“เพราะช่วงชีวิตและเวลาที่ต่างกัน ความต้องการในแต่ละช่วงวัยจึงต่างตาม”
หากบอกว่าอนาคตเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เป้าหมายชีวิตและการวางแผนการเงินของคนแต่ละวัยก็เปลี่ยนได้เช่นกัน ในช่วงวัยเด็กเราอาจจะมีเป้าหมายว่าอยากเก็บเงินเยอะ ๆ ไปซื้อของกิน ของเล่น แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงานความคิดนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไป เริ่มมีวางแผนชีวิตและการเงินอย่างจริงจังมากขึ้น เช่น อยากสร้างครอบครัว ทำธุรกิจเป็นของตนเอง เป็นต้น และเมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่วัยเกษียณเป้าหมายในชีวิตของเราอาจจะมีเพียงแค่ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่เจ็บป่วยก็ได้
และเมื่อระยะเวลาทำให้ความคิดเราเปลี่ยน เราจึงจำเป็นจะต้องมีวิธีการวางแผนชีวิตและแผนการเงินที่เหมาะสม ตามฉบับของคนแต่ละช่วงวัยค่ะ…
- วัยเรียน (อายุ 0-22 ปี)
– ช่วงระหว่างกำลังศึกษาเป็นช่วงที่ยังไม่มีรายได้หลักเป็นของตนเอง ทั้งยังไม่มีภาระหนี้สิน เป้าหมายหลักจึงจะเป็นการออมเงินเพื่อใช้จ่ายส่วนตัว เที่ยวเล่นกับเพื่อนซะเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ได้มีการวางแผนการเงินอย่างเป็นจริงเป็นจังนัก
– วัยนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างวินัยทางการเงินที่ดี เพราะหากในอนาคตหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะสามารถวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้โดยง่าย
– แนวทางการเริ่มออมเงินและการลงทุนสำหรับคนวัยนี้อาจเริ่มจากการออมทีละเล็ก ๆ เน้นการฝากเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การฝากอออมทรัพย์ หรือฝากประจำ เป็นต้น เพื่อสะสมเงินไว้ลงทุนในอนาคต
- วัยเริ่มต้นทำงาน (อายุ 23-30 ปี)
– ช่วงเวลาที่หางานที่ใช่สำหรับใครหลาย ๆ คน มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เนื่องจากสามารถหาเงินด้วยตนเองได้
– เป้าหมายของคนวัยนี้จะเริ่มจริงจังมากขึ้น ต้องการที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว เปิดประสบการณ์ในชีวิต ทั้งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการศึกษาข้อมูล ความรู้การลงทุนอย่างจริงจัง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนการเงินและการลงทุนที่ดี
– แนวทางการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับคนในช่วงวัยนี้ เช่น การฝากประจำ ตราสารหนี้ เป็นต้น เพราะมีความเสี่ยงต่ำเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นลงทุน
- วัยสร้างฐานะและครอบครัว (อายุ 31-40 ปี)
– ช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่หน้าที่การงานเริ่มมีความมั่นคงและก้าวหน้าขึ้น หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
– เป้าหมายของกลุ่มคนวัยนี้ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มุ่งไปที่สร้างฐานะให้มั่นคงในอนาคต สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์
– การวางแผนการเงินจึงไม่ได้มีแค่การฝากเงินหรือลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่จะเลือกการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งนั่นก็จะมีความเสี่ยงสูงตามมา เช่น หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
- วัยรักษาความมั่นคงและสุขภาพ (อายุ 41-50 ปี)
– ในวัยเลข 4 หน้าที่การงานและฐานะของคนวัยนี้จะเริ่มมีความมั่นคง และอยู่ตัวแล้ว
– เป้าหมายหลักส่วนใหญ่จึงไม่ใช่การเที่ยวเล่นเหมือนเช่นวัยเรียน หรือมุ่งสร้างชีวิตเหมือนช่วงเริ่มต้นทำงาน แต่เป็นการหันมาใส่ใจในเรื่องของชีวิตหลังเกษียณมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของปัญหาสุขภาพ
– แนวทางการวางแผนการเงินและการลงทุนของคนวัยนี้ จึงควรเน้นไปที่การลงทุนกับประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และวางแผนชีวิตเกษียณอย่างเป็นระบบมากขึ้นนั่นเอง
- วัยก่อนเกษียณ (อายุ 51-55 ปี)
– ช่วงก่อนเข้าวัยเกษียณอย่างเต็มรูปแบบ หลายคนเริ่มเตรียมแผนการเงินและเกษียณกันมาเป็นอย่างดี เป็นช่วงเวลาที่เงินที่นำไปลงทุนได้งอกเงยขึ้นจนกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ หากใครที่มีการออมเงินหรือลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีไว้ใช้จ่ายยามหลังเกษียณอย่างแน่นอน หรือสำหรับใครที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนได้ไม่นานก็ยังสามารถลงทุนในช่วงนี้ได้เช่นกัน
– การวางแผนและการลงทุนในช่วงวัยนี้ มักจะเลือกแนวทางการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับกลาง แต่ให้ผลตอบแทนได้สูง เช่น กองทุนรวม ตราสารหนี้ ตราสารทุน เป็นต้น
- วัยหลังเกษียณ (ตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป)
– ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ใครหลาย ๆ คนเริ่มปลดเกษียณกันแล้ว เป้าหมายของคนวัยนี้มักจะเป็นการวางแผนชีวิตให้มีความสุข ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงมากกว่าวางแผนการเงินเพราะมองว่าเลยช่วงเวลานั้นมาแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วชีวิตหลังเกษียณก็ลงทุนได้
– แนวทางการลงทุนหลังเกษียณคือ เน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือเป็นแหล่งพักเงินที่ได้ดอกเบี้ยและผลตอบแทนกลับมา เช่น ฝากประจำ ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น เพื่ออย่างน้อย ๆ ผลตอบแทนเล็ก ๆ เหล่านั้นเราสามารถนำมาใช้จ่ายยามฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น
สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินรูปแบบไหน และในช่วงวัยใด สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างวินัยการเงินที่ดีค่ะ หากเรามีวินัยที่ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ เป้าหมายที่เราวางไว้ในแต่ละช่วงวัยก็จะประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอนค่ะ