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ

 

วิธีรักษาของคนที่มีอาการแบบนี้ คือต้องหักดิบกับตัวเราเอง เมื่อเงินเดือนเข้ามาปุ๊บให้รีบหักมาออม หรือหักไว้สำหรับเงินฉุกเฉินทันที แล้วค่อยมาดูต่อว่าในเดือนนี้เหลือเงินเท่าไหร่ก็ค่อยมาวางแผน บริหารรายจ่ายกันต่อไป

 

  1. โรคออมเงินล้มเหลวเฉียบพลัน

อาการของคนที่เป็นโรคออมเงินล้มเหลวเฉียบพลันคือ คนที่ดูว่าท่าดีแต่สุดท้ายก็ทีเหลว มีความตั้งใจที่จะออมเงิน ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเงิน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ผัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนออมเงินไปปีถัดไปอยู่เรื่อย ๆ หาข้ออ้างสารพัดต่าง ๆ มาสนับสนุนเหตุผลที่จะไม่ออมเงิน

 

วิธีรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับตัวเราเองล้วน ๆ โดยต้องเริ่มจากปรับทัศนคติของตนเอง ให้ความสำคัญกับการออม อย่ามองว่าต้องรอมีเงินเยอะ ๆ ถึงจะออม เพราะกว่าที่เราจะมีเงินเยอะ ๆ นั้นก็เริ่มจากการเก็บออมเงินทีละน้อยเช่นกัน

 

  1. โรคมะเร็งหนี้ระยะสุดท้าย

โรคนี้ถือเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดทางการเงิน อาการของคนเป็นโรคนี้คือคนที่มีหนี้สินท่วมหัว ไม่ว่าจะหนี้บัตรเครดิต หรืกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาหมุนเวียนใช้จ่ายในแต่ละเดือน จนกลายเป็นว่ามีหนี้สินเยอะเกินกว่ารายรับจนจัดการไม่ไหว และหนักถึงขั้นมีการค้างชำระหนี้ทำให้เสียเครดิตทางการเงิน หากใครมีอาการเหล่านี้ต้องรีบรักษาโดยด่วน

 

วิธีรักษาโรคมะเร็งหนี้ให้หายเป็นปลิดทิ้งคือ จำกัดการใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด หากมีบัตรเครดิตที่วงเงินมากกว่าเงินเดือนของตนเองให้ใช้จ่ายไม่เกิน 20-25% ของวงเงินที่มี และเมื่อถึงเวลาครบกำหนดชำระให้จ่ายเต็มจำนวนไม่จ่ายขั้นต่ำ แบ่งเงินให้เป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันการไปหยิบยืมคนอื่นมาหมุนใช้จ่ายด้วย

 

หากใครที่เช็กอาการเหล่านี้แล้วพบว่าตนเองมีโรคร้ายทางการเงินอยู่ต้องรีบรักษาให้หายโดยด่วนก่อนสิ้นปี อย่าให้ลุกลามรุนแรงมาถึงกระเป๋าเงินและบัญชีของเราเด็ดขาด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://news.ch7.com/detail/605728