Blog Page 12

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เครดิตบูโรคืออะไร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 26 มกราคม 2567

เครดิตบูโรคืออะไร 

เครดิตบูโร คือองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะรวมข้อมูลคนเป็นหนี้ ใครไปเป็นหนี้แบงก์ ใครไปเป็นหนี้นอน-แบงก์ จะมีองค์กรแบบนี้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลคนเป็นหนี้ ถ้าเปรียบเทียบ มันคือ “สมุดพกของคนเป็นหนี้” เหมือนว่าเราไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยนั้นหรือที่โรงเรียนนั้น แล้วก็จะมีสมุดพกเพื่อรวบรวมว่าคนนี้มีผลการเรียนเป็นอย่างไร มันก็เหมือนกันกับว่า คนนี้มีหนี้ที่ไหนบ้าง แล้วปฏิบัติหนี้แต่ละก้อน แต่ละที่อย่างไร องค์กรนี้ในต่างประเทศและในประเทศไทย เรียกว่า “เครดิตบูโร” ครับ

หลายท่านคิดว่าสาเหตุที่สถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อ เพราะเครดิตบูโรขึ้น “บัญชีดำ” หรือที่ใคร ๆ เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “ติด blacklist” ความจริงแล้วเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องครับ เพราะ “เครดิตบูโร” จะมีหน้าที่ในการจัดเก็บ รวมรวบข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชะรำหนี้สินเชื่อ โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลให้แก่เครดิตบูโรเป็นรายเดือนทุกเดือน ทางเครดิตบูโรก็จะอัปเดตข้อมูลให้ในแต่ละเดือนไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด 36 เดือน จำนวน 36 บรรทัด เรียงทับกันเหมือน “ขนมชั้น” เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ข้อมูลบรรทัดเก่าของเมื่อ 36 เดือนที่แล้วก็จะหายไป มิได้มีหน้าที่ขึ้น “บัญชีดำ” หรือ “Blacklist” อย่างที่เข้าใจกันครับ

เมื่อท่านขอกู้เงินหรือสินเชื่อแล้ว สถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน ภาระหนี้ที่มีอยู่และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อย เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลที่ปรากฏในเครดิตบูโรไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่ขอกู้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากท่านมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินอื่นครับ

เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับมคร บุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน แจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th ศึกษารายละเอียดข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : อัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรปี 2567 ได้ที่ไหนบ้าง และทำไมเราต้องตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 12 มกราคม 2567

อัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรปี 2567 ได้ที่ไหนบ้าง และทำไมเราต้องตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง

บทความนี้ ผมอยากจะขออัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้าง ณ เดือนมกราคม 2567 ครับ โดยเครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในเช็กสุขภาพการเงินของตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ดังนี้ครับ

  1. ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป (ฟรี) ผ่านแอป ”ทางรัฐ” หรือตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) หรือตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ทุกแห่ง และเคาน์เตอร์บริการที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ

2.โมบายแอปพลิเคชัน เลือกรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมล รับรายงานได้ทันที ผ่านแอป “KKP Mobile” (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) หรือโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ รับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านแอป “Krungthai NEXT” (ธนาคารกรุงไทย) หรือแอป “MyMo” ธนาคารออมสิน หรือ “เป๋าตังเปย์” บนแอปเป๋าตัง หรือแอป “Flash Express” (Flash Money) และรับรายงานภายใน 3 วันทำการ ผ่านแอป “ttb touch” (ธนาคารทีทีบี)

  1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แบบรอรับรายงานได้ภายใน 15 นาที ใช้บัตรประชาชนของตนเอง ดังนี้ วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.30 น. ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (ใกล้ MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัลพระราม 9) วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานี BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-18.00 น. ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1
  2. แบบส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา) กรุงไทย กรุงศรี ธอส. และ ธ.ก.ส. หรือใช้บัตร ATM กรุงไทย ไทยพาณิชย์ หรือผ่านธนาคารออนไลน์ กรุงศรี หรือเคาน์เตอร์บริการที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ
  3. ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รับรายงานทางอีเมล ได้ทันที ที่ 1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9) 2) เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (BTS สถานีอารีย์ ทางออก 1) 3) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1 4) สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) (ด้านหลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ประตูทางเข้า 1 จุดติดตั้งนาฬิกาประจำสถานี หรือนาฬิกาหน้าปัดหมายเลข ๙) 5) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (สำนักงานใหญ่) อาคารเคเคพีทาวเวอร์ ชั้น 1 ใกล้ประตูทางเข้าอาคาร 6) อาคารสาธรนครทาวเวอร์ ชั้น 1 โซนตู้เอทีเอ็ม (BTS ช่องนนทรี ทางออก2) 7) ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (อาคาร A) ชั้น 2 โถงต้อนรับเยื้องจุดสอบถาม

สำหรับการยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต เจ้าของข้อมูลยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด

โดยเหตุผลดี ๆ ที่ควรตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีดังนี้ครับ 1) ช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน เช็กว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่ 2) การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ 3) เช็กว่าข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลเครดิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่ 4) ข้อมูลสินเชื่อของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้ 5) เช็กให้ชัวร์ว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่ 6) เช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว สถานะข้อมูลเครดิตขึ้นเป็นปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่

ทั้งนี้ เครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ระวัง! ถ้าไม่อยากพลาด… รู้เท่าทันก่อนตัดสินใจจะก้าวสู่วงจรหนี้

สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แล้วนับประสาอะไรกับการเตรียมพร้อมวางแผนการเงิน มีหลายคนที่พลาดมานักต่อนักแล้วกับคำว่า ‘หนี้’ ไม่ว่าจะเตรียมพร้อมและวางแผนการเงินรอบคอบมาอย่างดีก็ตาม ก็อาจพลาดพลั้งไปก้าวติดกับดักวงจรหนี้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าหนี้ที่คนส่วนใหญ่มักก่อขึ้นโดยไม่รู้ตัวมีหลัก ๆ ด้วยกันคือ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล

ดังนั้นหากไม่อยากตัดสินใจก้าวพลาดไปติดกับดักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สิน หรือวางแผนการเงินที่ผิดพลาด เราต้องมาตระหนักรู้เรื่องสำคัญเหล่านี้กันก่อน

1. รู้ตัวว่ากู้หนี้ไปทำอะไร
บางคนอยากมีเงินเพื่อไปทำสิ่งนั้น สิ่งนี้เลยมองว่าการกู้เงินจึงเป็นทางออกในทุก ๆ เรื่องราว ซึ่งเป็นการคิดที่ผิดพลาดมาก เพราะการเป็นหนี้สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าตัวเราจะเป็นหนี้ไปเพื่ออะไร เงินที่จะกู้กับสถาบันทางการเงินจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเรา เช่น หากเป็นหนี้กู้เงินเพื่อมาซื้อบ้าน แบบนี้ก็ถือเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่หากกู้เงินเพื่อไปซื้อของฟุ่มเฟือยแบบไม่มีเหตุผลแบบนี้ก็ถือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจกู้หนี้ยืมสินคิดให้ดีว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นหรือแค่อยากได้

2. รู้ว่าการเป็นหนี้มีราคาต้องจ่าย
บางคนอาจคิดว่ากู้เงิน 20,000 บาท ก็จ่ายคืนเท่าเดิม จริง ๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้นค่ะ เพราะการกู้เงินทุกครั้งสิ่งที่ตามมานั่นคือดอกเบี้ย และนั่นคือราคาที่เราต้องจ่าย เพราะการกู้เงินก็คือการยืมเงินจากสถาบันทางการเงินมาใช้ก่อนล่วงหน้าหน้า เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยนั่นเอง

3. รู้ตัวว่ามีภาระค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
เราต้องประเมินตัวเราเองได้ก่อนว่าภาระค่าใช้จ่ายที่มีสัมพันธ์กับรายรับแต่ละเดือนแล้วหรือยัง และถ้าหากจะก่อหนี้สักก้อน รายได้ของเรานั้นสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ และจ่ายตรงต่อเวลาอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นไปได้ต้องสามารถชำระหนี้คืนได้มากกว่าการจ่ายขั้นต่ำด้วย

4. รู้เท่าทันสถานะทางการเงินของตนเอง
แม้ว่าบางคนจะเตรียมพร้อมวางแผนการเงินมาเป็นอย่างดี แต่อีกหนึ่งโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอนั่นคือการเกิดหนี้งอกแบบไม่รู้ตัว ซึ่งเราสามารถเช็กได้จากการตรวจเครดิตบูโร เพื่อตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของเราว่ามีหนี้โดยที่ไม่ได้ก่อบ้างหรือไม่

การรู้เท่าทันและเตรียมพร้อมและวางแผนการเงินอย่างไม่ประมาท เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการก้าวพลาดไปติดกับดักวงจรหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบรู้ตัว และไม่รู้ตัว

7 วิธีช่วยจัดการรายรับรายจ่าย สร้างแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมาคุณได้เริ่มทบทวนเรื่องการเงินของตนเองกันแล้วหรือยัง?

การทบทวนแผนการเงินไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของรายได้หรือภาระค่าใช้จ่าย จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถวางแผน และปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสำหรับในบทความนี้ เรามี 7 วิธีมาแนะนำแนวทางการวางแผนการเงินที่อาจจะไม่ใช่วิธีใหม่ แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณได้เข้าใจภาพรวมการวางแผนการเงิน และสามารถจัดการรายรับรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในปี 2567 อย่างแน่นอน

1. มองหาเครื่องมือหรือผู้ช่วยในการวางแผนการเงิน
สำหรับคนที่ไม่มีเวลาในการบริหารจัดการการเงินมากเท่าไหร่นัก การมีแอปพลิเคขันสำหรับจัดการในเรื่องของการบันทึกรายรับรายจ่าย จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางแผนการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันสำหรับวางแผนการเงินมากมายที่จะช่วยลดเวลาการวางแผนการเงินได้มากขึ้น

2. การกำหนดเป้าหมายการเงินใหม่
วางแผนและตั้งเป้าหมายทางการเงินใหม่ ตั้งแต่การออมเงิน การจัดการภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภาระหนี้สิน และเช็กลิสต์ทรัพย์สินที่มีเพื่อกำหนดเป้าหมายและวางแนวทางการเงินของตนเองในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ

3. จัดสรรงบประมาณได้มีประสิทธิภาพ
กำหนดงบประมาณรายจ่ายที่เหมาะสมและเป็นไปได้กับตนเอง ที่สามารถทำตามได้ในทุกวันและทุกเดือน โดยเริ่มต้นจาก รายจ่ายประจำคงที่ รายจ่ายในชีวิตประจำวัน และเงินสำรองฉุกเฉิน

4. เคลียร์หนี้เพื่อปลดภาระ
ใครที่มีภาระหนี้สินจำนวนมาก ๆ ในปีหน้าเป็นการเริ่มต้นจัดการและเคลียร์หนี้ให้หมด โดยเฉพาะคนที่มีหนี้หลายแห่ง ให้เริ่มต้นจากการสะสางหนี้ที่เหลือน้อยที่สุดไล่ไปหนี้ที่จำนวนมากที่สุด

5. ศึกษาเรื่องการลงทุนอย่างจริงจัง
โอกาสที่จะทำให้เงินงอกเงยไม่ใช่เพียงแค่ทำงานหนักมี Active Income แต่ Passive Income ปล่อยให้เงินได้ทำงานบ้างก็เป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้มีเงินเก็บออมได้มากขึ้น ควรเริ่มต้นศึกษาการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หุ้น กองทุน ประกันสะสมทรัพย์ เป็นต้น

6. วางแผนสำหรับเพื่อปรับแผนการออมเงินระหว่างปี
การวางแผนการเงินไม่ควรตั้งเป้าหมายหรือกำหนดแนวทางไว้ทางเดียว เราควรมีแผนการเงินสำรอง เช่นการตั้งเป้าหมายการออมเงิน เทคนิคการออมเงิน ในกรณีที่แนวทางแรกที่เราวางแผนแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่สามารถทำตามแนวทางที่วางแผนได้ อย่างน้อยแผนสำรองที่คิดไว้ก็จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้เช่นกัน

7. วางแผนจัดการลดหย่อนภาษี
ในทุกปีเราต้องมีการยื่นภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้ตรงตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด และสำหรับผู้ที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ก็ต้องวางแผนภาษีโดยหาวิธีการลดหย่อนภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเรา และรูปแบบการลดหย่อนภาษีที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งหากมีการวางแผนที่ดี โอกาสที่จะได้เงินคืนภาษีก็มีด้วยเช่นกัน

การทบทวนการเงินในทุกปีเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเห็นมุมมองในการเตรียมสร้างวิธีการวางแผนการเงินในปี 2567 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถเลือกแนวทางตามความเหมาะสมของตนเองให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ได้ง่ายขึ้น

 

5 วิธีกำจัดหนี้ให้หมดจดเริ่มต้นสู่ปีใหม่ ที่คุณทำได้

“เคยรู้สึกไหมว่าการมีหนี้สินเยอะมาก ๆ ทำให้ใช้ชีวิตยากขึ้น…”

หลายคนต้องเผชิญหน้ากับการเป็นหนี้ซึ่งเป็นปัญหาการเงินที่เรื้อรังและมัดตัวเราในติดอยู่ในวังวนไม่สามารถเดินออกมาได้ หากไม่มีการหาทางจัดการหรือแก้ปัญหาที่เหมาะสม ภาระหนี้สินที่แสนรุงรังก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราทั้งด้านสุขภาพกาย และสุขภาพทางการเงิน

ดังนั้นเริ่มต้นสู่ปีใหม่ เรามาหาทางกำจัดหนี้ให้หมดจดด้วยวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยลดการเผชิญหน้าภาระรายจ่ายและการชำระหนี้ที่มากเกินไปในแต่ละเดือน

1. ชำระหนี้ที่มียอดคงเหลือต่ำที่สุดให้หมด
แรงผลักดันในการช่วยให้ชำระหนี้ได้ไวขึ้น คือการเร่งกำจัดหนี้ก้อนที่มียอดคงเหลือของหนี้ที่น้อยที่สุดก่อน แต่หากมีมากกว่า 1 ก้อน ก็ให้ก้อนที่ 2 3 4 ชำระด้วยการจ่ายขั้นต่ำ หรืออาจจะมากกว่าขั้นต่ำที่กำหนดนิดหน่อยตามกำลังที่เรามี

ข้อดีของการชำระหนี้ที่มียอดคงเหลือต่ำที่สุดก่อน
– เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนยอดหนี้ที่ลดลงอยู่ตลอด
– เมื่อเห็นยอดหนี้ลดลงก็มีกำลังใจในการชำระหนี้ก้อนถัด ๆ ไป

2. ชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน
หากใครที่ต้องการปิดหนี้โดยเร็ว และดอกเบี้ยไม่บานขอแนะนำว่าให้กำจัดหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน เมื่อชำระยอดหนี้ครบจนหมด ให้ปิดบัญชีนั้นไปทันทีเพื่อป้องกันการเกิดหนี้งอก และการพาตัวเรากลับเข้าไปสู่วังวนหนี้อีกครั้ง พอเราชำระหนี้ก้อนที่มีดอกเบี้ยสูงจนหมด หนี้ก้อนถัดไปให้ก็จำนวนเงินเดิมที่เคยจ่ายหนี้ก้อนแรกมาโปะกับหนี้ก้อนที่ 2

ข้อดีของการชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน
– ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดค่าดอกเบี้ยที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดก่อน
– ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยสูง ๆ

3. โอนยอดหนี้ทั้งหมดรวมในก้อนเดียว
รวบก้อนหนี้ที่มีให้อยู่ในก้อนเดียวกันให้หมด โดยย้ายหนี้จากที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมารวมกับยอดหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด เพื่อให้สามารถจัดการหนี้ให้ได้ง่ายมากขึ้น และจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายหนี้ของบัตรเครดิตนั้นเพิ่ม

ข้อดีของการโอนยอดหนี้ทั้งหมดรวมในก้อนเดียว
– สร้างวินัยทางการเงินในการชำระหนี้ให้กับตัวเอง
– ไม่ต้องเสียค่าดอกเบี้ยจำนวนเยอะ ๆ

4. จ่ายเงินมากกว่ายอดขั้นต่ำของบัตรเครดิตหรือสินเชื่อเสมอ
หากต้องการปิดหนี้ให้หมดโดยเร็วในทุกก้อนที่มีควรชำระหนี้ให้มากกว่ายอดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน ซึ่งเริ่มต้นจ่ายมากกว่าขั้นต่ำจากจำนวนยอดหนี้คงเหลือน้อยที่สุด และไล่ไปจำนวนยอดหนี้ที่คงเหลือมากที่สุด

ข้อดีของการจ่ายเงินมากกว่าขั้นต่ำ
– ช่วยให้ปิดหนี้ได้ไวมากขึ้น แน่นอนว่าอาจปิดได้ไวกว่าการจ่ายแค่ขั้นต่ำ
– ช่วยให้ไม่เสียประวัติทางการเงิน

5. รวมหนี้ไว้ในสินเชื่อของสถาบันทางการเงินต่าง ๆ
บางธนาคารมีนโยบายที่จะให้เราสามารถรวมหนี้หลาย ๆ ก้อนให้อยู่ในก้อนเดียวขึ้นอยู่กับแต่ละเงื่อนไขของสถาบันทางการเงิน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ง่ายขึ้น หากใครที่มองว่าการเคลียร์หรือจัดการหนี้วิธีนี้ง่ายอาจลองไปคุยหรือสอบถามเพิ่มเติมได้

ข้อดีของการรวมหนี้ไว้กับสถาบันทางการเงิน
– ช่วยรวบหนี้ไว้ให้จัดการได้ง่ายขึ้น
– ไม่ส่งผลกระทบต่อประวัติการเงินหากมีการชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนด

วิธีทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราสามารถกำจัดหนี้และลดภาระหนี้สินทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว และหากมีวินัยทางการเงินก็จะช่วยให้ปิดหนี้ได้ไวอีกด้วย ใครหาแนวทางจัดการหนี้ ลองไปปรับใช้กันดูนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.marketwatch.com/picks/6-proven-strategies-to-pay-off-credit-card-debt-faster-in-2023-01672138324

 

เปิดคู่มือสร้างอิสรภาพทางการเงิน 2567 ที่ใครก็ทำได้

ปีใหม่หลายคนก็เริ่มมีการวางแผนชีวิตในอนาคตกันอยู่ใช่ไหม อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรปล่อยผ่านละเลยคือ เรื่องของการวางแผนการเงินที่ควรสร้างอิสรภาพทางการเงินในชีวิตด้วย อย่างน้อย ๆ ในแต่ละปีเรามีปณิธานกับตัวเองว่าจะเป็นคนใหม่ พัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนนิสัยบางอย่างที่เกี่ยวกับด้านการเงินก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

เรามาเปิดคู่มือการสร้างอิสรภาพทางการเงินในปี 2567 กันว่า ควรมีสิ่งใดที่เราควรทำ และสิ่งใดที่เราควรละทิ้งไปบ้าง

1. สร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี
พอบอกว่าเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีฟังดูแล้วเหมือนจะทำได้ยากแต่จริง ๆ แล้วไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เราต้องลิสต์รายจ่ายสำคัญ ๆ ในชีวิตออกมาให้หมด และลงตารางหรือปฏิทินรายเดือนไว้ว่า ในช่วงวันนั้น ๆ เดือนนั้น ๆ จะต้องมีรายจ่ายอะไรบ้าง

ตัวอย่างเช่น
มกราคม – จ่ายค่าประกันสุขภาพ
กุมภาพันธ์ – จ่ายค่าประกันรถยนต์
มีนาคม – ยื่นภาษีประจำปี
และไล่เรียงลำดับแต่ละเดือนไปจนถึงเดือนสุดท้ายของปี

2. สะสางหนี้ให้หมดจด
เคลียร์ภาระหนี้สินทั้งหมดที่มีโดยเลือกบริหารจัดการตามความเหมาะสมของตนเอง เช่น เลือกเคลียร์หนี้ก้อนที่เล็กที่สุดก่อน หรือเลือกเคลียร์หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุด

3. สร้างกองทุนสำรองยามฉุกเฉิน
เงินสำรองยามฉุกเฉินจะเป็นเสมือนเกราะป้องกันทางการเงินในเวลาที่เรามีเหตุให้ต้องใช้เงินแบบไม่คาดฝัน และเป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่จะช่วยทำให้ไม่ก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

4. ปลูกฝังวินัยทางการเงินในหัว
การหลุดจากบ่วงภาระหรือปัญหาทางการเงิน เราต้องเริ่มจากการสร้างวินัยทางการเงิน และปรับมุมมองด้านการออมเงินใหม่ จัดสรรการเงินอย่างเป็นระบบเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางด้านการเงินอย่างที่หวังไว้

5. เลี่ยงการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแบบไม่ยั้งคิด
การใช้จ่ายบัตรเครดิตหรือการยื่นขอสินเชื่อ ก็เหมือนกับการนำเอาเงินในอนาคตของตนเองมาใช้จ่ายล่วงหน้า และเราต้องทยอยคืนกลับไปภายหลัง บัตรเครดิตจะมีประโยชน์หากเราใช้แล้วจ่ายคืนแบบเต็มจำนวน แต่หากเราใช้จ่ายอย่างเพลินมือแล้วต้องจ่ายขั้นต่ำ หรือจ่ายดอกเบี้ย แบบนี้ควรหลีกเลี่ยงให้ไว

อิสรภาพทางการเงินเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถสร้างได้ด้วยตนเอง เพียงแค่ต้องเริ่มและมีวินัยในการทำอย่างสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสที่จะไปสู่จุดมุ่งหมายความสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจไว้ได้

 

เป็นหนี้ แต่ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ผลของการหยุดจ่ายหนี้ร้ายแรงกว่าที่คิด

หลายคนกู้หนี้ยืมสินมาจำนวนมาก ๆ แต่เมื่อถึงเวลาก็กลับไม่จ่ายตามระยะเวลาที่กำหนด อันเนื่องมาจากหมุนเงินไม่ทัน ในช่วงแรกอาจมีการกู้หนี้ยืมสินมาโปะ แต่พอนานวันเข้าสถานะการเงินเริ่มไม่มั่นคงและ “หยุดจ่ายหนี้” โดยที่ไม่อาจรู้เลยว่าผลกระทบจากการหยุดจ่ายหนี้ที่จะตามมาจะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง

ความเสียหายจากการหยุดจ่ายหนี้

เมื่อคุณหยุดจ่ายหนี้เมื่อไหร่ หนี้ของคุณจะเปลี่ยนจากหนี้ดีที่ชำระหนี้ตรงตามเวลามาตลอด กลายเป็นหนี้เสียโดยทันที และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบไปถึงเครดิตการเงินของคุณเองด้วย และมีค่าเสียหายอื่น ๆ ตามมา เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ ค่าดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เป็นต้น

การหยุดจ่ายหนี้ส่งผลกระทบไม่ว่าจะด้านการเงิน และสภาวะจิตใจของเรา ยิ่งถ้าหากมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามเวลาที่กำหนด เรามาดูผลกระทบจากการหยุดจ่ายหนี้กันว่าจะส่งผลร้ายแรงต่อตัวเราอย่างไร

1. เสียเครดิตการเงิน
การหยุดจ่ายหนี้จะส่งผลต่อการยื่นขอสินเชื่อหรือการทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคต เพราะสถาบันทางการเงินจะต้องตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ในอดีตที่ผ่านมาของเราว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้และมีวินัยทางการเงินมากเพียงพอหรือไม่

2. เสียโอกาสการทำธุรกรรมทางการเงิน
ความเสียหายนอกจากการที่ต้องจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขอกู้สินเชื่อยากขึ้นแล้ว การหยุดจ่ายหนี้ทำให้ลดโอกาสการทำธุรกรรมการเงินกับธนาคาร เพราะความน่าเชื่อถือจากประวัติการเงินหรือประวัติการชำระหนี้ที่สถาบันทางการเงินตรวจสอบก็จะน้อยลงตามด้วย

3. เสียทรัพย์สินหากมีการฟ้องร้อง
การเลี่ยงการเผชิญกับปัญหาหนี้สินด้วยการหยุดจ่ายหนี้ ซึ่งหากไม่ชำระเป็นระยะเวลานาน ๆ คุณอาจจะโดนสถาบันทางการเงินฟ้องร้องเพื่อเรียกคืนหนี้ และร้ายแรงอาจถึงขั้นเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งหากไปถึงขั้นขึ้นศาล ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายกระบวนการในการดำเนินการอีก และไม่รู้ว่าคำพิพากษาจะจบลงหรือสิ้นสุดเมื่อไหร่

ทำอย่างไรเมื่อต้องแบกรับภาระหนี้เยอะแต่ไม่อยากให้ประวัติการเงินไม่ดี

ถ้ารู้ตัวว่าตอนนี้แบกรับภาระหนี้ที่มากเกินความจำเป็นและสวนทางกับรายรับที่มีอย่างแรกเลยคือ “อย่าหนีหนี้” เพราะนี่ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และมีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลงซึ่งได้ไม่คุ้มเสียกันอย่างแน่นอน ในปัจจุบันมีทางออกสำหรับคนที่เป็นหนี้อยู่เยอะ เช่น 1. เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อกาทางออกร่วมกัน 2. ไกล่เกลี่ยขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ 3. ติดต่อคลินิกแก้หนี้ by SAM เป็นต้น

การหยุดจ่ายหนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี หากใครที่เคยได้ยินมาว่า จ่ายหนี้ไม่ไหวให้หยุดจ่ายหนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อย่าหลงเชื่อและเมื่อรู้สึกว่ากำลังประสบปัญหาหนี้สินให้เข้าหาธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อเจรจาต่อรองเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้หนี้หมดลงโดยเร็ว

 

เลี่ยงไม่ได้ ทำอย่างไรเมื่อภาระหนี้เยอะจนต้องจ่ายขั้นต่ำ

หนี้เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือภาระค่าใช้จ่ายหนี้ที่เกินความจำเป็น และการเป็นหนี้ทำให้สถานะการเงินของใครหลายคนต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูง ยิ่งหลายคนมีภาระหนี้สินเยอะเต็มไปหมด จะไม่จ่ายหนี้เลยก็จะส่งผลต่อประวัติการเงินของตัวเราเอง แต่อยากจะปิดหนี้เร็ว ๆ ก็ทำไม่ได้ง่าย ๆ อีก

เมื่อมีหนี้สินกองโตมากมาย ไหนจะภาระค่าใช้จ่ายอีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ จนเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องจ่ายหนี้เพียงแค่ขั้นต่ำ แล้วเราจะมีวิธีการวางแผนจัดการหนี้สินที่มีอย่างไรได้บ้างในสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ต้องจ่ายหนี้ขั้นต่ำ

จัดการตัวเองอย่างไรเมื่อรู้ว่าเป็นหนี้?

1. รู้สถานะหนี้ของตนเอง
อย่างแรกคือต้องรู้ว่าตัวเรานั้นมีหนี้ทั้งหมดกี่ที่ แต่หนี้ที่มีเราเสียดอกเบี้ยต่อปีในอัตราที่เท่าไหร่ และจ่ายขั้นต่ำเท่าไหร่ต่อเดือน เพื่อให้เราสามารถวางแผนจัดการหนี้ และรายรับรายจ่ายของตัวเองได้ง่ายขึ้น และลดโอกาสการเกิดหนี้เพิ่มขึ้นด้วย

2. ลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
พยายามตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปและออมเงินให้มากขึ้นเพื่อนำเงินส่วนที่ออมจากรายจ่ายที่ไม่จำเป็นไปจ่ายหนี้ การวางแผนจัดการหนี้สินแบบนี้จะช่วยให้เราสามารถจ่ายหนี้ได้มากกว่าจำนวนขั้นต่ำอีกด้วย และยังเป็นการช่วยลดเงินต้นเพื่อให้หนี้หมดได้ไวมากขึ้น

3. ปรึกษาสถาบันการเงินหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน
หากไมรู้ว่าจะเริ่มต้นวางแผนจัดการภาระหนี้สินที่มีอย่างไรให้ปรึกษาพูดคุยกับสถาบันการเงิน เพื่อขอคำแนะนำ แนวทางที่จะช่วยให้เราจัดการหนี้ได้อย่างมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น

ทำอย่างไรเมื่อต้องจ่ายหนี้ขั้นต่ำ?

1. ตรวจสอบจำนวนยอดหนี้ขั้นต่ำของหนี้ที่มีทั้งหมด
เตรียมพร้อมเพื่อให้ไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ โดยจำเป็นต้องมีการตรวจสอบยอดหนี้ขั้นต่ำของหนี้ทุกก้อนที่มีกับทุกสถาบันทางการเงิน หากใครที่ไม่แน่ใจจำนวนตัวเลขสามารถเช็กได้จากใบแจ้งหนี้ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นผู้ส่งมา

2. หักจากบัญชีธนาคารอัตโนมัติ
แม้ว่าจะมีภาระหนี้สินเยอะ แต่ถ้ามีวินัยทางการเงินที่ดีก็ไม่ส่งผลกระทบต่อประวัติการเงินของเรา ซึ่งถ้าไม่อยากมีเครดิตไม่ดี แนะนำว่าควรผูกบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระหนี้ในรอบที่กำหนดเพื่อป้องกันโอกาสการเกิดผิดนัดชำระหนี้

3. เช็กยอดหนี้คงเหลืออยู่เสมอ
ในทุกเดือนที่มีการชำระหนี้ ควรมีการทำเช็กลิสต์รายจ่าย และตรวจสอบจำนวนยอดหนี้คงเหลืออยู่เสมอ เพื่อที่ในเดือนถัดไปจะได้วางแผนจัดการการเงินและหนี้สินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การวางแผนจัดการหนี้เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับคนเป็นหนี้ วิธีเหล่านี้เป็นแนวทางที่จะช่วยให้การจัดการหนี้ง่ายมากขึ้น แม้ว่าจะต้องจ่ายหนี้เพียงแค่ขั้นต่ำแต่ก็จะไม่ทำให้ประวัติการเงินของเราไม่ดี แต่หากต้องการปิดหนี้ให้ได้ไวมากขึ้น และลดการจ่ายค่าดอกเบี้ย ลองนนำวิธีอื่น ๆ ไปทำตามกันได้ค่ะ

1. จำกัดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
พยายามหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต หรือจำกัดวงเงินการใช้จ่ายในแต่ละครั้งให้น้อยลง และไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น โดยอาจจะลิสต์รายจ่ายก่อนจ่ายเงินออกไปทุกครั้ง

2. เพิ่มรายรับให้กับตนเอง
หารายได้เพิ่มให้กับตนเอง เช่น ขายของออนไลน์ รับจ้างเขียนบทความหรือรีวิวสินค้า เป็นต้น เพื่อนำเงินมาชำระหนี้สิน และโปะหนี้ให้หมดได้ไวมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินไว้มาก ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตใจและสุขภาพการเงินของตนเอง และการที่เราไม่สามารถจ่ายหนี้ได้เต็มจำนวน อาจส่งผลกระทบต่อเครดิตการเงินของเรา แต่ไม่ว่าจะหนี้เยอะแค่ไหนแต่การจ่ายหนี้ขั้นต่ำก็ช่วยให้ภาระหนี้สินของเราลดลงไปได้ไม่มากก็น้อย

 

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เช็กสุขภาพการเงิน ตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป…ฟรี ได้ที่ไหนบ้าง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 29 ธันวาคม 2566

เช็กสุขภาพการเงิน ตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป…ฟรี ได้ที่ไหนบ้าง

เครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิตได้อย่างรวดเร็ว หลากหลายช่องทาง เพื่อเช็กสุขภาพการเงินของตนเอง และช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองเพื่อให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงินในยุคปัจจุบัน

ข้อมูลเครดิตแบบสรุป จะประกอบด้วยข้อมูลจำนวนบัญชีสินเชื่อ ที่จะแสดงจำนวนบัญชีทั้งหมด บัญชีที่เปิดอยู่ บัญชีที่ปิดแล้ว วงเงินสินเชื่อรวม และยอดหนี้คงเหลือรวม  รวมทั้งจะมีประเภทบัญชีสินเชื่อ ได้แก่ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บ้าน เช่าซื้อ อื่น ๆ และยอดหนี้คงเหลือแต่ละประเภทบัญชีอีกด้วย  ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเครดิตแบบสรุป เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเจ้าของข้อมูล เพื่อตรวจสอบจำนวนบัญชีสินเชื่อ และยอดหนี้ที่ถูกจัดเก็บไว้ในเครดิตบูโรเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงต่อบุคคลใดได้ครับ

สำหรับการเข้าถึงบริการตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป (ฟรี) ได้พัฒนาบูรณาการร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สะดวกสบาย รวดเร็วหลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น  มีดังนี้ครับ

1.โมบายแอป “ทางรัฐ” บริการออนไลน์ภาครัฐ โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ที่เข้าถึงง่ายแค่ปลายนิ้ว ใช้งานได้จริง ง่าย สะดวก เพียงดาวน์โหลดแอป “ทางรัฐ” และเลือกเมนู “ตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป” สามารถลงทะเบียนใช้งานแอพพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้เพียงแค่นำบัตรประชาชนตัวจริงไปยืนยันตัวตนได้ที่ เคาน์เตอร์เซอร์วิสในเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ

2.ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ  (Government Smart Kiosk) โดย สพร. เป็นการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐ แบบครบวงจร ในรูปแบบดิจิทัล ผ่านพื้นที่ให้บริการหน่วยงานของรัฐและพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ ด้วยการยืนยันตัวตนในการเข้าถึงบริการด้วยบัตรประจำตัวประชาชน เลือกเมนู “ตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป” สามารถตรวจสอบตู้บริการได้ที่ www.dga.or.th

3.ที่ทำการไปรษณีย์ และเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยแจ้งเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์บริการ ขอตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป ยื่นบัตรประชาชนของตนเองและรอรับได้เลย

4.ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ใช้บัตรประชาชนของตนเอง เลือกบริการตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป ได้ที่   1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9)  2) เครดิตบูโร คาเฟ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (BTS สถานีอารีย์ ทางออก 1)   3) สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) (ด้านหลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ประตูทางเข้า 1 จุดติดตั้งนาฬิกาประจำสถานี หรือนาฬิกาหน้าปัดหมายเลข ๙)  และ 4) ชั้น 1 อาคารสาธรนครทาวเวอร์ (BTS ช่องนนทรี ทางออก2)

กรณีที่ท่านตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง

เครดิตบูโรรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เรื่องน่าอ่าน