คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 8 มีนาคม 2567
ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร
บทความวันนี้ ผมขอกล่าวถึงความสำคัญของข้อมูลเครดิต โดยเครดิตบูโรจะเปรียบเสมือนเป็น “ถังข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมในเรื่องการก่อหนี้ การชำระหนี้” ที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไทย หากใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกรรมสินเชื่อในระบบ ก็สามารถขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตเหล่านี้ได้จากเครดิตบูโรครับ
เครดิตบูโรนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งสามภาคส่วน ดังนี้ครับ
1.ระบบเศรษฐกิจไทย
– เป็นสัญญาณเตือนภัยของระบบการเงิน คือ สามารถนำเอาข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ให้เห็นทิศทางและความเสี่ยงของธุรกรรมสินเชื่อในระบบ
– เป็นเครื่องมือในการอ่านสัญญาณเศรษฐกิจของสถาบันต่างๆ เพื่อไปคิดต่อว่าควรต้องออกมาตรการหรือต้องไปทำอะไรในเชิงการบริหารความเสี่ยง
– เป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” ของระบบการเงิน คือ เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของระบบสถาบันการเงินในการนำมาใช้บริหารความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อ
“ป้องกันการเกิดความล่มสลายอย่างที่เกิดมาในอดีต หากระบบทุกส่วนตรงนี้ดีมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าระบบการเงินจะไม่มีปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องไปยุ่งกับการค้ำประกันเงินฝาก เพราะปัญหาจะถูกจัดการตั้งแต่ต้นมือ อีกทั้งก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะไปถึงจุดนั้น ต้องผ่านระบบการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก”
2.สถาบันการเงินในฐานะผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้
– มีระบบการบริหารความเสี่ยงในการให้กู้ยืม ป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาความไม่มั่นคงแก่ระบบสถาบันการเงิน และระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ผ่านการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร
– ตรวจเช็กอาการของลูกหนี้ เพื่อวิเคราะห์หรือทบทวนสินเชื่อ จึงจำเป็นต้องทราบฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้อย่างเพียงพอ ว่ามีประวัติการชำระหนี้อย่างไร และมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใดในขณะใดขณะหนึ่ง
3.ผู้กู้หรือลูกหนี้
– ตรวจเช็กข้อมูลเครดิต หรือตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนก่อนจะไปขอกู้
– ตรวจเช็กประวัติการชำระทุกข้อมูลบัญชีสินเชื่อ หากข้อมูลไม่ถูกต้อง ขอแก้ไขได้
– มีโอกาสที่จะได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้กู้ที่มีประวัติผ่อนชำระดี
ศึกษารายละเอียดหรือข้อมูลเครดิตบูโรได้ที่ www.ncb.co.th
คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : มาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลเครดิตตามหลักการสากล 3 ประการ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 23 กุมภาพันธ์ 2567
มาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลเครดิตตามหลักการสากล 3 ประการ
บทความวันนี้ ผมขอกล่าวถึงการจัดเก็บข้อมูลเครดิต โดยมีมาตรฐานตามหลักการสากลอยู่ 3 ประการคือ
1.มีระยะเวลาเพียงพอที่จะใช้ในการวิเคราะห์ความตั้งใจในการชำระหนี้ว่าคนที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้นได้ประพฤติปฏิบัติกับสัญญากับเจ้าหนี้อื่นก่อนหน้าที่จะมายื่นขอครั้งนี้เป็นอย่างไร ชำระปกติ สัญญาเป็นสัญญาหรือมีการค้าง ค้างนาน ค้างสั้น ค้างแล้วรีบเคลียร์หรือค้างแล้วลากยาวแล้วค่อยเคลียร์ เป็นต้น
- บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ไม่ได้เป็นคนกำหนด หน่วยงานที่กำหนดระยะเวลาเก็บข้อมูลเครดิต (3 ปี) คือ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ที่มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน ข้อมูลเพิ่มเติ่มที่ www.creditinfocommittee.or.th
3.ธนาคารโลก ได้วางหลักการให้คะแนนประเมินว่าในกว่า 190 ประเทศนั้น การเก็บข้อมูลขั้นต่ำคือประมาณ 3 ปี ครับ
ทั้งนี้ เครดิตบูโรจะมีหน้าที่ในการจัดเก็บ รวมรวบข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้สินเชื่อ โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลให้แก่เครดิตบูโรเป็นรายเดือนทุกเดือน โดยเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลตามความจริง หากจ่ายแล้วก็บอกว่า “ปกติ” หรือ “ไม่ค้างชำระ” แต่ถ้ายังไม่จ่าย ก็บอกว่า “ค้างชำระ” ไม่ว่าจะชำระตรงกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถ้าเคลียร์หรือปิดบัญชีแล้วก็จะบอกตามนั้น เพียงแต่ข้อมูลจะยังไม่ถูกลบออกไปจนกว่าจะถึงกำหนดที่กฎหมายให้เก็บครับ ทางเครดิตบูโรก็จะอัปเดตข้อมูลให้ในแต่ละเดือนไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด 36 เดือน จำนวน 36 บรรทัด เรียงทับกันเหมือน “ขนมชั้น” เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ข้อมูลบรรทัดเก่าของเมื่อ 36 เดือนที่แล้วก็จะหายไป เครดิตบูโรไม่ได้มีหน้าที่ขึ้น “บัญชีดำ” หรือ “Blacklist” อย่างที่เข้าใจกันครับ
เครดิตบูโรไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติเงินกู้หรือสินเชื่อแต่อย่างใด การพิจารณาเงินกู้หรือสินเชื่อให้ผู้ขอสินเชื่อเป็นอำนาจของธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยใช้ข้อมูลเครดิตเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น และนำไปร่วมกับข้อมูลอื่นๆ อีกหลายอย่างของตัวผู้กู้เอง เช่น รายได้ ความสามารถในการชำระหนี้คืน อาชีพ อายุ หลักประกัน เป็นต้น ศึกษารายละเอียดข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th ครับ
คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : รายงานข้อมูลเครดิตคืออะไร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 9 กุมภาพันธ์ 2567
รายงานข้อมูลเครดิต คืออะไร
บทความวันนี้จะอธิบายถึงรายงานข้อมูลเครดิตกันนะครับ รายงานข้อมูลเครดิตก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า ข้อมูลสินเชื่อ สถานะทุกบัญชีที่เจ้าของข้อมูลมีอยู่กับสถาบันการเงินทุกแห่งที่เป็นสมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะมีหน้าที่นำส่งข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายให้เครดิตบูโรเป็นรายเดือน ไปจนกว่าสินเชื่อนั้นจะได้รับการชำระเสร็จสิ้น และจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิตเมื่อมีผู้ขอเรียกดูหรือสถาบันการเงินที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วนครับ
- ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น
- ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ รวมทั้งสถานะบัญชีที่แสดงสถานะของบัญชีสินเชื่อแต่ละบัญชีที่แสดงในรายงานข้อมูลเครดิต เช่น สินเชื่อปกติ สินเชื่อที่ปิดบัญชีแล้ว สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน สินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น
รายงานข้อมูลเครดิตเป็นการรายงานประวัติการชำระสินเชื่อตามข้อเท็จจริง กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานก็จะแสดงว่าสถานะบัญชีเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ รายงานก็จะแสดงข้อมูลว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไว้ในระบบข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตเช่นกัน ขอเรียนว่าไม่มีการรายงานว่าลูกหนี้คนใดติด Blacklist ครับ
ข้อมูลเครดิตจะแสดงถึงประวัติการชำระหนี้ ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเจ้าของข้อมูล และแสดงถึงความตั้งใจในการชำระหนี้และความน่าเชื่อถือ หรือที่เราเรียกกันว่า “เครดิต” ที่มีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจ โดยสถาบันการเงินจึงใช้ประโยชน์จากรายงานข้อมูลเครดิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เช่น ความสามารถในการหารายได้ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ หลักประกัน เป็นต้น
เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร บุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน แจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th ศึกษารายละเอียดข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th
คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : เครดิตบูโรคืออะไร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 26 มกราคม 2567
เครดิตบูโรคืออะไร
เครดิตบูโร คือองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะรวมข้อมูลคนเป็นหนี้ ใครไปเป็นหนี้แบงก์ ใครไปเป็นหนี้นอน-แบงก์ จะมีองค์กรแบบนี้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลคนเป็นหนี้ ถ้าเปรียบเทียบ มันคือ “สมุดพกของคนเป็นหนี้” เหมือนว่าเราไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยนั้นหรือที่โรงเรียนนั้น แล้วก็จะมีสมุดพกเพื่อรวบรวมว่าคนนี้มีผลการเรียนเป็นอย่างไร มันก็เหมือนกันกับว่า คนนี้มีหนี้ที่ไหนบ้าง แล้วปฏิบัติหนี้แต่ละก้อน แต่ละที่อย่างไร องค์กรนี้ในต่างประเทศและในประเทศไทย เรียกว่า “เครดิตบูโร” ครับ
หลายท่านคิดว่าสาเหตุที่สถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อ เพราะเครดิตบูโรขึ้น “บัญชีดำ” หรือที่ใคร ๆ เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “ติด blacklist” ความจริงแล้วเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องครับ เพราะ “เครดิตบูโร” จะมีหน้าที่ในการจัดเก็บ รวมรวบข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชะรำหนี้สินเชื่อ โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลให้แก่เครดิตบูโรเป็นรายเดือนทุกเดือน ทางเครดิตบูโรก็จะอัปเดตข้อมูลให้ในแต่ละเดือนไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด 36 เดือน จำนวน 36 บรรทัด เรียงทับกันเหมือน “ขนมชั้น” เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ข้อมูลบรรทัดเก่าของเมื่อ 36 เดือนที่แล้วก็จะหายไป มิได้มีหน้าที่ขึ้น “บัญชีดำ” หรือ “Blacklist” อย่างที่เข้าใจกันครับ
เมื่อท่านขอกู้เงินหรือสินเชื่อแล้ว สถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน ภาระหนี้ที่มีอยู่และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อย เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลที่ปรากฏในเครดิตบูโรไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่ขอกู้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากท่านมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินอื่นครับ
เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับมคร บุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน แจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th ศึกษารายละเอียดข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th
คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : อัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรปี 2567 ได้ที่ไหนบ้าง และทำไมเราต้องตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 12 มกราคม 2567
อัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรปี 2567 ได้ที่ไหนบ้าง และทำไมเราต้องตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง
บทความนี้ ผมอยากจะขออัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้าง ณ เดือนมกราคม 2567 ครับ โดยเครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในเช็กสุขภาพการเงินของตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ดังนี้ครับ
- ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป (ฟรี) ผ่านแอป ”ทางรัฐ” หรือตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) หรือตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ทุกแห่ง และเคาน์เตอร์บริการที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ
2.โมบายแอปพลิเคชัน เลือกรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมล รับรายงานได้ทันที ผ่านแอป “KKP Mobile” (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) หรือโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ รับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านแอป “Krungthai NEXT” (ธนาคารกรุงไทย) หรือแอป “MyMo” ธนาคารออมสิน หรือ “เป๋าตังเปย์” บนแอปเป๋าตัง หรือแอป “Flash Express” (Flash Money) และรับรายงานภายใน 3 วันทำการ ผ่านแอป “ttb touch” (ธนาคารทีทีบี)
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แบบรอรับรายงานได้ภายใน 15 นาที ใช้บัตรประชาชนของตนเอง ดังนี้ วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.30 น. ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (ใกล้ MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัลพระราม 9) วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานี BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-18.00 น. ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1
- แบบส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา) กรุงไทย กรุงศรี ธอส. และ ธ.ก.ส. หรือใช้บัตร ATM กรุงไทย ไทยพาณิชย์ หรือผ่านธนาคารออนไลน์ กรุงศรี หรือเคาน์เตอร์บริการที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ
- ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รับรายงานทางอีเมล ได้ทันที ที่ 1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9) 2) เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (BTS สถานีอารีย์ ทางออก 1) 3) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1 4) สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) (ด้านหลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ประตูทางเข้า 1 จุดติดตั้งนาฬิกาประจำสถานี หรือนาฬิกาหน้าปัดหมายเลข ๙) 5) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (สำนักงานใหญ่) อาคารเคเคพีทาวเวอร์ ชั้น 1 ใกล้ประตูทางเข้าอาคาร 6) อาคารสาธรนครทาวเวอร์ ชั้น 1 โซนตู้เอทีเอ็ม (BTS ช่องนนทรี ทางออก2) 7) ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (อาคาร A) ชั้น 2 โถงต้อนรับเยื้องจุดสอบถาม
สำหรับการยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต เจ้าของข้อมูลยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด
โดยเหตุผลดี ๆ ที่ควรตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีดังนี้ครับ 1) ช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน เช็กว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่ 2) การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ 3) เช็กว่าข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลเครดิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่ 4) ข้อมูลสินเชื่อของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้ 5) เช็กให้ชัวร์ว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่ 6) เช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว สถานะข้อมูลเครดิตขึ้นเป็นปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่
ทั้งนี้ เครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ระวัง! ถ้าไม่อยากพลาด… รู้เท่าทันก่อนตัดสินใจจะก้าวสู่วงจรหนี้
สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แล้วนับประสาอะไรกับการเตรียมพร้อมวางแผนการเงิน มีหลายคนที่พลาดมานักต่อนักแล้วกับคำว่า ‘หนี้’ ไม่ว่าจะเตรียมพร้อมและวางแผนการเงินรอบคอบมาอย่างดีก็ตาม ก็อาจพลาดพลั้งไปก้าวติดกับดักวงจรหนี้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าหนี้ที่คนส่วนใหญ่มักก่อขึ้นโดยไม่รู้ตัวมีหลัก ๆ ด้วยกันคือ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
ดังนั้นหากไม่อยากตัดสินใจก้าวพลาดไปติดกับดักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สิน หรือวางแผนการเงินที่ผิดพลาด เราต้องมาตระหนักรู้เรื่องสำคัญเหล่านี้กันก่อน
1. รู้ตัวว่ากู้หนี้ไปทำอะไร
บางคนอยากมีเงินเพื่อไปทำสิ่งนั้น สิ่งนี้เลยมองว่าการกู้เงินจึงเป็นทางออกในทุก ๆ เรื่องราว ซึ่งเป็นการคิดที่ผิดพลาดมาก เพราะการเป็นหนี้สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าตัวเราจะเป็นหนี้ไปเพื่ออะไร เงินที่จะกู้กับสถาบันทางการเงินจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเรา เช่น หากเป็นหนี้กู้เงินเพื่อมาซื้อบ้าน แบบนี้ก็ถือเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่หากกู้เงินเพื่อไปซื้อของฟุ่มเฟือยแบบไม่มีเหตุผลแบบนี้ก็ถือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจกู้หนี้ยืมสินคิดให้ดีว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นหรือแค่อยากได้
2. รู้ว่าการเป็นหนี้มีราคาต้องจ่าย
บางคนอาจคิดว่ากู้เงิน 20,000 บาท ก็จ่ายคืนเท่าเดิม จริง ๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้นค่ะ เพราะการกู้เงินทุกครั้งสิ่งที่ตามมานั่นคือดอกเบี้ย และนั่นคือราคาที่เราต้องจ่าย เพราะการกู้เงินก็คือการยืมเงินจากสถาบันทางการเงินมาใช้ก่อนล่วงหน้าหน้า เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยนั่นเอง
3. รู้ตัวว่ามีภาระค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
เราต้องประเมินตัวเราเองได้ก่อนว่าภาระค่าใช้จ่ายที่มีสัมพันธ์กับรายรับแต่ละเดือนแล้วหรือยัง และถ้าหากจะก่อหนี้สักก้อน รายได้ของเรานั้นสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ และจ่ายตรงต่อเวลาอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นไปได้ต้องสามารถชำระหนี้คืนได้มากกว่าการจ่ายขั้นต่ำด้วย
4. รู้เท่าทันสถานะทางการเงินของตนเอง
แม้ว่าบางคนจะเตรียมพร้อมวางแผนการเงินมาเป็นอย่างดี แต่อีกหนึ่งโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอนั่นคือการเกิดหนี้งอกแบบไม่รู้ตัว ซึ่งเราสามารถเช็กได้จากการตรวจเครดิตบูโร เพื่อตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของเราว่ามีหนี้โดยที่ไม่ได้ก่อบ้างหรือไม่
การรู้เท่าทันและเตรียมพร้อมและวางแผนการเงินอย่างไม่ประมาท เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการก้าวพลาดไปติดกับดักวงจรหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบรู้ตัว และไม่รู้ตัว