เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : มองการเปลี่ยนแปลง​จากการลุกมาปรับตัวของธนาคารสู่การปรับตัวของผู้คนและสังคม : วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564

มองการเปลี่ยนแปลง​จากการลุกมาปรับตัวของธนาคารสู่การปรับตัวของผู้คนและสังคม

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวใหญ่ในโลกธุรกิจไทยที่ดังไปกว่าการลุกขึ้นมาแถลงถึงแผนการเดินทางของธนาคารยักษ์​ใหญ่​ ที่ระบุถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในระยะต่อไปที่โลกจะไม่เหมือนเดิม​ การทำธุรกิจจะไม่เหมือนเดิม​ การใช้ชีวิตผู้คนหลังโรคห่ากินปอดที่จะไม่เหมือนเดิม​
มีการตั้งประเด็นเยอะมากเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อค้นหาคำตอบในการทำมาหากินในยุคต่อไปหลังโควิด-19 เช่น

จาก​ Fiat money to fiat money จะทำได้แค่ไหน​ จะสร้างผลตอบแทนได้ระดับใด

จาก​ Fiat money to digital asset หรือในทางกลับกัน​จะทำได้กี่มากน้อย​ จะคร่อมยุคโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงได้ประมาณไหน​​

จาก​ Digital​ asset to digital asset ที่รวมไปถึง​ digital currency จะสร้างบ่อของผลตอบแทนให้ผู้คนมีความเป็นอยู่​ที่ดีขึ้นได้จริงหรือไม่​ หรือจะทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมันยิ่งถ่างออกไปอีก

จากระบบการเงินมีตัวกลางสู่ระบบที่ไม่มีตัวกลาง​ ซึ่งเชื่อในสิทธิ​และเสรีภาพในการเข้าทำรายการของบุคคลโดยไม่ต้องมีรัฐหรือผู้กำกับดูแลเข้ามาเกี่ยวข้อง​ การปฏิเสธ​บทบาทของคุณพ่อคุณแม่รู้ดี​ แต่อาจไม่รู้จริง​ แถมไม่รู้เรื่องแล้วเข้ามาสร้างกติกาที่ทำให้บุคคลต่อบุคคลไม่มีเสรีภาพในการเข้าทำรายการ มีต้นทุนในการกำกับดูแลที่สูงเกินส่วน​ คำถามก็คือบทบาทของผู้เล่นที่ไม่มี​ dirty game กับบทบาทคนถือไม้เรียวขู่มันจะอยู่ตรงไหน​ หรือมันจะเข้ายุค​ “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า​ ใครจักใคร่ค้าม้าค้า” เราจะไปถึงยุคที่​ ถ้าคุณทำอะไรคุณต้องรับความเสี่ยงเอาเองนะ​ (on your own risk) เพราะ “การลงทุนมีความเสี่ยง​ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ​(ด้วยตนเอง)​ ก่อนการตัดสินใจ (อย่าโทษใครนะถ้าตัดสินใจผิด​ อย่าหาว่าใครโกงถ้าเราไม่ฉลาดแล้วขาดทุน)​”

ใครคือคนที่จะต้องมีหน้าที่เข้ามาจัดการกับวิกฤติ​ถ้ามันเกิดขึ้นจากรูปแบบการทำธุรกิจที่ข้ามสายพันธุ์​ ข้ามอุตสาหกรรม​ ข้ามระบบคิดระบบปฏิบัติการ​ ข้ามโลกจริงและโลกเสมือนจริง​ เพราะกฎหมายมันตามทันได้หรือไม่​ ยกตัวอย่าง​ ถ้าคนทำรายการไม่ใช่สถาบันการเงินในกำกับ​ ถ้าสิ่งที่เขาตกลงทำกันมันไม่ใช่เงินในความหมายตามคำนิยามของกฎหมาย​ มันคือสินทรัพย์​ สินค้าคงคลัง​ ที่สร้างจากระบบที่เชื่อกัน (Trust system) ไม่มีใครตามได้ว่ามันมีมูลค่าเท่าใดกันแน่​ ผลตอบแทนมันมาจากไหนจับต้องไม่ได้​และยากต่อการอธิบายว่ามันทำงานกันอย่างไร​ ระบบการกำกับ​ ระบบกฎหมายที่คิดแบบ​ Silo ว่ากันตามใบอนุญาต​ ว่ากันตามบริการที่เสนอขาย​ ถ้าเกิดวิกฤติ​จริง ๆ​ น่าคิดนะครับว่าใครคือผู้บัญชาการ​เหตุการณ์​ในเวลานั้น​ ทุกโอกาสย่อมมีวิกฤติ​ซ่อนอยู่เสมอ​ เรื่องของหงส์​ดำ​ แรดเทา​ ก็เป็นอะไรที่พร่ำบ่นมาตลอด

เรื่องสุดท้าย​ สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดแรงขึ้นทุกวัน​ ถ้าเราไปดูจำนวนประชากรอายุน้อยในหลายประเทศจะเพิ่มมากขึ้นกว่าประชากรอายุมาก​ พลังของเสียง​ จำนวนของผู้มีสิทธิออกเสียงจะกลับข้างกัน​ นโยบายแบบอนุรักษ์นิยม​กับวิธีคิดแบบก้าวหน้า​ อัตตาของคนแต่ละรุ่นแต่ละวัยจะส่งผลต่อการออกแบบการจัดการรัฐที่แตกต่างหลากหลายกันอย่างไร ตัวอย่างเช่น​ สิทธิ​ในร่างกายของบุคคล​ที่จะถูกนำมาสร้าง​ content เพื่อทำมาหากินกับความเชื่อในเรื่องความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีมันจะไปอยู่ตรงไหน​ ไปถามคนต่างวัยก็จะเกิดปรากฏการณ์กระแทกแดกดันระหว่างกันว่า​ เกลียดตัวกินไข่​ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง​ vs คิดไม่ได้แล้วเหรอถึงทำเรื่องแบบนี้​ เชื่อว่าในอนาคตคนในสังคมจะต้องมีการปะทะกันอีกหลาย ๆ ประเด็น​ การเลือกตั้งครั้งต่อไปเรา ๆ ท่าน ๆ คงจะได้เห็นอย่างแน่นอน

วันนี้​ เวลานี้​ การใช้ชีวิตที่ต้องอยู่กับไวรัสไม่มีสมองที่ทำให้มนุษย์​มีสมองไปไม่เป็นมาสองปีแล้วคงจะสร้างความปั่นป่วน (Disrupt) ​จนกว่าจะเปลี่ยนผ่านความไม่ปกติแบบใหม่เป็นความไม่ปกติที่คุ้นชิน (New​ normal) ผู้เขียนได้คุยกับบรรดาลูก ๆ และเพื่อนวัยเด็กก็พบว่า
ความเครียดจากชีวิตยุคดิจิทัล คงไม่ได้เกิดมาจากความลำบากในการทำงานอย่างเดียว ไม่ได้เกิดมาจากความผิดพลาดหรือผิดหวังอย่างเดียว​ แต่เกิดจากการที่เรา​ ที่เขา เอาตัวเรา เข้าไปผสมกับงาน ผสมกับผลการสอบ กับผลการประเมิน กับเงินเดือน ผสมกับชีวิตหรือกับสิ่งต่าง ๆ รอบกาย

คนโบราณอย่างผู้เขียนจึงได้แต่คิด (ไม่กล้าพูดออกไป)​ ว่า​ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เรา ละตัวตน + ลดอัตตา…ทำหน้าที่ = เพื่อหน้าที่…

ดูแลตัวเอง​ อย่าเป็นภาระบุตรหลาน
ดูแลบุตรหลาน​ อย่าเป็นภาระสังคม