รู้ทัน “แก๊งดูดเงิน” ป้องกันบัญชีของเราอย่างไรให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์

รู้ทัน “แก๊งดูดเงิน” ป้องกันบัญชีของเราอย่างไรให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์

ปัญหาถูกแฮกข้อมูลบัตรเครดิตเป็นเรื่องที่พบเจอได้ตลอดเวลา เพราะแค่เรามีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตก็มีโอกาสถูกแฮ็กได้ทุกเมื่อ และเราก็ไม่มีทางรู้ว่าวันไหนที่แฮ็กเกอร์จะสุ่มหมายเลขบัตรมาเจอบัตรของเรา หากเราใช้บัตรอย่างไม่ระมัดระวัง เราก็มีโอกาสที่จะถูกแฮ็กบัญชีได้

แต่ก่อนที่เราจะรู้วิธีป้องกันการถูกดูดเงินในบัญชี เราต้องมาดูกันก่อนว่า ทำไมเราถึงถูกแฮ็ก เพื่อที่จะได้ระมัดระวังในการใช้บัตรเครดิตมากยิ่งขึ้น

 

ทำไมถึงถูกแฮ็กบัญชี

การแฮกบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตเกิดจากการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ที่จะมีระบบการชำระเงิน ซึ่งระบบนี้ยังกระจายออกเป็นทอด ๆ หลายสเต็ป ซึ่งมีโอกาสที่ข้อมูลของเราจะหลุด หรือส่งไปถึงแฮ็กเกอร์

 

โอกาสในการถูกแฮกเกิดขึ้นได้อย่างไร

ทุกวันนี้การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ช่วยอำนวยความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาสำคัญของการเกิดข้อผิดพลาดเหล่านี้คือ การที่หลายคนไม่รู้ว่าบัตรที่ตนเองถือ หรือใช้ทำธุรกรรมการเงินเป็นบัตรประเภทใด และจะต้องมีวิธีป้องกัน ระมัดวังการใช้บัตรอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นช่องโหว่งที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ใช้บัตร

 

ตัวอย่าง 1

นายมีทรัพย์ เติมน้ำมันรถที่ปั๊ม หลังจากเติมเสร็จก็ยื่นบัตรเครดิตให้กับพนักงานโดยไม่ได้ปิดตัวเลขทั้งหน้าและหลังบัตร และไม่ได้สนใจบัตรของตนเอง

ช่องโหว่ตรงนี้อาจทำให้นายมีทรัพย์ถูกล้วงข้อมูลไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการจดตัวเลข หรือถ่ายรูปหน้าบัตร และหลังบัตร

ตัวอย่าง 2

นางสาวมีตังค์ ชำระสินค้ากับร้านค้าออนไลน์ที่ไม่มี OTP

โดยปกติการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ร้านค้าออนไลน์ หรือ E-Commerce จะมีการส่ง OTP เพื่อยืนยันการทำธุรกรรมก่อน ซึ่งหากร้านค้าไหนที่ไม่มี ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกล้วงข้อมูลได้ หรือบางร้านที่ให้กรอกตัวเลขบัตรทั้งหน้า และหลังบัตร สถานการณ์นี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงเช่นกัน

ตัวอย่าง 3

นางสาวออมเงิน มีบัตรเดบิต แต่ไม่เคยผูกบริการออนไลน์ใดใด

หากเป็นในกรณีนี้ แม้ว่าจะมีบัตรเดบิต แต่ไม่เคยมีการผูกบริการ ก็มีโอกาสโดนสุ่มเลขบัตร ทั้งเลขหน้าบัตร หลังบัตร รวมไปถึงวันหมดอายุบัตร

หมายความว่า เมื่อไหร่ที่เราตัดสินใจเลือกที่จะมีบัตร ไม่ว่าจะเป็นบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เรามีโอกาส และความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกแฮ็กทันที แต่รู้ทั้งรู้ บัตรเดบิต และบัตรเครดิตก็ยังมีความสำคัญในหลาย ๆ เรื่อง ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีที่จะใช้บัตรเหล่านี้ให้ปลอดภัย ซึ่งวิธีการใช้แต่ละบัตรก็แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งการทำธุรกรรมออนไลน์ออกเป็น บัตรเดบิต บัตรเครดิต E-Wallet


วิธีการทำธุรกรรมออนไลน์ให้ได้อย่างปลอดภัย

บัตรเดบิต

– จำกัดวงเงินเป็น 0

– เช็กว่าบัตรผูกกับบัญชีหลักหรือไม่ ถ้าเป็นบัญชีหลักให้ยกเลิกทันที

– เปิดบัญชีใหม่ หรือเลือกบัญชีรอง เพื่อผูกกับบัตรเดบิตแทน

บัตรเครดิต

– ทำธุรกรรรมการเงินออนไลน์แบบจำกัดวงเงินในแต่ละวัน

– หมั่นเช็ก Statement เป็นประจำ

– ใช้กระดาษปิดตัวเลข 3 ตัวหลังบัตร

E-Wallet

– เหมาะกับการใช้จ่ายแบบทันที

– ไม่ควรทิ้งเงินใน E-Wallet เป็นจำนวนมาก ๆ

– ไม่ผูกกับบัญชีหลัก เพราะจะสามารถได้ข้อมูลไปถึงบัญชีหลักที่เราใช้งานอยู่

ดังนั้นก่อนทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ใดใด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้เป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้ใครล่วงรู้ข้อมูลเหล่านี้ไปได้ เพื่อป้องกันการถูกแฮ็กข้อมูล และถูกดูดเงินในบัญชีไปแบบไม่รู้ตัว และนอกจากนี้การตรวจเครดิตบูโรก็นับเป็นอีกวิธีที่ช่วยเช็กข้อมูลเครดิตให้เราได้ด้วยเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.it24hrs.com/2021/warning-bank-account-hacked-debitcard-creditcard/
https://www.youtube.com/watch?v=vstW6XTy3ZI&ab_channel=iT24Hrs