เมื่อค้างชำระแต่เคลียร์แล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป
บทความในครั้งนี้มาจากคำถามค้างคาใจของใครหลายคน ว่า เมื่อตนเองไม่ชำระหนี้จะด้วยเหตุผลใด ๆ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะส่งข้อมูลว่าลูกหนี้ได้ค้างชำระ 31-60 วัน, 61-90 วัน หรือ 91-120 วัน เรื่อยไปจนถึงค้างชำระเกิน 300 วัน เมื่อมีประวัติแบบนี้จะบอกว่า มีหนี้แต่ไม่จ่าย ท้ายสุดคือผิดสัญญา จนเกิดความเครียด
แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป แนวทาง คือ
1.ต้องทำให้ตัวเองเป็นแค่ “คนเคยค้าง” ให้เร็วที่สุด โดยรีบชำระหนี้ที่ค้างโดยด่วน
2.ตั้งสติสำรวจว่าหนี้ที่มีปัญหานั้นเพราะอะไร เช่น ใช้จ่ายเกินตัว ฟุ่มเฟือย อยากได้ตามเพื่อนหรือไม่
3.สำรวจรายได้ว่ามาจากแหล่งใด เท่าไร มีความแน่นอนหรือไม่
อาจสำรวจได้ดังนี้ กลุ่มแรกรายจ่ายพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตไม่น่าจะเกิน 25-30% ของรายได้รายเดือน กลุ่มที่สองรายจ่ายเพื่อการออม เช่น ตัดเงินเดือนเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เป็นต้น กลุ่มที่สามรายจ่ายที่เกิดจากอารมณ์อยากได้ ซึ่งหากเราไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองเดือดร้อนแต่อย่างใด
“ค่าใช้จ่ายนี้ จะช่วยเราจากคนเป็นหนี้ค้างชำระกลับมาเป็นสถานะคนเคยค้าง หนี้เคลียร์แล้วในปัจจุบัน บนพื้นฐานบุคลิกกลับเนื้อกลับตัว กลับใจไม่คิดจะไปย่ำรอยเดิมที่ เป็นหนี้ ไม่ใช้หนี้ จนต้องขาดอิสรภาพทางการเงิน ไม่ต้องการเงินใครมาช่วยอีกต่อไปแล้ว หาเอง ออมเอง ใช้เอง”
4.หาเงิน มีการสร้างรายได้ เอาเงินที่ได้มาเป็นเงินฝากและให้เอาเข้าบัญชีที่สม่ำเสมอ ตรงจุดนี้ต้องทำ 6-12 เดือนอย่างต่อเนื่อง ต้องอดทน อดออม กล่าวคือ อดทนที่จะไม่ใช้เพื่อเก็บเงินเอามาใช้ในยามจำเป็น ต้องไม่ผลัดวันออม อย่าอ้างว่าให้รางวัลชีวิตอีกต่อไป
5.เมื่อต้องการจะสร้างหนี้อีกครั้งให้ถามตัวเองว่า จะเป็นหนี้อีกครั้งจะเอาเงินไปทำอะไร, หนี้ก้อนใหม่นี้จะวางแผนใช้คืนอย่างไร , หนี้เดิมที่มีอยู่ทั้งในระบบ นอกระบบ จะวางแผนใช้คืนอย่างไร และหนี้เดิมบวกหนี้ใหม่ครั้งนี้ จะวางแผนใช้คืนอย่างไร ถ้าหาคำตอบได้แล้วจึงตามด้วยการตรวจเครดิตบูโร พร้อมคำตอบที่เตรียมไปชี้แจงว่าที่เกิดการค้างชำระเพราะอะไร
6.สุดท้ายเลิกโทษคนอื่น ให้ทบทวนตนเอง รู้จักตัวตนเรา หาเหตุของการผิดนัดให้เจอ จะได้ไม่ต้องกลับไปเจอเหตุการณ์แบบก่อนหน้าและหลังปี 40 ที่ประเทศจะล้มละลายด้วยปัญหาของหนี้เสียที่มาจาก ไม่รู้จักลูกค้าคนที่มาขอสินเชื่ออย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจ