7 กิจวัตรเรื่องเงินที่ควรทำทุกวัน ช่วงวิกฤติโควิด-19 (และวิกฤติอื่น ๆ)

วิกฤติเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิด อย่างวิกฤติโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ กระทบถึงกระแสเงินสดของหลายคน ทั้งผู้ประกอบการ มนุษย์เงินเดือน และอาชีพอิสระ เรื่องการเงินส่วนบุคคลเลยต้องมีการรัดเข็มขัดกันพอสมควร หมายถึงพฤติกรรมของเราในทุกวันก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย มาดูกันค่ะว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่เราควรทำทุกวันในช่วงวิกฤติ เพื่อรักษาสภาพคล่องของเราให้ดีที่สุด จะเป็นวิกฤติโควิด-19 หรือวิกฤติอื่น ๆ ที่กระทบกับเรื่องเงินก็ใช้ได้นะ

  1. เช็กเงินสำรองที่เหลือ

เช็กดูว่าเรามีเงินเก็บสำรองเหลืองอยู่เท่าไร ในแต่ละวันลดไปเท่าไร มีเพิ่มมาบ้างหรือไม่ แล้วคำนวณดูว่าด้วยอัตราการใช้จ่ายเท่านี้ เงินเก็บสำรองจะพอใช้ไปอีกกี่เดือน กี่วัน

2. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทุกวัน บันทึกว่าในวันนั้นใช้จ่ายอะไรไปบ้าง มีรายได้เท่าไร รายจ่ายเท่าไร เป็นรายจ่ายไปกับของจำเป็นเท่าไร เช่น อาหาร ค่าเช่าบ้าน ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นของฟุ่มเฟือยอีกเท่าไร เช่น ค่าซื้อเสื้อผ้า สั่งอาหารมื้อหรู เป็นต้น จะได้รู้ว่าเราเผลอเสียเงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากน้อยแค่ไหน และด้วยอัตราการใช้จ่ายเท่านี้ เงินเก็บจะพอใช้อีกแค่ไหน ถ้าประเมินแล้วว่าวิกฤติจะอยู่นานเกิดเงินเก็บที่มี ก็ต้องปรับแผนใหม่ หาทางลดค่าใช้จ่ายลงอีก หรือหารายได้เสริม

3. เช็กโปรโมชั่นอาหาร/ของใช้จำเป็น

เช็กดูโปรโมชั่นของร้านค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เพื่อดูว่าของใช้ที่เราจำเป็นต้องซื้อร้านไหนมีลดราคา, 1 แถม 1, หรือโปรโมชั่นฟรีค่าขนส่ง ได้โอกาสซื้อในราคาที่คุ้มค่ากว่าเดิม แต่ต้องซื้อแต่ของที่จำเป็นเท่านั้นนะ หากเป็นของฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ถึงลดราคายังไงก็ควรเบรกไว้ก่อน

4. ประหยัดน้ำและไฟฟ้า

อยู่บ้านทั้งวัน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงได้ยากก็คือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ฉะนั้นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำและไฟฟ้าเสียใหม่ เช่น ปิดน้ำตอนแปรงฟันหรือล้างจาน อาบน้ำด้วยฝักบัวแทนอ่างอาบน้ำ เปิดพัดลมแทนเปิดแอร์ สระผมตอนเช้าเพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ไดร์เป่าผม เป็นต้น

5. วิเคราะห์หาทางลดรายจ่ายอื่น ๆ

พิจารณาดูบันทึกรายรับ-รายจ่ายว่ายังพอมีทางลดรายจ่ายอื่น ๆ อีกไหม นอกเหนือจากการตัดรายจ่ายไม่จำเป็น เช่น ลองมองหาของใช้ยี่ห้ออื่นที่ราคาถูกลง ทำกับข้าวหม้อใหญ่เพื่อเก็บไว้กินหลายมื้อ จากปกติที่ใช้เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญก็เปลี่ยนมาซักมือด้วยตัวเอง เป็นต้น

6. มองหาลู่ทางสร้างรายได้เสริม

ถ้าคุณมีเวลาว่างในช่วงนี้ แนะนำให้ลองหาลู่ทางสร้างรายได้เสริม ทำได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น ค้นหางานออนไลน์บนเว็บไซต์ฟรีแลนซ์ ทำงานฝีมือเพื่อขายออนไลน์ ทำอาหารขายคนในบริเวณบ้าน หรือสมัครเป็นพนักงาน Delivery

7. ฝึกทักษะใหม่ ๆ

สมัยนี้มีแหล่งความรู้เปิดกว้างมากมายบนอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ฟรี ลองตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าในทุกวัน จะต้องเรียนทักษะใหม่อย่างน้อย 1 อย่าง เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป เราจะเก่งขึ้นอย่างผิดหูผิดตาแน่นอน

ถ้าทำได้ทั้ง 7 ข้อนี้ทุกวัน เชื่อว่าสุขภาพการเงินของเราจะรอดได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติอะไรก็ตามค่ะ