Blog Page 79

ข่าวเครดิตบูโร 004/2563 : ครั้งแรกในไทย ตรวจเครดิตสกอริ่งแบบ “เรียลไทม์” ผ่านแอปเกียรตินาคินภัทร ติดสปีดให้สินเชื่อ

ครั้งแรกในไทย ตรวจเครดิตสกอริ่งแบบ เรียลไทม์” ผ่านแอปเกียรตินาคินภัทร ติดสปีดให้สินเชื่อ

 23 พฤศจิกายน 2563 :  กรุงเทพฯ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) เปิดให้บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่งผ่านแอปพลิเคชัน KKP e-Banking แบบ “เรียลไทม์ (Real Time)” ครั้งแรกในประเทศไทย อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าของธนาคารเกียรตินาคินภัทร สามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนผ่านแอปพลิเคชันได้ในทันที เทียบกับการขอข้อมูลเครดิตผ่านช่องทางตัวแทนอื่นของเครดิตบูโร  ที่ใช้เวลารอรับรายงานภายใน 7 วันทำการ ยิ่งกว่านั้น ด้วยโครงสร้างการยืนยันตัวตนของ NDID ยังทำให้การขอข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีความปลอดภัยสูงสุด และไม่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในระยะแรก บริการนี้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้าง NDID เพื่อช่วยให้มีการยืนยันตัวตนของผู้ขอข้อมูลเครดิตซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด คือแบบเรียลไทม์ ดังนั้น กระบวนการขอสินเชื่อที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบ ก็จะใช้เวลาและเอกสารน้อยลง ยิ่งกว่านั้น ในระยะต่อไป การเข้าถึงข้อมูลเครดิตที่ง่าย ปลอดภัย และเรียลไทม์ ยังเอื้อต่อการที่ธนาคารจะใช้ข้อมูลเหล่านี้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมตามระดับเครดิต เช่น ผู้กู้ที่เครดิตดีก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้บริโภค และในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างให้ประชาชนทุกคนมีวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อรักษาระดับเครดิตของตนด้วย ธนาคารเกียรตินาคินภัทรเล็งเห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลเครดิตอย่างรวดเร็วและปลอดภัยจะสร้างประสิทธิภาพและลดต้นทุนการเสียโอกาสให้กับทั้งระบบเศรษฐกิจ จึงได้ร่วมมือกับเครดิตบูโร และ NDID เพื่อพัฒนาระบบจนสำเร็จลุล่วงในวันนี้ ซึ่งจะมีขึ้นที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทรเป็นที่แรกของประเทศ”

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงานในระบบสถาบันการเงินไทยวันนี้ จะกระตุ้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่สำคัญของตัวลูกค้าในโลกดิจิทัลอย่างน้อย 3 เรื่องคือ (1) การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อต่างๆ จากสถาบันการเงิน คือรู้จักตัวเราเองก่อนไปคุยกันในรายละเอียดกับคนให้กู้ รู้ตัวเองว่าประวัติการก่อหนี้ และการชำระหนี้ในอดีตตนเองเป็นอย่างไร มีคะแนนเครดิตหรือเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) ระดับไหน เป็นคนมีความเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ระดับไหน (2) รู้จักการพิสูจน์และการยืนยันตัวตนผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Know your customer หรือ KYC) ในโลกยุคดิจิทัล ผ่าน Mobile Application (3) รู้จักการสมัครหรือการขอสินเชื่อผ่านเครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่ต้องใช้เอกสารที่เป็นกระดาษตั้งแต่ยื่นขอ ได้รับอนุมัติ เงินเข้าบัญชีเพื่อการเบิกถอนไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ที่ผ่านมา เครดิตบูโรดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิตได้อย่างรวดเร็ว หลากหลายช่องทาง อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองและเพื่อป้องกันภัยการเงินในยุคปัจจุบัน รวมทั้งการรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้  การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) กล่าวว่า “NDID เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดย NDID เป็น Platform กลาง มีสมาชิกที่ทำหน้าที่ให้บริการพิสูจน์ และยืนยันตัวตน และสมาชิกที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นผู้ให้บริการบน NDID Platform ซึ่งทั้งธนาคารเกียรตินาคินภัทร และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ได้ให้เกียรติเป็นสมาชิก โดย NDID ขอขอบคุณทั้ง 2 หน่วยงานที่ได้ให้ความไว้วางใจใน NDID Platform และผลักดันให้เกิดการให้บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่งผ่านแอปพลิเคชัน KKP e-Banking แบบ “เรียลไทม์” ในวันนี้ บริการ NDID นั้น ดำเนินงานอยู่บน Blockchain มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐาน และความน่าเชื่อถือของการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยเริ่มจากก้าวแรกคือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ทำธุรกรรม และต่อยอดไปสู่ขั้นตอนอื่นๆ ได้อย่างมั่นใจ ปัจจุบัน NDID Platform มีหน่วยงานจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อร่วมให้บริการ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบริการ NDID ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อภาคธุรกิจ และภาคประชาชน และเข้ากับแนวโน้มการเติบโตของธุรกรรมออนไลน์ และเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาความมั่นคงของระบบ ความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการในทุกภาคส่วนต่อไป”

ทั้งนี้ บริการนี้ได้รับการยอมรับและอยู่ภายใต้โครงการ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร และใช้บริการ NDID อยู่แล้ว สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน KKP e-Banking เพื่อใช้บริการการเรียกดูข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่งได้ตั้งแต่วันนี้  เป็นต้นไป

(ในภาพ 1) ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล (กลาง) ที่ปรึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) นายสุรพล โอภาสเสถียร (ซ้าย) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโรนายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ (ขวา) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID)

(ในภาพ 2) ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล (กลาง) ที่ปรึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) นายสุรพล โอภาสเสถียร (ซ้าย) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโรนายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ (ขวา) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID)

(ในภาพ 3) ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล (กลาง) ที่ปรึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) นายสุรพล โอภาสเสถียร (ซ้าย) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโรนายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ (ขวา) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID)

(ในภาพ 4) ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล (ขวา) ที่ปรึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) นายสุรพล โอภาสเสถียร (กลาง) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ (ซ้าย) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID)

(ในภาพ 5) ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล (ซ้าย) ที่ปรึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) นายสุรพล โอภาสเสถียร (กลาง) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ (ขวา) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID)

 

เกี่ยวกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด โดยธนาคารมีวิสัยทัศน์ในการนำทรัพยากรทางการเงินสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง พอเพียงและทั่วถึง ด้วยการบริการที่เหนือความคาดหมายและไม่อาจหาได้จากแหล่งอื่น  

ทั้งนี้ ธุรกิจของธนาคารครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนเชื่อมโยงกับธุรกิจด้านตลาดทุน ที่ประกอบด้วยธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้า  ค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) และธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com

เกี่ยวกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) และปัจจัยของเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน  โดยทำหน้าที่จัดเก็บ รวบรวม และประมวลผลข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงิน ตามที่สถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกจัดส่งให้เท่านั้น และเครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติหรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร

ทั้งนี้ บริษัทได้พัฒนาระบบการประมวลผล รายงานผลข้อมูลเครดิต  และปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลให้มีความถูกต้อง รวดเร็วและทันสมัย โดยเพิ่มศักยภาพทางด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้ยึดถือหลักการในการปกป้องและรักษาความลับของข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนคำนึงถึงการดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th

เกี่ยวกับบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด (NDID) ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เรียกว่า “บริการ NDID” เพื่อให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ให้มีความน่าเชื่อถือ รัดกุม ปลอดภัย ด้วยมาตรการการพิสูจน์ยืนยันตัวตนตามมาตรฐานสากล เช่น การรู้จักตัวตนลูกค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) การลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) การให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Consent) อีกทั้งยังเป็นการสร้างระบบ Data Sharing โดยเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน บริการ NDID จะช่วยลดความยุ่งยาก ซับซ้อนในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้รับบริการในการทำธุรกรรมออนไลน์ให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รองรับบริการทางดิจิทัลอย่างครบวงจร โดยมีผู้ถือหุ้นมากกว่า 60 บริษัท ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ndid.co.th

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)  ธนกร จ๋วงพานิช  tanakorn.juan@kkpfg.com

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร ilovebureau@ncb.co.th

บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด ndid_care@ndid.co.th

 

ขอสินเชื่อที่ไหนก็โดนปฏิเสธรัว ๆ อาจเป็นเพราะ 4 พฤติกรรมนี้!!

ขอสินเชื่อที่ไหนก็โดนปฏิเสธรัว ๆ อาจเป็นเพราะ 4 พฤติกรรมนี้!!

4 พฤติกรรมเสี่ยง เปลี่ยนให้ไวถ้าไม่อยากโดนปฏิเสธสินเชื่อ!

หลักเกณฑ์ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่เราจะไปยื่นขอกู้สินเชื่อ โดยพิจารณาจากประวัติการชำระที่ผ่านมา รายได้ ภาระหนี้ที่มีอยู่ หลักค้ำประกัน และปัจจัยอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาตามนโยบายสถาบันการเงิน หากท่านต้องการยื่นขอสินเชื่อให้ผ่านจำเป็นต้องเลี่ยง 4 พฤติกรรมเหล่านี้ค่ะ

1. หลักเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงิน
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาขอสินเชื่อทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงิน ซึ่งทางเครดิตบูโรมีหน้าที่เพียงเก็บประวัติข้อมูลการค้างชำระของผู้กู้เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาสินเชื่อแต่อย่างใดค่ะ

2. ไม่ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง
ในการพิจารณาสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน จะประเมินค่าใช้จ่ายของท่านในแต่ละเดือน ยกตัวอย่างเช่น หากท่านประเมินแล้วว่ามีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่า 40% ทุกเดือน จะมีโอกาสที่สถาบันการเงินปฏิเสธได้ เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจนเกินไป

3. ชำระหนี้ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด
เพราะประวัติการชำระหนี้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาการขอสินเชื่อของสถาบันการเงิน หากท่านใดที่ต้องการกู้ แต่ยังคงมีหนี้ค้างชำระ จำเป็นที่จะต้องเคลียร์หนี้ค้างชำระให้หมด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการกู้ขอสินเชื่อในอนาคตนั่นเองค่ะ

ดังนั้นแล้วหากท่านต้องการที่จะขอสินเชื่อให้ผ่าน จำเป็นที่ต้องเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ให้หมด แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายใหม่ เพื่อที่จะขอสินเชื่อให้ผ่านแล้วยังทำให้ท่านมีวินัยการเงินที่ดีด้วยนั่นเองค่ะ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : หากคนรุ่นฟันปลอมกับคนรุ่นฟันน้ำนม​ จะฟังคนรุ่นฟันแท้ที่อยู่ตรงกลางพูดบ้างได้ไหม : วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2563

หากคนรุ่นฟันปลอมกับคนรุ่นฟันน้ำนม​ จะฟังคนรุ่นฟันแท้ที่อยู่ตรงกลางพูดบ้างได้ไหม

ผู้เขียนได้พบข้อเขียนของคนรุ่นฟันแท้อายุประมาณ​ 27​ ปี ทำงานมาสี่ห้าปี​ จบการศึกษา​ดี​ เคยไปโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ​ เป็นลูกคนชั้นกลางพ่อทำงานออฟฟิศ แม่ทำการค้าขายเป็น​ SME ขนาดจิ๋ว​ บรรพบุรุษ​ก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน​ เขาได้พูดถึงความในใจแบบยอมรับว่ามีโอกาสทัวร์​ลงใน​เฟซบุ๊กแต่เขาก็ยอมนำเสนอข้อคิดความเห็นบางท่อนบางตอนดังนี้

.. เรารู้ว่าหลายคนในสังคมเป็นคนมีสิทธิพิเศษ (privilege) มากๆ จนไม่ต้องสนใจสภาพการเมืองเวลานี้แต่ก็ยังอยู่สบาย ไม่ต้องออกมาพูด​ มาขยับก็ได้ นั่นก็อาจเพราะความเชื่อว่า “ทำตัวเราให้ดีก็พอ” ไม่คิดว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับตัวเอง เลือกจะไม่ให้เกี่ยวได้ หรือ “เท้าไม่ต้องติดพื้น” ไม่ต้องเดินเหินบนฟุตพาทแล้วน้ำเน่ากระฉอกใส่ ไม่ต้องเห็นภาพคนแก่นั่งขอทานตามสถานีขนส่งสาธารณะต่างๆ ในระยะประชิดให้ปวดใจ ไม่ต้องมาคิดว่าจะตกงาน หรือ ไม่ตกงานเพราะเป็นลูกหลานเจ้าของกิจการ มีที่ดิน มีทรัพย์สินสำรองไว้ยามฉุกเฉินอย่างเพียงพอ

เมื่อใดที่ได้มานั่งทบทวน privilege ในชีวิตที่ตนเองมีแต่คนอื่นไม่มีมันจะทำให้เข้าใจได้ว่า “ทำไมคนอื่นเขาต้องออกมาเรียกร้อง” และมีข้อเสนอมากมาย​ อยากลองให้คิดตามเป็นข้อๆ ดังนี้

1. สังคมไทยที่เราเติบโตมามักสอนให้เรามองอะไรแบบโทษปัจเจก โทษว่าคนจนเพราะจนเลยเครียด เครียดเลยกินเหล้า ไม่อดออม ภาพจำของคนมีฐานะหลายคนรอบตัวเรา คือ คนจนเป็นคนไม่ขยัน คนมีฐานะดีกว่ามักชอบสั่งสอนเขา แต่เราไม่สอนภาพกว้างให้เกิดความรู้และเข้าใจ เรื่องของความเหลื่อมล้ำในสังคมว่าครอบครัวจำนวนมากหาได้ไม่พอใช้จะเอาที่ไหนไปออม?

2. หลายคนพูดกับเราเสมอมาว่าใครบริหารประเทศนี้ก็ไม่ดีทั้งนั้นให้ “เริ่มที่ตัวเรา” หากแต่เราเริ่มที่ตัวเรามานานเกินไปแล้ว เราทำงานเกือบสี่ปี​ เราจ่ายภาษี ช่วยเหลือคนที่ลำบากรอบตัว แต่ให้เริ่มที่ตัวเราอีกสัก 100 ครั้ง มันก็พังเหมือนเดิมถ้าสังคมเราไม่ปรับขยับไม่ปรับโครงสร้างให้รองรับคนจำนวนมากขึ้นที่กำลังลำบากของสังคมเสียที มีคนทำธุรกิจร่ำรวยคนนึงเคยบอกเราว่า “จะทำเพื่อสังคมทำไม รอรวยก่อนสิค่อยทำ ค่อยเอาเงินไปแจก ไปทำบุญ” ฟังแล้วมันก็อึ้งนะเหมือนเขามองการให้เป็นแค่การกุศล​ ทั้งที่ถ้าเราทำให้คนลืมตาอ้าปากได้ ธุรกิจเขาก็จะยิ่งมีฐานลูกค้ามากขึ้นหรือไม่

3. ดังนั้นก่อนจะบอกใครให้ขยัน ให้สู้ ให้พยายาม ต้องยอมรับกับตัวเองก่อนว่าถ้าไม่ได้เกิดในครอบครัวตัวเองที่มีฐานะร่ำรวยทุกวันนี้ก็อาจไม่ได้มีความสุขสบายรายล้อม ยอมรับก่อนว่าที่ได้มาเพราะว่าโชคที่เกิดมาในบ้านที่มีทรัพยากรมากพอบวกการมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม

4. โครงสร้างสังคมมันกดทับคนให้คนจำนวนมากต้องยากจนตลอดชีวิตแบบที่ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างกันมากขึ้นทุกๆ ที เราเคยอ่านงานเขียนชิ้นนึงจำไม่ได้ว่าที่ไหนแต่เค้าสรุปความเท่าเทียมไว้ว่า “ความเท่าเทียมต้องไม่ใช่แค่การขีดเส้นหาค่าแรงขั้นต่ำ (ว่าคนไทยได้ 15,000 บาท คือโอเคแล้วพอแล้ว) แต่คือการขีดเส้นจากคนที่รวยที่สุดในสังคมลงไปถึงคนที่จนที่สุดแล้วดูว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งพื้นฐานในสังคม อย่างการศึกษา และขนส่ง�

5. คนรุ่นฟันปลอม​ รุ่นฟันแท้เชื่อจริงหรือไม่ว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า​ เด็กฉลาดชาติเจริญ ถ้าเชื่อว่าเขาคือ อนาคต​ เขาคือคนที่จะมารับผิดชอบสังคมในอนาคต​ แล้วทำไมถึงเกี่ยงงอนที่จะฟังเสียงของพวกเขาเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่น​ เวลาเห็นเราๆ ท่านๆ เห็นข่าวเด็กวัยรุ่นกระทำความรุนแรง​ อยากให้ลองคิดว่าที่เด็กหลาย ๆ คนเค้าต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทยมันเพราะว่าเด็กไม่รักดี หรือ เพราะเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นเลยว่าความหมายของคำบอกว่า “ดี” มันคืออะไร​ เป็นไปได้ไหมว่าเขาที่สร้างความรุนแรงนั้นอยู่ในระบบการศึกษาที่เขาพ่ายแพ้ และอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บ่มเพาะเขาขึ้นมาจนเป็นแบบนี้

ผู้ใหญ่หลายคนทนไม่ได้กับการที่เห็นเด็กเล็กถูกทำร้าย​ แต่กลับบอกให้จัดการเลยกับเด็กรุ่นฟันน้ำนมที่เวลานี้ลุกขึ้นตั้งคำถามที่กระอักกระอ่วน​ใจที่จะตอบ​ บางทีลึกๆ แล้วมันคือคำถามเดียวกันที่ตนเองก็ไม่ชอบ​ และอยากตั้งคำถามเช่นเดียวกัน​ ตัวอย่างเช่น​ ระบบการให้การศึกษาแก่ผู้คนมันจะดีกว่านี้ได้หรือไม่​ ระบบการขนส่งมวลชน​มันควรมีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมกว่านี้ไหม ทำไมเราทำฟุตพาท​ให้ดีเพื่อให้คนเดินที่ดีกว่านี้ไม่ได้หรือ เป็นต้น​

คนรุ่นฟันปลอมอาจต้องตอบคำถามว่าเรากำลังจะส่งมอบสังคม​ ค่านิยมแบบไหนให้คนรุ่นฟันแท้​ และจะอยู่​ร่วมกันคนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายโดยไม่คิดใช้อารมณ์​ คำพูด​ กำลัง​กาย หรืออาวุ​ธ​ หักหาญ​เอากับคนที่เห็นต่างได้หรือไม่

ผู้เขียนคิดว่า​ ในบทสรุปของการเดินทางต่อไป​ ในท่ามกลางความโกลาหล​ของ​ ปัญหาสุขภาพ​อนามัย​ ปัญหาการทำมาหากินการสร้างรายได้​ ปัญหาภาระ​หนี้สิน​ ปัญหาการรักษางานเอาไว้​ ซึ่งเป็นเรื่องระดับปัจเจก​ ปัญหาด้านค่านิยมก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ ไม่ว่าวัยไหน​จะต้อง

(1) ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกัน​ไม่ว่าจะเป็น​ ใครทำกับใคร​ ยิ่งพวกบ่างช่างยุ​ ยิ่งพวกชอบทำให้สังคมเคลื่อนไหวในทิศทางตามความเชื่อตัวเอง​ เจ้าพิธีในการจัดคนโน้นมาชนคนนี้​ ซึ่งเราจะพบว่ามีการจัดสร้างพิธีกรรมมากมายทั้ง​ Online/Offline ในเวลานี้

(2) เราไม่สามารถเงียบต่อความเหลื่อมล้ำ ต่อการย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลังกันได้อีกแล้ว ขอให้ทุกท่านที่มีศักภาพและอยู่ในฐานะที่ดีกว่าคนอื่นตามที่ตนได้รับมาไม่ว่าโดยครอบครัว​ โดยธุรกิจ​ โดยอำนาจของกฎหมาย​ หากท่านมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนก็ตาม​ ลองคิดดูว่าท่านอยากอยู่กันในสังคมแบบไหน อยากส่งต่ออะไรให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต​ เพราะเราไม่มีสิทธิทำให้สังคมมันแย่ลง​ ด้อยลงกว่าตอนที่เราได้รับมาจากคนรุ่นก่อน

ผมมีข้อความหนึ่งจากหนังสือ​ ปัญญา (ฝ่า)​ วิกฤติ​ ศิลปะแห่งการรับมือกับวิกฤติ​ในช่วงเว​ลาท้าทาย​ที่สุด​ของชีวิตที่ระบุว่า​ “เห็นภาพใหญ่​ กำหนดทิศ​ ตัดสินใจ” มาฝากยังทุกท่านที่ให้ความอนุเคราะห์​อ่านบทความนี้ครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ข้อคิดจากบทความนักวิชาการธนาคารกลางสู่ความจริงในเวลานี้ : วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2563

ข้อคิดจากบทความนักวิชาการธนาคารกลางสู่ความจริงในเวลานี้

ผู้เขียนต้องขอชื่นชมท่านที่เขียนบทความนี้แม้ว่าจะออกตัวว่ามิใช่ความเห็นขององค์กร​ที่ตนเองสังกัดแต่เป็นความเห็นของตนเองก็ตาม​ บทความนี้เป็นสารตั้งต้นให้ผู้เขียนคิดและลงมือเสนอเรื่องราวต่อจากสิ่งที่​ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย​ ได้กล่าวไว้ว่าในโลกของภาคปฏิบัตินั้นน่าจะเกิดขึ้นอย่างไร​ และแน่นอนว่าสิ่งนั้นจะเกิดในปลายปี​ 2563​ นี้แหละครับ

ท่านนักวิชาการและผู้บริหารของธนาคารกลางได้ระบุในบทความว่า​…. Social banking คือ บริการธนาคารออนไลน์บนแอปโซเชียลมีเดีย เป็นโมเดลธุรกิจที่ธนาคารจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาลความร่วมมือระหว่างธนาคารกับ Super App ชั้นนำที่มีทุกอย่างครบในแอปเดียว จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในระยะยาวให้ธนาคารจากการแชร์ข้อมูลกับพันธมิตร ทำให้ Social banking ให้บริการทางการเงินกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารเพราะไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือกู้ไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารยืนยันรายได้เมื่อ Social banking มีข้อมูลใหม่ด้านอื่นมาเสริม ก็จะช่วยให้ธุรกิจนี้เสนอบริการทางการเงินต่างๆได้ถูกที่ ถูกเวลา ตรงความต้องการและศักยภาพของลูกค้าได้ดีขึ้น

ในปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคคุ้นเคยกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ใช้เวลาบนโลกโซเชียลนานขึ้นชอบความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมการเงินดิจิทัลได้ครบในแอปเดียว คนมีทางเลือกมากขึ้นจากบรรดาแพลตฟอร์มธุรกิจเทคโนโลยีที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ ธนาคารจึงต้องเร่งปรับตัวให้เข้าไปอยู่บน Super App ที่รวมทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้ใช้บริการการเงินได้ทุกที่ทุกเวลา

ธุรกิจแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ก็อาศัยจุดแข็งของธนาคารด้านบริการทางการเงินดิจิทัลเต็มรูปแบบและความไว้เนื้อเชื่อใจที่ลูกค้ามีให้กับธนาคารมาเสริมจุดแข็งของตัวเองที่เข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้งานบนเครือข่ายจำนวนมหาศาลและเก่งในการออกแบบแอปให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานให้ทำทุกอย่างได้ในแอปไม่ว่าจะเป็นการแช็ต-ช็อป-บันเทิง-สั่งอาหารส่งของ-เรียกรถไปจนถึงการโอน-ออม-ยืม-จ่ายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่มีรายได้ประจำที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารโดยจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานแอปแต่ละรายเชิงลึกเพื่อประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ทำให้รู้ถึงความเสี่ยงในการกู้เงินและการชำระคืนได้ง่าย…

ท่านผู้อ่านลองนึกตามผมนะครับ

1.SME รายจิ๋วคนหนึ่งเป็นสมาชิกใน​ Platform ขายของในขณะที่ตนเองยังศึกษาในปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยแต่มองเห็นโอกาสในช่วงที่ธุรกิจบนออนไลน์​กำลังมา​ จึงระดมทุนจากที่บ้าน​ เพื่อนฝูงมาดำเนินกิจการ​ แนวโน้มธุรกิจไปได้ดี​ เงินที่วิ่งเข้าวิ่งออกเป็น​ Wallet

2.ต่อมาก็มีข้อเสนอจาก​ Platform ว่าสนใจใช้บริการสินเชื่อวงเงินไม่เกิน​ 50,000 บาทไหมจากธนาคารแห่งหนึ่งเพราะระบบการวิเคราะห์ระบุว่าคนนี้ไปต่อได้แน่นอน

3.SME รายนี้สนใจและเข้าไปดำเนินการผ่าน​ App ของตัว​ Platform ซึ่งมีเมนูของธนาคารนั้นฝังอยู่​ กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก็เกิดขึ้น​ SME รายนี้ไม่มีบัญชีกับธนาคาร​ เขาก็เพียงเดินไปเสียบบัตรประชาชน​ และให้ถ่ายภาพใบหน้าตัวเองที่ตู้เติมเงินของโทรศัพ​ท์เคลื่อน​ที่​ App ก็เตือนขึ้นมาว่าการพิสูจน์​และยืนบันตัวตนเรียบร้อยแล้ว (KYC จบแล้ว)​

4.SME รายนี้กรอกข้อมูล​ตามที่​ App ต้องการ​ และดำเนินการให้ความยินยอมในการที่ธนาคารจะใช้ข้อมูล​ซื้อขายของตนเองที่​ Platform ให้ความยินยอมให้เครดิตบูโรเปิดเผยข้อมูล​เครดิต​ คะแนนเครดิต ยินยอมให้โน่นนี่จนครบ​ จากนั้นก็จะปรากฏข้อมูล​สรุปก่อนกดคำสั่งส่งข้อมูล​ให้ธนาคาร​

5.ไม่เกิน​ 15นาที​ ก็มี​ SMS​ เรียกเข้าว่าเงินกู้อนุมัติแล้ว​ ต้องการยืนยันให้โอนเงินกู้ที่ได้รับจากบัญชีที่เปิดใหม่ไปเข้า​ Wallet ของ Platform หรือไม่​

6.เอกสารหนังสือสัญญาก็ปรากฏขึ้นในเครื่องโทรศัพท์​เคลื่อนที่ภายใน​ App หากยืนยันการลงนามให้ใส่​ PIN ที่เป็นรหัสเข้า​ App และถ่ายภาพใบหน้าตัวเองอีกครั้งหนึ่งเพื่อการยืนยันว่ามีการตอบรับลงนามในสัญญาแล้ว

7.เงินที่ได้รับอนุมัติวิ่งไปเข้า​ Wallet ตามที่กำหนด​ มี​ SMS แจ้งยืนยันว่ามีการถอนเงินจากบัญชีที่เปิดไว้รับเงินกู้จากธนาคารนั้น​ เรียบร้อย​

8.สิ้นเดือน​ SME รายนี้จะได้รับ​ statement รายงานการเคลื่อนไหวเงินเข้าออกใน​ Wallet เงินเข้าออกจากบัญชีเงินฝาก​ ซึ่งแสดงยอดการชำระหนี้ผ่านการหักอัตโนมัติ​ตามข้อตกลงทุกประการ

9.ผ่านไปหกเดือน​ SME รายนี้ก็ไปยื่นเรื่องขอกู้เงินจากอีกธนาคารหนึ่งผ่านสาขา​ มีการเสียบบัตร​ ถ่ายภาพ​ และยืนยันว่าตนเองมีบัญชีเดินอยู่กับอีกธนาคารหนึ่ง​ ขอให้ธนาคารนั้นยืนยันว่าฉันคือคนๆ เดียวกัน​ กรอกข้อมูล​ลงในอุปกรณ์​ของธนาคารที่สาขานั้นคล้ายๆกับธนาคารแห่งแรก ภายในเวลาไม่เกิน​ 30 นาที​ ทางสาขาก็แจ้งว่าได้รับอนุมัติเบื้องต้น​ 100,000​ บาท​ และขอให้จัดส่งเอกสารยืนยันเรื่องรายได้จากกรมสรรพากร (คัดแบบแสดงรายการที่เสียภาษี)​ มาเพื่อจัดทำกระบวนการอนุมัติขั้นตอนสุดท้าย​ ส่วนเงินกู้จะโอนเข้า​ Wallet ได้เลยโดยอาจไม่ต้องเปิดบัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดกับธนาคารแห่งที่สอง

ในภาษาทางเทคนิค​ Open​ super App + Loan application in supper App + eKYC by NDID platform + eConsent + Credit​ bureau report + Bureau score + Platform score + Internal bank score + eContract + eSignature + Money transfer to Wallet…

โลกเปลี่ยน​ คนต้องปรับ​ ธุรกิจต้องขยับ​ เพื่อความอยู่รอด..

ขอบคุณครับ

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “เชื่อเพื่อนจนทำผิด โดยขอกู้แทนมิตร สุดท้ายเครดิตจึงต้องพังง” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 6 พฤศจิกายน 2563

เชื่อเพื่อนจนทำผิด โดยขอกู้แทนมิตร สุดท้ายเครดิตจึงต้องพัง

บทความวันนี้ผมขอนำเสนอข้อมูลจากที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงและก็เป็นอะไรที่เกิดอยู่เป็นจำนวนพอประมาณความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจาก “หนี้สินที่คนอื่นมายืมชื่อของตัวเราเองไปก่อเอาไว้แล้วไม่ยอมใช้หนี้ ท้ายสุดตัวเราเองคือคนที่ต้องมานั่งเสียเงิน เสียใจ เสียความรู้สึก และเสียเพื่อนในท้ายที่สุด” เราลองมาฟังคำถามของท่านที่เดือดร้อนนี้ที่ติดต่อมาที่เครดิตบูโรดังนี้ครับ

….ดิฉันเคยผ่อนมอเตอร์ไซต์ให้เพื่อนผ่านบัตรเครดิตและเข้าใจว่าเพื่อนจ่ายหมดแล้ว เพราะเวลาถามไปก็จะบอกว่าเคลียร์แล้ว ไม่เคยเอะใจหรือขอดูเอกสารยืนยันการชำระหนี้ เพราะเชื่อใจเพื่อนมาก แต่เมื่อสองเดือนที่แล้ว  ดิฉันได้รับจดหมายทวงหนี้จากบริษัทติดตามหนี้สินที่ได้แจ้งว่าซื้อหนี้มาจากบริษัทบัตรเครดิตในบัญชีที่เป็นการผ่อนมอเตอร์ไซต์นั้น ยอดหนี้ไม่กี่พันบาท ดิฉันจึงสอบถามเพื่อน ปรากฏความจริงว่าที่เคยบอกว่าจ่ายหมดไปแล้วนั้นคือ “คำโกหก” และเมื่อเร็วๆ นี้ ดิฉันได้ลองไปตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง “พบว่าในรายงานเครดิตบูโรนั้นมีประวัติบอกสถานะบัญชี 42 คือ โอนหรือขายหนี้ ยอดหนี้เป็นศูนย์” อยากทราบว่าที่บริษัทติดตามหนี้สินที่ซื้อหนี้ของดิฉันมาบริหาร และมีหนังสือแจ้งทวงมานั้น ดิฉันไม่จ่ายได้หรือไม่ เพราะเพื่อนก็ไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น ตอนนี้ดิฉันติดต่อเพื่อนไม่ได้แล้วด้วย

ประเด็นสำคัญที่ควรหยิบมาพิจารณาและดำเนินการให้ถูกต้อง คือ
1. ตอนนี้ท่านผู้อ่านเชื่อหรือยังว่า จิตมนุษย์นี้ไซ้ ยากแท้ หยั่งถึง สังคมไทยเป็นอะไรที่เกรงใจคำขอมากที่สุดโดยเฉพาะคำขอที่มักจะย้ำตามมาว่า “ไม่เชื่อใจเพื่อนหรืออย่างไร” หรือ “ทำไมเรื่องแค่นี้เพื่อนจะช่วยเพื่อนไม่ได้”
2. ตอนนี้ทุกท่านควรทราบอย่างยิ่งว่า ประวัติความน่าเชื่อถือของเราในเรื่องการเงิน เรื่องหนี้สินไปขึ้นกับพฤติกรรมของคนอื่นนั้น มันมีความเสี่ยงขนาดไหน ท่านต้องไม่ทำโดยเด็ดขาด ไม่ว่าฟ้าจะถล่มแค่ไหนก็ต้องไม่ให้ใครเขามาเอาชื่อของเราไปใช้ในเรื่องแบบนี้
3. ไม่มีใครรู้ว่าท่านกู้แทนกันหรือไม่นะครับ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเป็นหนี้แทนคนอื่นแล้วเกิดปัญหา เจ้าหนี้ไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นการกู้แทนกันเพราะไม่มีใครแจ้งความจริง จนกระทั่งเรื่องแดงขึ้นมาว่าคนที่ไปขอกู้ (ที่ให้เพื่อนยืมชื่อ) เจอหนังสือทวงถามเอาเต็มๆ ดังนั้นใครที่กำลังจะเป็นหนี้แทนคนอื่น ขอให้คิดให้รอบคอบ คิดหลายๆ รอบ
4. ที่บริษัทบัตรเครดิตต้องขายหนี้ออกไปเพราะมันตามยาก จำนวนน้อย ไม่คุ้มกับการติดตาม หรือการดำเนินการทางกฎหมาย เขาจึงขายออกไปให้กับคนที่จะเอาไปทวงถามต่อและคิดว่าจะติดตามให้มีการนำเงินมาชำระได้ พูดง่ายๆ เขาถนัดและเชี่ยวชาญการตามหนี้กว่าบริษัทบัตรเครดิตนั่นเอง
5. สถานะของบัญชีระบุว่า 42 คือ โอนหรือขายหนี้ ก็ตรงกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีการขายหนี้จากฝั่งบริษัทบัตรเครดิตไปยังบริษัทติดตามหนี้สิน เลขสี่สิบสองเป็นเพียงการระบุ Code เท่านั้น

6. ที่ระบุว่ายอดหนี้เป็นศูนย์ หมายความว่า บริษัทบัตรเครดิตได้รับเงินจากการขายหนี้ออกไปแล้ว เงินที่ชำระไม่ได้มาจากลูกหนี้แต่มาจากบริษัทติดตามหนี้สินที่ชำระหนี้บัญชีเป็นค่าซื้อขายสิทธิเรียกร้อง ดังนั้นบริษัทบัตรเครดิตจึงไม่ได้เป็นเจ้าหนี้อีกต่อไป ยอดหนี้จึงเป็นศูนย์ ประกอบกับสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้เจ้าของบัญชีเดิมได้โอนย้ายจากบริษัทบัตรเครดิตมายังบริษัทติดตามหนี้สิน ลูกหนี้ที่ปรากฏชื่อในสัญญาที่แม้ไม่ใช่เจ้าของบัญชีตัวจริง (เพราะมีการยืมชื่อไปก่อหนี้) ก็ต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้น จะไปเหมาแบบมั่วๆ เข้าข้างตัวเองว่าเพราะมียอดหนี้เป็นศูนย์แล้วจะไม่จ่ายไม่ได้ครับ
7. เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา ไปทำไว้อย่างไรก็ต้องรับผิดชอบไปตามนั้น เมื่อยังไม่มีการชำระหนี้ที่ค้างไว้ก็ยังไม่มีการปิดบัญชี
8. แนะนำให้เจรจากับบริษัทติดตามหนี้สินเพื่อชำระหนี้ที่ค้างและปิดบัญชีอย่างสมบูรณ์เพื่อจบปัญหา และเมื่อมีการชำระหนี้ปิดบัญชีกับบริษัทติดตามหนี้สินแล้ว ให้นำใบเสร็จรับเงินที่เขาออกให้ มาเป็นหลักฐานการยื่นขอสินเชื่อใหม่กับสถาบันการเงินที่มีโครงการจะขอสินเชื่อ สถาบันการเงินที่จะพิจารณาจะได้เห็นข้อมูลในส่วนที่ดี ว่ามีการชำระหนี้ที่ค้างไปแล้วสมบูรณ์ สถาบันการเงินนั้นอาจพิจารณาสินเชื่อให้ตามคำขอก็ได้ ทั้งนี้ เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติหรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใครครับ
9. ท่านควรเลิกคบเพื่อนคนนี้หรือไม่ ท่านควรแจ้งเพื่อนฝูงหรือไม่ว่า คนที่ทำให้เราเดือดร้อนรายนี้เพื่อนๆ ที่เหลือควรเลิกคบหรือไม่ ท่านจะนิ่งเฉยเสมือนเป็นการส่งเสริมให้เขาคนนั้นไปคิดทำแบบนี้กับคนอื่นอีกมากมายหรือไม่…ผมว่าท่านมีคำตอบแล้ว

เครดิตบูโรมีหน้าที่อะไร? ใครกันแน่ที่ทำให้เรากู้ไม่ผ่าน?

เครดิตบูโรมีหน้าที่อะไร? ใครกันแน่ที่ทำให้เรากู้ไม่ผ่าน?

กู้ไม่ผ่านสักที เพราะเครดิตบูโรจริงหรือ ?

เมื่อการยื่นขอสินเชื่อไม่ผ่าน มักจะเกิดคำถามทุกครั้งว่าเกิดจากสาเหตุใด เป็นเพราะเครดิตบูโรหรือไม่ แล้วเครดิตบูโรทำหน้าที่อะไร ส่งผลต่อการยื่นขอสินเชื่อจริงไหม วันนี้มาทำความเข้าใจกับเครดิตบูโรกันค่ะ

“หน้าที่หลักของเครดิตบูโรคืออะไร?”

เครดิตบูโร ทำหน้าที่ เก็บข้อมูลการชำระหนี้ของลูกหนี้ ตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้สถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อไว้กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้

แต่เครดิตบูโรไม่ได้มีส่วนในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด การตัดสินใจทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับสถากันการเงินที่ดูปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกัน

ฉะนั้นในการยื่นขอกู้สินเชื่อนั้น จะขอกู้ผ่านหรือไม่ผ่าน ขึ้นอยู่กับนโยบาย คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงินที่กำหนดขึ้นมาค่ะ

ปัจจัยในการกู้ไม่ผ่าน สินเชื่อไม่อนุมัติมีหลายสาเหตุปัจจัยมากมาย ซึ่งเราได้ยกตัวอย่างปัจจัยที่อาจทำให้ท่านขอสินเชื่อไม่ผ่านมาฝากกันค่ะ

1. ประวัติไม่เข้าตาสถาบันการเงิน
การขอกู้สินเชื่อสถาบันการเงินจะมีนโยบายหลักเกณฑ์และคุณสมบัติที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนและแตกต่างกันไป เช่น อายุ รายได้ ประวัติการเงิน ภาระหนี้ เป็นต้น ซึ่งหากมีข้อใดที่ขาดตกบกพร่อง หรือไม่ผ่านคุณสมบัติก็อาจะทำให้กู้ไม่ผ่านได้

2. ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ
สถาบันการเงินจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ว่าจะสามารถชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ โดยวัดจากสลิปเงินเดือน และหนี้สินของผู้กู้ ซึ่งหากมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือสัดส่วนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนสูง ก็มีสิทธิ์ที่จะขอสินเชื่อไม่ผ่านได้ค่ะ

3. หลักประกันความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ
เช่น หลักค้ำประกัน ผู้ค้ำประกัน เป็นต้น หากหลักประกันมีความไม่น่าเชื่อถือ อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ค่ะ

4. ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้
หากผู้ขอสินเชื่อ เคยมีการยื่นขอสินเชื่อผ่านก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้จากประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา

สรุปคือ การที่จะกู้ผ่านหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 สาเหตุ
– สถาบันการเงิน
เป็นผู้ที่ออกหลักเกณฑ์ในการอนุมัติ และตัดสินใจว่าจะให้สินเชื่อหรือไม่ ซึ่งการจะขอสินเชื่อผ่านหรือไม่ผ่านจะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินค่ะ

– ตัวเราเอง
ควรมีพฤติกรรมการใช้เงินที่ดี รักษาประวัติเครดิตให้ไม่เสีย และคุณสมบัติให้ตรงเกณฑ์สถาบันการเงิน

จดทะเบียนสมรสกันแล้วหนี้อะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

จดทะเบียนสมรสกันแล้วหนี้อะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

เรื่องของหนี้เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร แม้ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดจากคู่สมรส หรือคนในครอบครัวก็ตาม แล้วคำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ หนี้แบบไหนที่คู่สมรสต้องร่วมกันรับผิดชอบ และหนี้แบบไหนที่ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ มาหาคำตอบกันค่ะ

หนี้แบบไหนที่คู่สมรสต้องรับผิดชอบร่วมกัน

1. หนี้จากการใช้จ่ายทั่วไป
หนี้ที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป ค่ากิน ค่าเลี้ยงดูบุตร รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม เช่น หนี้ค่าต่อเติมบ้าน หนี้จากการกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินเป็นสินสมรส เป็นต้น ซึ่งหนี้ประเภทนี้ถือเป็นหนี้ที่คู่สมรสต้องรับผิดชอบร่วมกัน

3. หนี้จากการทำธุรกิจร่วมกัน
เช่น การเปิดร้านอาหาร กิจการการค้าขายร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายภายในร้านถือเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกัน แม้ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปกู้ยืมมาก็ตาม หากเกิดการผิดชำระหนี้เราก็ต้องเป็นผู้ชำระหนี้แทนค่ะ

4. หนี้จากการสัตยาบันจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้กู้เงินด้วยตนเองก็ตาม แต่หากได้มีการสตยาบันหรือทำนิติกรรมให้กับอีกฝ่าย ก็ถือว่าเป็นหนี้ร่วมเช่นกันตามกฎหมาย

หนี้แบบไหนที่คู่สมรสไม่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

1. หนี้สินก่อนสมรส
เพราะถือเป็นหนี้ส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับคู่สมรส ดังนั้นคู่สมรสจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้ให้

2. หนี้จากการพนัน
หนี้ที่กู้มาใช้เพื่อการพนัน ไม่ถือเป็นหนี้ร่วมกันเพราะไม่ได้กู้มาเพื่อนำมาใช้จ่ายครอบครัว ไม่จำเป็นต้องชำระหนี้แทน

3. หนี้จากบัตรเครดิต
ภาระหนี้ที่เกิดจากบัตรเครดิตส่วนตัว ที่นำไปใช้จ่ายเพื่อการส่วนตัว เช่น ซื้อของใช้ส่วนตัว ชำระค่าบริการที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ครัวเรือน ไม่ถือว่าเป็นหนี้ที่คู่สมรสต้องจ่าย หรือชำระร่วมกัน

4. หนี้จากสัญญาค้ำประกัน
เพราะถือมีสถานะเป็นเพียงผู้กู้ ไม่ได้มีสถานะเเป็นลูกหนี้ร่วม จึงไม่มีความจำเป็นต้องชำระหนี้ร่วมกัน

5. หนี้ที่กู้มาเพื่อมอบให้กับบุคคลที่สาม
ซึ่งบุคคลที่สามในที่นี้คือ บุคคลที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เช่น ชู้ เพื่อน เป็นต้น หากคู่สมรสเกิดค้างชำระหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบร่วมกัน

จดทะเบียนสมรสกันแล้วหนี้อะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

เรื่องน่าอ่าน