Blog Page 77

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : มุมหนึ่งที่น่าคิดของการแก้หนี้ครัวเรือนกลุ่มสินเชื่อบางประเภท : วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2563

มุมหนึ่งที่น่าคิดของการแก้หนี้ครัวเรือนกลุ่มสินเชื่อบางประเภท
ในการหาทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สร้างความกดดันให้กับผู้คน​ จากการได้ลงไปทำงานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินคุณครู​และบุคลากรทางการศึกษา​ พบข้อเท็จจริงบางประการ​ว่า​ ลูกหนี้กลุ่มอาชีพนี้มีหนี้สินกับสหกรณ์​ออมทรัพย์​ที่บริหารจัดการด้วยผู้คนในแวดวงอาชีพเดียวกัน​ หลายท่านอาจไม่ทราบว่าจากการรวบรวมตัวเลขของค​ณะผู้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาพบว่า​ คุณครูและบุคลากร​ทางการศึกษามีหนี้กับสหกรณ์​ออมทรัพย์​ครู​ประมาณ 800,000 ล้านบาท และก็ยังมีสถาบันการเงินของรัฐให้สินเชื่ออีกหลายแห่งรวมๆกันประมาณ​ 600,000 ล้านบาท​ รวมแล้วเบ็ดเสร็จ​ประมาณ​ 1.4 ล้านล้านบาท​ อันนี้เฉพาะอาชีพเดียว​ สินเชื่อเงินหักหน้าซอง/สินเชื่อสวัสดิการ​ มันได้ตามมาหลอกหลอนท่านที่เป็นลูกหนี้มาก​ เพราะพอเงินเดือนออก​ จะมีรายการชำระหนี้เงินกู้สหกรณ์​ออมทรัพย์​มารอตัด​ ตามด้วยสินเชื่อสวัสดิการที่หน่วยงานต้นสังกัดไปร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐเอามาให้คุณครูกู้​ เป้าหมายอาจสวยหรู​ว่าเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่​ สร้างอาชีพเสริม​ หากแต่ว่าในความจริงแม้มีกติกาว่า​ การจะหักเงินเดือนหน้าซองจะต้องเหลือเงินเข้าซองไม่น้อยกว่า​ 30% คิดง่ายๆคือเงินเดือน​ 30,000 บาทต่อเดือน​ หักชำระหนี้ได้สูงสุด​ 21,000 บาทต่อเดือน​ เหลือเข้าซอง​ 9,000 บาทต่อเดือน​ ไอ้ที่เข้าซองไปก็ต้องมีหนี้บัตรเครดิต​ หนี้ส่วนบุคคล​ อีกหรือไม่​ ถ้ามีก็ต้องไปจ่ายเจ้าหนี้เขา​ กติกาหรือระเบียบนี้ก็มีการปฏิบัติอย่างไม่จริงจังหรือไม่​ จนทำให้การก่อหนี้​ การสร้างหนี้​ การหักหนี้​ มันทำให้เงินเหลือเข้าซองแบบว่า​ เกือบเจ็ดหมื่น​ เข้าซองเจ็ดพัน​ หรือเจ็ดร้อย​ จนเป็นเรื่องราวกันอย่างที่ทราบๆ​ 
ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังข้อมูล​จากนายธนาคารกลางที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้ครับ​ ท่านได้แสดงความเห็นไว้น่าสนใจและขอนำมาส่งต่อเพื่อให้เราๆ ท่านๆ และท่านที่อยู่บนหอคอยงาช้าง​ ซึ่งกำลังแก้ปัญหาในห้องทดลอง​ (Lab แห้ง คือ ใช้ความคิดปกติแบบเดิมมาออกแบบแก้ปัญหาที่ไม่ปกติบวกการฟังแต่ไม่ยอมได้ยิน)​ ได้ลองเปิดใจรับฟังสิ่งที่คนเดินถนนอย่างผู้เขียนได้นำเรียนดังนี้นะครับ
… สินเชื่อที่หักจ่ายเงินเดือนหน้าซอง ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ เป็นที่หมายปองของเจ้าหนี้
ในด้านหนึ่งยากที่จะปฏิเสธว่าการที่คุณครูจำนวนไม่น้อยมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงส่วนสำคัญเป็นเพราะคุณครูมีความต้องการสินเชื่อเพื่อจับจ่ายใช้สอยในเรื่องต่างๆ (demand) แต่อีกด้านหนึ่งซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้พูดถึงมากนัก คือการแข่งขันกันของเจ้าหนี้ในการปล่อยสินเชื่อให้คุณครู (supply) ซึ่งก็ยากที่จะปฏิเสธเช่นกันว่าการแข่งขันของเจ้าหนี้เป็นต้นเหตุที่มีความสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้คุณครูมีหนี้ค่อนข้างจะสูง 
นับตั้งแต่เริ่มบรรจุในวันแรก คุณครูสามารถที่จะกู้เงินเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น และเมื่ออาชีพการงานก้าวหน้าไปตามลำดับและเงินเดือนที่ได้สูงขึ้น 
สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของคุณครูพร้อมที่จะให้คุณครูกู้รายละหลายล้านบาท ในขณะที่สถาบันการเงินก็พร้อมที่จะให้สินเชื่อสวัสดิการ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าหนี้ต่างหมายปองสินเชื่อที่หักเงินเดือนหน้าซองของคุณครูเนื่องจากเป็นสินเชื่อมีความเสี่ยงต่ำ นายจ้างหรือหน่วยงาน​ต้นสังกัด หรือกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ทำหน้าที่หักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นประจำทุกเดือน (collection) และสินเชื่อหักเงินเดือนหน้าซองของคุณครู ถือเป็นสินเชื่อหักเงินเดือนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี แม้สินเชื่อที่หักเงินเดือนหน้าซองมีความเสี่ยงต่ำ แต่พบว่าสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากครูสูงต่ำแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อและเจ้าหนี้ 
จากการสำรวจของกรมส่งเสริมสหกรณ์ พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคิดดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-9% ในขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินของรัฐคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4-10% โดยรวมแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆคิดจากคุณครูถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาว่าความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (credit cost) หรือความเสี่ยงที่คุณครูจะผิดนัดชำระหนี้มีอยู่ต่ำมาก และเจ้าหนี้แทบที่จะไม่มีมีค่าใช้จ่ายในตามเก็บหนี้ (operation cost) เลย เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่หักค่างวดชำระหนี้ที่คุณครูต้องจ่ายจากเงินเดือนของคุณครูเป็นประจำทุกเดือนเพื่อส่งเจ้าหนี้ ในขณะที่ต้นทุนของการระดมทุน (funding cost) ทั่วโลกอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทย… 
คำถามคือ​ ถ้าเดินด้วยดอกเบี้ยเงินกู้แบบนี้ในสถานการณ์​แบบนี้มันเกินเลยไปหรือไม่​ มันควรต้องลดลงตามความเสี่ยงของการเก็บหนี้ที่ตนเองไม่ต้องมีต้นทุนหรือไม่​ การลดดอกเบี้ย​ ลดค่าผ่อนลง​ ยืดหนี้ออกไป​ ลดการส่งค่าหุ้น​ ลดดอกเบี้ยเงินฝากลงมาเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเงินกู้มันสูงแบบนี้ในเวลานี้ควรต้องทำหรือไม่​ การปรับโครงสร้างหนี้ถ้าทำฝั่งเดียวคือสถาบันการเงิน​ เงินก่อนหักหน้าซองจะมีเหลือเพิ่ม​ คนที่มีสิทธิหักหน้าซองโดยอ้างกฎหมายที่ออกแบบมาตั้งแต่ในอดีตก็จะหักได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น​ ไม่มีแรงจูงใจให้เขาต้องลงมาช่วยลูกหนี้เพิ่ม​ เพราะเจ้าหนี้อื่นถูกกดดันให้ช่วยลูกหนี้แล้ว​ อีกทั้งตนเองก็ไม่ได้อยู่​ในกำกับของธนาคารกลาง​ 
ผู้เขียนใคร่ขอเสนอความเห็นแบบหักดิบดังนี้นะครับ​ ทำได้หรือไม่ก็ว่ากัน
1.ลดดอกเบี้ยเงินฝากให้เหลือไม่เกิน​ 1.5-2% เพราะดอกเบี้ยได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว
2.ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ให้เกิน​ 4-4.5%
3.ลดการนำส่งค่าหุ้นให้เหลือเป็นขั้นต่ำ​ 100 บาทต่อเดือน​ ใครจะมากกว่านี้ก็ได้​ สถานภาพ​สมาชิกไม่กระเทือน
4.เงินปันผล/เงินเฉลี่ยคืนไม่เกิน​ 4%
5.รายที่เป็นหนี้วิกฤติให้เอาหุ้นที่ลงไว้แล้วมาหักหนี้เพื่อยุบหนี้ปัจจุบันลงไปโดยสามารถไถ่ถอนได้ไม่เกิน​ 500,000 บาทต่อรายเป็นต้นและให้ทำครั้งเดียว
6.ไม่มีการให้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) มาสนับสนุนเพราะเป็นเรื่องการบริหารจัดการของแต่ละแห่ง​ 
ผู้เขียนคิดแบบผ่าทางตันแล้วครับ​ ท่านจะด่าว่าอย่างไรก็พร้อมน้อมรับ แต่เห็นแววตาของคุณครูที่เป็นหนี้แล้วไปต่อไม่ได้​ หรือไปได้ยากแล้วมันทุกข์​ใจ
ขอบคุณครับ

ข่าวเครดิตบูโร 005/2563 : สำนักงาน กสทช. จับมือเพิ่มเติมกับ ทีโอที ดีแทค สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตลาดหลักทรัพย์ และเครดิตบูโร ต่อยอดพัฒนาระบบ Mobile ID หรือบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ บนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้บริการประชาชน

วันที่ 7 ธันวาคม 2563

สำนักงาน กสทช. จับมือเพิ่มเติมกับ ทีโอที ดีแทค สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตลาดหลักทรัพย์ และเครดิตบูโร ต่อยอดพัฒนาระบบ Mobile ID  หรือบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ บนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้บริการประชาชน

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกในชื่อ Mobile ID หรือ แทนบัตรณ สำนักงาน กสทช.

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล  รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า  ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ แทนบัตรหรือ Mobile ID ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการทดสอบทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ได้แก่ กรมการปกครอง       กรมการขนส่งทางบก สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำระบบ แทนบัตรหรือ Mobile ID นี้ ไปพัฒนาต่อและประยุกต์ใช้ภายใต้ภารกิจต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน และวันนี้สำนักงาน กสทช. พร้อมแล้วที่จะขยายการทำงานร่วมกันเพิ่มเติมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อทำการทดสอบทดลองในระยะ Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถให้ประชาชนร่วมทดลองการใช้งานในช่วงไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๔ ซึ่งปัจจุบัน สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมทำงานกับ ETDA และหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาการกำหนดมาตรฐานของการให้บริการในระยะทดสอบทดลองนี้ด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งาน Mobile ID ในระยะทดสอบได้ภายในไตรมาสที่ ๑ ปี ๒๕๖๔

นายมรกต เธียรมนตรี  รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า TOT เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมควรร่วมกันพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การร่วมโครงการนี้ TOT จะสามารถต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า TOT สามารถใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วย และมีความเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาการให้บริการของ TOT ในช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น เช่น การซื้อ SIM Card การย้ายค่ายเบอร์เดิมโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มจุดให้บริการได้ทั่วประเทศโดยใช้ช่องทางออนไลน์

          นายชารัด เมห์โรทรา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  กล่าวว่าดีแทคสนับสนุนรัฐบาล และ กสทช. ในการเริ่มพัฒนา “การยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล” ให้ประสบความสำเร็จและใช้งานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาเพื่อความมั่นใจในบริการดิจิทัลของภาครัฐและเอกชน ดีแทคได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) Mobile ID หรือ “แทนบัตร” เพื่อเข้าร่วมในช่วง Sandbox ทดสอบเทคนิค และพัฒนาระบบต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ และนำเสนอหลักการสำคัญ เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันระบบ Mobile ID ให้ใช้งานได้สมบูรณ์ในบริการต่าง ๆ เพื่อผู้ใช้งานจำนวนมาก และพัฒนาระบบจนมั่นใจในการรักษาทุกธุรกรรมออนไลน์ให้ปลอดภัย นอกจากนี้ ภายใต้กลยุทธ์ทางธุรกิจของดีแทคที่มุ่งสู่ “Digital first” เรามองเห็นโอกาสมากมายสำหรับการให้บริการดิจิทัลที่สะดวกเพิ่มขึ้น และไว้ใจได้ในความปลอดภัยของข้อมูลแก่ลูกค้าของเรา ระบบ Mobile ID จะช่วยให้ลูกค้าดีแทคสามารถลงทะเบียนซิมใหม่หรือรับบริการธุรกรรมอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล การใช้ระบบ Mobile ID จะช่วยลดงานที่ซ้ำซ้อนในการยืนยันตัวตนอีกด้วย 

นางสาวกมลวรรณ ศีลาภิรัติ  รองผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า DPA เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือก                            ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของ DPA ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ การร่วมโครงการนี้ DPA จะดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับ Mobile ID เพื่อต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า DPA สามารถใช้บริการของ DPA ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการขอทราบข้อมูลต่างๆผ่านช่องทางออนไลน์ของ DPA และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป

นายถิรพันธุ์ สรรพกิจ  รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า SET เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือกในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของ SET ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ การร่วมโครงการนี้ SET จะดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับ Mobile ID เพื่อต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า SET สามารถใช้บริการของ SET ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการขอเปิดบัญชีเพื่อลงทุน และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป

นายสุรพล โอภาสเสถียร  ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทย โดย Mobile ID จะสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของเครดิตบูโร ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการให้บริการกับลูกค้าของเครดิตบูโร การร่วมโครงการนี้ เครดิตบูโร  จะดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับ Mobile ID เพื่อต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้าของเครดิตบูโร สามารถใช้บริการ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการขอตรวจสอบเครดิตสำหรับรายย่อย และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ตามที่สำนักงาน กสทช.ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป

 

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “ครั้งแรกในไทย…ตรวจเครดิตสกอริ่งได้ทันที ผ่านแอปเกียรตินาคินภัทร (KKP e-Banking Application)” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 4 ธันวาคม 2563

ครั้งแรกในไทย…ตรวจเครดิตสกอริ่งได้ทันที ผ่านแอปเกียรตินาคินภัทร (KKP e-Banking Application)

บทความในวันนี้ ขอเสนอบริการใหม่…ล่าสุด คือ บริการตรวจข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่งผ่าน แอปพลิเคชัน KKP e-Banking ครั้งแรกในไทย..ท่านสามารถตรวจเครดิตสกอริ่งผ่านแอปได้ในทันที โดยเป็นความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงานในระบบสถาบันการเงินไทย คือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) เพื่อจะกระตุ้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่สำคัญของตัวลูกค้าในโลกดิจิทัลอย่างน้อย 3 เรื่องคือ (1) การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อต่างๆ จากสถาบันการเงินคือรู้จักตัวเราเองก่อนไปคุยกันในรายละเอียดกับคนให้กู้ รู้ตัวเองว่าประวัติการก่อหนี้ และการชำระหนี้ในอดีตตนเองเป็นอย่างไร มีคะแนนเครดิตหรือเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) ระดับไหน เป็นคนมีความเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ระดับไหน (2) รู้จักการพิสูจน์และการยืนยันตัวตนผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Know your customer หรือ KYC) ในโลกยุคดิจิทัล ผ่าน Mobile Application (3) รู้จักการสมัครหรือการขอสินเชื่อผ่านเครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่ต้องใช้เอกสารที่เป็นกระดาษตั้งแต่ยื่นขอ ได้รับอนุมัติ เงินเข้าบัญชีเพื่อการเบิกถอนไปใช้ตามวัตถุประสงค์

บริการนี้สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนแอปธนาคารเกียตรนาคินภัทร ท่านต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน KKP e-Banking ก่อนใช้งาน ได้ที่ App Store (ระบบ IOS) หรือ Google Play (Android) ส่วนการใช้บริการตรวจข้อมูลเครดิตผ่านแอปแอปพลิเคชัน KKP e-Banking ได้ตามขั้นตอนนี้ครับ 1) ใส่รหัส MyPin 2) เลือกบริการตรวจเครดิตบูโร 3) เลือกตรวจเครดิตบูโรได้ 2 แบบ คือ รายงานข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง หรือ รายงานข้อมูลเครดิต 4) เลือกบัญชีตัดเงินจากแอปและกดยอมรับคำขอตรวจสอบ 5) กดยืนยันตัวตน KKP NDID Service 6) แสดงข้อมูลเครดิตสกอริ่งและรายงานเครดิตแบบสรุปผ่านหน้าจอแอปได้ทันที 7) จัดส่งรายงานรูปแบบ e-Credit Report ทางอีเมลได้ทันที ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/kkp-e-banking-application

คำเตือน กรณีชื่อ-นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์มือถือ และที่อยู่ของท่านมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาปรับแก้ไขในระบบให้ถูกต้องก่อนใช้บริการครับ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเครดิตบูโรดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิตได้อย่างรวดเร็ว หลากหลายช่องทาง อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองและเพื่อป้องกันภัยการเงินในยุคปัจจุบัน รวมทั้งการรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : เรามีคนแบบนี้จริงๆในระบบการพยายามยื่นขอกู้… ความรู้ที่จะพาคนวิบัติ : วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2563

เรามีคนแบบนี้จริงๆในระบบการพยายามยื่นขอกู้… ความรู้ที่จะพาคนวิบัติ

 จากการที่เครดิต​บู​โรมีระบบติดตาม​ เฝ้าดู​ เฝ้าระวังในโลกสื่อสารออนไลน์​ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์​ว่าในขณะนี้เรากำลังจะมีประเด็นอะไรบ้างที่สร้างความเสี่ยงในระบบของการให้สินเชื่อ​ แล้วเราก็พบสิ่งที่น่าสนใจครับ​ มีคนหัวหมอเขียนบทความว่า​ การกู้เพื่อหาทางเพิ่มทรัพย์สินด้วยการคิดว่ามันมีช่องโหว่ในระบบ​ แล้วก็ออกคำแนะนำ​ ผู้เขียนขอแจ้งไปยังท่านที่คิดจะทำตามว่าเรื่องนี้ได้มีการจัดวางระบบเพื่อการแก้ไขดังนี้นะครับ​ 

ประเด็นที่มีการนำเสนอว่า​ กู้แบบระเบิดบูโร​ ทำได้อย่างไร​ ลองอ่านดูก่อนนะครับ​ ข้อความดังนี้​…… 

ระเบิดบูโร” แนวคิดจริงๆ อันนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสีเทาหน่อยๆ นะครับ เพราะว่าการระเบิดบูโร ถามว่ามันถูกต้องตามกฎ ตามหลักการของทางแบงก์หรือไม่ ผมว่ามันก็ไม่ถูก แต่มันเป็นการใช้ช่องโหว่ในระบบมาทำ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรในมุมการลงทุน (ผู้เขียน​: เพื่อให้ได้ทรัพย์​สิน เช่น คอนโดมาหลายห้องเอาไปหาประโยชน์​ สร้างรายได้)​ ถ้าเราวางแผนที่จะจ่ายคืนหนี้ทั้งหมดได้นะครับ (ผู้เขียน : คำถามคือจะมีสักกี่คนที่สามารถหมุนหนี้แล้วรอด)​

 มาเริ่มกันก่อนที่คำว่า “ระเบิดบูโร” จริงๆเป็นการพูดให้เท่ห์ นิยามของมันก็คือการกู้แบงก์ พร้อมกันหลายๆ ทรัพย์ เช่น ปกติโดยฐานเงินเดือนเราสามารถจะกู้ซื้อคอนโดได้ที่วงเงิน 5 ล้านบาท ถ้าเราคิดว่าเราอยากจะลงทุน หรือเราอยากจะได้คอนโดทั้งหมด 2 หลังๆ ละ 5 ล้านบาท โดยวิธีปกติ ถ้าเรากู้คอนโดสองครั้ง ก็เท่ากับว่าเราต้องมีวงเงิน 10 ล้านเราถึงจะกู้ได้ทั้งสองหลัง แต่ ๆ ๆ ๆ ถ้าเราใช้วิธีการระเบิดบูโร คือ ยื่นกู้พร้อมกัน และโอนพร้อมกัน เราก็จะสามารถเป็นเจ้าของคอนโดทั้ง 2 หลังได้ (ผู้เขียน​ : คำเตือนคือท่านก็เป็นหนี้สองก้อนบนความสามารถตั้งแต่วันแรกว่ารับผิดชอบได้แค่ก้อนเดียว​ กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด​ ชีวิตก็เสี่ยง​ มันเท่ห์ตรงไหน)​ แล้วทำไมมันถึงสามารถกู้พร้อมกันได้ล่ะ ต้องย้อนกลับไปมองที่ระบบกลางของธนาคารในไทยเรานะครับ ปกติเขาจะมีสำนักงานเครดิตบูโร ที่จะบันทึก (record) ยอดหนี้สินของทุกๆ คนในทุกๆ เรื่องเอาไว้ เวลาที่เราจะทำการกู้ทางธนาคาร ก็จะเอาประวัติเราไปเช็กหนี้สินที่ฐานข้อมูลจากเครดิตบูโรก่อน 

 แต่จากที่ผมทราบมาฐานข้อมูลตัวนี้จะไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัย (update) ตามเวลาจริง (real time) มากนัก มันจะมีอัตราการปรับให้ทันสมัย (update) ข้อมูลที่ช้ากว่ากำหนด (delay) ประมาณ 30 วัน (อันนี้จากที่เคยได้ยิน จริงๆ ก็ไม่รู้ว่ากี่วันนะครับ) ดังนั้น ถ้าเราทำการกู้คอนโด 2 หลังพร้อมกัน โอนที่ที่ดินในวันเดียวกัน ข้อมูลในเครดิตบูโรมันก็ยังจะไม่ขึ้นว่าเรามียอดหนี้เกินกว่าฐานเงินเดือนของเรา ก็จะทำให้เรากู้ได้ และโอนคอนโดมาเป็นเจ้าของได้ครับ (ผู้เขียน​ : ระบบจะทำการ​ update รายเดือนหลังจากที่บัญชีใหม่เปิดขึ้นมาไม่เกิน​ 30 วันซึ่งเป็นไปตามรอบ เช่น​ ข้อมูล​ที่เกิดภายในเดือนมีนาคม​จะถูกนำส่งเข้าระบบไม่เกินวันที่​ 20 ของเดือนเมษายน​ และจะถูกนำขึ้นระบบฐานข้อมูล​ไม่เกินวันที่​ 25 ของเดือนเมษายนครับ) 

 เรื่องที่ต้องระวังกับการ ระเบิดบูโร ??!!??

อย่างที่บอกไปนะครับว่าระเบิดบูโรไม่เป็นสีเทามันก็อาจจะมีผลเสียเกิดขึ้นกับเราได้ (ผู้เขียน​ : ท่านที่แนะนำผมต้องขอเรียนว่าท่านกำลังทำบาป​ บาปเคราะห์​จะตกกับคนที่คิดไม่ครบ​ โลภ​ และท้ายที่สุดจะเป็นหนี้เสีย)​ อย่างที่ผมพอจะคิดๆ ออกก็คือ

1. เราต้องมั่นใจจริงๆ นะ ว่าเราสามารถจ่ายคืนหนี้ได้ (ผู้เขียน​ : ก็ตั้งแต่ต้นมันผ่อนไม่ไหว​ แล้วจะมั่นใจว่าจ่ายหนี้ได้อย่างไร​ ก็เพราะรู้ตั้งแต่ต้นว่ากู้ตรงไปตรงมาไม่ได้​ เลยจะมาวิ่งทางลัด​ไม่ใช่หรือ)​ เพราะ ถ้าหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนมันเกินกำลังเรา สุดท้าย ไปต่อไม่ไหว ก็จะล้มกันหมดนะครับ ทีนี้จะกลายจากระเบิดบูโร เป็นติดเครดิตบูโร (ผู้เขียน​ : การมีประวัติผิดนัดชำระมันเป็นเรื่องที่ดีกับชีวิตเหรอ​ มันไม่ได้สนุกเหมือนเล่นเกมนะครับ​ จะทำไปเพื่อ..)​ คิดง่ายๆ ว่า กู้ 5 ล้านต้องจ่ายเดือนละ 3 หมื่น ถ้าเรากู้สองห้องพร้อมกันก็ต้องจ่าย 6 หมื่นบาทต่อเดือน เราไหวกันไหมครับ ? แต่ ๆ ๆ ๆ ในกรณีที่เราเอาห้องมาปล่อยเช่า ผู้เช่าก็จะช่วยเราจ่ายด้วย ดังนั้นก็ต้องคิดเลขดีๆ ไว้ก่อน และคิดเผื่อตอนที่แย่ที่สุดไว้ด้วยนะครับ เช่น ตอนที่ห้องว่างหมดเลย เราจะเอาเงินสำรองที่ไหนมาจ่าย ถ้ามันว่างต่อไป 3 เดือน จะทำอย่างไร คิดไว้ด้วยนะครับ (ผู้เขียน​ : ท่านที่แนะนำ​ ทำไมท่านไม่บอกต่อล่ะครับว่าเวลาจมลงไปในบ่อหนี้​ ปีนขึ้นมาไม่ได้​ ถูกทนายเร่งรัดหนี้สิน​ ชีวิตมันตกนรกแค่ไหน​ ให้คำแนะนำ​ สร้างฝัน​ แล้วหนีออกไปแบบเนียนๆ​ ท่านกำลังทำบาปที่ให้ยาพิษเป็นความรู้กับคนที่โลภและหลงไปกับความไม่มีอยู่จริง)​

 2. จำนวนแบงก์ที่เรายื่นกู้ก็มีผลนะครับ หมายถึงว่า ตอนที่เรายื่นกู้ทางธนาคารเขาจะมีการเช็กเครดิตบูโรของเรา ซึ่งในรายงาน (report) มันจะไม่ได้แสดงแค่ยอดเครดิตของเราแต่มันจะบอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีใครมาเช็กเครดิตเราบ้าง ซึ่งก็แน่นอนถ้าธนาคารเขาเห็นเรายื่นกู้แต่มีการเช็กเครดิตบูโรก่อนหน้า 9 ครั้งใน 1 เดือนมันก็เป็นสัญญาณ (sign) ของการไม่ปกติแน่ๆ เลยที่ใครจะกู้ทีละตั้ง 9 แบงก์พร้อมกัน ดังนั้นก่อนจะทำ ต้องวางแผนดีๆ หน่อยว่า ห้องนี้จะกู้ด้วยแบงก์ไหน อีกห้องจะกู้ด้วยแบงก์ไหน ธนาคารเขาจะได้ไม่ผิดสังเกตุนะครับ แต่ ๆ ๆ ๆ ถ้าเรายื่นเยอะจริงๆ เราก็เอาสีข้างถูไปได้นะ ก็บอกว่า เรายื่นหลายแบงก์ก็เพื่อหาดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด ก็ยังเป็นสิ่งที่เราทำได้ (ผู้เขียน​ : เวลานี้แบงก์​เขาก็เช็กได้ครับ​ เขาเช็กจากประวัติการสืบค้นข้อมูล​ครับ​ ข้อมูล​นี้ส่งให้กับแบงก์​ทุกครั้งที่ตรวจเครดิตบูโร​ ส่งทันทีในเวลาที่มีการเรียกดูข้อมูล​ บางแบงก์ ก่อนจะโอนเงินกู้ให้​ จะมีการเช็กอีกรอบครับ​ ทางธนาคารกลางเขาก็รู้ประเด็นนี้​ สมาคมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์​เขาก็รู้ประเด็นนี้​ ใครที่คิดว่าเขาจะดูตื้นๆ แบบนี้ขอให้คิดใหม่​ ถูกปฏิเสธสินเชื่อมาเยอะแล้ว​ ท่านที่แนะนำเคยรู้จักคำว่า​ เครดิตบูโรช้ำหรือไม่ล่ะ​ จะมั่วก็ต้องไปให้สุด​ หยุดที่ถูกปฏิเสธ แล้วคิดไหมว่าการจะกลับมายื่นขอสินเชื่อได้อีกเวลานี้มันต้องรอระยะดูใจอีกนานพอสมควร)​

 3. ควรให้เจ้าหน้าที่ธนาคาร รู้หรือไม่ว่า เรากำลังจะระเบิดบูโร … เรื่องนี้ตอบยาก ผมคิดอย่างนี้ เจ้าหน้าที่ ตามหน้าที่แล้ว เขาไม่สนับสนุนการระเบิดบูโรหรอกครับ น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดเต็มๆ ดังนั้นผมว่าไม่จำเป็นต้องให้เขารู้ครับ แต่ ๆ ๆ ๆ สุดท้ายเขาก็จะเห็นจากจำนวนการยื่นขอดูเครดิตบูโรที่ผมบอกไปในข้อที่แล้วเอง … 

 4. ควรที่จะโอนทุกทรัพย์ในวันเดียวกัน ผมว่าชัวร์สุด … จากที่เคยๆ ทำมา ผมจะให้โอนวันเดียวกันเลยนะครับ อย่างเช่น คอนโดสองที่ ก็โอนมันวันที่ 3 พร้อมกันเลย จะได้ไม่ต้องมากังวลเรื่องการ update ฐานข้อมูลของเครดิตบูโร แต่ ๆ ๆ ๆ ก็อย่างที่บอกว่ามันจะช้ากว่ากำหนด (delay) แต่ผมก็ไม่รู้ว่าระยะมันเป็นอย่างไร มันตัดรอบการ update อย่างไร เอาว่าเสี่ยงน้อยสุดก็ใช้วันเดียวกันให้หมดครับผม (ผู้เขียน​ : มันทำได้จริงเหรอ​ ระวังนะครับ​ จินตนาการกับความจริง)​

 5. ความเร็ว ความพร้อมของเอกสาร ต้องสมบูรณ์แบบ (perfect)!!! อย่างที่บอกว่าเราพยายามจะทำให้ทุกการโอนจบในวันเดียว ดังนั้นเรื่องเอกสาร การตรวจทาน กับทางธนาคารที่เราเลือก ก็ต้องดูให้ดีให้ครับ จะได้ไม่มีปัญหาต้องเลื่อนเวลาโอน เพราะจะไปกระทบกับการโอนอีกห้องได้ครับ (ผู้เขียน​ : หึหึ) 

 

แบบอย่าง (โมเดล-Model) การจัดการของผม (การจ่ายคืน) จริงๆ แล้วเหตุผลของการระเบิดบูโรของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน ที่แน่ๆ ถ้าอยากจะได้แค่คอนโดเงินเหลือ แล้วจะกู้ทีละหลายๆ ห้องเพื่อจะเอาเงินส่วนต่างมาใช้ ผมไม่แนะนำให้ทำอย่างยิ่งเลยครับ (ผู้เขียน​ : สินเชื่อเงินทอนถูกจัดการอย่างเด็ดขาดด้วยมาตรการ​ LTV​ (Loan to Value อัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน) ไปเรียบร้อยแล้วครับตั้งแต่ปลายปี​ 2562)​ ห้าม ๆ ๆ ๆ ๆ ทำเลยนะ เพราะถ้าเราไม่มีปัญญาจ่ายคืน ก็อย่ากู้มาดีกว่าครับ เสียประวัติซะเปล่าๆ มาว่ากันเรื่องแบบอย่าง model ที่ผมใช้ดีกว่านะครับ

 

บทสรุป​ คนโลภจะเป็นเหยื่อของความโลภ​ คนที่คิดว่าตนเองฉลาดแกมโกง​ บ่มเพาะนิสัย​ สร้างสิ่งที่ผิด​ สร้างบาปในความคะนองทางปัญญาที่คิดว่ามีกว่าคนอื่น​ มันคือสิ่งที่เรียกว่า​ ศีลธรรมวิบัติ​ในโลกการเงิน​ เรามีคนอย่างนี้จริงๆ​ ในอดีตก็มักหลบในมุมมืด​ แต่ตอนนี้มีความกล้าถึงขนาดประกาศก้องว่าเป็น​ model ช่างเป็นสิ่งที่น่าอับอายจริงๆ​ ต้องย้อนกลับไปตอนรับปริญญาหากท่านที่แนะนำมีการศึกษาในระดับนั้น​ เวลาเราปฏิญาณตนต่อปริญญานั้นเราได้เปล่งวาจาว่าอย่างไร​ เวลาเราถ่ายภาพกับคนที่รักและครอบคัวเราภาคภูมิใจ​กับสิ่งใด​ แล้ววันนี้เราได้ใช้ความรู้เราให้สังคมดีขึ้นหรือเลวลง​ สำหรับท่านที่คิดจะทำตาม​ model ผู้เขียนมีคำเตือน​ “การลงทุนมีความเสี่ยง​ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล​ให่ถ่องแท้​ก่อนการตัดสินใจ” 

ขอบคุณครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : เราควรแยกคนที่ผิดนัดชำระหนี้จากผลของ​ COVID-19 ออกมาให้ชัดดีไหม : วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2563

เราควรแยกคนที่ผิดนัดชำระหนี้จากผลของ​ COVID-19 ออกมาให้ชัดดีไหม

 มีข้อถกเถียงมาโดยตลอดระหว่างลูกหนี้ผู้เป็นเจ้า​ของข้อมูล​กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินและผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลว่า

1.ควรจะมีการระบุให้ชัดเจนหรือไม่ว่าบัญชี​สินเชื่อที่เขาคนนั้นมีอยู่นั้นได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัส​ ในทางเทคนิคคือควรจะมีการระบุเป็น​ code ชัดเจนหรือไม่ว่าบัญชีสินเชื่อใดเข้าโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการชะลอการชำระหนี้​ เพื่อให้คนปล่อยกู้รายใหม่เห็นชัดๆ

2.ในระหว่างที่คนซึ่งเป็นลูกหนี้ยังอ่อนแอจะยอมให้สถาบันการเงินที่ใจถึง​เชื่อในข้อมูล​ว่าลูกหนี้รายนี้ดีพอที่จะอนุมัติสินเชื่อให้ได้​ จะยอมได้กี่มากน้อย​ จะลด​ ละวาง​ เกณฑ์ที่นำเข้ามาจากตะวันตกและเชื่อกันมาตั้งแต่หลังปี​ 2540​ ในลักษณะ​ Risk based ได้ขนาดไหน

3.เราควรจะเปิดใจดูข้อมูล​ในเครดิตบูโรก่อนหรือไม่​ ที่จะยอมให้คนที่มีประวัติการชำระหนี้ดีมาก​ ไม่ผิดนัดเลยก่อนเดือนมีนาคม​ 2563​ นี้ย้อนหลังลงไป​ 24 เดือนจนถึง​เดือนมีนาคม​ 2561​ แต่ต่อมาหลังเดือนเมษายน​ 2563 หลังเดือนตุลาคม​ 2563​ เริ่มมีการค้างชำระเพราะสถานการณ์​และมาตรการป้องกันเชื้อโรคไวรัสนี้​ เราจะมองคนกลุ่มนี้อย่างไร​ มองว่าเป็นหนี้เสียเลย​ หรือจะให้โอกาสคนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้อีกครั้ง

 เวลานี้ผู้เขียนมองว่า​ จะมีคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี​ เรียกหนี้คืน​ เพราะการชำระหนี้อ่อนแอลงมามาก​ เวลาถูกฟ้องศาลท่านจะมีการดำเนินการไกล่เกลี่ยครับ​ ว่าลูกหนี้เจ้าหนี้พอจะผ่อนกันลงมาแค่ไหน​ จะเอาแบบเต็มยอดเลย​ คงจะไม่ไหว​ ทีนี้ถ้าตกลงกันได้​ ศาลท่านอาจกรุณาพิพากษาตามยอม​ ยอมอะไร​ ยอมตามสิ่งที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ได้คุยกันต่อหน้าศาล​ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการต่อสู้​ ค้าความกันไปสิ้นเปลืองเวลาและเงินทอง​ แต่หากว่าทั้งสองฝ่ายไม่เอาทางไกล่เกลี่ย​แล้วเรื่องก็จะไปศาลและทั้งสองฝ่ายก็นัดสืบพยานจนคดีมีการตัดสิน

 ในแง่ของการรายงานข้อมูลไปสู่เครดิตบูโรนะครับ​ เพื่อเป็นแนวทางนะครับ

1. เมื่อผ่อนหนี้ได้ตามปกติ​ ข้อมูล​จะถูกส่งมาจากเจ้าหนี้มอบให้กับเครดิตบูโรว่า​ 10 : ปกติ​ ไม่มีการส่งวันผิดนัดชำระหนี้

2. ต่อมามีการค้างชำระหนี้เนื่องจากประสบผลจากสถานการณ์​การแพร่ระบาด​ ก็จะปรากฏข้อมูล​การค้างชำระ​ จนเมื่อการค้างชำระต่อเนื่องกันเกิน​ 90​ วันหรือสามรอบการชำระ​ รหัสสถานะ​บัญชีจะเปลี่ยนเป็น​ 20​ : ค้างชำระเกิน​ 90 วัน​ 

3. เวลาผ่านไป​ เจ้าหนี้ได้ดำเนินการยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีต่อศาล​ และศาลมีการประทับรับฟ้อง​ รหัสสถานะ​บัญชีจะเปลี่ยนไปเป็น​ 30​ : อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย​ ซึ่งจะมีผลร้ายแรงต่อตัวลูกหนี้​ คนที่จะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ก็จะยากถึงยากมากๆ​ เพราะเห็นกันอยู่ว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระจนถูกฟ้อง​ แต่จุดสำคัญคือไม่รู้สาเหตุว่าที่ค้างชำระจนถูกฟ้องเนื่องจากผลกระทบของ​ COVID-19​ 

4. หากเจ้าหนี้กับลูกหนี้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย​ที่ศาลจัดให้ และตกลงกันได้จริง​ ทั้งสองฝ่ายก็จะยอมให้ศาลออกคำพิพากษาตามยอม​ ยอมตามที่ทั้งคู่​ตกลงกัน​ รหัสสถานะ​บัญชีก็จะเปลี่ยนเป็น​ 31 : อยู่ระหว่างการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม​ จนเมื่อมีการชำระหนี้จนหมดแล้ว​ รหัสสถานะ​บัญชีจะเปลี่ยนเ��

 ผู้เขียนได้พูดคุย​ พบปะกันใครต่อใคร​ บางท่านมีข้อเสนอว่า​ หากเราดูแล้วว่าก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาด COVID-19​ ลูกหนี้รายนี้เขาชำระหนี้ได้ดียาวนานเกิน​ 24 เดือน​ แล้วเวลานี้เขาประสบเคราะห์กรรม​จากการแพร่ระบาดของไวรัส​ จนเกิดเป็นหนี้เสียบางบัญชีแล้ว​ เราควรช่วยเขาหรือไม่​ ทำไมเรามีการช่วยพวกที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ​ นโยบายพักหนี้บนนโยบายของเจ้าหนี้เอง​ หรือการพักหนี้เกษตรกร​ โรคระบาดก็คือภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ถ้าลูกหนี้เป็นแบบนี้แล้วไปไกล่เกลี่ยที่ศาลตามสัญญา​ปรับโครงสร้างหนี้​ เราควรมีรหัสสถานะบัญชีใหม่เป็น​ 50 : ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด​ COVID-19 แยกออกมาจากการเป็นหนี้เสียแบบปกติดีไหมครับ​ 

 สถาบันการเงินไหนคิดจะปล่อยกลุ่มนี้เมื่อมองจากศักยภาพ​ การค้ำประกัน​ และประวัติชำระดีที่ผ่านมาก็สามารถทำได้​ เนื่องจากมีข้อมูล​ชัดเจน​ ผู้เขียนคิดว่ามันน่าสนใจ​ สามารถทำได้​ และน่าจะช่วยลูกค้าได้ในที่สุด

 

กฎกติกาเมื่อผ่านวันเวลา​ ผ่านเงื่อนไขเหตุการณ์​ ควรปรับเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือสำหรับระบบสถาบันการเงินในการให้ความช่วยเหลือคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก​เวลานี้ครับ

 

ขอบคุณมากครับ

ลงทุนให้ปัง สร้างความมั่นคงทางการเงิน 5 ชั้นเป็นของขวัญส่งท้ายปี

ลงทุนให้ปัง สร้างความมั่นคงทางการเงิน 5 ชั้นเป็นของขวัญส่งท้ายปี

อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะหมดปี 2563 ถือเป็นอีกปีที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีเป้าหมายที่ตนเองวางไว้มากมาย บ้างก็ทำสำเร็จ บ้างก็ยังไม่ได้เริ่ม แต่อย่างไรก็ตามเราควรใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ให้คุ้มค่ามากที่สุดในทุก ๆ เรื่อง ทั้งการงาน การใช้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องการวางแผนการเงิน และการลงทุนด้วย

สำหรับใครที่ยังไม่เริ่มวางแผนการเงิน และการลงทุนสามารถเริ่มลงมือลงทุน สร้างความมั่นคงทางการเงินแบบ 5 ชั้นได้ตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ ถือว่าเป็นของขวัญให้กับตนเองส่งท้ายปี และเริ่มต้นอนาคตที่ดีในปีหน้านั่นเองค่ะ

ชั้นที่ 1 – เริ่มต้นวางเป้าหมายการลงทุน

การเริ่มต้นลงทุนชั้นแรกก่อนเดินขึ้นไปชั้นต่อ ๆ ไป คือการวางเป้าหมายในการลงทุน และสำรวจความพร้อมของตนเอง ระบุเจาะจงไปว่า เราลงทุนไปเพื่ออะไร เราจะลงทุนใช้เวลานานเท่าไหร่ เช่น ต้องการลงทุนระยะยาว เพื่อใช้ยามหลังเกษียณ หรือลงทุนระยะสั้น เพื่อใช้ไปศึกษาเรียนต่อต่างประเทศ คอร์สอบรม เป็นต้น

ชั้นที่ 2 – ศึกษาข้อมูลการลงทุนหลากหลายรูปแบบ

การศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนจะช่วยให้เราสามารถเลือกระดับความเสี่ยง และความเหมาะสมในการลงทุนได้ เพราะรูปแบบการลงทุนมีให้เลือกมากมาย เช่น กองทุนรวม หุ้น ประกันชีวิต ทองคำ เป็นต้น ซึ่งทุกการลงทุนล้วนแต่เป็นสิ่งที่ความเสี่ยง จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเพื่อนำมาปรับใช้ในการลงทุนที่ตรงกับความต้องการและความสนใจของตนเอง

ชั้นที่ 3 – กำหนดระดับความเสี่ยงที่รับได้

เมื่อศึกษาข้อมูลการลงทุนพร้อมในระดับหนึ่ง เราก็จะต้องมากำหนดระดับความเสี่ยงในการลงทุนของเราว่าสามารถรับได้ในระดับเท่าไหร่

ตัวอย่างเช่น ระดับความเสี่ยงต่ำ เหมาะกับการลงทุนแบบฝากประจำ ฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง , ระดับความเสี่ยงปานกลาง เหมาะกับการลงทุนแบบพันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ , ระดับความเสี่ยงสูง เหมาะกับการลงทุนแบบ กองทุนหุ้นต่างประเทศ หุ้น เป็นต้น

รวมไปถึงจัดลำดับความสำคัญของรูปแบบการลงทุน สภาพคล่องทางการเงิน เพื่อที่ว่าในยามฉุกเฉินเราจะสามารถนำเงินในส่วนนี้ออกมาใช้ได้ค่ะ

ชั้นที่ 4 – จัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง

หลังจากที่ศึกษาข้อมูล และเช็กระดับความเสี่ยงของตนเองแล้ว ก็ต้องมาเริ่มออกแบบพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง โดยเลือกจากระดับความเสี่ยงที่รับได้ และผลตอบแทนที่ต้องการ ความคุ้มค่าต่อการลงทุน จากนโยบายการลงทุน เงินปันผลที่ได้รับของแต่ละสถาบันการเงิน

ชั้นที่ 5 – ติดตามการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

ทุกการลงทุนควรจะมีการตรวจสอบผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอว่าเป็นไปตามที่เราวางเป้าหมายไว้หรือไม่ เพราะการลงทุนมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เงินฝืด ที่อาจส่งผลกระทบให้เราได้รับผลตอบแทนไม่ได้ดั่งที่หวัง

เรื่องน่าอ่าน