Blog Page 66

ความเข้าใจผิด เรื่อง Blacklist

Blacklist ความเข้าใจผิด...ที่ควรทราบ

เครดิตบูโร มิได้มีหน้าที่ “ขึ้นบัญชีดำ” หรือ “Blacklist” อย่างที่เข้าใจกันผิด

หลายท่านคิดว่า สาเหตุที่สถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อ เพราะเครดิตบูโรขึ้นบัญชีดำ หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “ติด Blacklist” ความจริง! เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเครดิตบูโร จะทำหน้าที่จัดเก็บรักษา รวบรวม และประมวลผลข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงิน ตามที่สถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกจัดส่งให้เท่านั้น มิได้มีหน้าที่ “ขึ้นบัญชีดำ” หรือ “Blacklist” อย่างที่เข้าใจกัน

เมื่อท่านขอกู้เงินแล้ว สถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น

  • รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด

  • ข้อมูลที่ปรากฎในเครดิตบูโรไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่ขอกู้

ซึ่งอาจเป็นผลมาจากท่านมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี หรือ ผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินอื่น

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : วัคซีน​เศรษฐกิจ​ มาตรการเชิงรุกในระยะต่อไป : วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564

วัคซีน​เศรษฐกิจ​ มาตรการเชิงรุกในระยะต่อไป

เป็นระยะเวลาปีกว่านับแต่ปลายปี​ 2562​ ที่ทั่วโลกต้องเจอกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ​ จากนั้นเราก็เจอการกระแทกจากมาตรการป้องกันตัวที่ต้องทำ ถูกบังคับให้ต้องทำ​ ที่เรียกว่า “ปิดบ้านปิดเมือง” คนทำมาหากินทุกระดับต่างถูกบังคับให้อยู่นิ่ง ๆ​ เหมือนการกลั้นหายใจ​ เวลานั้นปอดใครใหญ่ก็พอไหว​ ปอดใครเล็ก​ มีโรคประจำตัว (เป็นหนี้) ก็เจอกับอาการแทรกซ้อน​ กลัวตายก็กลัว​ กลัวอดก็กลัว​ กลัวเป็นหนี้เสียแต่ก็หมดปัญญาจะหาเงินไปส่งต้นและดอก​ เบี้ยหันมามองก็เห็นแววตาลูกน้องที่กลัวการตกงาน​ ถ้าจะให้เปรียบเทียบ​ก็เหมือนกับ​ “คนที่รีบออกจากบ้านแต่ลืมกระเป๋าสตางค์ ลืมโทรศัพท์ นั่งบนรถยนต์​ เกิดอาการท้องเสียต้องเข้าห้องน้ำด่วน​ แต่รถเกิดอุบัติเหตุ” ในสถานการณ์​นั้นปรากฏว่า​ คุณตำรวจผ่านมาพอดี​ ขณะที่คู่กรณีหัวร้อนกำลังจะใช้อารมณ์​กับตัวเรา​ คุณตำรวจจึงรีบให้คู่กรณี​เข้าข้างทาง​หน้าโรงแรมพอดี​ เลยได้โอกาสขอคุณตำรวจวิ่งเข้าห้องน้ำทำธุระแต่เจ้ากรรม​ ทิชชูดันหมด​ เลยต้องสละผ้าเช็ดหน้าของตนเองซึ่งเป็นของรักเนื่องจากเป็นของที่คู่สมรสให้ไว้เป็นของที่ระลึกตอนเป็นแฟนกัน” คุณตำรวจให้เวลาโดยคุยกับคู่กรณี คุณตำรวจให้ยืมโทรศัพท์โทรหาคนทางบ้าน​ เพื่อให้เอากระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์​ มาให้​ ณ​ จุดเกิดเหตุ​ พร้อม ๆ กับรอประกันภัยมาเคลียร์​ สรุปคือ​ มีเวลาได้หายใจหายคอตั้งหลัก

ภาพที่ผู้เขียนบรรยายเปรียบเทียบนี้คือภาคต้นของเรื่องเท่านั้น​ เวลานี้เข้าปีที่สองของการต่อสู้กับความอยู่รอดทั้งด้านสาธารณสุข​และด้านเศรษฐกิจ​ปากท้อง​ ในช่วงเวลาต่อไปนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญมากกว่าช่วงเวลาแรกเพราะ

1.เราจะมีคนที่ไม่รอดจากบาดแผลทางเศรษฐกิจ​ ต้องมีการล้มหายตายจากไป​ คำถามคือถ้ามีจำนวนมากมายทั้งเล็ก​ กลาง​ ใหญ่​ บรรดาหลักประกันต่าง ๆ และการดำเนินการทางกฎหมายมันจะเป็นลูกโซ่จากหนี้สถาบันการเงิน​ หนี้การค้า​ หนี้ค่าจ้างแรงงาน​ หนี้สารพัด​ การจัดการทางกฎหมายในกรอบเดิม ๆ มันจะยิ่งเละเทะเข้าไปกันใหญ่​ ดังนั้นมาตรการแช่เย็นแบบเย็นจัดประหยัดไฟต้องมา จากนั้นค่อยละลายน้ำแข็งทีละกรณีเพื่อแยกแยะของดี​ ของต้องทิ้ง​ ไม่ให้เกิดการเน่าเสียไปทั้งหมด​ การยืดหนี้ออกไปให้นาน​ ทุบหนี้ให้แบน​ และค่อย ๆ เคลียร์​เพื่อจำกัดความเสียหายจึงต้องทำ… อันนี้น่าจะเป็นวัคซีนขนานที่หนึ่ง

ต่อมาคือกลุ่มที่สู้ต่อ คิดว่าสู้ได้ แต่ตอนนี้หมดแรง​ ต้องใส่ยาบำรุงหัวใจให้เดินต่อไปอีกอึดใจ​ รอเวลาฟ้าเปิด​ วัคซีน​ขนานที่สองที่เรียกว่า​ โกดังพักหนี้ ก็ต้องตามมา​ ต้องมีการตีทรัพย์สิน​ชำ​ระ​หนี้​ เพื่อไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย​ แล้วขอเช่ากลับมาทำธุรกิจเพื่อรอเวลารักษาทรัพย์สิน​ไม่ให้เสื่อมค่า รักษาคนงานเอาไว้โดยหันมาทำธุรกิจแนวเอาตัวรอดดูก่อน​ การจ่ายค่าเช่าแทนดอกเบี้ยมันจะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง​ แล้วก็ทำสัญญาซื้อขาย​ทรัพย์สิน​คืนในอีกห้าปี​ เจ็ดปีข้างหน้า (Purchased option) ซึ่งก็หมายถึงการกู้ยืมเหมือนเดิมนี่แหละแต่ตอนนั้นพายุของโรคระบาดน่าจะยุติไประดับหนึ่งแล้ว​ มาตรการสร้างพื้นที่ให้ ขายไป-เช่ากลับ-สัญญาว่าจะซื้อคืน​ โดยทุกฝ่ายผ่อนสั้นผ่อนยาวกันไป​ มีคนรับความเสียหายบางส่วนที่อยู่ในเก�

วัคซีน​ตัวที่สามคือ เงินกู้ละมุนนุ่มหรือ​ Soft​loan เวอร์ชันใหม่​ที่จะมาแทนเวอร์ชันเก่าตอนลูกหนี้ลืมกระเป๋าสตางค์​เวลาออกจากบ้าน​ แต่จะเป็นเวอร์​ชันลูกหนี้กลับมาที่บ้านแล้วพบว่ารายได้มันหายไปพอสมควร​ แต่มีบิลมาเรียกเก็บเงินเพียบ​ ดังนั้นการปรับปรุง​โครงสร้าง​หนี้จึงต้องทำเพื่อให้กระแส​เงินสด​มันเดินต่อได้​ อาจต้องทำทั้งหนี้เก่าหนี้ใหม่​ ถ้าเงื่อนไข​ Soft loan ออกมาว่า

1.สองปีแรกดอกเบี้ย​ 2% ปีที่สามค่อยเพิ่มเป็นขั้นบันได​ และมีอายุ​ 5-7 ปีก็จะดีมาก

2.ไม่ยุ่งกับหลักประกันเก่า​ ไม่มีสูตรชดเชยความเสียหายแบบคุณสุภาพสตรีที่ทำงานไม่เป็นแต่คิดว่าตัวเองคิดเก่ง​ ทำแต่แล็บแห้ง​ ไม่หารือใครเพราะวัน ๆ คิดแต่เรื่องความลับ​ ลับจนหาประตูออกไม่เจอ​ สูตรมันควรจะง่ายสุด​ไหมเช่น ปล่อยกู้ไป​ 100 กลายเป็น​หนี้เสียรวมดอกเบี้ยค้าง 120 ชดเชย​ 50% คิดเป็นชดเชย​ 60​ เอาแบบง่ายสุด​ แบบคนอยู่บ้านเช่าริมน้ำเจ้าพระยาข้างองค์กร​ใหญ่ก็คิดได้คิดเป็น​ (หัดฟังคนรอบข้างบ้างก็จะดี)​

3.วงเงินสูงสุดต่อรายจะเป็น​ 150-200 ล้านบาทมั้ย​ แต่ไม่ต้องจำกัดหน้าใหม่ ลูกค้าเก่า​ ใครที่แสดงได้ว่าเดือดร้อน​ และกู้ไปแล้วแก้ไขปัญหาได้ก็ควรให้ เรื่องที่ควรจะเถียงให้จบคือกู้มา refinance ได้ไหม เพราะบางท่านก็บอกมันคือการลดต้นทุนทางการเงิน​ เงินส่วนที่ประหยัดได้ก็เอามาเลี้ยงคนงานเป็นค่าจ้าง ฝั่งที่บอกไม่ควรให้ทำ​ refinance ก็บอกว่ามันควรเอาไปลงทุนปรับปรุงกิจการ​ เพิ่มประสิทธิภา​พ​ พูดไปมันก็ถูกทั้งหมดแหละครับ​ จะเอาอะไรก็รีบทำให้จบ

ผู้เขียนได้พยายามสื่อสารมายังท่านผู้อ่านในมุมเฉพาะเรื่องการจัดการของเจ้าหนี้-ลูกหนี้-คนกลาง​ เพราะเวลานี้ถ้าทุกฝ่ายอยากมีภูมิคุ้มกันหมู่​ ก็ต้องรับวัคซีน​ และมีกำ​ลัง​กาย​ กำลังใจเดินหน้าต่อไป

ย้ำอีกครั้ง​ ขอคิดความเห็นในบทความไม่เกี่ยวและผูกพันว่าเป็นความเห็นองค์กร​ที่ผู้เขียนสังกัดนะครับ

ขอบคุณ​ที่ติดตามครับ… ผิดพลาดประการใดติชมมาได้นะครับ

หากประวัติเครดิตไม่ดี แก้ไขอย่างไร

หากประวัติเครดิตไม่ดี ควรทำอย่างไร

หากประวัติเครดิตไม่ดี แก้ไขอย่างไร

สำหรับท่านที่มีความกังวลเรื่องประวัติเครดิตในอดีต ท่านสามารถสร้างประวัติเครดิตที่ดีได้ตั้งแต่วันนี้ เพียงเริ่มจากสร้างวินัยในตัวเอง ชำระหนี้เก่าให้เสร็จสิ้น ชำระหนี้ใหม่ให้ตรงเวลา และหมั่นตรวจเครดิตบูโรเพื่อติดตามดูสถานการณ์หนี้สินของตัวท่านเองอย่างใกล้ชิด ก็สามารถเป็นเจ้าของประวัติเครดิตดี ๆ ได้ไม่นานเกินรอค่ะ

เริ่มตั้งแต่ติดต่อสถาบันการเงินที่เคยเป็นหนี้เพื่อชำระหนี้ค้างให้เสร็จสิ้น เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เพื่อขอลดหนี้ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

ต่อมาต้องสร้างวินัยในตัวเอง ชำระหนี้เก่าให้เสร็จสิ้น ชำระหนี้ใหม่ให้ตรงเวลา หมั่นตรวจเครดิตบูโรเพื่อติดตามดูสถานการณ์หนี้สินของตัวท่านเองอย่างใกล้ชิด

มีวิธีการดังนี้

  • ติดต่อสถาบันการเงินที่เคยเป็นหนี้ เพื่อชำระหนี้ค้างให้เสร็จสิ้น
    • เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เพื่อขอลดหนี้
    • เจรจาปรับโครงสร้างหนี้
  • เริ่มสร้างประวัติสินเชื่อใหม่
    • สร้างวินัยการเงินที่ดี
    • ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
    • ไม่ผิดนัดชำระหนี้อีก

เพียงเท่านี้ก็สามารถเป็นเจ้าของประวัติเครดิตดีๆ ได้แล้วค่ะ

*เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร หากบุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน แจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th  ไม่เชื่อเข้ามาดูได้ที่นี่เลย http://bit.ly/2UXb5Td

เจ้าของข้อมูลขอลบหรือแก้ไขประวัติการชำระเงินได้หรือไม่

เจ้าของข้อมูลขอลบหรือแก้ไขประวัติการชำระเงินได้หรือไม่

เจ้าของข้อมูลขอลบหรือแก้ไขประวัติการชำระหนี้ได้ ในกรณีที่พบว่า ข้อมูลของตนเองไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยสามารถยื่นตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนได้ที่ บริษัทข้อมูลเครดิตและสถาบันการเงินที่เจ้าของข้อมูลเป็นลูกค้า

แต่หากข้อมูลเครดิตตรงตามข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าของข้อมูลไม่สามารถขขอลบหรือแก้ไขข้อมูลได้ เว้นแต่ในบางกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น เกินอายุการจัดเก็บข้อมูลเป็นต้น

จ่ายหนี้ครบหมดแล้ว ข้อมูลเครดิตจะเป็นอย่างไร

ชำระหนี้ครบหมดแล้ว ทำไมรายงานข้อมูลเครดิต ยังปรากฏข้อมูลค้างชำระอยู่?

จ่ายหนี้ครบหมดแล้ว ทำไมเมื่อไปตรวจเครดิตบูโร ข้อมูลเครดิตของเราถึงยังมีประวัติค้างชำระอยู่

รายงานข้อมูล เปรียบเสมือน “สมุดพกด้านสินเชื่อ” โดยจะเก็บข้อมูลประวัติการชำระเงินตามข้อเท็จจริงทั้ง ในกรณี “ค้างชำระ” และ “ไม่ค้างชำระ” โดยไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้เครดิตบูโรเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 3 ปี หรือ 36 เดือน โดยข้อมูลจะทยอยเลื่อนออกจากฐานข้อมูลเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้ครบ และทำการปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร มีหน้าที่นำส่งข้อมูลการปิดบัญชีมายังเครดิตบูโรในเดือนถัดไป โดยเครดิตบูโรจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30 วันเพื่ออัพเดตข้อมูล ซึ่งในช่วงระหว่างนี้ถ้าเรารักษาวินัยทางการเงินไม่ผิดนัดชำระหนี้อีก ก็จะสามารถมีประวัติเครดิตที่ดีได้อีก 

ชำระหนี้แล้ว ประวัติยังอยู่

ข้อมูลเครดิตจัดเก็บนานแค่ไหน

ทำไมเครดิตบูโร ถึงเก็บประวัติการชำระหนี้ไว้ 3ปี ?

ข้อมูลเครดิตจัดเก็บนานแค่ไหน   คำตอบคือ “3 ปี” 

เครดิตบูโรจะมีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลสินเชื่อ และประวัติการชำระหนี้สินเชื่อ โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลให้แก่เครดิตบูโรเป็นรายเดือนทุกเดือน ทางเครดิตบูโรก็จะอัปเดตข้อมูลให้ในแต่ละเดือนไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด 36 เดือน จำนวน 36 บรรทัด เรียงทับกันเหมือนขนมชั้น เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ข้อมูลบรรทัดเก่าของเมื่อ 36 เดือนที่แล้วก็จะหายไป

ในกรณีที่มีประวัติค้างชำระ และได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว สถาบันการเงินจะแจ้งปรับยอดหนี้เป็น 0 บาทและสถานะ 11 ปิดบัญชี มาที่เครดิตบูโร และจะหยุดส่งข้อมูลในเดือนถัดมา ข้อมูลที่ส่งมาก่อนหน้าปิดบัญชีจะยังไม่ลบออกไปทันที แต่จะถูกลบไปตามอายุข้อมูล ข้อมูลเดือนใดที่มีอายุครบ 3 ปีแล้ว จะถูกทยอยลบออกไปทีละเดือน เมื่อข้อมูลเดือนสุดท้ายมีอายุครบ 3 ปีถูกลบออกไป บัญชีสินเชื่อนั้นจะถูกลบออกจากฐานข้อมูลทั้งบัญชี ซึ่งเป็นอายุข้อมูลที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น เครดิตบูโรไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะลบข้อมูลก่อนครบกำหนดอายุการจัดเก็บได้

เมื่อเข้ามาตรวจเครดิตบูโร รายงานข้อมูลเครดิตก็จะเห็นประวัติการชำระทั้งหมดของเรา ตั้งแต่เปิดบัญชีจนถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรตามข้อเท็จจริง

การอัปเดตข้อมูลในรายงานเครดิต
: สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกจะนำส่งข้อมูลให้กับเครดิตบูโรตามรอบการรายงานและจัดส่งข้อมูล ซึ่งเป็นการรายงานและส่งข้อมูลสินเชื่อแบบรายเดือน (Monthly Basis) มิใช่รายงานและส่งข้อมูลสินเชื่อแบบทันที (Real Time) เช่น ข้อมูลการชำระปิดบัญชีของเดือนมีนาคม 2562 ท่านสามารถตรวจสอบเครดิตบูโรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป

อยากรู้ว่าประวัติเครดิตปัจจุบันของตัวเองเป็นอย่างไร สามารถมาตรวจเครดิตบูโรได้ผ่านช่องทางเหล่านี้ http://bit.ly/2D5eZW3

ทำไมเครดิตบูโรต้องเก็บข้อมูลไว้ 3 ปี?
บางคนอาจคิดว่านานไป แต่ 3 ปีคือ “มาตรฐานขั้นต่ำ” ที่บังคับใช้กันทั่วโลก เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น ตามมาดูกันค่ะ

เพราะมีความจำเป็นต้องทำตามหลักการ 3 ประการ ว่าด้วย “มาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลเครดิต”

ได้แก่…

1. มีระยะเวลาเพียงพอที่จะใช้ในการวิเคราะห์ความตั้งใจในการชำระหนี้

ว่าคนที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ได้ปฏิบัติกับสัญญาเจ้าหนี้รายก่อน ๆ อย่างไร เช่น ชำระปกติ ค้างชำระ ค้างนาน ค้างสั้น ค้างแล้วรีบเคลียร์ หรือค้างแล้วลากยาว เป็นต้น

2. หน่วยงานที่กำหนดระยะเวลาการเก็บข้อมูลเครดิต (3 ปี) คือ “คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต”

โดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน

3. ธนาคารโลก ได้วางหลักการให้การเก็บข้อมูลขั้นต่ำคือประมาณ 3 ปี

แต่ละประเทศบังคับระยะเวลาต่างกัน ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ เช่น ประเทศเอธิโอเปียจะเก็บข้อมูลถึง 5 ปี ส่วนประเทศไทยได้ตัดสินแล้วว่าเก็บ 3 ปี (เท่ากับสิงคโปร์)

ถ้าเคยค้างชำระ แต่จ่ายหนี้ครบแล้ว และชำระหนี้ตรงเวลา ไม่ค้างชำระเลยต่อเนื่อง 3 ปี (36 เดือน) ประวัติค้างชำระก็จะหายไปจากเครดิตบูโร

ข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร

หากไปตรวจเครดิตบูโร แล้วสงสัยว่ามูลเครดิตไม่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร?

หากตรวจเครดิตบูโร แล้วพบว่าประวัติข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง จะทำยังไงดีนะ?

ท่านมีสิทธิยื่นคำขอตรวจสอบ/แก้ไขข้อมูลเครดิตได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร โดยเครดิตบูโรจะตรวจสอบความถูกต้องของคำขอฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

  1. เครดิตบูโรแจ้งไปยังสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกผู้นำส่งข้อมูลให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำขอ

  2. เครดิตบูโรจะแจ้งผลการตรวจสอบหรือแก้ไขให้ท่านทราบภายใน 30 วัน (นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอ)

  3. เมื่อท่านได้รับแจ้งผลการตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูลแล้ว หากไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูล ท่านสามารถยื่นคำขอใช้สิทธิบันทึกข้อโต้แย้งไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทได้ และมีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตได้ในกรณีที่เห็นว่าบริษัท สมาชิก หรือผู้ใช้บริการบันทึกข้อโต้แย้งไว้ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามหลักฐานที่ปรากฏ

ขอแก้ไขข้อมูลเครดิต

ข้อมูลในเครดิตบูโรคลาดเคลื่อน จะขอแก้ไขได้อย่างไร?

เมื่อข้อมูลเครดิตของท่านไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนจากความจริง ต้องการแก้ไขข้อมูลสามารถทำตามได้ดังนี้

1. ติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงิน
ท่านควรติดต่อกับสถาบันการเงินของเจ้าของบัญชี เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หากข้อมูลไม่ถูกต้อง สถาบันการเงินจะแจ้งให้ทางเครดิตบูโรแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง และแจ้งผลแก่เจ้าของบัญชีทราบภายใน 30 วัน

2. ติดต่อศูนย์ตรวจเครดิตบูโร
สำหรับท่านใดที่ต้องการแก้ไขข้อมูลเครดิตผ่านทางศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สามารถทำได้ 2 วิธีดังนี้

วิธีที่ 1 ยื่นคำขอผ่านที่ทำการไปรษณีย์
– Download แบบคำขอได้ที่ https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/form_download

– ส่งเอกสารคำขอพร้อมหลักฐานมาทางไปรษณีย์ ถึง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ส่วนรับเรื่องร้องเรียน เลขที่ 33/4 อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระราม 9 ชั้น 2 (ห้องเลขที่ NS010-012) ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

วิธีที่ 2 ยื่นคำขอ ณ ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง
โดยกรอกแบบคำขอแก้ไขข้อมูลพร้อมยื่นเอกสาร ดังนี้
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
– สำเนารายงานเครดิตบูโรที่ต้องการแก้ไข
– หลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งสถาบันการเงินของผู้ส่งข้อมูลให้ตรวจสอบความถูกต้อง
จากนั้นจะแจ้งผลการตรวจสอบให้เจ้าของข้อมูลทราบภายใน 30 วัน นับจากวันที่ยื่นคำขอ

หากข้อมูลไม่ถูกต้องจริง และสถาบันการเงินได้แก้ไขแล้ว เครดิตบูโรจะส่งข้อมูลเครดิตฉบับที่แก้ไขแล้วให้กับเจ้าของข้อมูล

แต่ถ้ามีการยืนยันแล้วว่าข้อมูลถูกต้อง ไม่สามารถทำการแก้ไขข้อมูลได้ เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ขอให้เครดิตบูโรบันทึกโต้แย้งไว้ในระบบข้อมูลเครดิตและสามารถยื่นอุทธรณ์ ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตเพื่อพิจารณาได้นั่นเองค่ะ

ข้อมูลในเครดิตบูโรคลาดเคลื่อน จะขอแก้ไขได้อย่างไร?

เรื่องน่าอ่าน