เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : การมีสิทธิหักหน้าซองเงินเดือน คนหนึ่งได้ แต่ระบบจะเสี่ยงหรือไม่ : วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

การมีสิทธิหักหน้าซองเงินเดือน คนหนึ่งได้ แต่ระบบจะเสี่ยงหรือไม่

มีข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งโผล่ขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศการโต้ตอบกันในระบอบประชาธิปไตยว่าด้วยเรื่องไว้วางใจ/ไม่ไว้วางใจ เรื่องนั้นก็คือ การให้กู้ยืมและการก่อหนี้ของสมาชิกสหกรณ์​ออมทรัพย์​ เพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จนทำให้กลไกการหักเงินเดือนหรือการหักรายได้จากต้นทางฝั่งนายจ้างของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ดำเนินการหักหน้าซองเพื่อมาชำระหนี้ต่าง ๆ ที่สมาชิกมีอยู่กับสหกรณ์​ออมทรัพย์​ที่เป็นเจ้าหนี้ไปถึงเพดานการหักคือ 70% ของรายได้ในเดือนนั้น ผลคือเงินเดือนหรือรายได้นั้นเข้าซองไปหลังหักแค่ 30% ทีนี้เงินจำนวนดังกล่าว มันไม่เพียงพอไปชำระหนี้ของสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ตัวลูกหนี้ซึ่งก็คือสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์รายนั้นมีหน้าที่ต้องชำระ งานก็เข้าที่ตัวลูกหนี้ด้วยจะกลายเป็นผู้ผิดนัดชำระ มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ เสียงานเสียการ ลุกลามไปกันใหญ่ ผู้เขียนเองกังวลว่ามันจะเกิดการลุกลามไปกันใหญ่​และเกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงควรที่จะได้มีการรีบเข้ามาดูแลแต่ต้นมือ มุมมองจากสี่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีดังนี้

1.ฝั่งลูกหนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้นก็มีภาระหนี้มากพอควร พอเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้รับผลกระทบ (แม้อาจไม่โดนทางตรง) เกิดอาการรับ-จ่ายไม่สมดุล จำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อเอามาเติมความต้องการของครัวเรือนหรือไม่ ทีนี้จะไปหาในระบบสถาบันการเงินปกติในเวลานี้มันก็มีความเข้มงวด หลักประกันก็ไม่มี ในขณะที่ทางฝั่งสหกรณ์​ออมทรัพย์​ที่ตนเองมีหุ้น มีเงินฝาก สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า ดอกเบี้ยก็ไม่แพงเกินไป ขณะเดียวกัน % การหักหน้าซองยังมีโอกาสเพิ่มได้เพราะยังไม่เลย 70% ของเงินเดือนหรือรายได้ เช่นตอนนี้โดนหักหน้าซองไปแล้ว 60% เป็นต้น​ ผู้เขียนเห็นแนวโน้มนี้จากการที่มีผู้คนมาขอตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้นผิดปกติในเดือน​ธันวาคม ​2563 ​และเดือนมกราคม 2564 เมื่อได้สอบถามก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยมาตรวจสอบเพื่อนำเอารายงานข้อมูลเครดิต (รายงานเครดิตบูโร) ไปเป็นเอกสารการยื่นขอกู้กับ​สหกรณ์​ออมทรัพย์​ทั้งเงินกู้สามัญ เงินกู้ฉุกเฉิน

2.ฝั่งสหกรณ์​ออมทรัพย์​ก็มองว่าเป็นการช่วยสมาชิกของตน เป็นการจัดหาประโยชน์จากเงินที่สมาชิกนำมาฝากหรือซื้อหุ้นด้วยเหตุว่า มีสภาพคล่องเข้ามา เมื่อมีการไปรับฝากในอัตราที่น่าสนใจบวกกับดอกเบี้ยเงินฝากนั้นได้รับการยกเว้นภาษี มันเลยเป็นแรงจูงใจให้คนมีเงินเหลือเอามาฝาก และคนบริหารก็ต้องนำเงินใปหาผลตอบแทนต่อ ทั้งนี้เพื่อให้ผลตอบแทนจาก​เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน อยู่ในอัตราที่สูงตามนโยบายการหาเสียงของคณะกรรมการจัดการที่ดำเนินการอยู่ อีกทั้งการให้กู้ออกไป ทางต้นสังกัดหรือนายจ้างต้องหักหน้าซองเอาไว้ตามจำนวนการเรียกเก็บหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งสามารถทำได้สูงสุดถึง 70% ของรายได้ ความเสี่ยงในการรับชำระมันต่ำ ความคิดที่ว่าแล้วเงินที่เหลือเข้าซองในส่วน 30% ที่เหลือจะพอใช้ในการดำรงชีวิต พอจะชำระหนี้เจ้าหนี้รายอื่น ๆ ได้หรือไม่นั้นก็อาจจะได้รับการพิจารณาน้อยเกินไป 

3.ฝั่งสถาบันการเงินเจ้าหนี้ในระบบรายอื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบ

3.1 ลูกหนี้ตนมีความเสี่ยงเพิ่มเพราะไปหาสินเชื่อเพิ่มได้จากสหกรณ์​ออมทรัพย์​

3.2 เงินหักหน้าซองเพิ่มเงินเข้าซองน้อยลง การจะมีเงินพอมาชำระหนี้ตามตารางที่มีอยู่ของสถาบันการเงินก็ลดลง โอกาสที่จะผิดนัดเพิ่มก็ตามมา 

3.3 ข้อมูล​หนี้งอกที่เพิ่มขึ้นมันไม่มีการแสดงในรายงานเครดิตบูโร การทบทวนสินเชื่อ (Loan review) ก็มองไม่เห็นหนี้ก้อนนี้

4.ฝั่งผู้กำกับดูแล ก็จะมีความสั่นไหวในการจะออกมาตรการเพราะคนที่กำกับสถาบันการเงิน​ กับท่านที่กำกับ​สหกรณ์​ออมทรัพย์​มันก็เป็นคนละกระทรวงคนละหน่วยงานกัน แม้จะได้ส่งเสียงเตือนมาโดยตลอด (ท่านสามารถติดตามจากการแถลงข่าวของคณะกรรมการนโยบายการเงินแทบทุกครั้งที่ผ่านมา)​ ว่ามันมีความเสี่ยงเชิงระบบ เพราะบัญชีสินเชื่อที่ลูกหนี้สมาชิกมีอยู่กับ​สหกรณ์​ออมทรัพย์​มันไม่ได้ถูกนำมารวมศูนย์ในการ​จัดการ​ สถาบันการเงินจึงมีข้อมูลไม่ครบถ้วนในเรื่องภาระหนี้ทั้งหมดของลูกค้า ลองคิดภาพต่อว่า ถ้าเกิดสถาบันการเงินในกำกับของตน ต้องตัดสินใจดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย​ เช่น​ การฟ้องล้มละลาย การทวงถามไปยังผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)​ เป็นจำนวนมาก ๆ มันจะกลายเป็นปัญหาเชิงระบบหรือไม่ 

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมด จากสายตาของคนที่อยู่นอกวงก็เข้าใจตลอดว่า ตัวลูกหนี้ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องจำเป็น เร่งด่วน​ ฉุกเฉินจนต้องมีการก่อหนี้เพิ่มแบบไปว่ากันในอนาคต ได้ไม่ได้ค่อยคุยกันอีกที ตัวสหกรณ์ก็มีแรงจูงใจในการปล่อยเพิ่ม เพราะมันเพิ่มธุรกิจ การตามหนี้ไม่ต้องเพราะมีคนหักหน้าซองก่อนแล้ว ได้ใจสมาชิกอีกต่างหาก ส่วนสถาบันการเงินก็กลายมาเป็นว่าต้องกินน้ำใต้ศอก เงินกู้ก็ให้ไปแล้ว ความเสี่ยงก็เห็นได้ไม่ครบ วันดีคืนดีลูกหนี้หลายหมื่นของตนเองได้เงินกู้เพิ่มจากสหกรณ์ออม​ทรัพย์​ แล้วจะไม่ไหลมาเป็นหนี้ค้างชำระที่ตนเองหรือ จะอนุมัติเงินให้เพิ่มก็ยาก จะติดตามก็ข้อมูลไม่ครบ เหลือทางเดียวคือการไล่ฟ้อง ยื่นหนังสือเตือนให้ชำระหนี้เป็นมาตรการที่จะทำให้ลูกหนี้ของตนต้องกลับมาเจรจาว่าจะเอากันอย่างไรต่อไป ผู้เขียนได้แต่ภาวนาให้ผู้กำกับดูแลได้รับรู้ รับทราบ​ เข้าใจ​ เข้าถึงซึ่งปัญหา และพัฒนามาตรการแก้ไขเสียแต่เนิ่น ๆ… เพราะเวลานี้มีคำถามแล้วว่าการมีสิทธิหักหน้าซองเงินเดือน คนหนึ่งได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น บวกให้กู้เพิ่ม แล้วระบบจะเสี่ยงหรือไม่ในระยะต่อไป

ขอบคุณครับ