คอลัมน์เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : ใกล้ถึงวันคนกรุงเลือกตั้งผู้สมัครเข้ามาเป็นผู้ดูแล​ รับใช้ชาวประชาในตำแหน่ง “เจ้าเมือง” : วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2565

ใกล้ถึงวันคนกรุงเลือกตั้งผู้สมัครเข้ามาเป็นผู้ดูแล​ รับใช้ชาวประชาในตำแหน่ง “เจ้าเมือง” 
ในวันที่ผู้เขียนกำลังนั่งฟังเสียงฝนตกพรำ ๆ หลังจากอากาศ​นั้นอบอ้าวเป็นเวลากว่า​ 2 วันแล้ว และต่อมาในขณะมี่ผู้เขียนกำลังรับประทาน​อาหาร​เย็นอยู่ในร้านอาหาร​ ก็พลันได้ยินเสียงรถยนต์​ติดป้ายหาเสียง​ วิ่งผ่านมาช้า ๆ​ พร้อมกับมีการส่งเสียงผ่านลำโพง​เครื่องเสียงเชิญชวนประชาชนไปลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครของพรรคการเมื​องหนึ่งในการเสนอตัวเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด​กรุงเทพมหานคร​ หรือถ้าเป็นภาษาโบราณ​ก็จะเรียกว่า​ ตำแหน่งเจ้าเมือง​ นั่นเอง​ ด้วยเหตุที่ผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะมีอำนาจบริหารจัดการงบประมาณ​กว่า​ 8-9 หมื่นล้านบาท​ ดูแลสภาพเศรษฐกิจ​ สังคม​ การจัดการเมืองของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย​ ประชากรที่มากมายมีทั้งประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งกับประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแต่ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเช่นประชากรที่ทำงานในออฟฟิศกลางเมืองแต่ที่พักอาศัยอยู่ที่เมืองนนทบุรี​ เป็นต้น​ 
เมื่อได้เข้าไปติดตามข่าวสารต่าง ๆ เพิ่มถึงตัวผู้สมัครลงแข่งขันในการคัดเลือกก็จะพบถึงความสามารถในการคิดค้นนโยบาย​ เพื่อมานำเสนอยังคนที่มีสิทธิ​ลงคะแนน​ เราจึงได้เห็นนโยบายจำนวนหนึ่งที่​ มันมีความใหม่​ แปลก​ แต่มันจะทำได้หรือไม่กับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตำแหน่ง​ “เจ้าเมือง​” กรุงเทพมหานคร​ (เมืองหลวง) เช่นถ้าบอกว่าจะทำสวนสาธารณะ​เพิ่ม​ ลอกท่อให้ยาวแบบนับเป็นกิโลเมตร​ จัดระเบียบการค้าขายบนทางเท้า​ อันนี้น่าจะทำได้​ แต่พอบอกถึงการให้เงินเพิ่มแบบเฉพาะคนสูงวัยในเมืองแบบมีเงื่อนไข​ ให้ได้รับเงินเพิ่มมากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง​ มันจะทำได้จริง ๆ หรือ​ หรือการแก้ปัญหาจราจร​ มันจะทำได้หรือเพราะอำนาจมันกระจายไปยังหลายส่วน​ หลายหน่วยมากมาย​ ซึ่งเป็นอำนาจส่วนกลาง​ หรือการแก้ไขปัญหาฝนตกน้ำท่วม​ มีน้ำรอระบาย​ แต่กุญแจเปิดประตู​น้ำหาย​ มันจะทำกันอย่างไร​ หรือปัญหาคาใจ​ คาปากที่บอกว่า​ อดีตยังไม่ได้ทำ​ ปัจจุบันก็ยังไม่ทำ​ แต่อนาคตได้คิดไว้ว่าจะทำต่อ​ คำถามคือ​ ก็รู้ว่ามันต้องเสร็จตั้งแต่เมื่อวานแล้ว (ตอนมีอำนาจในตำแหน่งที่กำลังลงแข่ง)​ วันนี้จะมาบอกทำไมว่าจะขอทำในอนาคตถ้าตนเองได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด​กรุงเทพมหานคร​ มันจึงมีความย้อนแย้งอยู่มากมายในคำที่สื่อสารออกมา​ 
ความเป็นอยู่​ที่ดีตามสภาพ​ ตามสมควร​ ตามที่งบประมาณ​จะได้จัดลงไปอย่างเพียงพอเหมาะสม​ ไม่ขาดหายไปในระหว่างทาง​ จึงเป็นคำตอบที่ใคร ๆ ในเมืองหลวงอยากได้​ เขาอยากได้พอ ๆ กับเมืองหลวงของต่างประเทศ​ เวลาที่เขาได้มีโอกาสไปดูบ้านอื่นเมืองอื่น (ยามเดินทางท่องเที่ยว)​ 
เราได้เห็นสื่อมวลชนออกรูปแบบรายการใหม่ ๆ ให้ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งมาประชัน​ มาแข่งขันในการตอบคำถาม​ มีการตั้งตัวผู้ถามแบบคนรู้เรื่อง​ รู้จริงในประเด็นนั้น ๆ​ ได้มาถามกันแบบดุเดือด​ ไม่มีการเกรงใจไว้หน้ากันออกทีวีกันเลย​ บางคำถามผู้เขียนต้องยอมรับว่าโหดมาก​ และแน่นอนว่าการตอบของผู้สมัครนั้นมันพร้อมจะออกมาเป็นคะแนนบวก​ คะแนนลบแบบถึงพริกถึงขิง​กันชัดเจน​ 
เมื่อผู้เขียนได้เห็น​ ได้อ่าน​ ใน​ Facebook ของท่านหนึ่งที่โพสต์​ขึ้นมาในลักษณะ​ คำคม​ ปรัชญา​ บทกวี​ หรือวรรณกรรม​ของจีนแล้ว​ จึงใคร่ขอนำมาเรียนไว้ให้เข้ากับยุคสมัยกาลเวลาที่กำลังจะถึงวันเลือกตั้ง​ เจ้าเมือง​ เมืองหลวง​ เมืองที่มีฉายาว่าเป็นเมืองที่เทพสร้าง​ เทพสถิต​ และเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลาย​ เหลื่อมล้ำกันอย่างสุด ๆ​ ดังนี้คือ
เมื่อให้เกียรติ ผู้คนจะไม่ดูแคลน
เมื่อใจกว้าง จะได้ใจมวลชน
เมื่อจริงใจ ผู้คนจะเชื่อถือ
เมื่อมุ่งมั่น จะมีผลงาน
เมื่อเมตตา จะบอกคนได้
บุคคลที่ควรค่าต่อการเคารพ จะสนใจความยุติธรรม​ คนที่ใจคับแคบจะสนใจลาภ ยศ สักการะ
ไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร ให้สนใจว่าเรามีคุณค่าควรต่อการนับถือหรือไม่
ไม่ควรกังวลกับสิ่งภายนอกมากเกินไป แต่ควรกังวลหาก
ไม่ปลูกฝังคุณธรรม
ไม่ใฝ่หาความรู้
ไม่เป็นกลาง
ไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีให้เป็นสิ่งที่ดี
อย่ามัวแต่มองคนอื่นอย่างเดียว จงมองตนเองตลอดเวลา​  ถ้าไม่พูดกับคนที่ควรพูด เราจะเสียคน ๆ นั้นไป​ ถ้าพูดกับคนที่ไม่ควรพูด เาจะเสียคำพูดไป​ คนฉลาดจะไม่เสียทั้งคน และคำพูด… “ขงจื้อ”
คุณสมบัติที่ว่ามาข้างต้น​ จะมีผู้สมัครรายใดหนอที่จะมีได้อย่างข้างต้น​ ไม่ต้องทั้งหมด​ ได้บางข้อ​ และทำได้จริงบางข้อ​แล้วล่ะก็​ เรามนุษย์​เดินดินจะได้มีฟุตพาทเรียบ ๆ เดินได้​บ้าง ไม่ต้องมีน้ำรอระบายทุกครั้งที่ฝนตก​ ไม่ต้องทนเห็นการตัดแต่งต้นไม้ที่ไร้สติในการตัด และมีสวนสาธารณะ​มากพอแก่การพักผ่อน​ ออกกำลังกาย​ใกล้ ๆ บ้าน​ คำขวัญหาเสียงที่คนกรุงอยากได้และทำได้จริงคือ​ น้ำไหล​ ไฟสว่าง​ ทางเรียบดี​ ที่ไม่โกงกิน​ ก็พอแล้ว​ เอาแบบพื้น ๆ ก็พอครับ​ 
ขอขอบคุณ​ที่ติดตาม