เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ฟัง​ คิด​ อ่าน​ ถาม​ เขียน​ เรียงลำดับให้ดีในโลกที่ไปไวกว่าแสง : วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2564

ฟัง​ คิด​ อ่าน​ ถาม​ เขียน​ เรียงลำดับให้ดีในโลกที่ไปไวกว่าแสง
ในโลกใบนี้​ ใบที่กำลังมีปัญหาเจ็บป่วยด้านสภาพแวดล้อม​ จนมีอาการรวน​ และแสดงออกถึงว่าไม่พอใจต่อการกระทำของบรรดามนุษย์​ทุกชาติ​ ทุกเผ่าพันธุ์​ ด้วยรูปแบบที่เรียกว่าภัยทางธรรมชาติ​ โลกระบาด​ เป็นต้น​ ความทุกข์​ยากหลากหลายของเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงมาจากสิ่งที่เราได้กระทำลงไปต่อส่วนรวมทั้งทางตรงทางอ้อมมานานหลายสิบปี​ คำถามคือมนุษย์​มีแรงจูงใจ​อะไร​ คำตอบคือความพยายามที่จะทำให้ตนเองที่เป็นปัจเจกบุคคล​ ครอบครัว​ ญาติมิตร​ เพื่อนฝูง​ กิจการ​ สังคม​ และประเทศชาติอยู่ในสภาพที่เรียกว่า​ อยู่ดีกินดี อยู่ดีมีสุข​ นั่งเอง​ 
บทความวันนี้ของผมเริ่มจากความต้องการจากสิ่งไกลตัวที่บรรยายเบื้องต้น​ ลงมาสู่ความเป็นจริงของสังคมเราวันนี้ว่า
1.มนุษย์​นั้นเป็นสัตว์​สังคม​ ต้องมีสังคม​ ต้องมีปฏิสัมพันธ์​ มีกิจกรรม​ มีการสื่อสารระหว่างกัน​ และมีความต้องการ​ที่จะไปเกี่ยวข้อง​ เกี่ยวพันกับคนอื่น
2.ชีวิตวันนี้ของคนมันอยู่บนระบบดิจิทัล​ มันเคลื่อนไหว​ เคลื่อนที่ไปบนระบบปฏิบัติการ​ ผ่านการประมวลผลของเครื่องจักร​หรือบนเครื่องมือที่คิดสร้างกันมา​ จนท้ายสุดก็ถ่ายทอดออกมาผ่านอุปกรณ์​การสื่อสารในทางช่องทางใดทางหนึ่ง​ ดังนั้นกระบวนการตั้งแต่รับเข้าจนส่งออกไปนั้น​ มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีความประณีต​ มีหลัก​ มีฐานคิด​ ก่อนที่ความคิดของใครคนหนึ่งจะพุ่งออกไปสู่คนอื่น ๆในสังคมผ่านปลายนิ้ว… 
อากัปกิริยา​ของการอ่านไม่สุด ฟังไม่จบ​ ไม่ผ่านการคิด​ แล้วก็พุ่งผลงาน​ออกไปในวันนี้ในแทบทุกระดับอายุ​ ดูจะเป็นปัญหาที่สร้างความไม่พึงพอใจระหว่างกัน​ แน่นอนว่าบางท่านจะบอกว่า​ มันเป็นเรื่องธรรมดา​ของความเห็นต่าง​ บางท่านก็บอกว่าเป็นเรื่องความขัดแย้ง​ บางท่านก็ว่าเป็นเรื่องการแสดงออกของปัญญาที่ไม่เท่ากัน​ บางท่านก็เลยเถิดไปว่ามันคือการทิ่มทำลายกัน​ การด่าทอกัน​ การกดดันกันให้ทำตามแบบที่ต้องการ​ มันไม่ใช่หรือมันไม่น่าจะเป็นการสนทนาของปัญญา​ชนที่มนุษย์​ควรกระทำต่อมนุษย์​ ดังนั้นในตัวของผู้เขียนจึงอยากขอลองเสนอขั้นตอนว่าเมื่อเวลาจะส่งสารหรือสาระใด ๆ จากสิ่งที่เราต้องการให้คนอื่นรับรู้นั้นเราควรจะลงมือทำกันอย่างไร​ ขั้นตอนของการ​ ฟัง​ คิด​ อ่าน​ ถาม​ เขียน​ น่าจะเป็นตามนี้หรือไม่​ ตัวอย่างเช่นการออกมาใส่กันแบบไร้ความปราณีในเรื่องเห็นตรง-เห็นต่างของการกล่าวถึง​ สินทรัพย์​ดิจิทัล​ ที่มีอาการเดือดกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา
1. เวลาที่ตัวเรารับฟัง​ เรารับฟังแต่สิ่งที่เราตัดสินใจแล้วว่าใช่​ หรือเราฟังเพื่อรับมาเป็นข้อมู​ลดิบ​ เราฟังจากใคร​ คนนั้นเราคิดว่ารู้จริง​ อ้างอิงได้ ไอ้ที่บอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้นเคยทราบมาหรือไม่ว่าตัวจริงตัวปลอม​ การฟังความรอบข้าง​ ฟังอย่างมีสมาธิ​ ไม่เชื่อทันทีที่รับฟัง​ แต่ต้องฟังให้จบสิ้น​ ตั้งแต่ยอดถึงราก​ ฟังให้ชัดเจนว่าที่กำลังฟังนี้​ แก่นของเรื่องมันคืออะไร​ 
2. คิดด้วยสติปัญญา​ของตนเอง​ การคิดโดยนำคำตอบของคนอื่นมาเลียนแบบแล้วบอกว่าเป็นความคิดของตนมันใช่หรือ​ ต้องคิดให้ครบทุกมุมหรือไม่​ ทั้งมุมที่เราไม่เชื่อและมุมที่เรามีแนวโน้มว่าจะเชื่อ​ คิดให้ออกว่ามันมีเหตุปัจจัย​ใดถึงได้ทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา​ 
3. อ่านครับ​ ต้องอ่าน​ อ่านจากสิ่งต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอออกมา​ เวลาอ่านสิ่งใดให้อ่านโดยละเอียด​ อ่านหนังสือก็ต้องเริ่มจากบทนำ​ บทสรุปของผู้บริหาร​ คำนำ​ ที่มาของเรื่อง​ หลักการ​และเหตุผล​ สารบัญหัวข้อ… เป็นต้น จนกว่าจะจบสิ้นในเรื่องมีการกล่าวอ้างกันไว้​ การอ่านแบบกระหาย​ ใคร่อยากจะรู้ว่า​ ใคร​ ทำอะไร​ กับใคร ทำกันที่ไหน​ ทำกันอย่างไร​ ด้วยเหตุใด​ และผลออกมาเป็นอย่างไร​ เพื่อจบความใคร่รู้ที่ว่า​ ทำไมมันจึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น​ น่าจะเป็นกรอบแนวคิดแนวทางได้บ้างนะครับ
4. ถามครับ​ เมื่อจบการอ่านแล้วต้องตั้งคำถาม​ ถามเพื่อให้หายสงสัยในจุดที่ควรสงสัย​ จุดที่เห็นด้วย​ จุดที่เห็นต่าง​ ลองเอาใจคนอ่านไปเป็นใจคนเขียนแล้วตั้งคำถามสิครับว่า​ คนเขียนเขาอยากให้คนอ่านเข้าใจว่าอย่างไร​ แล้วสิ่งที่คนเขียน​ หรือคนทำสิ่งนั้น​เขาต้องการให้เราคิดเหมือนเขา​ ชอบเหมือนเขา​ จะได้ทำเหมือนเขานั้นมันใช่หรือไม่​ มันถูกต้องเหมาะควรแล้วหรือไม่​ 
5. เขียน​ ขั้นตอนสุดท้ายนี้สำคัญที่สุดครับ​ จะเขียนสิ่งใดเพื่อส่งออกไปยังใคร​ ด้วยความต้องการอะไร​ ต้องชัดเจนเป็นเหตุเป็นผลก่อนที่จะกระทำการส่งออกไป​ ยิ่งเป็นการเขียนเพื่อบอกถึงความคิด​ ความมุ่งหมาย​ บทสรุปในสิ่งที่ตนเองเข้าใจนั้น​ ในแง่ของผู้เขียนมีจุดที่ต้องเช็กตัวเองก่อนส่งออกไปดังนี้
5.1​ เขียนส่งออกไปแล้วสังคมหรือคนรับสารมันดีขึ้นหรือน่าจะแย่ลง
5.2​ ให้นึกว่าถ้าเราเป็นคนรับสาร ​สาระอย่างที่เขียนส่งออกไป​ ถ้าเป็นใจคนรับคิดว่าเราจะรับได้ไหมเวลาจะเขียนตำหนิใคร​ ถ้าเราลองเป็นคนรับคำตำหนินั้นแล้วเรารับได้​ ก็ค่อยลงมือทำดีไหม
5.3 สุดท้ายก่อนที่เราจะเขียนพร้อมส่งออกไปนั้น​ ถามให้แน่ใจอีกครั้งว่า​ ถ้าไม่เขียน​ ถ้าไม่ส่งออกไป​ จะเป็นผลดีกว่าหรือไม่​ ถ้าคิดได้ว่ามันดีกว่า​ ผู้เขียนอาจขอให้​ เขียนในใจก็พอ​ ไม่ต้องส่งออก​
สังคม​ เศรษฐกิจ​ การเมือง​ ความเป็นอยู่​ ความเป็นไปของเรื่องราวต่าง ๆ นั้น​ ไม่อาจขับเคลื่อนให้เดินไปข้างหน้าด้วยคำด่าทอ​ 
ท่านที่มีอำนาจอันสมมติ​มาจากตัวบทกฎหมาย​ ท่านก็ต้องฟังความรอบข้าง​ คิดให้กลม​ คิดให้ครบ​ อ่านครับอ่าน​ อ่านทุกสิ่งอย่างทั้งที่ชอบหรือไ​ม่ชอบ​ เมื่อมีคนเขียนมาถึงเรา​ เราก็ต้องอ่านครับ​ อ่านเอาเรื่องไม่ใช่อ่านมีเรื่อง​ ไม่ใช่อ่านไปหาเรื่อง​ อันนั้นมันคือการลุแก่โทสะ​ ลุแก่อำนาจอันสมมติ​ ต่อมาคือถาม​ ต้องถามให้จบสิ้นสงสัยว่ามันมากันอย่างไรจึงมาเป็นแบบนี้​ ถามแบบว่าเรามาถึงกันตรงนี้ได้อย่างไร​ สุดท้ายคือการเขียนเพื่อสื่อออกไปว่าความมุ่งหมายเราคืออะไรกันแน่​ ตรงไหนที่เราเห็นว่าไปได้​ ตรงไหนที่เราเห็นว่าหมิ่นเหม่​ ตรงไหนที่เราจะไม่ยอมเด็ดขาด​ จุดที่ถือว่าจะไม่มีการต่อรองถ้ายังเป็นตัวเรา​ ความคิดเรา​ มันอยู่ตรงไหน​ เอากันให้ชัดครับ​ 
ท่านที่อยู่ภายใต้อำนาจตามตัวบทกฎหมายที่เสกสมมติ​กันมา​ ท่านก็ต้องมีสติ​ อะไรที่เห็นต่างก็ต้องมีเหตุผล​ ข้อมูล​สนับสนุน​ว่าทำไมเห็นต่าง​ แล้วเหตุใดคนที่มีอำนาจควรจะต้องหันกลับมาคิดมาเชื่อแบบที่ฝั่งตนเองคิดและเชื่อ​ ศิลปะของการผลักดันให้คนเห็นต่างกลับมาเห็นตรงกับตนมันควรถูกนำมาใช้ใช่หรือไม่​ การออกมาขว้างปาความหยาบคาย​ ดิบ​ เถื่อน​ เพื่อให้อีกฝั่งที่เราคิดว่าเขาคิดไม่ตรงกับเราต้องยอมทำตาม​ ยอมเงียบ​ เพื่อให้ฝั่งเราทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีนั้นมันจะถือว่าเป็นชัยชนะของสังคมได้จริงหรือ​ 
คำตอบสุดท้ายของกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา ถ้าคนที่ยืนสองฟากฝั่งต่างเริ่มด้วยการร่วมทุกร่วมสุขด้วยกัน​ ทั้งสองฝ่ายต่างโปร่งใสในการให้อีกฝ่ายสอบยันได้ตลอด​ สิ่งที่ได้แม้จะเห็นตรงบ้าง​ ต่างบ้าง​ ก็ไม่จำเป็นต้องทำร้ายกันด้วยการเขียนที่ด่าทอกัน​ อย่าลืมว่าภาษาที่เราเขียน​ มันคือภาษาของคนในชาติเดียวกัน​ ชาติอื่นเขาไม่มาอ่านภาษาของคนในชาติเรา​ ในทุกเรื่องราวของการสื่อสารบนโลกดิจิทัลที่มีกระบวนการ​ ฟัง​ คิด​ อ่าน​ ถาม​ เขียนที่ขาดวิ่น​ แล้วก็สาดกันไปมา​ มันคือการร้องด่าทอกันของคนไทย​ เพื่อให้ใครฟังกันหรือถ้าไม่ใช่คนไทยด้วยกันเอง​ เรื่องพวกนี้มันยกระดับขีดความสามารถ​ในการแข่งของประเทศ​ตรงไหน​ มันก่อให้เกิดประสิทธิภาพ​ตรงไหน​ มันก่อให้เกิดสังคมที่มีนวัตกรรม​ตรงไหน​ และมันทำให้คนหมู่มากของประเทศอยู่ดีมีสุขกันตรงไหน… 
ขอบคุณ​ที่ติดตามครับ