Blog Page 68

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : เรื่องคนกู้หนี้รถ คนที่จะรับเคราะห์ คนเชียร์ที่จัดไฟแนนซ์ และสถาบันที่ให้​กู้​ สรรพนิสัยในวงการกู้ยืม : วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564

เรื่องคนกู้หนี้รถ คนที่จะรับเคราะห์ คนเชียร์ที่จัดไฟแนนซ์ และสถาบันที่ให้​กู้​ สรรพนิสัยในวงการกู้ยืม

ตามปกติทุกวันอาทิตย์​ ผู้เขียนจะคอยอ่านข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อรับรู้ถึงกระแสของความรู้ ความรู้สึกของผู้คนเกี่ยวกับการขอกู้​ ขอสินเชื่อ​ ขอยืมเงิน​ ในเวลานี้​ ผู้เขียนได้มาพบกับข้อความในห้องพันทิป​ ที่มีผู้นำมาลงไว้ขอความเห็นเพื่อน ๆ สมาชิกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 เวลา 13:36:50 น. ​ความว่า

อยากสอบถามพี่ ๆ ว่ามีความเป็นไปได้ไหมคะในกรณีนี้… 

1.ให้แม่เป็นผู้ซื้อ อายุ 57 ปี อาชีพค้าขายมีหน้าร้านที่ขายประจำ รายได้รายวันเฉลี่ยแล้ว 1,500 บาท 

ผู้เขียน​ : ซึ่งก็หมายถึงคุณแม่ต้องมาเป็นลูกหนี้ตอนอายุ​ 57​ ปี โดยเอารายได้วันละ 1,500 บาท ยังไม่หักต้นทุนมาแสดงความสามารถในการชำระหนี้แทนคุณลูก ผู้เขียนงงงันไปชั่วขณะว่าเดี๋ยวนี้เราทดแทนพระคุณแม่ด้วยการให้ท่านไปเป็นหนี้รถยนต์​แทนเราแล้วหรือ

2.ราคารถยนต์ 729,000 บาท ดาวน์ 109,350 บาท หรือ 15% ไฟแนนซ์บังคับทำประกัน (ผู้เขียน​ : ก็ไหนคนที่กำกับดูแลบอกว่าการประกันเป็นทางเลือก)​ รวมราคาสุทธิ (Net) ต้องจ่ายค่างวดต่อเดือน 10,5XX บาท 84 เดือน 

3.ลูก คือตัวเรา เป็นผู้กู้ร่วม โดยมีรายได้จากเงินเดือนบริษัทที่ทำงานมา 5 ปี เดือนละ 12,800 บาท และมีรายได้จากการขายของอื่น ๆ ด้วย เดินบัญชี เงินเข้าประจำทุกวันที่ 26-1 ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อเดือน 

ผู้เขียน​ : ถ้าเราเอาเงินค่างวดผ่อนรถ​ 10,5xx บาท มาเทียบกับเงินเดือน​ 12,800 บาท​ ก็จะมีคำตอบว่า​ ได้รถยนต์มาขับแต่มีเงิน​เหลือ​ 2,300 บาทต่อเดือน​ เอาเงินก้อนนี้ไปบวกกับรายได้อื่นตามที่แจ้ง​ประมาณ 17,000​ บาทเพราะเหตุว่ามีรายได้รวม​ 30,000 บาทก็จะพบว่ามีเงินหลังหักหนี้รถ​ยนต์ประมาณ​ 19,300 บาท​ หักค่ากินตัวเองขั้นต่ำ​วันละ​ 500บาท (รวมค่าน้ำมันรถ) จะเหลือเงิน​ประมาณ​ 4,300 บาท​ ซึ่งเดาว่าจะมีหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้ผ่อนของศูนย์​ % หนี้ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าโทรศัพท์​อีกไหม ท่านผู้อ่านคิดตามผู้เขียนมานะครับ​ แล้วถ้ามีค่าเช่าที่พักอีกจะเป็นอย่างไร​ พอหรือไม่​ กู้ครั้งนี้หาเรื่องใส่ตัวหรือเปล่า

4.ทางคนขายและไฟแนนซ์แนะนำให้ยื่นขอค้ำประกันจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมด้วย (ยื่นเอกสารพร้อมกับกู้ซื้อรถยนต์แล้ว) 

ผู้เขียน​ : ลูกหนี้รายย่อยที่​ บสย. จะค้ำต้องเป็​นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เป็นคนค้าขายใช่หรือไม่​ แต่คุณลูกทำงานกินเงินเดือน​ เลยต้องเอาคุณแม่มาออกหน้าเป็นคนค้าขายมากู้รถยนต์​ เราเริ่มจากการโกหกตัวเอง มีคนปั้นเรื่องจนจบ​ เรามีความซื่อสัตย์​ต่ออาชีพ​หรือไม่​ ต้องปั่น​เรื่อง​ แต่งเรื่อง​ เพื่อให้คนกู้กู้ให้ได้ว่างั้นเถอะ… จ่ายคืนได้ไม่ได้ค่อยไปแก้ปัญหากัน

5.รอผลอนุมัติอยู่ค่ะ อยากสอบถามความเป็นไปได้ว่ามีหรือไม่มีคะ โอกาสที่จะผ่านมีมากหรือน้อยแค่ไหน ตอนแรกก็ยังเฉย ๆ นะคะ แต่พอยื่นเอกสารไฟแนนซ์ (…มีการระบุชื่อ..) ไป ใจมันหวั่นทุกนาที คือลุ้นคำว่าผ่านหรือไม่ผ่านมากกว่ารถยนต์ค่ะตอนนี้ 

ผู้เขียน​ : ไม่รู้จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้อย่างไร​ เอาชื่อมารดามายื่น​กู้​ เอารายได้มารดามาแปลงเป็นความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง​ คนปล่อยกู้สร้างเรื่องให้เสร็จ​ ยื่นให้ บสย. ค้ำประกันหนี้ท��

6.เหตุผลที่ให้แม่คือผู้ยื่นกู้คือเราติดติดแบล็กลิสต์นะคะ (ผู้เขียน​ : คือมีประวัติค้างชำระหรือปัจจุบันค้างชำระอยู่) ​ทางคนขายบอกว่าเรากู้ร่วมได้โดยที่จะหาธนาคารที่ง่ายที่สุดและเขาไม่เช็กเครดิตผู้กู้ร่วม ตรงนี้ไม่มั่นใจค่ะ (ผู้เขียน​ : ท่าน ๆ ที่เป็นผู้กำกับดูแลที่สถิตบนหอคอยงาช้างข้าง ๆ แม่น้ำเจ้าพระยา​ ท่านจะไม่เดินลงมาดูหน่อยเหรอครับว่า​ การให้กู้ที่เป็นธรรม การเงินที่สร้างเกราะกำบัง การให้ความรู้เรื่องทางการเงินที่ท่านพร่ำบ่นว่าคนไทยต้องมี market conduct ที่ต้องปฏิบัติ หนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มอย่างไม่เหมาะสมมาหลายปี วันนี้ท่านไม่ต้องหาตัวอย่างแล้ว​ละครับ​ เรื่องจริงผ่านจอมือถือมาให้ท่านได้เห็นแล้วจะจะ​ ท่านจะไม่คิดอะไรเลยบ้างหรือ)​ เพราะวันที่เซ็นเอกสารเขามีหนังสือขอตรวจสอบเครดิตบูโรด้วย ผู้เขียน​ : ในความเป็นจริง​ สถาบันการเงินผู้พิจารณาสินเชื่อ​ เขาต้องดูข้อมูลเครดิตหรือข้อมูล​เครดิต​บูโร​ของลูกหนี้ที่กู้ร่วมทั้งสองท่านครับ คือคุณแม่ผู้รับเคราะห์ คุณลูกที่กตัญญู​ซึ่งมอบหนี้ทดแทนคุณ คนขายที่จัดการคือผู้สร้างสรรค์​ความวุ่นวายในชีวิตคนเหตุเพราะต้องการได้เป้าได้ผลงาน​ บาปเคราะห์ที่ตั้งเค้ารางมาไม่มีใครสน ท้ายสุดเราก็จะมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มอีกเกือบล้านบาท… กับลูกหนี้เพิ่มสองท่าน

โควิด-19 มา… มันได้ล้างเซลล์​ร่างกายส่วนที่รับผิดชอบที่เรียกว่า​ “ความผิดชอบชั่วดี” ได้ล้างจริยธรรมที่เรียกว่า​ “การให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบ” ได้ล้าง​ “การสอดส่องดูแลติดตามและป้องปรามความประพฤติที่ไม่พึงประสงค์อันจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย​ ที่เราติดกับดักมากว่า 5 ปี” 

ทุกท่านที่เกี่ยวข้องครับ​ เอามือขวาวางไว้ที่หน้าอกข้างซ้าย​ ลองสัมผัสสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่าหัวใจที่มันอยู่ต่ำกว่าผิวหน้าอกลงไปสักสองนิ้ว… แล้วถามตัวเองว่า​ มันเป็นเรื่องที่ถูกไหมในธุรกรรมนี้​ หรือมันเป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้​ จัดการไม่ได้​ เรากำลังเตะกระป๋องปัญหา (ที่เราควรมองเห็น)​ ไปบนถนนไปเรื่อย ๆ โดยไม่อินังขังขอบกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆในชีวิตผู้คนที่จะติดกับดักหนี้เลยหรือ…

ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ

 

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ไม่ต้องตกใจกับ​ เปอร์เซ็นต์หนี้เสียของสินเชื่อที่ช่วยคนเข้าถึงได้ เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง : วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2564

ไม่ต้องตกใจกับ​ เปอร์เซ็นต์หนี้เสียของสินเชื่อที่ช่วยคนเข้าถึงได้ เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง

เมื่อผู้เขียนได้อ่านข่าวจากการเปิดเผยของท่านรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงการคลัง ด้านบริหาร ที่ได้ระบุในหัวข้อความคืบหน้าการประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ ที่มีเป้าหมายช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้นว่า 

1. ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 มีผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ทั้งหมด 1,008 ราย แต่เปิดดำเนินการแล้วรวม 935 ราย ใน 75 จังหวัด โดยเป็นผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากสุด 558 ราย น้อยสุดคือ ภาคใต้ 49 ราย

1.1 สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (แบบปกติ) มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสะสมสุทธิ 868 ราย ใน 75 จังหวัด แต่มีที่เปิดดำเนินการแล้ว 818 ราย 

1.2 สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสะสมสุทธิทั้งสิ้น 140 ราย ใน 45 จังหวัด แต่มีผู้เปิดดำเนินการแล้ว 117 ราย ใน 37 จังหวัด

2. วงเงินสินเชื่อตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีการอนุมัติแล้ว 413,622 บัญชี วงเงิน 10,073.78 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 24,355.04 บาทต่อบัญชี 

3. ล่าสุดสิ้นเดือนธันวาคม 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 173,235 บัญชีคิดเป็นจำนวนเงิน 3,841.12 ล้านบาท

4. สินเชื่อที่ค้างชำระ 1-3 เดือน (ผู้เขียน: ถือว่ามีปัญหาการค้างชำระแต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย)​ สะสมรวมทั้งสิ้น 24,487 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสม 572.38 ล้านบาท หรือ 14.90% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

5.สินเชื่อที่ค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (ผู้เขียน:ถือว่าเป็นหนี้เสียไปแล้วหรือเป็นหนี้NPL) สะสมรวม 28,526 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 653.94 ล้านบาท หรือ 17.02% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

 หลายท่านอาจจะตกใจว่า​ปล่อยกู้ไป​ 100 บาท เป็นหนี้เสีย​ 17 บาท​และเป็นหนี้สีเทา ๆ อีกประมาณ​ 15 บาทรวมกันคือเป็นหนี้ที่มีความเสี่ยง​ 32 บาท​จากที่ปล่อยกู้ไป​ 100 บาท​ภายใต้การคิดดอกเบี้ยไม่เกิน​ 36% ต่อปี​ ตามเงื่อนไขของใบอนุญาต​ที่ออกให้​ 

 สิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ ต้องเข้าใจก็คือ

1. กลุ่มลูกค้าที่กู้เงินส่วนหนึ่งประสบปัญหาจากการกู้นอกระบบประเภทดอกเบี้ย​ 2% ต่อวัน หรือเงินกู้ส่งดอกรายวัน​ ดังนั้นการให้กู้ตามใบอนุญาต​นี้จึงเข้ามาช่วยได้ในระดับหนึ่ง

2. กลุ่มลูกค้าที่กู้ นับเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการสินเชื่อในระบบเหตุเพราะ​ แหล่งที่มาของรายได้อาจไม่แน่นอน​ ไม่มีเอกสารแสดงที่มาของรายได้เช่นสเตทเม้นท์ชัดเจน​ ไม่มีหลักประกัน​ ดังนั้นการให้กู้นี้จึงเข้ามาแก้ไขจุดอ่อนนี้

3. กลุ่มสถาบันที่เข้ามาให้บริการในเรื่องนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องเสี่ยงแลกกับรายได้ดอกเบี้ยที่คิดได้ไม่เกิน​ 36% ดังนั้นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการจึงเป็นสิ่งจำเป็น การบริหารความเสี่ยงในการติดตามทวงถามหนี้ในกรอบของกฎหมายที่เป็นธรรมต้องดำเนินการไป​ 

 ผู้เขียนไม่ได้แปลกใจ​ ตกใจกับตัวเลขหนี้เสีย​ 17% เลย​ เพราะในสถานการณ์​แบบนี้​การค้าขายที่มีเงื่อนไขทางสุขภาพอนามัย​ที่ทำได้ไม่เต็มที่​ ถือว่าทำได้ดีพอประมาณเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่ไม่มีประกัน สินเชื่อในระบบจากฐานข้อมูลในเครดิตบูโร​ หากเรานับเอาว่าบัญชีสินเชื่อประเภทใดก็ตามถ้ามีการค้างเกิน​ 90 วันโดยไม่ต้องไปสนใจว่าจะสำรองเต็มแล้วหรือไม่แบบคำนิยามระดับอ่อนที่รายงานกันเพื่อให้สบายใจแล้วละก็​ เราก็จะพบว่า​ สินเชื่อจากการใช้บัตรเครดิตรวมกันทั้งระบบห้าแสนกว่าล้านบาทมันก็มีหนี้เสียหรือหนี้​ NPL ประมาณ​ 13% อยู่แล้ว​ อีกทั้งมันยังเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันเช่นกันครับ​ สินเชื่อส่วนบุคคลที่กู้ไปเป็นก้อน​ ผ่อนกันเป็นงวดก็อาการไม่ต่างกันเท่าใดนัก​ นี่ขนาดว่ามีโครงการให้ความช่วยเหลือมาระยะหนึ่งแล้วนะครับ​ ใจร่ม ๆ กันนะครับ​ เราได้ผ่านการระบาดรอบแรก การระบาดรอบใหม่มาแล้ว​ ต้องตั้งหลักให้ดี​ ไม่ไหวให้รีบปรับโครงสร้างหนี้​ ถูกฟ้องให้ไปไกล่เกลี่ยหนี้​ ต้องการข้อมูลโทรหา​ 1213​ ศูนย์​คุ้มครอง​ผู้ใช้​บริการ​ทางการเงิน​ ธนาคารแห่งประเทศไทย​ครับ​ วัคซีนมาแล้วก็จริง​ หน้ากากยังต้องใส่ ล้างมือให้บ่อยยังต้องทำ​ อยู่ห่าง ๆ กันทางกายแต่ใจคิดถึงกันเข้าไว้ ไม่มีใครรู้ว่าระบาดรอบสามจะมาอีกหรือไม่​ ได้แต่ภาวนาว่าร้อนขนาดแสบผิวกันทุกวันนี้​ ไวรัสน่าจะท้อไปบ้างไม่มากก็น้อย

 ขอบคุณ​ทุกท่านที่ติดตามครับ

 

ทำไมต้องเก็บข้อมูลเครดิตถึง 3 ปี

ทำความเข้าใจ หลักการสากล 3 ประการ ที่เป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรทำไมเครดิตบูโรถึงมีมาตรการจัดเก็บข้อมูลเครดิตถึง 3 ปี

1. มีระยะเวลาเพียงพอที่จะใช้ในการวิเคราะห์ความตั้งใจในการชำระหนี้ ว่าคนที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ได้ประพฤติปฏิบัติกับสัญญากับเจ้าหนี้อื่นก่อนหน้าว่าเป็นอย่างไร เช่น ชำระปกติ สัญญาเป็นสัญญา หรือมีการค้างชำระเป็นเวลานาน ค้างสั้น ค้างแล้วรีบเคลียร์ หรือค้างแล้วลากยาวแล้วค่อยเคลียร์ เป็นต้น

2. คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตเป็นหน่วยงานที่กำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลเครดิตไว้เป็นระยะเวลา 3 ปี (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน)

3. ธนาคารโลกได้วางหลักการให้ประเมินในกว่า 190 ประเทศว่าควรมีการเก็บข้อมูลเครดิตทั่วโลกขั้นต่ำอยู่ที่ 3 ปี
เช่น สิงคโปร์ เก็บข้อมูลแบบปกติ 3 ปี เก็บข้อมูลประวัติค้างชำระ 3 ปี
กัมพูชา เก็บข้อมูลแบบปกติ 10 ปี เก็บข้อมูลประวัติค้างชำระ 3 ปี
เอธิโอเปีย เก็บข้อมูลแบบปกติ 5 ปี เก็บข้อมูลประวัติค้างชำระ 5 ปี
กานา เก็บข้อมูลแบบปกติ 7 ปี เก็บข้อมูลประวัติค้างชำระ 7 ปี

———————————————–

ข้อมูลเพิ่มเติม
🌐 www.ncb.co.th
💌 consumer@ncb.co.th
👥 Facebook : ilovebureau
▶️ YouTube : ilovebureau
🖼 Instagram : ilovebureau
📲 Line : @ilovebureau
Bureau Chatbot Add Friend : https://lin.ee/o0AQ8ya

3 อดที่ควรมี ให้รับมือวิกฤติชีวิตแบบเซฟ ๆ

รับมือวิกฤต

ไวรัสก็ระแวง เงินในบัญชีก็ต้องใช้อย่างระวัง อยากมีวิธีรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์การเงินที่ไม่แน่นอนอย่างระมัดระวัง ต้องเริ่มจาก 3 อดค่ะ

1. อดทน
อดทนเพื่อไม่ใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็น ลดรายจ่ายของตนเองลง

2. อดกลั้น
ต่อให้ของมันต้องมีมากเพียงใดก็ตาม แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เราควรอดกลั้น ไม่โอนอ่อนไปตามต่อสิ่งเร้ารอบข้างทำให้เสียรายจ่ายไม่จำเป็นค่ะ

3. อดออม
เมื่อมีก็ควรออม เมื่อมีรายรับควรรู้จักที่จะอดออมเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเก็บ เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝัน

———————————————–

ข้อมูลเพิ่มเติม
🌐 www.ncb.co.th
💌 consumer@ncb.co.th
👥 Facebook : ilovebureau
▶️ YouTube : ilovebureau
🖼 Instagram : ilovebureau
📲 Line : @ilovebureau
Bureau Chatbot Add Friend : https://lin.ee/o0AQ8ya

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เมื่อค้างชำระแต่เคลียร์แล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 5 มีนาคม 2564

เมื่อค้างชำระแต่เคลียร์แล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป

บทความในครั้งนี้มาจากคำถามค้างคาใจของใครหลายคน ว่า เมื่อตนเองไม่ชำระหนี้จะด้วยเหตุผลใด ๆ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะส่งข้อมูลว่าลูกหนี้ได้ค้างชำระ 31-60 วัน, 61-90 วัน หรือ 91-120 วัน เรื่อยไปจนถึงค้างชำระเกิน 300 วัน เมื่อมีประวัติแบบนี้จะบอกว่า มีหนี้แต่ไม่จ่าย ท้ายสุดคือผิดสัญญา จนเกิดความเครียด

แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป แนวทาง คือ

1.ต้องทำให้ตัวเองเป็นแค่ “คนเคยค้าง” ให้เร็วที่สุด โดยรีบชำระหนี้ที่ค้างโดยด่วน

2.ตั้งสติสำรวจว่าหนี้ที่มีปัญหานั้นเพราะอะไร เช่น ใช้จ่ายเกินตัว ฟุ่มเฟือย อยากได้ตามเพื่อนหรือไม่

3.สำรวจรายได้ว่ามาจากแหล่งใด เท่าไร มีความแน่นอนหรือไม่
อาจสำรวจได้ดังนี้ กลุ่มแรกรายจ่ายพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตไม่น่าจะเกิน 25-30% ของรายได้รายเดือน กลุ่มที่สองรายจ่ายเพื่อการออม เช่น ตัดเงินเดือนเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เป็นต้น กลุ่มที่สามรายจ่ายที่เกิดจากอารมณ์อยากได้ ซึ่งหากเราไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองเดือดร้อนแต่อย่างใด
“ค่าใช้จ่ายนี้ จะช่วยเราจากคนเป็นหนี้ค้างชำระกลับมาเป็นสถานะคนเคยค้าง หนี้เคลียร์แล้วในปัจจุบัน บนพื้นฐานบุคลิกกลับเนื้อกลับตัว กลับใจไม่คิดจะไปย่ำรอยเดิมที่ เป็นหนี้ ไม่ใช้หนี้ จนต้องขาดอิสรภาพทางการเงิน ไม่ต้องการเงินใครมาช่วยอีกต่อไปแล้ว หาเอง ออมเอง ใช้เอง”

4.หาเงิน มีการสร้างรายได้ เอาเงินที่ได้มาเป็นเงินฝากและให้เอาเข้าบัญชีที่สม่ำเสมอ ตรงจุดนี้ต้องทำ 6-12 เดือนอย่างต่อเนื่อง ต้องอดทน อดออม กล่าวคือ อดทนที่จะไม่ใช้เพื่อเก็บเงินเอามาใช้ในยามจำเป็น ต้องไม่ผลัดวันออม อย่าอ้างว่าให้รางวัลชีวิตอีกต่อไป

5.เมื่อต้องการจะสร้างหนี้อีกครั้งให้ถามตัวเองว่า จะเป็นหนี้อีกครั้งจะเอาเงินไปทำอะไร, หนี้ก้อนใหม่นี้จะวางแผนใช้คืนอย่างไร , หนี้เดิมที่มีอยู่ทั้งในระบบ นอกระบบ จะวางแผนใช้คืนอย่างไร และหนี้เดิมบวกหนี้ใหม่ครั้งนี้ จะวางแผนใช้คืนอย่างไร ถ้าหาคำตอบได้แล้วจึงตามด้วยการตรวจเครดิตบูโร พร้อมคำตอบที่เตรียมไปชี้แจงว่าที่เกิดการค้างชำระเพราะอะไร

6.สุดท้ายเลิกโทษคนอื่น ให้ทบทวนตนเอง รู้จักตัวตนเรา หาเหตุของการผิดนัดให้เจอ จะได้ไม่ต้องกลับไปเจอเหตุการณ์แบบก่อนหน้าและหลังปี 40 ที่ประเทศจะล้มละลายด้วยปัญหาของหนี้เสียที่มาจาก ไม่รู้จักลูกค้าคนที่มาขอสินเชื่ออย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : จากผู้รู้ ผู้กำหนดนโยบาย เขามองอะไรและเขาเห็นอะไร : วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2564

จากผู้รู้ ผู้กำหนดนโยบาย เขามองอะไรและเขาเห็นอะไร

บทความนี้เกิดขึ้นมาในยามบ่ายแก่ ๆ ของวันเสาร์หลังวันพระใหญ่​ที่ผ่านมา​ ปกติใครต่อใครก็จะพูดถึงการพาญาติผู้ใหญ่ พาครอบครัวไปทำบุญ ผู้เขียนกลับพบว่าวัดใหญ่ ๆ หลายแห่งงดการจัดงานบุญแบบที่เคยเป็นมา สำหรับใครที่ไปก็จะเจอกับมาตรการทางสาธารณสุขแบบเข้มข้น อากาศปลายเดือนกุมภาพันธ์​ ต้นเดือนมีนาคม 2564 เตือนว่าปี 2564 นี้ “ร้อนเป็นไฟ ละลายตรงเธอแน่นอน” เมื่อได้นั่งทานน้ำมองดูต้นไม้ในสวนพร้อมกับอ่านบทความ ข้อคิดความเห็นต่าง ๆ ก็มาสะดุดกับสิ่งที่บุคคลระดับผู้รู้ ผู้กำหนดนโยบาย​ ที่มาพูดถึงอนาคต ในยามที่ผู้คนกำลังสาระวน กับการ​ลงทะเบียน​ ม.33 เรารักกัน เพื่อรับการเยียวยาจากผลกระทบของการแพร่ระบาด​โควิด-19 ในมุมมองของผู้เขียน ทุกวันนี้เราเจออยู่สามเรื่อง

(1) เรามีความรู้จากประสบการณ์​ แต่เอามาใช้ไม่ค่อยจะได้ในปัจจุบัน

(2) เรารู้ตัวว่าเราไม่รู้อะไร เราจึงขนขวายไปหาคนที่รู้เพื่อจะได้รับสิ่งที่เราขาดเอามาเติมเต็มศักยภาพของตัวเราในการนำไปใช้แก้ไขปัญหา ซึ่งก็ต้องระวังว่าจะไปเจอชุดความรู้ที่ล้าสมัยไปแล้ว

(3) เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร​ เพราะทุกสิ่งที่เกิดมาในเวลานี้เช่นลูกค้าหายไป รายได้หายไป ทำไมคนนั้นขายได้แล้วทำไมเราขายไม่ได้ อยู่ดี ๆ ก็มี clubhouse ขึ้นมาเป็นชุมทาง​ความรู้​ ถกเถียง​ พูดคุย​ สนทนา​ และเกิดความรู้ในทันทีทันใด​ คนที่มีแก่นสาระ สามารถสื่อสารออกมาได้ จนทำให้พวกกระพี้ พวกมีแต่เปลือก ภาพดีทีเหลวต้องถอยกรูดออกจากเวทีที่ตนเองชอบจ้อได้อย่างน่าพิศวง

ท่านแรกที่ผู้เขียนประทับใจและใคร่นำมาบอกต่อคือคุณเรืองโรจน์ พูนผล หรือคุณกระทิง CEO ของ​ Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) จากฟากฝั่งธนาคารกสิกรไทย ท่านบอกไว้น่าคิด (ผู้เขียนนำมาบางส่วนที่คิดว่าสำคัญ) ว่าปี ค.ศ. 2021-2030 : เกิดเป็น Continuous Disruption คือการ Disruption อย่างต่อเนื่อง และต่อมาเรียกว่า Complete Overhaul of World Economy ผู้เขียนเห็นด้วยว่ามันเกิดอย่างนั้นจริง ๆ ผู้ที่เคยกุมเงื่อนไขในอดีตอยู่ดี ๆ กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปเฉย ๆ มีคนใหม่เข้ามาในตลาดมากมาย เปลี่ยนหน้ามาเจ๊งก็เยอะ แต่ที่มาแรงแซงโค้งก็ไม่น้อย มันน่าจะเกิด Overhaul of World’s Economy คือการยกเครื่องใหม่ในทุก ๆ sector ของ World Economy

โดยช่วงปี 2024-2025 จะเป็นช่วงจุดหักศอกแรกของการเปลี่ยนแปลง และปี 2028-2030 จะเป็นช่วงจุดหักศอกรอบสองและถ้าหากตัวเราหรือองค์กรยังไม่เปลี่ยน ตอนนั้นหลาย ๆ คนอาจจะเปลี่ยนอะไรไม่ทันแล้ว (จุดนี้แหละที่ผู้เขียนคิดว่า เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร แล้วก็ไม่ทำอะไร ทำแบบเดิม ๆ แล้วคิดว่าจะได้ผลแบบใหม่ ๆ มันจึงน่าจะถึงจุดจบแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว) ระยะของการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแบบ Exponential Change

Digitization : เกิดการ Transform ข้อมูลออกมาเป็น Digital ตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะถ้าข้อมูลมันเกิดแล้วถูกอ่านด้วยคอมพิวเตอร์​ได้​ ไม่มีต้นทุนในการจัดเก็บหรือเปิดเผย มันจะนำมาซึ่งทะเลสาป ทั้งเหมืองให้คนขุดหาความรู้เรื่อง รู้จริง รู้ใจ​ ใช่เลยกับความต้องการของคนที่พร้อมจะจ่าย

Deception : ดูหลอกตาดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่สักพักเกิดการหักศอกเลยเป็น Disruption ผู้เขียนเห็นแจ้งจริง ๆ จา​กปรากฏการณ์​ของการแพร่กระจายโควิด-19 ตัวอย่างเช่นการเกิดม็อบ การเกิดกระแส การสื่อสารแบบคนแปดพันคนบวกเปิดห้องถ่ายทอดต

Demonetization : เงินหายไปจากผู้เล่นดั้งเดิมเพราะถูก Disruption ผู้เขียนเห็นได้ชัดเจน เราสามารถสั่งปาท่องโก๋แสนอร่อยจากพัทยามากินที่กรุงเทพฯ ด้วยการขนส่งภายในหนึ่งวัน มีคู่มือการทอดโดยตู้ทอดไร้น้ำมัน แทนที่เราจะเดินไปตลาดเฉพาะตอนเช้าแล้วซื้อมาทานกับกาแฟ เราสามารถสั่งกาแฟคั่วกลาง บดหยาบ จากผู้ผลิตตรงบนดอยอินทนนท์เอามาทำกาแฟดริปทานเพียงทำผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่​ แบบไม่เยื้องกรายออกจากบ้านเหตุเพราะข้อต่อไปที่คุณกระทิงกล่าวถึงคือ Democratization: ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น การใช้มือถือ ไม่เชื่อท่านก็ลองคุยกับผู้สูงวัยที่ใช้ App​ คนละครึ่งทานข้าวแกงสิครับ

Deception : หลังโควิด-19 จะทำให้ถูกสั้นลงเยอะมาก ไม่หลอกตาแล้ว แต่เป็นการโผล่มาถล่มเราเลย จุดนี้แหละที่ผู้เขียนกังวล เพราะอะไรก็เกิดได้ เกิดแล้วกระแทกแรง เกิดแล้วจะทำให้ไม่เหมือนเดิมจะไม่สามารถกลับไปทางเดิมได้ ต้องขอขอบคุณ คุณกระทิงมากที่ส่งสารสำคัญให้เราได้ตระหนัก ระหว่างที่เราตระหนกกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

สำหรับท่านที่สองก็คือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน​ ที่ได้ให้ข้อมูลไว้ในวารสารพระสยาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1/2564 (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) ความสำคัญตอนหนึ่งว่า… ก้าวต่อไปของประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ว่า

“ถ้าเรามองวิกฤติโควิด-19 เป็นอุปสรรคและแค่รอจนมันผ่านไป สุดท้ายเราก็ต้องเดินต่อไปในเส้นทางเดิมแค่ถึงที่หมายช้าลง หรือยิ่งไปกว่านั้นคือที่หมายจริง ๆ อาจเปลี่ยนไปแล้ว แทนที่เราจะพยายามไปต่อทางเดิม ถ้ามองรอบ ๆ ตัวเราอาจเห็นหนทางใหม่ หรือจุดหมายใหม่ในโลกใหม่หลังโควิด-19”

ดังนั้นเราจึงควรใช้สถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสที่เราจะถามตัวเองอีกครั้งว่าธุรกิจเราและประเทศไทยจะเดินไปทางไหนต่อ จะ reset อะไรใหม่ หรือจะปรับฐานปรับปรุงอย่างไร โดยใช้บทเรียนจากวิกฤติมาสร้างจุดเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น…

ทุกสิ่งในโลกล้วน เกิดมา ตั้งอยู่​ เสื่อม​ลง​ ดับ​ไป​ เป้าหมายระดับปัจเจกทุกคนรวมทั้งตัวผู้เขียนลึก ๆ แล้วเราแค่ต้องการ เกิดมา​ แก่ลง (ไม่)​ เจ็บ และตายไปอย่างสงบ ไม่มีใครอยากมีอาการ แก่ก่อนรวย​ ป่วยก่อนตาย ดังบทความของนักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนเอาไว้ ส่วนคำว่ารวยมิได้หมายถึงล้นฟ้า คดโกงเขามา ฉ้อฉลระเบียบกติกาเขามาแต่หมายถึงให้มีสติว่ารวยเท่าที่เรามี​ มีเท่าที่เราจำเป็น ตามฐานานุรูป

ขอบคุณที่ติดตามครับ

สัมภาษณ์เรื่อง “แก้เครดิตบูโร ทำอย่างไร” : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร : รายการ “เพื่อประชาชน” ช่วง “พูดตรงประเด็น”

ติดตามชมคลิป รายการ “เพื่อประชาชน” ช่วง “พูดตรงประเด็น”

ตอน แก้เครดิตบูโร ทำอย่างไร

วางแผนก่อนเป็นหนี้ใหม่
– กู้ไปทำอะไร
– จะจ่ายหนี้ใหม่ได้ไหม
– จ่ายหนี้เก่าหมดแล้วหรือยัง
– หนี้เก่าและหนี้ใหม่ทำอย่างไร
เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้หรือคลินิกแก้หนี้

ดำเนินรายการโดย : อรอุมา เกษตรพืชผล
แขกรับเชิญ : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

 

สัมภาษณ์เรื่อง “เข้าใจเครดิตบูโร” : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร : รายการ “เพื่อประชาชน” ช่วง “พูดตรงประเด็น”

ติดตามชมคลิป รายการ “เพื่อประชาชน” ช่วง “พูดตรงประเด็น”

ตอน เข้าใจเครดิตบูโร
-หน้าที่ของเครดิตบูโร “สมุดพกพฤติกรรมการชำระหนี้”
-ประวัติค้างชำระ (หนี้เสีย)
-ระยะเวลาจัดเก็บข้อมูลเครดิต

ดำเนินรายการโดย : อรอุมา เกษตรพืชผล
แขกรับเชิญ : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

 

เรื่องน่าอ่าน