Blog Page 142

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “เมื่ออยากกู้วันนี้ แต่สิ่งที่เราทำไว้ในอดีตจะตามมาให้แก้ไข” : www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2562

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล)

เมื่ออยากกู้วันนี้​ แต่สิ่งที่เราทำไว้ในอดีตจะตามมาให้แก้ไข

โดย คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/586881

“เนื่องจากเราชำระหมดกับเจ้าหนี้ที่รับซื้อหนี้ของเราจากธนาคารแล้ว แต่สถานะเราในรายงานเครดิตบูโรยังเป็น​ 42 อยู่ อยากจะทำการแก้ไขสถานะเป็นปิดบัญชีได้ไหม โดยการส่งแฟ็กซ์ เอกสารไปทำการแก้ไขได้ไหม​
ตอนนี้เราอยากจะกู้ซื้อบ้าน​เรารู้ตัวแล้วว่า​ สิ่งที่เราทำไปในอดีตในการไม่ชำระหนี้มันเป็นอย่างไร เราอยากได้โอกาสแก้ตัว​ ช่วยบอกเราหน่อยว่าต้องทำอย่างไร” ข้อความลักษณะนี้ได้หลั่งไหลเข้ามาที่แผนกรับเรื่องการ
ให้บริการลูกค้าของเครดิตบูโรเป็นจำนวนมาก​ ในช่วงที่ทางการมีโครงการช่วยเหลือผู้คนให้ได้สินเชื่อบ้าน​ ขณะเดียวกันในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว (2561) ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ (2562) ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องเหตุ

เพราะมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ผ่านการกำหนด​ของธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจะเริ่มต้นในเดือนเมษายน​ 2562​ ผมจึงอยากใช้โอกาสนี้อธิบายและทำความเข้าใจดังนี้ครับ

1. สถานะ 42 คือ การโอนขายหนี้ให้กับนิติบุคคลผู้รับโอนหนี้ พิจารณาได้ 2 แบบ แบบที่1 จ่ายชำระปกติ ไม่ค้างชำระ แบบที่ 2 ค้างชำระ หรือ NPLหมายถึงการที่ตัวเจ้าของข้อมูลที่เป็นลูกหนี้​ ไม่ได้ชำระหนี้ในบัญชีสินเชื่อ​ แน่นอนว่าต้องเป็นการค้างชำระที่ต่อเนื่อง​ ยาวนานพอควร​ และเป็นบัญชีหนี้เสีย (NPL​ Account)​ เรียกได้ว่าเจ้าหนี้ตามจนอ่อนอกอ่อนใจ เช่น​ ค้างชำระเกิน​ 180 วัน​ ค้างชะระเกิน​ 300 วัน​ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม​ เมื่อไม่ชำระหนี้​ สัญญาไม่เป็นสัญญา​ ผลตามมาคือการเสียความน่าเชื่อถือในเรื่องวินัยทางการเงินและเสียความน่าเชื่อถือหากจะพยายามก่อหนี้ใหม่อีกครั้ง​ นานๆ เข้าเจ้าหนี้สถาบันการเงินดังกล่าวก็ขายบัญชีลูกหนี้นั้นออกไปให้กับนิติบุคคลที่รับซื้อหนี้มาบริหารต่อไม่ว่าจะเป็นการตามหนี้​ การฟ้องให้ชำระหนี้​ เพราะเมื่อเขาซื้อสิทธิเรียกร้องมาแล้วเขาก็ต้องหาตัวลูกหนี้ให้เจอ​ เจรจาให้

2.ทีนี้พอจะไปยื่นขอกู้ที่ใหม่โดยยังไม่ได้ตามไปชำระเจ้าหนี้คนใหม่ที่ซื้อหนี้ของเรามันก็เป็นปัญหาสิว่า​ เราเป็นคนอย่างไร​ คนที่กำลังพิจารณาคำขอของเราก็คิดในทางลบไว้ก่อนว่า​ ถ้าสถานะยังเป็น​ 42 ก็ต้องถือว่าเป็นหนี้ค้าง​
เป็นหนี้เสีย​ และยังไม่มีการชำระหนี้​ เขาคงทำใจลำบากที่จะอนุมัติเงินกู้ใหม่ที่เรากำลังยื่นขอในเวลานี้

3.ทางแก้คือต้องไปชำระหนี้กับเจ้าหนี้คนใหม่ที่ซื้อหนี้ของตัวเราจากธนาคารหรือเจ้าหนี้คนเก่า​ แล้วเอาเอกสารยืนยันการชำระหนี้ที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า​ “ใบปิดหนี้” มาแสดงกับสถาบันการเงินคนที่เรากำลังยื่นขอกู้ในปัจจุบัน​
เพื่อยืนยันว่า​ ฉันได้ชำระหนี้ที่ค้างไว้นานแล้วนะ​ ฉันชำระไปเมื่อไหร่​ นานแล้วหรือยัง​ และชำระไปด้วยจำนวนเท่าใด​ คนที่กำลังพิจารณาคำขอของเราจะเชื่อไม่เชื่อ​ เราก็บังคับเขาไม่ได้

4.จากนั้นท่านควรติดต่อเครดิตบูโรครับ​ ติดต่อทำไม​ ติดต่อเพื่อขอปรับสถานะจาก​ 42​ ไปเป็​น​ 43 สำหรับบัญชีนั้น​ เพื่อเป็นการบ่งบอกชัดๆ ในระบบว่า​ บัญชีที่เราค้างชำระ​ ไม่จ่ายหนี้​ ถูกขายออกไป​ เราได้ตามไปชำระหนี้จนหมดสิ้นแล้ว​ ไม่มีหนี้ต่อกันแล้ว​ จริงแท้แล้วคือการเอาเงินไปปิดยอดหนี้​ ปิดบัญชีเจ้าปัญหากับเจ้าหนี้คนที่รับซื้อหนี้ไปนั่นเอง​ เวลาที่คนพิจารณาสินเชื่อเข้ามาดูข้อมูลในระบบก็จะเชื่อถือได้ว่า​ ตัวเราได้ชำระหนี้ที่เป็นประเด็นปัญหาหมดไปแล้ว

5.เมื่อเครดิตบูโรได้รับคำขอและเอกสารที่ ถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว บริษัทจะดำเนินการประสานงานตรวจสอบกับสถาบันการเงิน คนที่ขายหนี้ว่าขายจริง​ คนที่รับชำระหนี้ว่าได้รับชำระจริง
และเมื่อได้รับคำชี้แจงจากสถาบันการเงินแล้ว บริษัทจะแจ้งผลให้เราได้ทราบ (ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอของเราตามที่กฎหมายกำหนด

6.เอกสารที่ต้องการกรณีที่ตัวเรามีความประสงค์ ยื่นคำขอแก้ไขรหัสสถานะบัญชี (เนื่องจากได้ชำระหนี้ให้แก่นิติบุุคคลผู้รับโอนหนี้เสร็จสิ้นแล้ว)
เครดิตบูโรขอสงวนสิทธิ์ในการรับเรื่อง โดยจะรับเป็นเอกสารต้นฉบับเท่นั้น ทั้งนี้ตัวเราสามารถยื่นคำขอแก้ไขรหัสสถานะบัญชี พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง หรือ จัดส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนซึ่งเอกสารประกอบด้วย
1. แบบคำขอแก้ไขรหัสสถานะบัญชี กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน  สามารถ​ Download จาก​ www.ncb.co.th
2. สำเนาบัตรประชาชน ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
3. สำเนาหนังสือยืนยันการชำระหนี้ปิดบัญชี ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
4. สำเนาใบเปลี่ยน ชื่อ-นามสกุล ในกรณีที่มีการเปลี่ยน ชื่อ-นามสกุล ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง

จ่าหน้าถึง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ส่วนรับเรื่องร้องเรียน เลขที่ 63 ชั้น 2 อาคาร 2
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ ถ.พระราม 9
เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310 นะครับ​

เมื่ออยากกู้วันนี้​ แต่สิ่งที่เราทำไว้ในอดีตจะตามมาให้แก้ไขครับ​ เป็นหนี้ต้องใช้หนี้​ สัญญาต้องเป็นสัญญาครับ

ยอดปรับโครงสร้างพุ่ง-ไหลกลับเป็น’เอ็นพีแอล’40% ‘ไอเอ็มเอฟ’ห่วงหนี้ครัวเรือน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : วันที่ 17 เมษายน 2562

ยอดปรับโครงสร้างพุ่ง-ไหลกลับเป็น’เอ็นพีแอล’40% ‘ไอเอ็มเอฟ’ห่วงหนี้ครัวเรือน

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : วันที่ 17 เมษายน 2562

เครดิตบูโร“ชี้เจนวายเจนเอ็กซ์ แชมป์เบี้ยวหนี้
กรุงเทพธุรกิจ “เครดิตบูโร“เผย “ไอเอ็มเอฟ” ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง หลังพบยอดปรับโครงสร้างหนี้โตต่อเนื่อง ทั้งยัง ไหลกลับเป็นหนี้เสียราว 40% สะท้อนคุณภาพหนี้เปราะบาง  ชี้กลุ่ม”เจนวาย-เอ็กซ์” ครองแชมป์เบี้ยวหนี้สูง พบสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคลแย่ลงต่อเนื่อง ดันหนี้ครัวเรือน โตกระฉูด หนี้ครัวเรือนที่กลับมาเร่งตัวขึ้น โดยล่าสุด ณ  สิ้นปี 2561 มียอดคงค้างอยู่ที่ 12.82 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.6% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ขณะที่คุณภาพหนี้เริ่มลดลง ส่งผลให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ เรียกดูข้อมูลเครดิตของลูกค้าทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยไตรมาสแรกปี 2562 พบว่า มียอด ขอตรวจข้อมูลเครดิตลูกค้าใหม่จาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” เพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.36 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ ในปี 2561 มียอดขอดูข้อมูลเครดิต ลูกค้าใหม่รวม 16 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 14.29 ล้านครั้ง ขณะที่ยอดตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าในปี 2561 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 53.97 ล้านครั้ง จากปีก่อนหน้าที่ 43.85 ล้านครั้ง ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ มียอดขอดูข้อมูลรวม 12.59 ล้านครั้ง สะท้อนว่า ผู้ปล่อยสินเชื่อมีความกังวลในการปล่อย สินเชื่อ และไม่มั่นใจในคุณภาพหนี้ จึงขอดูข้อมูลประวัติลูกค้าเก่าถี่ขึ้น

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เริ่มสอบถามข้อมูลคุณภาพหนี้ครัวเรือนมากขึ้น ทั้งสินเชื่อบุคคล รถยนต์ บ้าน และบัตรเครดิต โดยเฉพาะข้อมูลหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนลูกค้าและวงเงินหนี้  ล่าสุดหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง เพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 8.1-8.2 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระดับ 8 แสนล้านบาท การเพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนความเปราะบางที่มากขึ้นของคุณภาพหนี้ และหากดูสถิติจะพบว่าหนี้กลุ่มนี้หลังการปรับโครงสร้าง ยังคงไหลกลับมาเป็นหนี้เสียราว 40%  “หนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ยังไหลไม่หยุดเป็นสิ่งที่ไอเอ็มเอฟถามเยอะและให้ความสนใจมาก ส่วนใหญ่หนี้ที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างเป็นหนี้บ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคลเหล่านี้เป็นการสะสมความเสี่ยง เพิ่มขึ้น หากดอกเบี้ยขยับกลุ่มนี้แย่แน่นอนซึ่งข้อเป็นห่วงของไอเอ็มเอฟนี้ ทางเราได้รายงานให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รับทราบแล้ว”

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเข้ามาตรวจเครดิตบูโร เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 และเข้ามาอีกครั้ง 8 ก.พ.2562 และเครดิตบูโรแจ้งข้อเป็นห่วง ของทางไอเอ็มเอฟไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สำหรับเอ็นพีแอลรวมของทั้งระบบ ยังอยู่ในระดับสูงที่ 6.9% หรือคิดเป็นมูลค่าเอ็นพีแอลเกือบ 8 แสนล้านบาท และหากดูช่วงอายุของคนเป็นหนี้พบว่า ช่วงอายุเฉลี่ย 30 ปี มีสัดส่วนการเป็นเอ็นพีแอล เท่ากับ 21.3% แต่หากคิดจำนวนหัว พบว่า อายุ 35ปีเป็นกลุ่มที่มีหนี้เอ็นพีแอลมากที่สุด

ทั้งนี้หากดูหนี้แต่ละประเภท สินเชื่อ บ้าน ยอดปล่อยกู้ปีก่อน อยู่ที่ 4.3 แสนบัญชี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ราว 3.6 แสนบัญชี โดยส่วนใหญ่กลุ่มเจนวาย (อายุ 22-39ปี) เป็นกลุ่มที่ได้สินเชื่อมากที่สุดถึง 58% พบว่าหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 30วันขึ้นไป ปรับ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยรวมทั้ง 3 กลุ่ม เจนวาย เจนเอ็กซ์ และเบบี้บูมเมอร์ มียอดค้างชำระถึง 2.2แสนบัญชี หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ อยู่ที่ราว 2.4แสนล้านบาท หากเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่าหนี้ค้างชำระเพียง 2.2แสนล้านบาท โดยหนี้ค้างชำระมากที่สุดในกลุ่มเจนวาย และเจนเอ็กซ์ ส่วนหนี้ค้างชำระในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ พบว่ายอดค้างชำระทุกกลุ่ม อยู่ที่ใกล้ 1 ล้านบัญชี โดยอยู่ในกลุ่มเจนวายและเจนเอ็กซ์ราว 8.5 แสนคันที่เป็นหนี้มีปัญหา หรือคิดเป็นมูลหนี้ค้างชำระ ทุกกลุ่มที่อยู่ราว 2.6 แสนล้านบาท โดยหนี้ค้างชำระมากที่สุดอยู่ที่เจนวาย เกือบ 1.3 แสนล้านบาท

ขณะที่เครดิตการ์ด พบว่ากลยุทธ์แบงก์มุ่งไปเจาะกลุ่มเริ่มทำงานใหม่ 1-2ปีมากขึ้น โดยยอดการอนุมัติสินเชื่ออยู่ในกลุ่มเจนวายเกือบ 60% จากยอดอนุมัติบัตรทั้งสิ้น 2.4 ล้านบัญชีปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่มียอดอนุมัติ1.7 ล้านบัญชี ซึ่งหากดูบัตรเครดิตรวมทั้งหมดพบว่าปัจจุบันอยู่ที่ราว 20 ล้านใบ แต่มียอดแอคทีฟอยู่จริงเพียง 14 ล้านใบ ซึ่งในนี้มีจำนวนบัญชีที่มีปัญหาหรือค้างชำระถึง 1ล้านใบ ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเจนวาย และเจนเอ็กซ์
สุดท้ายคือ สินเชื่อบุคคล ที่พบว่า มียอดค้างชำระตั้งแต่ 30วันเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง ซึ่งหนี้ที่มีปัญหารวมทุกกลุ่มแล้วอยู่ที่ 2.8 ล้านบัญชี โดยมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเจนวาย ที่มีบัญชีที่ค้างชำระกว่า 1.5 ล้านบัญชี ขณะที่คิดเป็น วงเงินพบอยู่ที่กว่า 2.6 แสนล้านบาท โดยมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเจนเอ็กซ์ กว่า 1.2แสนล้านบาท และเจนวาย อีก 9 หมื่นล้านบาท

“Credit inquiries climbing as household debt swells” : Bangkok Post : Wednesday 17 April 2019

“Credit inquiries climbing as household debt swells”

Bangkok Post : Wednesday 17 April 2019

 

NCB says reviews could number 60m this year

Credit inquiries at the National Credit Bureau (NCB) are expected to hit another record high this year amid mounting anxiety over swelling household debt.
The number of credit inquiries for existing borrowers is estimated to reach 60 million this year after 12.6 million were made during the first three months, said NCB chief executive Surapol Opasatien.
Increasing household debt has stoked demand for credit reviews to check debtors’ payment ability, he said.
Last year, inquiries for credit reviews set a record at 54 million transactions, up from 43.9 million in 2017, 42.2 million in 2016, 32.7 million in 2015, 28.1 million in 2014, 16 million in 2013 and 6.58 million in 2012.
Credit inquiries for new loans are also expected to set a record in 2019 after tallying 16 million last year, Mr Surapol said.
During the first quarter, inquiries for new loans reached 4.36 million transactions.
The increase in credit inquiries could partially be attributed to the government’s mortgage scheme for 1 million low-cost homes, while the Bank of Thailand’s stricter mortgage requirement will come into force from April 1, he said.
Growing demand for auto loans also raised the number of credit checks for new loans, Mr Surapol said.


In 2012, credit inquiries for new loans numbered 14.3 million when the Yingluck Shinawatra government launched the excise tax rebate under the first-time car buyer scheme.
Thailand’s household debt amounted to 12.6 trillion baht and represented 77.8% of the country’s GDP at the end of last September, according to central bank data.
Household debt rose 5.9% year-on-year, faster than the economic growth rate of about 4%.
“The 2019 motor show [which ended earlier this month] delivered rapid growth in both new car sales and auto loans,” Mr Surapol said. “This led to concerns about asset quality and household debt, which explains why the central bank is closely monitoring the situation.”
The number of new car loan accounts is expected to be higher than last year, assuming that new car sales will exceed 1 million units.
New auto loan accounts for both new and used cars totalled 1.56 million in 2018, up from 1.33 million in 2017 and 1.23 million in 2016.
Delinquent auto loans have continued to increase over the past few years, largely from Generation Y. In 2018, 450,000 auto loan accounts with total lending of 130 billion baht to millennials turned sour.
Auto loans are a concern for the Bank of Thailand, and the market expects car lending to come next on the central bank’s list for tougher criteria to prevent financial stability from deteriorating after measures to control credit cards, personal loans, car title loans and mortgages were launched.
Mr Surapol said the regulations will control household debt but the increase in income is also needed to bring down overall household debt.
“The 2019 motor show delivered rapid growth in both new car sales and auto loans. This led to concerns about asset quality and household debt.”

“เปิดมุมมอง”สุรพล โอภาสเสถียร” สถานการณ์หนี้ครัวเรือน-อนาคตแบงก์ไทย” : นสพ.ผู้จัดการรายวัน : วันที่ 17 เมษายน 2562

“เปิดมุมมอง”สุรพล โอภาสเสถียร” สถานการณ์หนี้ครัวเรือน-อนาคตแบงก์ไทย”

นสพ.ผู้จัดการรายวัน : วันที่ 17 เมษายน 2562

ดูเหมือนว่าความเป็นห่วงในสถานการณ์หนี้ครัวเรือนจะเริ่มกลับเข้ามาอีกรอบ หลังจากที่พุ่งขึ้นสูงแตะระดับ 80% ของจีดีพีเมื่อปลายปี 58 ที่ผ่านมา ซึ่งการกลับมาในรอบนี้ มีความแตกต่างหรือมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไร นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) จะเปิดมุมมองให้เราได้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

* สถานการณ์หนี้ครัวเรือน
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด ไตรมาส 3 ปี 2561 เติบโต 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งความไม่สบายใจของเขาก็คือ จีดีพีไทยโต 4% แต่หนี้ครัวเรือนโต 5.9% ในส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากแบงก์โต 5.6% สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 6.2% สหกรณ์ออมทรัพย์ 4.9% แล้วก็เป็นนอนแบงก์เช่าซื้อโต 8% ซึ่งหลักๆ ก็มาจากสินเชื่อรถยนต์ แต่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนรวม ที่ 77.8% ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาทางการเงินนั้น มีภาระการชำระหนี้สินต่อเดือนของครัวเรือน (debt service ratio) 75% หมายความว่าถ้าเขามีรายได้ 100 บาท จะมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ 75 บาท เหลือกินใช้แค่ 25 บาท ถัดมากลุ่มที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหาทางการเงินมีภาระผ่อน 23% อันนี้ไม่มีปัญหา ซึ่งตรงนี้เป็นที่มาการคำนวณภาระการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือนทีไม่ควรเกิน 40-50% ที่แบงก์นำมาใช้พิจารณาประกอบการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ กัน อย่างถ้ามีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ไม่ควรมียอดผ่อนชำระเกิน 15,000 บาท
นอกจากนี้ ก็มีผลการวิจัยที่น่าสนใจของสถาบันป๋วยฯ ที่ใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโรออกมา พบว่า คนอายุ 20 ปี เกินกว่า 80% มีหนี้สิน 1 บัญชี พออายุเยอะขึ้นประมาณ 30 กว่าๆ 40 ปีเริ่มมี 2 บัญชี แต่มีประมาณ 20% ของคนช่วงอายุประมาณนี้มีหนี้สินมากกว่า 5 บัญชี แต่คนสูงอายุและวัย 19-20 ปีส่วนใหญ่มีหนี้สินบัญชีเดียว ส่วนจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ 57% ใช้สถาบันการเงินเดียว แต่ก็มี 10% ที่ใช้มากกว่า 5 แห่ง
แล้วก็สำรวจต่อไป คนอายุ 19-20 ปีที่เกินกว่า 80% มีหนี้นั้น เป็นหนี้อะไร 35% เป็นสินเชื่อรถ และถ้ารวมจักรยานยนต์ด้วยจะเป็นกว่า 60% ตรงนี้ทำให้เราเห็นภาพแล้วว่าเดี๋ยวนี้ซื้อมอเตอร์ไซค์นี่แทบจะไม่ต้องดาวน์กันแล้ว และสมควรที่จะต้องคุมหรือไม่ อายุก็ยังน้อยด้วย อีกตัวที่น่าสนใจก็คือ สินเชื่อบุคคลพวกผ่อนของต่างๆ เป็นประเภทสินเชื่อที่มีสัดส่วนที่สูงตลอดทุกช่วงอายุของคน คือในทุกๆ ช่วงอายุของคนที่มีหนี้จะต้องมีอย่างน้อย 20% เป็นหนี้สินเชื่อบุคคลหรือพวก ผ่อนของต่างๆ ส่วนประเภทหนี้ที่คนอายุ ยิ่งสูงยิ่งมีก็คือ หนี้ธุรกิจก็จะเป็นหนี้ภาคเกษตร เป็นการกู้ไปเพื่อทำธุรกิจการเกษตร ซึ่งสำรวจลึกลงไปอีกก็พบว่าหนี้ธุรกิจนี้ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคอีสาน แล้วก็หนี้ผ่อนของก็ยังมีสัดส่วนที่สูงพอๆ กัน
ดังนั้น ก็จะเห็นแล้วว่าสินเชื่อบุคคลหรือพวกผ่อนของนี่ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตของคนไทยที่เป็นหนี้ในทุกช่วงอายุ เพราะฉะนั้นอยากจะจัดการกับหนี้ครัวเรือน สินเชื่อบุคคลก็เป็นตัวหนึ่งที่จะต้องหยุดให้ได้
จะหยุดก็ต้องดูต่อไปว่า ใครเป็นผู้ปล่อยกู้หลักในสินเชื่อบุคคล ในแต่ละช่วงอายุ นอนแบงก์เข้ามามีอิทธิพลในกลุ่มเด็กอายุ 19-20 ปี ไปจนถึง 23-24 ปี โดยนอนแบงก์เป็นผู้ปล่อยกู้ให้ในสัดส่วนมากกว่า 80% ส่วนสถาบันการเฉพาะกิจไปไฟแนนซ์ในกลุ่มคนอายุเยอะ ขณะแบงก์พาณิชย์ก็ไปกลุ่มประมาณอายุ  20 ปีปลายๆ แต่ก็เริ่มเข้ามาในกลุ่ม First Time Borrower หรือกลุ่มที่กู้ครั้งแรกบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าจะสกัดไม่ให้กลุ่ม First Time Borrower มีหนี้มากก็ต้องไปทำในกลุ่มนอน แบงก์ เพราะเกือบ 100% ของหนี้มาจาก ตรงนี้ ไปคุมให้ตายฝั่งแบงก์มันก็ไม่เกิด Market conduct ก็ต้องไปตรงจุดนั้นด้วย

* ข้อมูลหนี้ล่าสุดของเครดิตบูโร
ส่วนของเครดิตบูโร ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวนสมาชิก 98 ราย มีจำนวนบัญชีในฐานข้อมูล 108.07 ล้านบัญชี เป็นบุคคลธรรม 103.89 ล้านบัญชี คิดเป็นจำนวน 28 ล้านราย นิติบุคคล 4.18 ล้านบัญชี จำนวนเกือบ 400,000 บริษัท
การขอตรวจข้อมูลสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2561 มียอดเข้ามาตรวจเพื่อนำไปวิเคราะห์สินเชื่อใหม่ 16 ล้านใบสมัคร ซึ่งมากกว่าปี 2555 ที่มีโครงการรถคันแรกที่ 14.30 ล้านใบ เป็นเพราะมีโครงการบ้านล้านหลัง กับมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ ทำให้ยอดโอนบ้านปีที่แล้วปิดสูงถึง 570,000 ล้านบาท มา 3 เดือนแรกของปีนี้มียอดไปแล้ว 4.36 ล้านใบ ถ้านับทบไปทั้งปีนี้ ก็น่าจะเกินกว่าปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า คนยังยื่นขอสินเชื่อกัน แต่ไตรมาสที่ 2 อาจจะชะลอลงเพราะหมดช่วงเร่งโอนหนี LTV จากนั้นก็สูงขึ้นอีกได้หาก Digital Lending เกิด เพราะปีที่แล้วแบงก์ทำไปบ้างสำหรับลูกค้าเก่า ส่วนการขอตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าเมื่อปีที่แล้วมีจำนวน 53.97 ล้านครั้ง ปีนี้เริ่ม 3 เดือนแรกมี 12.59 ล้านครั้ง ปีนี้น่าจะถึง 16 ล้านครั้ง ก็แสดงถึงความกังวลในสินเชื่อเดิมก็ยังมีอยู่
มาดูต่อที่การเติบโตของสินเชื่อปี 2561 สินเชื่อบัตรเครดิตโต 6.6% มียอดที่ 4.6 แสนล้าน อันนี้ไม่น่าห่วง สินเชื่อบุคคลโต 4% กดลงมาระดับหนึ่งจากก่อนหน้านี้ 8-10% หลังจากมีมาตรการคุม ที่มาห่วงก็มาที่สินเชื่อรถที่โต 11.5% สินเชื่อบ้านโต 7% ชะลอลงจากก่อนหน้าที่ประมาณ 10% ก็เป็นการโตอย่างระมัดระวังขึ้น สินเชื่อ O/D ลดลง 1% ไม่มีนัยอะไร ส่วนสินเชื่ออื่นๆ ส่วนใหญ่เป็น สินเชื่อเกษตรโต 6%
ด้านภาพที่เป็นความเสี่ยงมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ 7% และอีกตัวที่น่ากังวลคือ ยอดหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างซึ่งมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตรงนี้ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝั่งคือลูกหนี้ก็ผ่อนน้อยลง สถาบันการเงินก็สำรองน้อยลงก่อนนี้ประมาณปี 2557 หนี้ส่วนตรงนี้ มีประมาณ 150,000 ล้าน แล้วก็โตขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2559 และเป็นการเติบโตด้วยเส้นกราฟที่ชันขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้เกินกว่า 800,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งหนี้ตัวนี้ถูกฝังไว้ในหนี้ปกติ โดยการปรับโครงสร้างนี้ก็ประมาณ 60% ที่ไปได้ อีก 40% ต้องกลับไปเป็น SM หรือกลุ่มผิดนัดชำระหนี้ 31-60 วัน แล้วก็กลับขึ้นมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่วนกันอยู่อย่างนี้ แต่เท่าที่สอบถามก็จะวนมากสุด 3 รอบ ไม่ผ่านก็ไม่ไหวแล้ว         “ข้อมูลตรงนี้เป็นจุดที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ถามย้ำมากตอนมาขอข้อมูล เพราะอันนี้เป็นความเสี่ยงสะสมที่อยู่ในระบบเรา และเป็นหนึ่งในสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดอกเบี้ยบ้านเรายังขึ้นไม่ได้ เพราะถ้าขึ้นกลุ่มนี้ที่มีอยู่มากแย่เลย และถ้าตัวเลขของกลุ่มนี้กับกลุ่มค้างชำระ 31-60 วันยังไม่ทรงตัว ตราบนั้นถือว่าเอ็นพีแอลยังไม่จบ”

* เครดิตบูโรกับ disruption
โลกในยุคก่อนๆ เครดิตบูโรจะมีความเชื่อมโยงกับแบงก์ในด้านของฐานข้อมูล แต่ในอนาคตในทุกกลุ่มธุรกิจจะมี CRA (Credit reporting agents) เป็นของ ตัวเอง ในโซเชียลมีเดียมี CRA ของตัวเอง โดยใช้ชุดข้อมูลของ ตัวเอง ก็เกิด Peer to Peer Lending โดยไม่จำเป็นต้องมาตรวจข้อมูลที่เครดิตบูโรอย่างโมเดลของจีน อาลีบาบาจะมีไฟแนนซ์ของตัวเอง มี CRA ของตัวเอง มีหน่วยที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล แล้วก็ปล่อยกู้เอง เป็น Peer to Peer รายใหญ่ ขณะที่แบงก์เองต้องพยายามเข้ามาในช่องทางนี้ให้ได้โดยผ่านแอปพลิเคชัน ก็จะเห็นได้ว่าเครดิตบูโรก็โดน disruption  เช่นกัน
การจัดเก็บข้อมูล หรือข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาสินเชื่อก็จะเปลี่ยนไปด้วย ก่อนปี 40 ใช้ระบบที่ว่า No Land No Loan หลังปี 40 ใช้วิเคราะห์ตามความเสี่ยง ซึ่งปัญหาก็คือกลุ่มเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัปเข้าไม่ถึง ต่อไปก็จะปรับมาเป็นการพิจารณาจากข้อมูลชุดใหม่คือ ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินอันนี้แบงก์มีอยู่แล้ว แล้วก็ข้อมูล Financial inclusion for unbanked customer หรือดูจากพฤติกรรมแวดล้อมต่างๆ อาทิ การจ่ายค่าบริการด้านโทรคมนาคม สาธารณูปโภคต่างๆ อันนี้แบงก์มีเป็นบางส่วน และข้อมูลด้านพฤติกรรมทางโซเชียลอันนี้แบงก์ไม่มี ซึ่งข้อมูลชุดใหม่มันจะมา disrupt ข้อมูลชุดเก่า
รูปแบบ Digital Lending ที่เป็นไปได้ของเราตอนนี้ ก็คือ ให้แบงก์ซึ่งมีข้อมูลในส่วนแรก ไปร่วมกับพันธมิตรอย่างพวกลาซาด้า ไลน์ หรืออื่นๆ ที่มีข้อมูลชุดที่ 3 แล้วก็เอาข้อมูลดั้งเดิมกับข้อมูลทางเลือกมายำหรือ คุกกิ้งกัน และสิ่งที่สำคัญก็คือข้อมูลก็ต้องมีระบบความปลอดภัย ต้องมีการทำ eKYC
ขณะที่เครดิตบูโรเองที่แทนจะส่งเป็นข้อมูลแบบเดิมๆ ก็จะส่งเป็นสกอริ่งว่าระดับคะแนนเครดิตอยู่ที่เท่าไหร่ HH ไปจนถึง AA ซึ่งสกอริ่งมาจากเงื่อนไขต่างๆ อาทิ การใช้วงเงินเต็มหรือไม่ กู้บ่อยแค่ไหน ระยะเวลา เป็นต้น

* หน้าตาของแบงก์ในอนาคต
หน้าตาของ Bank in the Future ที่ เครดิตบูโรต่างประเทศมองภาพไว้คือ 1. Faceless ก็คือไม่จำเป็นต้องพบหน้ากัน อันนี้มี e KYC รองรับ 2. Data Driven ทุกอย่างอยู่ที่ข้อมูล 3. Paperless ไม่ต้องมีเอกสารกระดาษ และ Advanced Algorithms คือมีโมเดลที่บอกว่า Who is good หรือ Who is bad
ทีนี้เราจะมองภาพวิวัฒนาการของแบงก์แต่งตั้งอดีตมาเป็นลำดับ ก็จะเป็นประมาณนี้ ยุคเริ่มต้น เป็น Branch banking 2 customer การใช้สาขากระจายเข้าหาลูกค้า ต่อมาก็ Big bank 2 customer เป็นบิ๊กแบงก์ในการบริการลูกค้า มาเป็น Bank + subsidiary 2 customer ก็มีลูกเป็นเครือข่ายให้ลูกค้า ถัดมาเป็น Universal bank 2 customer เป็นแบงก์ที่ให้บริการทุกสิ่ง ในวิกฤติปี 2540 เรามาหยุดที่ตรงนี้ แบงก์ล้มไปเยอะ ก็เลยมาที่ Bank + strategic partner 2 customerมีผู้ถือหุ้นต่างชาติเข้ามาช่วยในด้านต่างๆ แล้วก็มาถึงใน 2 ปีที่ผ่านมา เราก็เห็น Bank+Fintech 2 customer แบงก์เอาฟินเทคมาอยู่หน้าบ้าน มาหาลูกค้า มาทำระบบซีเคียวริตี้ อะไรมากมาย ส่วนในปีนี้เราจะได้เห็นชัดๆ ก็คือ Bank + Platform 2 customer ก็พวก ไลน์ แกร็บ
จากนั้นต่อไป คำว่า Bankก็หายไป กลายเป็น Banking service in Platform 2 customer หมายถึงการทำธุรกรรมทางการเงินกับแบงก์จะผ่านแอปพลิเคชัน และถัดจากนี้ไปจะไม่ใช่ Banking Service บนแพลตฟอร์ม แล้ว จะมาเป็น Financial service in Life platform 2 customer เปลี่ยนจาก Platform เป็น Life Platform ซึ่งหมายถึงการเข้าไปอยู่การดำเนินชีวิตของเราในทุกๆ ขั้นตอนในแต่ละวัน เหมือนกับแนวคิดที่คนทำเซเว่นอีเลฟเว่นคิด คือดูว่าตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอนคนทำอะไรบ้าง และในแต่ละสเตปต้องมีสินค้าของเราเข้าไปอยู่ด้วย ก็คือในทุกๆ การดำเนินชีวิตของเราต้องมีบริการทางการเงินเข้าไปแฝงอยู่ ส่วนถัดจากนี้จะไปต่อยังก็ไม่รู้แล้ว ต้องรอดูต่อไป.

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล)  “ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จะออกจากเขาวงกตความต้องการของสมาชิกได้อย่างไร”

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล)  

ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จะออกจากเขาวงกตความต้องการของสมาชิกได้อย่างไร

โดย…สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/586292

เมื่อมีการพูดจาถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยที่มีจำนวนประมาณ​ 12.5 ล้านล้านบาท​ ย้ำนะครับว่าหน่วยคือล้านล้านบาท​ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เศรษฐกิจไทยติดขัดกันอยู่เวลานี้​ และเป็นปัญหาที่เกิดมาก่อนรัฐบาลชุดนี้ซึ่งสะสมเรื่อยมา​

เมื่อเรามองไปที่คนให้กู้ก็จะพบว่าเจ้าหนี้รายใหญ่ๆสามรายแรก ได้แก่ 1.ธนาคารพาณิชย์ 2.สถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ​ SFI และ 3.สหกรณ์ออมทรัพย์

โดยปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์​ทั้งหมดเป็นพันแห่งได้ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า​ 1.9 ล้านล้านบาท​ คนเป็นลูกหนี้ก็คือสมาชิกสหกรณ์​ที่ถือหุ้น​ มีเงินฝาก​ และมีสิทธิยื่นขอกู้​ ภาษาชาวบ้านคือสมาชิกขากู้นั่นเอง​ กลไกสำคัญที่ทำให้ตัวสหกรณ์​ออมทรัพย์​กล้าปล่อยกู้ก็คือ

  1. สมาชิกที่กู้จะถูกหักรายได้​ เงินเดือนเวลาที่นายจ้างจ่ายแล้วเงินนั้นจะถูกส่งมาชำระหนี้​ ส่วนเงินที่เหลือจะพอใช้จ่ายหรือไม่พอใช้จ่ายเป็นเรื่องของตัวลูกหนี้ต้องไปจัดการเอาเอง
  2. กรรมการที่ตัดสินใจให้กู้จะรู้จักตัวผู้กู้ค่อนข้างดีเพราะเป็นคนในสังกัดองค์กรเดียวกัน​ อาจเป็นเพื่อนพนักงาน​ อาจเป็นหัวหน้า​ หรือลูกน้อง​ ทีมงานกันก็ได้
  3. เงื่อนไขจะไม่เข้มข้นหรือโหดแบบทางการค้าโดยทั่วไปเพราะเป็นเรื่องขบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนมีเงินเหลือกับคนที่เงินขาดมือ

 

ปัญหาที่นำมาสู่ความหนักอกหนักใจของผู้บริหารองค์กร​ สถาบันการเงินประเภทนี้คือว่า

  1. สมาชิกขาฝากเงินส่วนใหญ่ต้องการดอกเบี้ยเงินฝากสูงๆ​ เงินฝากนั้นไม่มีการคุ้มครองเงินฝาก​ ดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษี​ เวลานี้ก็น่าจะได้ประมาณ​ 3-4% สมาชิกส่วนนี้เป็นคนสร้างต้นทุนเงินฝาก
  2. สมาชิกขากู้ส่วนใหญ่ก็จะกู้ไปใช้ต่างๆนาๆ​ บางส่วนก็จะกู้แล้วกู้อีก​ กู้วนซ้ำ​ มีโอกาสเป็นต้องกู้​ หรือกู้ฉุกเฉินต่อเนื่องและเป็นประจำ​ เรียกว่าขาประจำการสร้างรายได้เงินกู้ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์​ อัตราดอกเบี้ยก็มีตั้งแต่​ 5-8% ที่อาการหนักคือสมาชิกที่ทำงาน​ ได้เงินเดือน​ ส่งหนี้​ แต่หักแล้วเหลือไม่พอดำรงชีพ​ ต้องกู้มาเติมการใช้จ่าย​ ความอ่อนแอในขีดความสามารถในการหารายได้มาชำระหนี้ในแต่ละเดือนนับวันจะลดน้อยถอยลงไป​ บางรายที่ร้ายแรงมากถึงขนาดว่าเงินเดือนทั้งหมดแทบจะเอาไปใช้หนี้​ มีเงินโอทีเอาไว้กินใช้​
  3. สมาชิกที่ถือหุ้น​ ก็คือผู้คนที่เอาเงินมาลงทุนถือหุ้นเพื่อเป็นสมาชิกสหกรณ์​ออมทรัพย์​ เงินที่เอามาลงทุนจะได้คืนก็ต่อเมื่อลาออกที่เรียกว่าชักทุนคืน​ ในระหว่างนี้ก็จะได้เงินปันผลหรือผลตอบแทนเฉลี่ยคืนรายปี​ ที่ผ่านมาผลตอบแทนก็จะดี สูงกว่าเอาไปฝากธนาคาร​ เวลานี้น่าจะอยู่เหนือ​ 6% และผู้ถือหุ้นต่างก็คาดหวัง​ คาดคั้น​ หรือกดดันให้คณะกรรมการที่มาหาเสียงในการเป็นกรรมการบริหารงานว่าคณะไหนมีผลงาน​ มีฝีมือทำได้มาก​ ทำได้ไม่น้อยกว่ากี่ % ก็จะได้รับเลือก

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านลองคิดตามผมนะครับ​ แหล่งที่มาของรายได้มีความอ่อนแอเปราะบางและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่​ ถ้าจะเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้จะทำได้​ไหม​ หนี้เสีย​ หนี้ค้างชำระ​ มันจะเพิ่มหรือมันจะลดในอนาคต​ แหล่งที่มาของรายจ่ายจะลดลงได้ไหม ดอกเบี้ยเงินฝากจะลดได้ไหม​ ในยามที่คนมีเงินวิ่งหาว่าที่ไหนให้ดอกแพงก็ไป​ ถ้าไปลดดอกเบี้ยเงินฝากรับรองว่าคณะกรรมการจะโดนต่อว่าแน่นอน​ ในขณะที่มุมของสมาชิกที่ถือหุ้นก็อยากได้ผลตอบแทนเกินขั้นต่ำที่คาดหวังกันไว้​ คือมันต้องบริหารให้ได้เกินกว่าที่ตนเองและคณะไปหาเสียงผูกพันเอาไว้ว่าจะได้ประมาณนั้นประมาณนี้​

สามเหลี่ยมของความต้องการที่ขึงตึงยันกันเป็นแบบนี้มันก็จะนำมาซึ่งการละทิ้ง​ ผ่อนผัน​ ผ่อนปรนเงื่อนไขหรือไม่เช่น ลูกหนี้คนขอกู้มีความสามารถหย่อนหน่อยก็ยอมรับ​ ดอกเบี้ยเงินฝากควรจะลดได้บ้างก็ไม่ลด​ หรือกลัวถูกผู้ถือหุ้นไล่ลงจากเวทีในข้อหาไร้ฝีมือในการสร้างผลตอบแทนกับคนถือหุ้น

พอหันมามองทางการ​ ก็พยายามจะเข้มงวดขึ้น​ ทำให้หนี้ส่วนนี้โตช้าลง​ แต่จะเพิ่มเกณฑ์มากไปแล้วก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ตัวอย่างคือ​ สมาชิกอายุ​ 55 ปีกู้เงินแล้วต้องผ่อนรายเดือนเกินอายุเกษียณ​ แล้วถ้าไม่มีรายได้จากแหล่งอื่นนอกจากบำนาญแล้ว​ เราจะดูแลกันอย่างไร​ คำว่าแก่ก่อนรวย​ ทุกข์หลังเกษียณ​ เราจะทำอย่างไรกัน​ ใครจะเริ่มก่อน​ มันคือเขาวงกตที่สร้างกันมาในหลายๆปี​ และคำถามคือกรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จะออกจากเขาวงกตความต้องการของสมาชิกในสามกลุ่มข้างต้นนี้ได้อย่างไร….

รายการ “พอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach” The Standard สัมภาษณ์เรื่อง “คะแนนเครดิต (Credit Scoring)” โดยคุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

รายการ “พอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach” The Standard สัมภาษณ์เรื่อง “คะแนนเครดิต (Credit Scoring)” โดยคุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

สวัสดีปีใหม่ไทย ๒๕๖๒

เครดิตบูโร ขอสวัสดีปีใหม่ไทย ๒๕๖๒

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกาย สุขใจ

สุขภาพการเงินแข็งแรง

เรื่องน่าอ่าน