ก่อหนี้ ชำระหนี้ หนี้มีปัญหา ก็รวมหนี้เพื่อแก้หนี้ จบแล้วก็ไปก่อหนี้… วนเวียนกันไป
ภาพของเศรษฐกิจที่เริ่มคึกคักเมื่อมีการก้าวข้ามความกังวลในเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน จำนวนวัคซีนที่ได้รับมา จำนวนคนที่ยอมให้วัคซีนเข้าแขน ตัวเลขของผู้เข้ารับการรักษา ผู้เสียชีวิตรายวัน แม้เป็นตัวเลขที่ต้องทำใจเพราะจะไปสุดโต่งแบบปิดบ้านปิดเมืองกันเต็มที่ Income Shock ก็จะมา ผลคือความทุกข์ยากของคนที่ต้องมีรายได้ไม่ว่าจะเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนมันจะไปต่อได้ยาก ประกอบกับผู้คนต่างก็ก่อหนี้กันสารพัดในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต้องพูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่ก่อหนี้มาทำทุนเพื่อการค้าขาย คิดง่าย ๆ จะทำการค้าก็ต้องเสียเงินค่าเช่าที่ ค่าเช่าทำเลที่ตั้ง อุปกรณ์ข้าวของ วัตถุดิบ ต่อด้วยค่าใช้จ่ายลูกจ้าง เงินที่ต้องมีสำรองไว้ตอนรอรับเงินจากคนซื้อหลังส่งของตามระยะเวลาที่ให้เครดิตทางการค้ากัน มันใช้เงินทั้งนั้น เมื่อมีไม่พอก็ต้องกู้เงิน ในที่นี้จะพูดถึงการกู้กับสถาบันการเงินนะครับ เมื่อมีการกู้กันหลายบัญชีหลายเจ้าหนี้ เราก็เรียกว่า SMEs กู้หนี้หลายทาง พอวงจรของเศรษฐกิจมันเกิดปัญหา มันก็ดึงเอาทุกอย่างที่เคยคิดว่า “เอาอยู่ ทำได้ ชำระได้แน่ ๆ” กลายมาเป็น “ไม่ไหว ต้องขอเจ้าหนี้ลดหย่อนผ่อนปรน” ที่ท่าน ๆ ทั้งหลายพูด ๆ กันคือ ปรับโครงสร้างหนี้นั่นเอง สภาพการณ์ตามที่จั่วหัวเป็นชื่อบทความที่ว่า ก่อหนี้ ชำระหนี้ หนี้มีปัญหา ก็รวมหนี้เพื่อแก้หนี้ จบแล้วก็ไปก่อหนี้… วนเวียนกันไป มันก็กลับมาอีกแล้วครับท่านผู้อ่าน
ทีนี้ถ้าเราเป็นคนสนใจใคร่รู้และมองปรากฏการณ์ของการที่จะแก้ปัญหาแบบรวมหนี้ก็ต้องพิจารณาความเป็นไปของเรื่องอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง มองกลาง ๆ เพื่อให้เกิดสติว่า อ๋อ.. มันน่าจะเป็นอย่างนี้เอง เวลาที่เราต้องรับผิดชอบในการออกแบบให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้มาเจอกัน ทำอย่างไรให้มันจบได้ มันอาจจะจบได้ระยะที่กำลังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาด แล้วต้องไปว่ากันอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้ อย่าไปหวังแบบใสซื่อบริสุทธิ์ว่า โอ้ว.. เจ้าหนี้ช่างเมตตายิ่งนัก.. และลูกหนี้ก็ช่างแสนดีหนักหนา เรื่องแบบนี้ไม่มีอยู่จริงในโลก เปรียบได้กลับคนโสดที่ วันหยุดก็ไปปฏิบัติธรรม กินข้าวกับผองเพื่อน เงินเดือนก็ไม่กระทบ องค์กรไม่ต้องหารายได้ ไม่เคยรู้จักความรัก ความทุกข์การสมรส ไม่เคยทำมาค้าขาย เวลาจะไปแก้ปัญหาคนค้าขาย จึงควรต้องเริ่มจากการฟังให้ได้ยิน อย่าเลือกฟังแต่ที่อยากจะได้ยิน ฟังมันแต่เจ้าหนี้รายนี้ คนนี้ในดวงใจ ฟังคนที่พูดจริงแต่ระคายหูบ้าง ไอ้เรื่องผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชม เน้นแก้ถ้อยคำ และ หรือ ที่ ซึ่ง อันของบรรดาเอกสารที่แก้กันไปมา จนขาดการให้น้ำหนักกับสาระมากพอก็เป็นตัวอย่างแล้วเช่น โครงการเปิดตัวใหญ่โต เอาผู้คนรวมเงินเดือนหลายสิบล้านมาแถลงร่วมกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย แต่แก้ไขปัญหาตามรูปแบบที่ฝันไว้ได้ไม่ถึง 20 ราย (ตามรายงานที่ผู้เขียนอ่านมันได้แค่ 14ราย) ผู้เขียนอยากให้ต่อไปนี้ถ้ามีการแถลงข่าวขอให้แจ้งตัวเลขเป้าหมาย (Target) ให้ชัด ๆ ว่าจะมีสักกี่ราย กี่บาท เพื่อความโปร่งใส ติดตาม และประเมินผลได้แบบเดียวกับเวลาที่ท่าน ๆ ไปตรวจชาวบ้านและตั้งข้อสังเกต ข้อแนะนำให้แก้ไขปรับปรุง
กลับมาประเด็นที่ขอยกขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านได้คิดกันต่อว่ามันใช่หรือไม่ใช่ในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้คนตัวเล็ก ตัวจิ๋ว ในระบบเศรษฐกิจไทยเวลานี้
1.ต้องเข้าใจธรรมชาติของเจ้าหนี้ว่า ปกตินั้นจะไม่ยอมร่วมมือกัน ต่างล้วนต้องการจะได้มากที่สุดจากลูกหนี้ อย่างน้อยก็ต้องได้เงินต้นและดอกเบี้ยเท่ากับค่าเสียโอกาสหรือต้นทุน เจ้าหนี้รายใดในการประชุมเสนอความเห็นว่ายินดีอย่างยิ่งผู้เขียนไม่เคยเชื่อ แต่ถ้าบอกว่าขอพิจารณาข้อเสนอก่อน อันนี้น่าสนใจ ถ้าคิดว่าบรรยากาศของการประชุมต้องดีจึงจะได้ข้อสรุปที่ดี อันนี้น่าจะไม่ใช่ ประชุมกันเลือดสาดแล้วได้ข้อสรุปที่ใช่ คือสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็นมาหลังปี 2540 ไม่ใช่หรือ
2.ต้องมุ่งไปที่เป้าหมายที่ต้องการจะเห็นว่ามีการปรับโครงสร้างหนี้เกิดได้จริง ในจำนวนที่ต้องการ ในขนาดที่สร้างผลกระทบ ในเวลาที่จำกัด ภาษานักวางแผนคือ Big impact, scale and speed ในอดีตตอนที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้สินเชื่อเกษตร เราก็ใช้วิธีการจัดสรรเป็นโควต้า ใครทำไม่ได้ตามโควต้าก็ยึดเอามาเข้ากองกลางให้ธนาคารเพื่อการเกษตรเป็นคนปล่อยแทน ที่ผู้เขียนเสนอคือเปิดเผยข้อมูลว่าแต่ละแห่งมีการทำไปกี่เคส กี่ราย จำนวนเท่าใด เทียบกับเป้าที่เขารับปากว่าจะทำ (แม้ว่าเป้านั้นจะมาจากการขอร้องกึ่งบังคับก็ตาม) สิ่งที่เจ้าหนี้มักจะยกขึ้นมาคือ ความซับซ้อนและขั้นตอนการปฏิบัติงานในกระบวนการ ซึ่งตรงจุดนี้มักเป็นเรื่องวิธีการที่เรารู้ ๆกันว่าคือ “ชักใบให้เรือเห” เพราะถ้าคิดจะทำจริง ๆ มันทำได้แน่นอน อัตโนมัติหรืออัตโนมือ มันก็ทำได้เสมอ
3.สิ่งที่ควรต้องบรรจุในข้อตกลงขั้นต่ำที่ขอเสนอเพื่อคิดต่อคือ
3.1 ระยะเวลาที่เจ้าหนี้จะไม่ใช้สิทธิทางกฎหมายในการกดดันลูกหนี้ที่เข้าโครงการ อย่างน้อยควรต้อง 6 เดือนขึ้นไป
3.2 ข้อกำหนดกรณีการผิดนัดชำระรายใดรายหนึ่งแล้วเกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็น chain reactions ควรต้องให้ความละเมียดละไมกับเงื่อนไขตรงนี้เพราะนี่คือจุดเปราะบางที่เกิดขึ้นได้มากที่สุด เนื่องจากความสามารถของลูกหนี้อาจยังไม่นิ่งและมีปัจจัยจากผลของประกาศทางการในการสั่งให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดอีกด้วย
3.3 การที่คนกลางต้องตระหนักเสมอว่าเจ้าหนี้แต่ละคนนั้นมีขนาดของหัวใจที่อ่อนโยนไม่เท่ากัน มีกำปั้นมีอาวุธหนัก-เบาแตกต่างกัน เจ้าหนี้มีหลักประกัน หลักประกันแบบไหน ดีกว่า แย่กว่าเจ้าหนี้คนอื่นอย่างไร เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันน้อยมักจะเยอะในการสนทนาเข้าตำรา “เสียงดัง ตังค์น้อย” เวลาไม่ได้ดั่งใจก็อ้างสิทธิของตนมีในการดำเนินการทางกฎหมายเป็นต้น ที่ผู้เขียนเคยเห็นในการประชุมเจ้าหนี้สมัยหลังปี 2540 คือ ประธานที่ประชุมไม่สนใจและตัดบท เพราะรู้ว่าต้องการผลสุดท้ายคืออะไร
4. อำนาจตามกฎหมายและอำนาจที่ไม่ต้องแสดง แต่มีพลังมากกว่าการแสดง คือสิ่งที่ผู้ประสานงาน คนกลาง คนออกแบบต้องรู้ว่าอำนาจที่ไม่อยู่จริงนั้น มันมีอยู่จริง อย่าให้ต้องงัดออกมาใช้ มันเหมือนหนังฝรั่งคืออำนาจที่อยู่ในกล่อง Pandora ถ้ามันได้ออกมาแล้วมันกลับเข้าไปได้ยาก หรือถ้าเอาอย่างไทยๆคือเวลาที่ผีปอบออกมา ผู้คนต่างวิ่งลงตุ่มได้แม้ว่าตุ่มนั้นจะเล็กมากๆ แต่คนก็หนีความกลัวลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อตามแบบหนังผีไทยๆ
ผู้เขียนก็เป็นคน ๆ หนึ่ง มีครอบครัวที่ทำธุรกิจลูกจ้างคนเดียว ถูกสั่งให้หยุดกิจกรรมการค้าขาย เอาเงินออมออกมาจ่ายค่าจ้างลูกจ้างมาตั้งแต่ 14 เมษายน 2564 ที่ไม่เลิกจ้างก็เพราะลูกจ้างเขามีลูกเล็ก ไม่จ้างเขาแล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไร โลกความเป็นจริงในเอกสารการบรรยาย (PowerPoint Presentation) กับสิ่งที่เกิดบนถนนหนทาง ถ้าเราไม่หลอกตัวเองว่ามันช่างไร้เดียงสาเกินไป เราก็ตระหนักได้ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ เราทำเพื่อใคร เราทำเพราะอะไร สิ่งที่ทำมันคุ้มเงินคุ้มความไว้วางใจหรือไม่..
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม