Blog Page 108

ปีใหม่เปลี่ยนใหม่อย่าใช้จนลืม! ค่าใช้จ่ายรอบตัวที่เราลืมคิดไปว่า..มันสามารถเก็บเงินได้

แน่นอนค่ะว่าค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน การออมเงินก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ก่อนออมเงินก็ต้องวางแผนเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีระเบียบมากขึ้น แต่ปัญหาของคนส่วนใหญ่มักจะเก็บเงินไม่อยู่ อาจเป็นเพราะสิ่งที่ทำติดต่อกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปีที่ผ่าน ๆ มาทำให้ไม่สามารถรู้เลยว่า อะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุ ลองถามตัวเองให้ดี ว่าเรากำลังเสียเงินในเรื่องที่ไม่จำเป็นอยู่หรือเปล่า?  แล้วหาวิธีรับมือตั้งเป้าเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อต้อนรับปีใหม่กันนะคะ

1.ทุกบ่ายต้องจ่ายให้กับ “เครื่องดื่ม”
หนังท้องเริ่มตึง หนังตาก็เริ่มหย่อน หลังมื้อเที่ยงหลายคนต้องมีอาการแบบนี้ทุกวัน การหาวิธีแก้ง่วงนั้น คงจะหนีไม่พ้นการซื้อเครื่องดื่มติดไม้ติดมือขึ้นไปเพื่อดื่มคลายความง่วงแล้วลุยงานต่อยาว ๆ บางคนเสียค่าเครื่องดื่มมากกว่าค่าข้าวซะอีก ลองคำนวณดูแล้วการเสียค่าเครื่องดื่มแก้วละ 100 – 200 บาท แทบทุกวัน นานวันเข้ามันจะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ นึกแล้วคงเสียดาย เพราะเราสามารถลดหรืองดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพื่อนำมาเป็นเงินเก็บแทนน่าจะดีกว่าค่ะ

2.ถูกล่อใจในโลก “ช้อปออนไลน์”
สมัยนี้เสียเงินง่าย และเสียตอนไหนก็ได้ ต้องยอมรับเลยค่ะว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ทำให้เราสามารถซื้อของได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แค่จิ้ม ๆ เลือกของก็สามารถรอรับของที่บ้านโดยไม่ต้องออกไปไหน ของออนไลน์ชอบจัด Sale อยู่บ่อยครั้งคงกระตุ้นการซื้อได้มากเลยทีเดียวค่ะ แต่อย่าลืมนะคะว่า เมื่อเสียค่าสั่ง ก็ต้องเสียค่าส่ง ค่าส่งก็ไม่ใช้จำนวนน้อย ยิ่งสั่งบ่อยยิ่งต้องเสียเยอะ ฉะนั้นก่อนซื้อควรคิดดี ๆ ว่าสิ่งที่เรากำลังจะเสียเงินไปนั้น จำเป็นจริงหรือแค่อยากได้

3.“ปาร์ตี้สังสรรค์” สุขสันต์วันศุกร์
วันศุกร์เป็นวันที่ใครหลายคนเฝ้ารอ ถึงเวลาที่จะได้พักผ่อนหลังจากทำงานหนักมาทั้งอาทิตย์ หลายคนจึงต้องการให้รางวัลตัวเองสักหน่อยด้วยการไปดื่มพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง สร้างความสุข ผ่อนคลายความเครียด ซึ่งถ้าไปทุกศุกร์ของเดือน แล้วใช้เงินไปศุกร์ละ 500 บาท ในหนึ่งเดือนมีวันศุกร์อยู่ 4 วัน ถ้าเราไปปาร์ตี้ทุกศุกร์เป็นเวลา 1 ปี จะรวมเป็นเงินจำนวน 24,000 บาท ซึ่งหากคิดให้ดีแล้วเงินส่วนนี้ก็สามารถนำมาเป็นเงินเก็บได้เลย ทางที่ดีควรลดการปาร์ตี้สังสรรค์และแบ่งสัดส่วนเงินเก็บค่ะ

4.“รูดบัตร ไม่คิด” ไม่แคร์ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย
บัตรเครดิตอาวุธคู่กายของใครหลายคน ใช้ให้ดีก็มีประโยชน์เพราะมีสิทธิพิเศษมากมาย ใช้ไม่เป็นไม่คิดหน้าคิดหลังก็เกิดโทษให้กับเราได้นะคะ เพราะในการรูดบัตรแต่ละครั้งมักจะมีค่าธรรมเนียม สำหรับใครที่มีบัตรหลายใบก็ต้องดูให้ดีว่าเราจะเสียดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมในหนึ่งเดือนมากน้อยเท่าไหร่ ถ้าตอนนี้ยังไม่มีการวางแผนควบคุมการใช้บัตรเครดิต ก็อาจทำให้เราเสียเงินมากเกินคุ้มก็ได้ค่ะ

ทั้ง 4 เรื่องนี้อาจทำให้ใครหลายคนฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าค่าใช้จ่ายในบางอย่างมันอาจไม่จำเป็น ถ้าหากเราสามารถลดหรืองดมันได้ วางแผนการใช้จ่ายเงินให้มันดีก่อน เราก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่สามารถเก็บเงินก้อนได้ไวขึ้น และมีวินัยทางการเงินมากขึ้นก็ได้ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.manulife.co.th/stop-bad-behavior-for-salaryman/

ต้อนรับปี 63 ด้วย 3 เทคนิคเก็บเงิน ใช้ชีวิตเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีเงินเก็บ

พูดถึงการเก็บเงิน บนโลกนี้มีวิธีการเก็บเงินหลากหลายรูปแบบ และมีหลายคนที่ไม่สามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงมองว่าการเก็บเงินให้อยู่รอดปลอดภัยจากการใช้จ่าย ถือเป็นเรื่องที่ยาก แถมยังถอดใจกับการเก็บเงินไปบ้างแล้ว แต่อย่าเพิ่งถอดใจไปเลยค่ะ เพราะการเก็บเงินไม่ใช่เรื่องยาก หรือไกลตัวอะไรเลย ปีใหม่นี้เปลี่ยนใหม่ เพราะเรื่องใกล้ตัวอย่างการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก็สามารถสร้างเงินเก็บให้เราได้เหมือนกัน วันนี้มีเทคนิคดี ๆ มาเสนอ ที่ทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือมีเงินเก็บได้ง่าย ๆ แค่ 3 ข้อ ไปดูกันเลยค่ะ

1.ใช้จ่ายกี่ครั้งก็ต้อง..“เก็บเงินทอน”

ทุกคนต้องเดินทางออกจากบ้าน มีโอกาสได้จับจ่ายใช้สอยกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ในการใช้จ่ายแต่ละครั้ง เรามักได้รับเงินทอนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเศษเหรียญ หรือเป็นแบงก์ ขอบอกเลยว่าเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากเลยค่ะ ถ้าหากเราจะนำเงินทอนตรงนี้มาเก็บออมใส่กระปุกให้เรียบร้อย และตั้งปฏิญาณตนไว้ให้ดีว่า “ไม่ว่าจะทอนกี่บาท ก็จะเก็บ และไม่นำมาใช้อย่างแน่นอน”   ทดลองออมประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วนำเงินตรงนั้นมาเช็คดูว่าได้มากน้อยเท่าไหร่ แม้จะมีจำนวนไม่เยอะ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถเริ่มต้นเก็บเงินได้แล้วในทุกวันค่ะ

2. “เก็บเลขท้าย” ตามจำนวนเงินที่เสียไป

ในข้อนี้ก็เป็นอีกข้อที่สามารถเก็บเงินได้ทุกครั้งที่เราใช้จ่าย เป็นการเก็บเงินจากเลขไม่เกิน 2 หลักท้าย ตามจำนวนเงินที่เราเสียไปกับการซื้อของ หรือสินค้าต่าง ๆ เช่น เสียเงินซื้อชาไข่มุกไปแก้วละ 45 บาท จำนวนเงินที่ต้องเก็บคือ 5 บาท หรือซื้อเสื้อผ้าไปในราคา 1,590 บาท ต้องเก็บเงินทั้งหมด 90 บาท เป็นต้น เราสามารถเก็บส่วนต่างตรงนี้ทุกครั้งที่ใช้จ่ายก็ได้ หรือจะเก็บวันละหนึ่งครั้งก็ได้ แต่จะเก็บให้มีประสิทธิภาพมากน้อยเท่าไหร่ก็สุดแล้วแต่ความตั้งใจค่ะ

3. ชอปได้ แต่ต้อง “เก็บส่วนลด” ด้วย

ข้อนี้สามารถปรับพฤติกรรมสายชอปให้มาเก็บเงินได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวค่ะ เพราะสายชอปมักถูกล่อตาล่อใจด้วยของลดราคา ควรตั้งกฎทุกครั้งที่คิดจะชอปของลดราคา ต้องจัดสรรเงินจากส่วนลดมาออมด้วย เช่น ซื้อรองเท้ามาในราคา 2,800 บาท จากราคาเดิม 3,300 บาท เท่ากับมีส่วนลดอยู่ 500 บาท แล้วนำส่วนนี้มาเก็บออม ถึงแม้จะเสียเงินไป แต่ก็ได้ทั้งของ และได้ทั้งออมเงิน เป็นอะไรที่คุ้มสุด ๆ เลยค่ะ

สุดท้ายประสิทธิภาพในการเก็บเงินนั้นจะทำได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการตั้งเป้าหมาย และความมีวินัยในการออมเงิน ทำติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง สนุกสนานไปกับการออมเงินตลอดทั้งปี รับรองว่าประสบความสำเร็จแน่นอนค่ะ

เลิกปีนี้ ดีปีหน้า 4 พฤติกรรมทำพิษที่ชาวออฟฟิศต้องลด ก่อนจะเก็บเงินไม่อยู่

ในช่วงวัยนี้หนุ่มสาวชาวออฟฟิศ ยอดมนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คน มีแผนจะเก็บเงิน เริ่มสร้างความมั่นคงในชีวิต แต่ด้วยพฤติกรรมบางอย่างมักทำให้การเก็บเงินไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ในปีนี้ คงจะดีกว่านี้หากเราเลิกพฤติกรรมเหล่านั้นเพื่อเริ่มต้นปีใหม่ให้ดีกว่าเดิม มาดูกันนะคะว่า ตัวเองมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเก็บเงินไม่อยู่ หรือมีพฤติกรรมเหล่านี้บ้างไหม?

พฤติกรรมทำพิษ คิดให้ดีก่อนเก็บเงินไม่อยู่

  • ต้องมีเครื่องดื่มแก้ง่วงประจำกายยามบ่าย
    หมดเวลาพักเที่ยง ก่อนกลับขึ้นออฟฟิศทีไร ต้องมีเครื่องดื่มสำหรับแก้ง่วงติดไม้ติดมือขึ้นไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ชา โกโก้ แล้วแต่ความชอบ แน่นอนค่ะว่ามันสามารถช่วยเพิ่มความหวาน ทำให้เพิ่มความสดชื่นระหว่างวันขึ้นมาได้ แต่ให้ลองนึกถึงราคาต่อแก้วที่เสียไปดูค่ะ ถ้าใน 1 วัน เครื่องดื่ม 1 แก้ว ราคา 100 บาท รวมกันหลายวันก็กลายเป็นเงินจำนวนมาก เงินเก็บที่หายไปของเราอาจจะอยู่ในนี้ก็ได้ค่ะ
  • ชอปกระจาย ทั้งออนไลน์และตลาดนัด
    เรื่องชอปปิงเป็นเรื่องที่สาว ๆ มนุษย์เงินเดือนปฏิบัติกันเป็นประจำอยู่แล้วค่ะ ระแวกใกล้ออฟฟิศช่วงพักเที่ยงมักมีตลาดนัดขนาดเล็กมีทั้ง เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับต่าง ๆ ล่อตาล่อใจให้สาว ๆ โฉบไปแวะหลังจากทานมื้อกลางวันเสร็จ แต่ทุกวันนี้ก็เสียเงินง่ายขึ้นไปอีกเพราะหลังจากชอปตลาดนัด ก็สามารถขึ้นมาชอปออนไลน์ต่อได้ทั้งง่ายและสะดวก สองที่นี้ถือเป็นแหล่งผลาญเงินชั้นเยี่ยมเลยทีเดียวค่ะ
  • จัดเต็มทุกศุกร์ สนุกจนลืมคิดเรื่องเงิน
    สุขสันต์วันศุกร์ วันนี้ต้องจัดเต็มผ่อนคลายให้สบายแบบสุด ๆ หลังจากทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยมาทั้งอาทิตย์ นัดเพื่อนปาร์ตี้สังสรรค์ ไปสนุกแบบเต็มที่ไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง ค่าใช้จ่ายอย่างน้อยที่ต้องเสียคงเริ่มตั้งแต่ 500 – 1000 บาท บางทีอาจมากกว่านั้น ถ้าเกิดไปสังสรรค์ทุกศุกร์ตลอดทั้งปี อาจพลาดเงินเก็บจำนวนมากไปได้ค่ะ เพราะฉะนั้นสังสรรค์ได้ แต่ควรอยู่ในความพอดี วางแผนเก็บเงินให้รอบคอบด้วยค่ะ
  • รูดบัตรกระหน่ำ ไม่คิดหน้าคิดหลัง
    หนีไม่พ้นการชอปปิงเช่นเคยค่ะ ถ้าขาดการควบคุมรูดบัตรแบบลืมคิดถึงค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย แถมยังจ่ายไม่ตรงตามรอบบิล ทำแบบนี้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแน่นอนค่ะ บัตรเครดิตจากที่จะเป็นประโยชน์อาจเปลี่ยนเป็นเพิ่มโทษ ถ้าต้องจ่ายมากขึ้นแสดงว่ามันต้องมารบกวนเงินเก็บก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เก็บเงินไม่อยู่อ่านครบจบแล้ว อย่าลืมพิจารณาว่าตัวเองมีพฤติกรรมทำพิษตรงกับพฤติกรรมข้างบนบ้างไหม รีบแก้รีบลด และอย่าลืมวางแผนทางการเงินให้รอบคอบเพื่อนำเงินเก็บไปสร้างความมั่นคงในชีวิตกันนะคะ

    ขอบคุณข้อมูลจาก
    https://www.manulife.co.th/stop-bad-behavior-for-salaryman/

เริ่มต้นใหม่ปี 63 ก่อนเป็นหนี้ คิดดีแล้วหรือยัง?

เริ่มปีใหม่ ต้องเปลี่ยนใหม่ ละสิ่งเก่า ๆ ให้ทิ้งไป นำสิ่งดี ๆ ใหม่ ๆ ให้เข้ามา แต่การกู้เงินก็ยังคงเป็นทางออกของใครหลาย ๆ คน  และในปัจจุบันนี้มีทั้งกู้ในระบบและกู้นอกระบบ บางคนยังคงพึ่งพาการกู้เงินในระบบกับสถาบันการเงิน แต่สำหรับคนที่เลือกกู้เงินนอกระบบ จนทำให้ชีวิตตกอยู่ในอันตรายก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจว่าระหว่างสองระบบกู้นี้มีความแตกต่างกันอย่างไร

แล้ว “หนี้ในระบบ” กับ “หนี้นอกระบบ” ต่างกันอย่างไร?

1.หนี้ในระบบ
กู้เงินผ่านสถาบันการเงินโดยตรง เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ เป็นต้น ทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้จะถูกรับรองตามกฎหมาย ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ให้กู้สามารถฟ้องร้องให้เกิดคดีแพ่งได้ ส่วนผู้กู้ก็จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หากพบความไม่เป็นธรรม เช่น เรื่องสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด ก็สามารถฟ้องร้องได้ทันทีเช่นกัน

ลักษณะสำคัญ: ต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ ใช้เวลาในการอนุมัติ หากประวัติไม่ดี มีโอกาสกู้ไม่ผ่าน

2.หนี้นอกระบบ
พูดได้เลยว่าเป็นขั้วตรงข้ามของหนี้ในระบบทุกอย่าง มีทั้งลักษณะของการยืมเงินปากเปล่าและอาจมีการจดบันทึกไว้ มีสัญญาเป็นหลักฐาน แต่ไม่มีการรับรองทางกฎหมาย เราอาจจะเคยเห็นป้ายแปะกู้เงินด่วนตามเสาไฟฟ้า ป้ายรอรถเมล์ คุ้นตากันมาบ้างตามสถานที่สาธารณะ

ลักษณะสำคัญ: แม้ขั้นตอนกู้จะง่ายกว่า แต่มีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบในสัญญา การคิดอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า สิ่งที่รุนแรงที่สุดคือ มีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยของชีวิตผู้กู้นั่นเอง หนี้นอกระบบจึงเป็นวิธีที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

ในเมื่อเข้าใจในความแตกต่างของหนี้นอกระบบกับหนี้ในระบบแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องมาคิดพิจารณาให้ดีว่าต่อจากนี้ เมื่อเราจะทำการกู้เงิน ขอสินเชื่อต่าง ๆ เราต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง

ทวนความต้องการอีกที เป็นหนี้ครั้งนี้..คิดดีแล้วหรือยัง?

  • หนี้ครั้งนี้..จำเป็น หรือแค่อยากได้
    ถ้าหากต้องกู้เงินเพราะความจำเป็นจริง ๆ ในการใช้ชีวิตหรือสามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ ก็ควรทำ แต่ถ้าเป็นเพียงเพราะความอยากได้ นำไปใช้ในเรื่องที่ไม่จำเป็น ก็ไม่ควรที่จะกู้เงินมา สร้างภาระหนี้สินเพิ่มเติม
  • ต้องใช้ตอนนี้ หรือรอได้ เรายังไหว
    ถามตัวเอง ทบทวนตัวเองให้ดีเรามีความจำเป็นมากแค่ไหน หรือเราควรเก็บเงินให้มากกว่านี้ก่อน เพื่อที่จะมีให้พอใช้ จะได้ผ่อนเงินหมดเร็วขึ้น
  • อย่ากู้ถ้ายังผ่อนไม่ไหว
    หากเรายังไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตรงเวลา ก็ไม่ควรกู้ ควรรอเวลาให้เรามีเงินในการชำระเพียงพอก่อน เมื่อสามารถชำระได้ตรงเวลาแล้วถึงค่อยดำเนินการกู้เงิน

    สุดท้ายสำหรับใครที่กำลังคิดจะกู้เงิน ควรพิจารณาให้ดี ควรพิจารณาถึงสภาพทางการเงินของตัวเอง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่สำคัญไม่ควรที่จะกู้หนี้ใหม่ เพื่อมาจัดการกับหนี้เก่าเด็ดขาดค่ะ

    ขอบคุณข้อมูลจาก https://moneyhub.in.th/article/debt-type-comparison/

เงินก้อนอยู่ไม่ไกล! รวมเทคนิคการออมเงิน สุดแหวก แปลก แต่ทำได้จริงในปี 2563

ต้นปี 2563 เรามาเริ่มต้นอะไรดี ๆ กันดีกว่า ถ้าพูดถึงการออมเงิน แต่ละคนคงมีวิธีการเก็บเงินแตกต่างกันไป เก็บได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แค่มีความคิดที่จะออมเงินเพื่ออะไรบางอย่าง ก็ถือว่าคุณเริ่มมีวินัยทางการเงิน และเป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ สำหรับใครที่กำลังจะเริ่มเก็บเงิน แต่ไม่รู้จะเก็บแบบไหนดี หรือคนที่เก็บเงินไม่อยู่ก็คงต้องรีบหาวิธีใหม่ ๆ ที่ดึงให้ตัวเองสามารถเก็บเงินก้อนแบบได้ผลจริงแล้วล่ะค่ะ วิธีสุดแปลกเหล่านี้อาจช่วยคุณได้ ไปดูกันเลย!

1.แบ่งเงินใส่ซองใช้เป็นวัน ๆ
วิธีนี้เป็นวิธีกำหนดเงินที่เราจะใช้รายวัน โดยเราต้องเตรียมเงินใส่ซองไว้ให้ครบเดือน 31 วัน ก็มี 31 ซอง ข้อดีคือ เราไม่ต้องพกเงินใส่กระเป๋าเยอะ ๆ เพราะหากพกไว้เยอะ รับรองว่าใช้หมดเกลี้ยงแน่ เป็นการลิมิตตัวเองให้ใช้เงินแต่พอดี ที่สำคัญถ้าใช้ไม่หมดก็สามารถนำเงินที่เหลือมาใส่ซองไว้เป็นเงินเก็บได้อีกด้วยค่ะ

2.เก็บเศษเหรียญ
หมดวันกลับบ้านมาให้ควักกระเป๋าเงินออกมาดูเลยค่ะ ว่ามีเหรียญเหลือเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ให้หยอดกระปุกเก็บไว้เท่านั้น แม้จะไม่กี่บาท แต่อย่าดูถูกอำนาจของเศษเหรียญนะคะ เพราะถ้าวันไหนเราสามารถเก็บได้เยอะมากพอ มันก็สามารถเป็นเงินก้อนที่สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ค่ะ

3.เก็บเงินจากส่วนลด
เก็บจากส่วนลด? เก็บอย่างไร? เมื่อไหร่ที่คุณไปช้อปของที่ลดราคาให้นำส่วนต่างที่ลดจากราคาเต็มที่เราจ่ายไป มาเก็บออมซะเลยค่ะ เช่น ของที่เราจะซื้อมีราคา 4,000 บาท แต่มีส่วนลด 10% เท่ากับว่าเราต้องจ่าย 3,600 บาท ทีนี้จะเหลือส่วนต่าง 400 บาท ให้เรานำเงินส่วนนี้มาเก็บไว้ แม้จะต้องเสียเงินไป แต่เราก็สามารถออมเงินได้ด้วย

4.เก็บเงินตามวันที่ 365 วัน
เริ่มตั้งแต่เก็บวันแรก 1 บาท เพิ่มขึ้นไปจนถึงวันสิ้นสุดที่ 365 บาท วิธีนี้ในช่วงแรกจะเก็บเงินได้ง่าย ๆ แบบชิว ๆ แต่ค่อนข้างจะหินไปสักหน่อยสำหรับวันท้าย ๆ ใกล้สิ้นปีค่ะ แต่ถ้าใครมองว่าท้าทาย ก็สามารถลองทำดูได้ และสามารถเก็บเงินได้เป็นก้อนภายใน 1 ปีอีกด้วย

5.เก็บแบงก์ใหม่ ไม่ต้องใช้
เป็นการเก็บเงินตามโอกาส ได้สัมผัสได้เจอแบงก์ใหม่เอี่ยมเมื่อไหร่ รีบเอามาเก็บทันที อาจเริ่มต้นจากแบงก์ 20 แบงก์ 100 ไล่ขึ้นไปตามความสะดวก ตามความพอดีก่อนนะคะ

6.ซื้อของไปเท่าไหร่ เก็บเงินให้ได้เท่านั้น
เป็นวิธีการสุดโหด ที่ลงโทษตัวเองแบบสุด ๆ ของที่เราจะช้อปมีราคาเท่าไหร่ เราต้องเก็บเงินให้ได้ตามจำนวนเงินที่เราเสียไปเท่านั้น เสียเงินไป 1,000 ก็ต้องเก็บ 1,000 วิธีนี้ก็เป็นวิธีการที่สามารถทำให้เราคิดให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะเสียเงินไปกับสิ่งไม่จำเป็น เพราะเราตั้งกฎมาให้ตัวเองแล้ว ก็ต้องทำตาม รักษาวินัยให้ตัวเองด้วยค่ะ

สุดท้ายแม้จะมีวิธีการออมเงินสุดแปลกที่เค้าบอกกันมาว่าได้ผลมากเพียงใด มันจะไม่เกิดผลเลยค่ะหากเราไม่มีวินัยอดออม ทุกสิ่งจะสำเร็จได้หากเรามีความมุ่งมั่น และตั้งใจค่ะ

First Jobber ต้องรู้! เทคนิคการออมเงิน สำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงานในปี 63

พูดถึง First Jobber เป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 22 – 25 ปีที่เพิ่งจบการศึกษามาหมาด ๆ ผันตัวเองมาเป็นมนุษย์เงินเดือนเต็มตัว มีเงินเดือนเลี้ยงชีพตัวเองได้แล้ว สามารถรับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่เหล่าเด็กจบไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งคือ “การวางแผนเรื่องเงิน” ทั้งค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ต้องเสียไป รวมถึง “การออมเงิน” ก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ในการสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับตัวเอง วันนี้มีเทคนิคการออมเงินสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานในปี 63 มาฝากกัน ไปอ่านกันเลยค่ะ

เทคนิคเริ่มต้นออมเงินสำหรับ First Jobber ฉบับปี 63

1.ยึดเป้าหมายการออมเงินให้มั่น
ก่อนออมเงินต้องรู้ก่อนว่าจะออมเงินไปเพื่ออะไร ต้องมีเป้าหมาย เช่น ออมเงินเพื่อลงทุน ออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ฉุกเฉิน ออมไปท่องเที่ยว ออมสำหรับซื้อของ เป็นต้น หากออมเงินอย่างไร้เป้าหมาย การออมเงินให้สำเร็จนั้นคงเป็นไปได้ยากค่ะ แล้วการตั้งเป้าหมายการออมเงินที่ดีนั้นเป็นอย่างไรสามารถเข้าไปอ่านวิธีการ ตั้งเป้าหมายการออมเงินแบบสมาร์ท ๆ ฉลาดออม ฉลาดใช้ กันได้เลยค่ะ

2.แบ่งสัดส่วนให้ดี ออมก่อน ใช้ทีหลัง
ต้องแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน แบ่งกองเงินให้ชัด ว่ากองไหนเอาไว้ใช้ กองไหนต้องออม ควรแบ่งกองเงินสำหรับออมฉุกเฉินด้วยสำรองไว้เผื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด คำนวณออกมาในแต่ละเดือนว่าจะออมเท่าไหร่ สำหรับผู้เริ่มต้นแบบ First Jobber ให้เริ่มต้นออมโดยหัก 10% ของรายได้ทั้งหมดก่อนค่ะ อย่าลืมเก็บเงินออมก่อนนำเงินไปใช้นะคะ

3.ทำบัญชีรายรับ – จ่าย จะง่ายต่อการจำที่สุด
คนส่วนใหญ่มักจะลืมว่าในแต่ละวันใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง แนะนำให้จดบันทึกโดยใช้รายรับรายจ่าย หาสมุดสำหรับทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายหรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบัญชีรายรับ – รายจ่ายโดยเฉพาะ มีให้เลือกใช้มากมาย สะดวกสบายด้วยค่ะ หมั่นทำเป็นประจำเท่านี้ก็สามารถรู้แล้วว่าในแต่ละวันใช้เงินไปเท่าไหร่ ทำให้สามารถควบคุมงบรายจ่ายได้ดีค่ะ

4.ประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ
สำหรับคนที่ค่าเช่าห้องก็ต้องจ่าย แล้วยังต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ใช้แบบไม่คิดไม่รู้จักประหยัดมันก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินละลายหายไปเช่นกัน  เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เผาผลาญเงินของเรามากเกินไป

5.จงท่องไว้เสมอว่า “โลภมากลาภหาย”
คำคมคุ้นเคย และความเป็นจริง ด้วยความเป็นเด็กจบใหม่ด้วยแล้ว เพิ่งหาเงินเองได้ เห็นอะไรแล้วโดนใจก็ต้องจัด มีอิสระในการใช้เงิน แต่ถ้าชอปปิงกระจายแบบไม่ยั้งมือโลภมากลาภหายแน่นอนค่ะ ฉะนั้นยั้งไม้ยั้งมือเตือนใจตัวเองให้ดีก่อนที่จะเก็บเงินไม่อยู่

ขอบคุณข้อมูลจาก https://goodlifeupdate.com/lifestyle/82533.html

8 ทริคประหยัด เที่ยวให้สุขใจต้อนรับปีใหม่ แต่ไม่ทำร้ายสุขภาพทางการเงิน

เหล่ามนุษย์เงินเดือนที่สะสมความเหนื่อยล้าจากการทำงานมานาน เตรียมพร้อมวางแผนเดินทางท่องเที่ยวต้อนรับปีใหม่กันไว้หรือยังคะ?

สำหรับคนที่เตรียมพร้อมแล้ว มีเงินก้อนไว้สำหรับการท่องเที่ยว แต่ด้วยความเก็บเงินมานานใช้แบบฟุ่มเฟือยก็คงเสียดายแย่ แต่จะให้เที่ยวแบบกังวลกับการประหยัดมากไปก็เท่ากับว่าพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ วันนี้มีทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ประหยัดงบได้แถมยังสุขใจด้วย จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ

1.กำหนดงบเที่ยวให้ไม่บานปลาย

หลักสำคัญเบื้องต้นของการไปเที่ยวแบบประหยัดคือ กำหนดงบไว้เท่าไหร่ ให้ใช้มันเท่านั้นค่ะ เพื่อป้องกันการใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย เพราะฉะนั้นควรวางแผนและตั้งสติให้ดีก่อนจะเสียเงินนะคะ

2.วางแผนเร็ว จองก่อน ถูกกว่า
กำหนดงบไปแล้ว ต่อมาเริ่มวางแผนประหยัดตั้งแต่ก่อนเดินทางเลยค่ะ ทั้งเรื่องการจองที่พัก จองตั๋วเดินทาง จองก่อนใคร ยังไงก็ถูกกว่า รวมถึงค่าอาหารการกิน ค่าบริการสถานที่ต่าง ๆ ที่เราจะไป และค่าอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ถ้าหากเราวางแผนให้เสร็จให้ละเอียดตั้งแต่เนิ่น ๆ เราจะสามารถจัดสรรงบที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างง่ายดาย

3.เลือกรูปแบบการเดินทางที่มีโปรโมชัน
ใจไปอยู่ที่เที่ยวแล้ว กดจองตั๋วเดินทางอย่างไว อยากให้ช้าก่อน ตั้งสติเอาไว้นะคะ ถึงแม้ใจจะไปแล้วแต่อย่าลืมเปรียบเทียบตั๋วเดินทางที่จัดโปรโมชัน เพราะการมีส่วนลดมันสามารถทำให้เรามีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง เลือกราคาที่ถูกและเหมาะสมก็สามารถประหยัดงบเดินทางได้แล้วค่ะ

4.เตรียมของใช้ส่วนตัวให้ครบ
อุปกรณ์ของใส่วนตัว สิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน หากเรานำไปเองได้ครบ ไม่ต้องเสียทั้งเงินและเวลาเพื่อไปซื้อมาใช้ เตรียมตัวให้ดีแค่นี้ก็สามารถประหยัดได้แล้วค่ะ

5.เปลี่ยนบรรยากาศ พัก Hostel ก็ประหยัดไปอีกแบบ
ที่พักหรือโรงแรมหรูหรา มักมาพร้อมกับราคาที่สูง อาจลองเปลี่ยนมาเป็นที่พักแบบ Hostel สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่มีราคาถูกลง แถมยังได้พบปะผู้คน เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวให้มากขึ้น

6.High season เราไม่ไป ไปช่วง Low season ประหยัดกว่า
ถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงช่วงที่มีคนไปเที่ยวจำนวนมากอย่าง High season เพราะช่วงนี้ค่าเดินทาง และค่าที่พักมักจะแพงสุด ๆ ลองหันมาเที่ยวช่วง Low season อาจจะไม่คึกครื้นเท่า แต่สิ่งที่ดีคือ ค่าเดินทางและที่พักจะมีราคาที่ถูกกว่า คุ้มกว่า เหมาะสำหรับคนอยากเที่ยวแบบสงบและประหยัดมาก ๆ ค่ะ

7.เปิดประสบการณ์ ลองรสชาติอาหารท้องถิ่น
ลดจำนวนมื้ออาหารที่ภัตตาคารแบบจัดเต็มหรูหรา หันมาลิ้มรสอาหารท้องถิ่นดูบ้าง นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังได้ซึมซับบรรยากาศเพิ่มประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าประทับใจมากขึ้น

8.เพิ่มสมาชิกเดินทาง เพิ่มความประหยัด
ไปคนเดียวเงินหาย แต่ไปหลายช่วยกันหารได้นะคะ ยิ่งสมาชิกเยอะ ยิ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับคนเดียวได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ประหยัด แต่ยังได้รับบรรยากาศที่สนุกสนานคึกครื้นด้วยค่ะ

อยากเที่ยวแบบประหยัดอย่างสุขใจ ต้องวางแผนให้ดี ไม่ไปแบบด้นสด จัดสรรดี มีเงินเหลือ ก็สามารถนำกลับมาออม เพื่อเป็นงบประมาณในการท่องเที่ยวพักผ่อนเพิ่มความสุขในครั้งถัดไปได้ค่ะ

“The Latte effect” เทคนิคการออมสำหรับพนักงานออฟฟิศ มาเปลี่ยนกาแฟให้เป็นเงิน ส่งท้ายปี 62 กันเถอะ!

ไม่ว่าจะเป็นกาแฟร้อน โกโก้เย็น นมสดปั่น สารพัดเครื่องดื่มที่ให้ความหวาน ล้วนเป็นอาวุธคู่กายสำหรับพนักงานออฟฟิศยามบ่ายกันทั้งนั้น หลังเที่ยงปุ๊บ ต้องซื้อเครื่องดื่มติดไม้ติดมือกันขึ้นออฟฟิศไปบ้าง อย่างน้อยต้องมีเหตุให้เสียเงินกันวันละ 1 แก้ว อยากให้ลองรวมยอดการซื้อในแต่ละวันดูภายในปีนี้ดูค่ะว่า เราเสียหายกันไปเท่าไหร่แล้วกับเครื่องดื่มยามบ่าย แล้วมาเปลี่ยนพฤติกรรมส่งท้ายปี 62 เพื่อเสริมวินัยทางการเงินในปีต่อไปให้ดีขึ้นกันเถอะค่ะ

The Latte effect จะเปลี่ยนกาแฟให้เป็นเงินได้อย่างไร?
ความเป็นจริง The Latte effect เป็นเทคนิคการออมรูปแบบหนึ่งที่แนะนำให้เราลดหรืองดสิ่งเล็ก ๆ ที่ไม่จำเป็นในรายวันออกไป โดยมีแนวคิดง่าย ๆ คือ “Skip coffee and make money” ที่ไม่ใช่เพียงแค่งดเครื่องดื่มประเภทกาแฟเท่านั้น มันรวมไปถึงอะไรก็ได้ที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่ค่อยจำเป็น แม้จะเป็นจำนวนไม่มากในรายวัน แต่หากเราเสียเงินจำนวนเท่านี้ทุกวันในระยะยาว 1 ปี 3 ปี ไปจนถึง 5 ปี มันจะสะสมเป็นเงินก้อนที่เราสามารถนำไปซื้อของที่จำเป็นได้

“Skip coffee and make money ไม่จำเป็นให้งด เหลือเงินสดไว้ออม”

1 ปี 3 ปี 5 ปี ลองคิดดูว่าเราเสียหายกันไปเท่าไหร่?
มาลองดูตัวอย่างคำนวณค่าใช้จ่ายของบางอย่างต่อวัน ตามหลัก The Latte effect ว่าในช่วงเวลา 1 ปี ไปจนถึง 5 ปี เราจะเสียเงินไปเท่าไหร่กันบ้าง

ลองคำนวณค่าใช้จ่ายประจำวันของตัวเอง เพื่อให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยนั้นสามารถสะสมเป็นเงินก้อน เก็บไว้ใช้ในเรื่องจำเป็นหรือเรื่องอื่น ๆ ได้ หากปีต่อไปเรารู้จักตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป และเริ่มออมเงินควบคู่กันจะสามารถสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีได้ค่ะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราควรงดหรือลดให้พอดี งดอย่างมีความสุข ไม่ทำให้ตัวเองทุกข์จนเกินไปค่ะ ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนจากการดื่มกาแฟแก้วละ 140 บาทต่อวัน เป็นชงกาแฟที่ทางออฟฟิศมีให้ฟรี หรือซื้อกาแฟชงเองในรสชาติที่ตัวเองชอบ แค่นี้ก็ประหยัดได้อีกเยอะ จะให้รางวัลตัวเองเดือนละครั้งก็ยังไม่เสียหายค่ะ

ที่มาของข้อความ  https://blog.nationwide.com/the-latte-effect-infographic/

เรื่องน่าอ่าน