เศรษฐกิจต้องพึ่งจิตใจ
ในท่ามกลางข้อมูลที่ไหลบ่า บ้างก็มีที่มา บ้างก็มาลอย ๆ บ้างก็อ้างว่ามาจากคุณหมอ บ้างก็ตั้งตนเป็นคุณหมอ (อาจมีปมว่าตอนนั้นเอ็นทรานซ์ (Entrance)ไม่ติดแพทย์ เลยสะกดจิตตัวเองให้เป็นคุณหมอตอนนี้ด้วยการแชร์ข่าวมั่ว) ก็ไม่ว่ากัน จนบรรยากาศตอนนี้ของประเทศที่เคยมีผู้ติดเชื้อรายวันเป็นเลขศูนย์อันดับต้น ๆ ของโลกเมื่อหลายเดือนก่อนโน้น กลับมาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 2,000 คนต่อวัน มีความตื่นตระหนกแต่ไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง ได้แต่โยนให้เป็นภาระสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้ดั่งใจก็ลงเฟซบุ๊ก… เคยถามตนเองหรือไม่ว่า ในยามนี้ท่านจะสร้างศึกสงครามบนโลกการสื่อสารกับใคร ใครเป็นอริราชศัตรูของเรา ไม่มีเลย… มันคือความกลัวของตัวเรา ก็ไหนว่าเราเป็นชาวพุทธ ร่ำเรียนมาว่า เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ล้วนเป็นอนิจจัง ความรู้ความตั้งใจตอนลาพักร้อน ช่วงวันหยุดไปปฏิบัติธรรมมันหายไปไหน เราทั้งหมดไม่ได้อยู่ในเรือลำเดียวกัน หากแต่เราอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน หากเรายังไม่มี วินัยและความเมตตาต่อกัน ยากที่จะหนีพ้นไปกับสงครามนี้ ที่สุดมันคือโศกนาฏกรรมร่วม
ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านลองอ่านถ้อยความเหล่านี้ที่เป็นหลักยึดของมดงาน บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งชายและหญิงที่เป็นทหารราบแนวหน้า แล้วถามใจท่าน ๆ รวมถึงตัวผู้เขียนเองว่า ท่านเหล่านั้นมีวินัยและความรักความเมตตาต่อผู้คนไม่ว่า ยากดีมีจน จะนิสัยดีนิสัยเลว (บางคนต้องบอกว่าเลยชั่วไปหลายกิโลเมตร) จะมีตำแหน่งหรือไม่ อยู่หรือไม่ ผู้เขียนคิดว่า คุณหมอ คุณพยาบาล เวรเปล แม่บ้าน มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ถ้อยคำนั้นมีอยู่ว่า
ขอให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ลาภ ทรัพย์และชื่อเสียงก็จะตกแก่ท่านเองเมื่อท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์
ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นคุณหมอเท่านั้นแต่ฉันต้องการให้พวกเธอมีความเป็นมนุษย์ด้วย
คุณลักษณะสำหรับการเป็นแพทย์นั้น คือ ความเชื่อถือไว้วางใจ
1.ท่านต้องมีความเชื่อในความสามารถของตนเอง คือ มีความมั่นใจ
2.ท่านต้องมีความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือ ความเป็นปึกแผ่น
3.ท่านต้องได้รับความเชื่อถือจากคนไข้ของท่าน คือ ความไว้ใจของคณะชน
คุณสมบัติ 3 ประการนี้เป็นอาวุธ เกราะ และเครื่องประดับอันงามของแพทย์ การจะได้รับความไว้ใจของคนไข้ของท่าน ถือสุภาษิตว่า ใจเขา ใจเรา
กลับมาที่ระบบเศรษฐกิจไทย เครื่องยนต์ที่จะลืมตาอ้าปากได้คงจะมีแต่เรื่องการส่งออก เพราะประเทศใหญ่ ๆ ต่างกลับมามีการเจริญเติบโตและหากประเทศเหล่านั้นตั้งหลัก และนำเข้าสินค้าไทยเราเพิ่มได้แล้วก็น่าจะทำให้ประเทศเราเติบโตได้พื้น ๆ ก็ต้องมีว่า สัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) เติบโตได้สัก 2% ขึ้นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์พูดคุยกันในเวทีเสวนาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute หรือ TDRI) ในส่วนการใส่เงินของภาครัฐในการเยียวยา การกระตุ้น การฟื้นฟูก็คงเป็นไปตามตัวเลขที่เปิดเผย คงเดินไปตามระบบราชการ (แบบบ่น ๆ เบื่อ ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นแต่ประเทศเราประเทศเดียว) และเราๆท่านๆที่เป็นคนส่วนใหญ่คงต้องเดินทางไปในอุโมงค์ที่มีปลายแสงสว่างอยู่ไกลๆกันอย่างน้อยก็จนถึงไตรมาสสามปี 2565 ดังที่มีคนพยากรณ์เอาไว้
ในการเดินทางร่วมกันของปวงชนชาวไทย จนตลอดรอดฝั่ง จะชั่วดีถี่ห่างก็ไทยด้วยกัน ชาวสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ได้ทำให้เห็นเป็นประจักษ์แล้ว เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ทำในสิ่งที่เรียกกันว่าวินัยและความรักความเมตตาต่อกันแล้วหรือไม่อย่างไร เศรษฐกิจมีชีวิต ต้องพึ่งวินัย พึ่งความรักความเมตตาก็วันนี้แหละครับ