เชื่อว่าทุกคนก็อยากจะมีอิสระทางการเงิน แต่หลายครั้งที่ความจำเป็นในชีวิตที่ทำให้ต้องยอมกู้เงินเป็นหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องหรือต้องใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง ซึ่งก่อนที่จะตกลงปลงใจจะเป็นหนี้นั้น ลองฉุกคิดสักหน่อยมองความพร้อมและพิจารณาให้รอบด้าน ก่อนจะตัดสินใจเป็นหนี้
ช่วงขอกู้เงิน
ถามตัวเองว่า รายได้เมื่อหักเงินออมและค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระหนี้เดิมที่ผ่อนอยู่แต่ละเดือน (ถ้ามี) ยังมีเงินเหลือพอที่จะผ่อนหนี้ก้อนใหม่หรือไม่ มีความจำเป็นที่จะกู้เงินแค่ไหน แล้วจึงเลือกแหล่งเงินกู้ โดยควรเปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ แห่งก่อนตัดสินใจ นอกจากนั้น ในการขอกู้เงินคุณต้องยินยอมให้สถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลเครดิตของคุณได้ด้วย
ถ้าไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ คุณมีสิทธิขอให้สถาบันการเงินชี้แจงเหตุผล ซึ่งธนาคารอาจแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่ารายได้ของคุณไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ เป็นต้น
ในระหว่างนี้ก็ควรหาความรู้เรื่องของดอกเบี้ยเงินกู้ กฎหมายในการกู้ยืมต่าง ๆ ซึ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่ผู้กู้ยืมเองก็ต้องมีหน้าที่ในการชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนด้วย
ช่วงทำสัญญาเงินกู้
ก่อนเซ็นชื่อในสัญญาเงินกู้ ต้องอ่านและทำความเข้าใจเงื่อนไขการให้กู้ยืม โดยเฉพาะในสาระสำคัญ เช่น
- จำนวนเงินทั้งที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรถูกต้อง ตรงกัน
- วัตถุประสงค์ในการกู้เงินตรงตามที่ขอกู้
- ระยะเวลาที่ให้กู้เงิน วันที่ชำระเงิน และความถี่ในการชำระเงิน
- อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ ประเภทแบบคงที่หรือลอยตัว หากเป็นแบบลอยตัว ธนาคารต้องแจ้งประเภทของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น MRR MLR MLR+X% หรือ MLR-X*
- ตารางแสดงจำนวนเงินผ่อนต่องวด ที่แสดงเงินต้นแยกจากดอกเบี้ย
- ประเภทและรายละเอียดของหลักประกันในสัญญาจำนองหลักประกันว่าสอดคล้องกับสัญญากู้เงินหรือไม่ เงื่อนไขการไถ่ถอนและการเปลี่ยนแปลงหลักประกันเป็นอย่างไร
- เงื่อนไขการผิดนัดชำระหนี้ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งส่วนใหญ่จะสูงกว่าดอกเบี้ยการชำระเงินปกติ ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ เงื่อนไขการยึดหลักประกันเมื่อคุณผิดนัดชำระหนี้
- เงื่อนไขการชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนด เช่น หากอยากเอาเงินก้อนมาโปะหนี้ก่อนครบอายุเงินกู้จะทำได้หรือไม่ และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
นอกจากสัญญาเงินกู้แล้ว ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ควรสอบถามเพิ่มเติม เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าประเมิน ราคาหลักประกัน ราคาประเมินของ หลักประกัน (ถ้ามี) ค่าใช้จ่ายในการทำประกันวินาศภัยต่าง ๆ และอย่าลืมว่าสถาบันการเงินต้องให้สำเนาสัญญาเงินกู้กับคุณด้วย ซึ่งต้องมีข้อมูลตรงกับต้นฉบับ
*MRR คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยชั้นดี
MLR คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่ชั้นดี ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน
MLR+X%/MLR-X% คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดจากลูกค้าซึ่งอาจสูงหรือตํ่ากว่า MLR ตามอัตราที่ธนาคารกำหนด
ช่วงผ่อนหนี้
ในระหว่างที่ผ่อนหนี้ สถาบันการเงินต้องแจ้งข้อมูล การผ่อนหนี้ของคุณ เช่น จัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ทุกครั้งเมื่อมีการชำระหนี้โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับยอดเงินที่ผ่อนชำระ และงวดที่ผ่อนชำระ หรือจัดส่งรายการเคลื่อนไหวของยอดหนี้คงค้าง(Statement) ที่ระบุยอดหนี้ และจำนวนเงินที่ชำระ ยอดหนี้คงเหลือ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเงินกู้ที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น อัตราดอกเบี้ยให้คุณทราบด้วย
ในฐานะลูกหนี้ คุณมีหน้าที่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน ตรงเวลา และควรตรวจสอบความถูกต้องของใบเสร็จที่ชำระหนี้และเก็บไว้เป็นหลักฐาน แจ้งสถาบันการเงินหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ ๆ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หรือหากคุณมีปัญหาในการชำระหนี้ อย่าหนีหนี้ แต่ต้องรีบติดต่อและเจรจากับสถาบันการเงิน
ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก ศคง. http://www.nhpcoop.com/images/ebook/e3.pdf