Blog Page 179

การใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไข/โต้แย้งรายงานข้อมูลเครดิต

ขั้นตอนในการรับคำขอใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไขข้อมูล และคำขอใช้สิทธิบันทึกข้อโต้แย้ง

ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 และที่แก้ไข

เมื่อเจ้าของข้อมูลเห็นว่าข้อมูลเครดิตของตนไม่ถูกต้อง เจ้าของข้อมูลมีสิทธิยื่นคำขอใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไขกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1. เจ้าของข้อมูลยื่นคำขอใช้สิทธิตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเครดิตตามแบบที่บริษัทกำหนด หรือทำเป็นหนังสือ พร้อมแนบเอกสารประกอบ

บุคคลธรรมดา

• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานราชการ หรือหนังสือเดินทาง(กรณีเป็นชาวต่างชาติ)
พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
• สำเนารายงานข้อมูลเครดิตฉบับที่ต้องการแก้ไข(ถ้ามี)
• เอกสารหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี)

นิติบุคคล

• สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งผู้มีอำนาจลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมประทับตราบริษัท (ถ้ามี)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
• สำเนารายงานข้อมูลเครดิตฉบับที่ต้องการแก้ไข (ถ้ามี)
• เอกสารหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี)

เจ้าของข้อมูลจะต้องให้รายละเอียดข้อมูลที่จำเป็น เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคล ประเภทบัญชีสินเชื่อ เลขที่บัญชีและชื่อสถาบันการเงินที่ต้องการให้ตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูล พร้อมลงลายมือชื่อเจ้าของข้อมูล กรณีนิติบุคคลให้กรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับ ตราบริษัท (ถ้ามี)

โดยเจ้าของข้อมูลนำส่งเอกสารแบบคำขอใช้สิทธิตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูลเครดิต /แบบคำขอแก้ไขรหัสสถานะบัญชีต้นฉบับพร้อมเอกสารแนบเอกสารประกอบมายัง ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ส่วนรับเรื่องร้องเรียน เลขที่ 33/4 อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระราม 9 ชั้น 2 (ห้องเลขที่ NS010-012) ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

2. NCB ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของคำขอใช้สิทธิตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูลเครดิตและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลกับสมาชิกให้เจ้าของข้อมูลได้รับทราบ ดังนี้

• บริษัทจะแจ้งไปยังสถาบันการเงินสมาชิกผู้นำส่งข้อมูลให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำขอ
• บริษัทจะแจ้งผลการตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
• เมื่อเจ้าของข้อมูลได้รับแจ้งผลการตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูลแล้ว หากเจ้าข้อมูลไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบหรือการ แก้ไขข้อมูลนั้น สามารถยื่นคำขอใช้สิทธิบันทึกข้อโต้แย้งไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทได้ และมีสิทธิในการยื่น     อุทธรณ์ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตได้ในกรณีที่เห็นว่าบริษัทข้อมูลเครดิต สมาชิก หรือผู้ใช้       บริการบันทึกข้อโต้แย้งไว้ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามหลักฐานที่ปรากฏ

คำแนะนำในการรักษาเครดิต

สำหรับผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่มีบัตรเครดิต ควรปฏิบัติดังนี้

  • ผู้บริโภคควรดำรงสัดส่วนหนี้อย่างเหมาะสม โดยไม่ควรมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนสูงเกินไป จนทำให้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายหลักในการดำรงชีพไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวด
  • ผู้บริโภคควรมีบัตรเครดิตในจำนวนน้อย หรือเท่าที่พอเพียงต่อความจำเป็น และควรปิดบัญชีบัตร เครดิตใดๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพราะโดยปกติสถาบันผู้ให้สินเชื่อจะดูขีดความสามารถในการจับจ่ายว่า ผู้บริโภครายนั้นๆ มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้ขนาดไหน หากมีจำนวนบัตรเครดิตมากแนวโน้มการก่อหนี้ก็จะมีมากขึ้น
  • ผู้บริโภคควรชำระหนี้ทุกรายการตามใบแจ้งหนี้จากสถาบันเจ้าหนี้ในจำนวนอย่างน้อยที่สุดเท่ากับจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด และภายในระยะเวลาที่กำหนด และควรต้องชำระเต็มจำนวนตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับสถาบันเจ้าหนี้
  • หากไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ตามกำหนดระยะเวลา หรือหากพบว่าข้อมูลในใบแจ้งหนี้มีความ คลาดเคลื่อน ควรรีบติดต่อกับสถาบันผู้ออกบัตรทันที และการดำเนินการร้องเรียนหรือแก้ไขข้อมูลควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร

ดาวน์โหลดเอกสารคำขอ เพื่อตรวจเครดิตบูโร

 

ตรวจเครดิตบูโรของตนเอง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจเครดิตสกอริ่ง (คะแนนเครดิต)

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

การให้บริการนิติบุคคลตรวจเครดิตบูโรของตนเองทางไปรษณีย์

แบบคำขอนิติบุคคล-ตรวจสอบทางไปรณีย์ :

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ขั้นตอนการยื่นขอแก้ไขข้อมูล หรือมีข้อโต้แย้งข้อมูลเครดิต สำหรับบุคคลเจ้าของข้อมูล

แบบคำขอใช้สิทธิตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูลเครดิต
แบบคำขอแก้ไขรหัสสถานะบัญชี (เนื่องจากได้ชำระหนี้ให้แก่นิติบุคคลผู้รับโอนหนี้เสร็จสิ้นแล้ว)

แบบคำขอแก้ไขข้อมูลวันที่และประเภทของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือ ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (เนื่องจากได้ชำระหนี้ให้แก่นิติบุคคลผู้รับโอนหนี้เสร็จสิ้นแล้ว)



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ขั้นตอนการตรวจเครดิตบูโรที่ธนาคาร

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ขั้นตอนการตรวจเครดิตบูโรผ่าน ATM, Mobile Banking และ Internet Banking

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

 

วิธีอ่านรายงานข้อมูลเครดิตบูโร

รายงานข้อมูลเครดิต

คือ รายงานข้อมูลเครดิต คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า ข้อมูลสินเชื่อ สถานะทุกบัญชีที่เจ้าของข้อมูลมีอยู่กับสถาบันการเงินทุกแห่งที่เป็นสมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะมีหน้าที่นำส่งข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายให้เครดิตบูโรเป็นรายเดือน ไปจนกว่าสินเชื่อนั้นจะได้รับการชำระเสร็จสิ้น และจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิตเมื่อมีผู้ขอเรียกดูหรือสถาบันการเงินที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน

1. ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น

2. ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ รวมทั้งสถานะบัญชีที่แสดงสถานะของบัญชีสินเชื่อแต่ละบัญชีที่แสดงในรายงานข้อมูลเครดิต เช่น สินเชื่อปกติ สินเชื่อที่ปิดบัญชีแล้ว สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน สินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น รายงานข้อมูลเครดิตเป็นการรายงานประวัติการชำระสินเชื่อตามข้อเท็จจริง กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานก็จะแสดงว่าสถานะบัญชีเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ รายงานก็จะแสดงข้อมูลว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไว้ในระบบข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตเช่นกัน เครดิตบูโรขอเรียนว่าไม่มีการรายงานว่าลูกหนี้คนใดติด Blacklist

ข้อมูลเครดิตจะแสดงถึงประวัติการชำระหนี้ ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเจ้าของข้อมูล และแสดงถึงความตั้งใจในการชำระหนี้และความน่าเชื่อถือ หรือที่เราเรียกกันว่า “เครดิต” ที่มีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจ โดยสถาบันการเงินจึงใช้ประโยชน์จากรายงานข้อมูลเครดิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เช่น ความสามารถในการหารายได้ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ หลักประกัน เป็นต้น เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร บุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน แจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th

เช็กช่องทางการเครดิตบูโรเพิ่มเติม >>> http://bit.ly/2D5eZW3

วิธีการอ่านรายงานข้อมูลเครดิต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

5 สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าคุณกำลังมีหนี้ท่วมหัว

สมัยนี้ถึงแม้เงินยังน้อย แต่ถ้าอยากได้บ้าน รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ก็แสนง่ายดาย แค่เซ็นกริ๊กเดียว รูดปรื๊ด ก็สามารถเป็นเจ้าของได้ด้วยเงินจากอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย ตราบใดที่คุณสามารถรับผิดชอบภาระหนี้สินที่ตามมาได้ แต่ถ้าคุณซื้อเพลินซะจนลืมเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเอง หนี้สินกองโตก็อาจกลายเป็นมะเร็งร้ายในชีวิตคุณได้เหมือนกัน วันนี้เราจะพาคุณมาตรวจเช็คสถานการณ์หนี้ของตัวเอง มาดูกันเถอะว่าคุณสมบัติเหล่าใช่ตัวคุณรึเปล่า

1. มากกว่า 45% ของรายได้ต้องเอาไปให้เจ้าหนี้
ลองนึกภาพดูสิ ว่าถ้าคุณต้องเอาเงินเดือน 45% หรือรายได้เกือบครึ่งไปประเคนให้เจ้าหนี้หมด แล้วสุขภาพทางการเงินของคุณจะเป็นยังไงในระยะยาว? เพราะนั่นหมายความว่าเกือบครึ่งของทรัพย์สินที่คุณมีอยู่ “ไม่ใช่ของคุณโดยแท้จริง” แต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาด้วยเงินของเจ้าหนี้ทั้งนั้น แล้วเป็นแบบนี้ต่อไปจะไหวหรอ? ถามใจตัวเองดู

2. คุณจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคุณมีหนี้อยู่ทั้งหมดเท่าไร
ถ้าคุณคิดไม่ออก บอกไม่ถูก ว่าคุณมีหนี้สินติดพันอยู่ทั้งหมดเท่าไร ไม่ว่าจะเพราะจำนวนมันสูงจนนับไม่ถ้วน หรือคุณจงใจลืม ๆ มันไป ก็ล้วนส่อว่าหนี้ที่คุณมีมันเยอะเกินกว่าที่คุณจะรับผิดชอบได้แล้ว อาจทำให้คุณไม่ทันระวังตัว ยิ่งก่อหนี้มาพอกพูนขึ้นไปอีก แถมเวลาถึงกำหนดชำระก็ไม่ทันได้ตั้งตัวหรือวางแผนอะไรเลย

3. คุณเริ่มกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้หนี้
หนึ่งในวิธีสุดคลาสสิคของคนรวยหนี้ ก็คือการกู้เงินจากแหล่งที่ (คุณคิดว่า) ประนีประนอมง่ายกว่ามาโปะหนี้ส่วนที่ต้องรีบจ่าย ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แล้วเป็นแค่การหนีปัญหาเฉพาะหน้า หากเป็นแบบนี้หลายงวดเข้า บัญชีหนี้สินของคุณก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย แค่เปลี่ยนเจ้าหนี้ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น

4. คุณเริ่มกังวลว่าคนที่บ้านจะเห็นใบแจ้งหนี้ของคุณ
เวลาไปรษณีย์มาที่บ้านทีไร คุณเป็นต้องรีบวิ่งไปโกยบรรดาใบแจ้งหนี้ของตัวเองไปซ่อนไว้ไม่ให้ครอบครัวเห็น แบบนี้ไม่ดีแน่ เพราะลึก ๆ แล้วแม้แต่ตัวคุณเองยังรู้เลยว่าหนี้สินขนาดนี้นับว่าไม่ธรรมดา ถ้าคนที่รักคุณมาเห็นเข้าต้องตำหนิและเป็นห่วงชีวิตคุณอย่างแน่นอน แล้วคุณจะไม่ตำหนิ ไม่ห่วงตัวเองหน่อยหรือ?

5. เวลามีเบอร์ไม่รู้จักโทรเข้ามา คุณจะวิตกก่อนเลยว่าเป็นการทวงหนี้
มีเบอร์แปลก ๆ โทรเข้ามาทีไร คุณเป็นต้องสะดุ้งทุกที ใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ว่าจะเป็นการโทรมาทวงหนี้รึเปล่า แปลว่าเจ้าหนี้ได้ประเมินแล้วว่าสถานการณ์ของคุณในตอนนี้มีโอกาสสูงที่จะจ่ายคืนไม่ไหว จึงต้องเข้ามาวนเวียนป้วนเปี้ยนในชีวิตประจำวันของคุณมากขึ้น แล้วแบบนี้ชีวิตจะมีความสุขได้ยังไง คุณจะทนใช้ชีวิตร้อน ๆ หนาว ๆ แบบนี้ไปจนถึงเมื่อไร?

เป็นยังไงกันบ้าง 5 ข้อนี้ตรงกับชีวิตคุณมากน้อยแค่ไหน ถ้าใช่ก็ห้ามนิ่งนอนใจ ถึงเวลาต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติการบริหารเงินของตัวเองซะใหม่ ก่อนที่หนี้สินจะรัดตัวซะจนหายใจไม่ออกนะจ๊ะ

4 เทคนิคการออมเงิน..ใช้จ่ายเป็น เงินเหลือเก็บ

เทคนิคการออมเงินง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ เพราะใครๆ ก็อยากมีเงินเยอะๆ แต่ก็ยังติดนิสัยจ่ายรัวๆ ไม่กลัวกระเป๋าแฟ่บ กว่าจะรู้ตัวกระเป๋าก็เบาโหวงกันทุกที วันนี้ National Credit Bureau มี เทคนิคการออมเงิน สุดเริ่ด และไม่ต้องประหยัดตลอดเวลา แค่ปรับนิดปรับหน่อย ก็ช่วยให้สุขภาพการเงินแข็งแรงขึ้นได้

4 เทคนิคการออมเงิน สุดเริ่ด

4 เทคนิคการออมเงิน สุดเริ่ด

1. ไม่ประมาทใช้จ่าย

เหตุผลหลักๆ ของเงินไม่พอใช้ หรือเงินไม่เหลือเก็บ ก็คือการประมาทใช้จ่าย ฟุ่มเฟือย และหมดไปกับการซื้อของจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ และยิ่งถ้าหากมีโปรโมชั่นสินค้า ลดราคาหรือมีของแจกของแถม พ่วงมาด้วยแล้วล่ะก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อกระเป๋าสตางค์แน่นอน บางครั้งเราประมาท ไปคิดว่า “นิดเดียวหน่า” “นิดเดียวเอง” “ราคาไม่ได้แพงมาก” แต่ด้วยราคาไม่แพง เล็กๆ น้อยๆ แต่รวมๆ กันแล้วอาจจะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ก็ได้

วิธีแก้ไขง่ายๆ ก่อนอื่นก็รู้ตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนที่ซื้อของจุกจิก มูลค่าไม่เยอะบ่อยๆ หรือ ซื้อของน้อยชิ้นแต่มูลค่ามาก จากนั้นก็ทำการแบ่งเงินไว้สำหรับชอปปิ้งในแต่ละเดือน เมื่อช้อปปิ้งถึงงบที่ตั้งไว้ก็ต้องหักห้ามใจ หยุดช้อปทันที สิ่งของอะไรที่มีอยู่แล้วก็ไม่ควรซื้อซ้ำ เพราะนอกจากจะเกินความจำเป็นแล้ว แล้วอาจหมดอายุก่อนจะได้ใช้ประโยชน์

2. ช้อปช่วง Sale ช่วยชีวิต

เทคนิคการออมสำหรับใครที่ชื่นชอบ และเสพย์ติดการช้อปเป็นชีวิตจิตใจ ในเมื่อเลิกช้อปไม่ได้ ก็หันมาช้อปช่วงเซลล์แทน เพราะแบรนด์ดังแต่ละแบรนด์ก็มักจะมีช่วงเวลานาทีทอง มาดูดเงินในกระเป๋าขาช้อปอยู่เรื่อยๆ ได้ของดี แบรนด์ ในราคาย่อมเยาว์ไว้ใช้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ก็อย่าลืมทำการบ้านสักนิดว่าแต่ละแบรนด์จัดโปรโมชั่น หรือเซลล์ ในช่วงไหน จะได้กันเงินไว้ช้อปได้ทัน

ทางที่ดีที่สุดคือ ตั้งสติไว้ ลดอาการเสพย์ติดช้อปปิ้ง คิดตรึกตรองให้ดี ว่าสิ่งที่เรากำลังอยากได้นั้น มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แล้ว “ฮึบ” ไว้ เก็บเงินใส่กระเป๋าตังค์ไว้ดีกว่า

3. บัญชีสำรองต้องมีไว้

เชื่อว่าทุกคนต้องบัญชีหลักไว้อย่างน้อย1บัญชีเพื่อรับเงินเดือนในแต่ละเดือน รู้ไหมว่านี่กับดักหลุมโต เพราะการมีบัญชีเดียวทำให้สามารถเข้าไปถอนหรือกดเงินจากบัญชีนั้นเมื่อไหร่ก็ได้ ผลที่ออกมาคือในบัญชีมีเท่าไหร่ก็ใช้หมดเกลี้ยง สุดท้ายสุขภาพการเงินก็ย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤติ

ดังนั้นการมี 2 บัญชี สำหรับเงินเดือน 1 บัญชี และเงินออมสำรอง นี่เป็นอีกหนึ่ง เทคนิคการออมเงิน ที่ได้ผล เงินเดือนเข้าเมื่อไหร่ก็รีบทำการดึงไปฝากไว้อีกบัญชีและยิ่งเป็นบัญชีฝากประจำด้วยแล้วล่ะก็จะยิ่งช่วยให้การออมเงินสำเร็จได้แน่นอนเพราะไม่ว่าอยากจะถอนมากเท่าไหร่ ก็ถอนไม่ได้ สะสมเป็นเงินก้อนไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินไม่ต้องเดือดร้อนไปพึ่งเงินกู้ให้เสียดอกเบี้ยยาวๆ

4. ฝากอัตโนมัติทางเลือกสายลืม

หลังจากมีบัญชีสำรองแล้ว สำหรับใครที่ใจไม่แข็งพอที่จะโอนเงินเข้าบัญชีสำรองทุกๆ เดือน แล้วล่ะก็ การให้ธนาคารผูกบัญชีโอนเงินฝากอัตโนมัติ ขั้นตอนก็ไม่ได้ยุ่งยากแค่เดินเข้าไปที่ธนาคาร และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าต้องการให้ธนาคารโอนเงินจำนวนเท่าไหร่ไปยังบัญชีสำรองในแต่ละเดือน ก็ยิ่งทำให้การออมเป็นเรื่องง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่เสียเวลา และไม่ต้องกลัวลืม เพราะธนาคารจะจัดการทุกอย่างให้เสร็จสรรพเรียบร้อย

ในยุคโมบายนี้ยิ่งทำสะดวกมากขึ้น ด้วยแอพพลิเคชั่นของแต่ละธนาคาร ที่สามารถตั้งค่าให้เราโอนเงินเข้าไปยังบัญชีปลายทางได้อัตโนมัติทุกๆ เดือน โดยไม่ต้องไปธนาคารเองเลย ใครที่จะมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลา หรือเดินทางลำบาก ขี้ลืม จนไปถึงขี้เกียจ ข้ออ้างนี้ใช้ไม่ได้แล้วนะ

เห็นไหมว่าการออมเงินให้เป็นไปด้วยความราบรื่นนั้นไม่ยาก แต่ต้องเริ่มด้วยวินัย และความตั้งใจจริงที่จะออมเงิน แล้วหา เทคนิคการออมเงินที่เหมาะสมของตัวเอง หรือตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป แค่นี้ก็มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น และที่สำคัญอย่าลืมหมั่นตรวจเช็คสุขภาพการเงินกับ เครดิตบูโร สม่ำเสมอ รับรองอนาคตมีเงินเหลือเก็บให้ใช้แบบรัวๆ แน่นอน แล้วอย่าลืมติดตามเรื่องราวดีๆ ด้านการเงินกับ National Credit Bureau บน Facebook @ilovebureau กันด้วยนะ

“มศว” จับมือ “เครดิตบูโร” ทำวิจัยเพื่อสาธารณะ

21 มีนาคม 2560 : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ร่วมจัด งาน “พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการจัดทำผลงานทางวิชาการเผยแพร่ต่อสาธารณะ” โดยความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำบทความ บทวิเคราะห์ หรือบทวิจัย เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนของประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว และ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ร่วมในพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า จากฐานข้อมูลทางสถิติที่ เครดิตบูโรมีและให้ทาง มศว จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิชาการเพื่อสร้างบทวิเคราะห์หรือบทวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ในการบริหารจัดการทรัพย์สิน หนี้สิน ตลอดจนการวางแผนการออมและการใช้จ่ายตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแพร่หลาย ต่อสังคมไทยในปัจจุบัน ทั้งทางด้านวิชาการและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า มศว มีเป้าหมายมุ่งพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพโดยการสร้างความร่วมมือในระดับสากลและเครือข่ายทางวิชาการกับองค์กรอื่นๆ ที่นำมาสู่การแก้ปัญหาเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ในขณะที่ เครดิตบูโรมีฐานข้อมูลเชิงสถิติอันมีค่าและข้อมูลดังกล่าวก็ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่กระทบกับสิทธิส่วนบุคคลตามที่กฎหมาย กำหนด การนำเอาข้อมูลเชิงสถิติดังกล่าวมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อประเทศชาติ ผ่านความรู้ความสามารถของคณาจารย์ ตลอดจนนักวิจัยของ มศว จึงเป็นการตอบโจทย์ หรือสร้างฐานทางปัญญาในการแก้ไขปัญหาของประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้อง และหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต

ระบบข้อมูลบุคคลธรรมดา

รายงานข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา (Consumer Credit Report)

เป็นรายงานซึ่งแสดงข้อมูลภาพรวมด้านสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดา ที่มีต่อสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน และสถาบันการเงินอื่น

รายงานข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา (Consumer Credit Report) จะประกอบด้วยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้ขอสินเชื่อ และคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน เป็นต้น และรายละเอียดประวัติการขอ การได้รับอนุมัติสินเชื่อ และการชำระสินเชื่อประเภทต่างๆ ของบุคคลนั้นทุกประเภท ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น

ระบบรายงานข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดาของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ประมวลผลโดยใช้ซอฟแวร์มาตรฐานสากลจาก บริษัท TransUnion ซึ่งเป็นเครดิตบูโรชั้นนำผู้ให้บริการระบบข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ระบบข้อมูลนิติบุคคล

รายงานข้อมูลเครดิตนิติบุคคล (Commercial Credit Report)

เป็นรายงานซึ่งแสดงข้อมูลภาพรวมด้านสินเชื่อทุกประเภทของนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาที่ขอสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ ที่มีต่อสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตเครดิตแห่งชาติ เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน และสถาบันการเงินอื่น

รายงานข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Credit Report) จะประกอบด้วยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้ขอสินเชื่อ และคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เช่น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนการจัดตั้งนิติบุคคล หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และรายละเอียดประวัติการขอ การได้รับอนุมัติสินเชื่อ และการชำระสินเชื่อประเภทต่างๆ ของนิติบุคคลนั้นทุกประเภท

ระบบรายงานข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ประมวลผลโดยใช้ซอฟแวร์มาตรฐานโลกจาก บริษัท Dun & Bradstreet ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เรื่องน่าอ่าน