แท้ที่จริงจานมันแตกแล้วเหลือแต่เปิดประตู…ความจริงก็ปรากฏ
บทความวันนี้ผู้เขียนได้รับภาพจากการส่งต่อ ๆ กันมา เป็นภาพที่ทำให้ผู้เขียนต้องเพ่งดูหลายครั้ง เป็นภาพที่ต้องขอขอบคุณท่านเจ้าของ Facebook ท่านหนึ่งที่สื่อออกมาได้อย่างน่าสนใจมาก ๆ ผู้เขียนคิดว่าภาพนี้มองให้ลึกลงไปเชิงเปรียบเทียบใน 2 เรื่องที่ตรงกับสถานการณ์ในวันนี้
- สถานการณ์ที่เรากำลังเตรียมทุกสิ่งอย่างในการเปิดบ้านเปิดเมือง เพื่อกลับไปใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับอดีตให้มากที่สุด เรา ๆ ท่าน ๆ ทนมานานเกือบจะ 2 ปีแล้ว ยิ่งนิสัยทำอะไรตามใจคือไทยแท้ ทำไม่ได้ในเวลานี้ทั้งทางบวกทางลบ ไม่ว่าจะเป็นสุมหัวล้อมวงเหล้า เล่นการพนัน ดูละเม็งละคร ร้องรำทำเพลง อาบอบนวด ดูหนังฟังเพลง ชมมหรสพ รวมไปถึงรวมกลุ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรม เวลานี้งานบวช งานศพ เงียบเหงากันไปหมด การโหยหาวันคืนเก่า ๆ ย่อมเป็นเรื่องปกติ ผู้เขียนดูจากมาตรการผ่อนคลายเวลานี้ คนไปเดินห้าง ไปร้านอาหาร ไปสถานที่ท่องเที่ยว กันแบบรู้สึกเลยว่า ทนไม่ไหวกับการต้องล็อกตัวเองอยู่แต่บ้าน ทำงานที่บ้าน กิน 3 มื้อที่บ้าน อะไรแบบนี้
ในฟากฝั่งคุณหมอท่านก็เตือน เตือน แล้วก็เตือน สงสารท่านอาจารย์หมอมาก ๆ ท่านพูดปากจะฉีกถึงหูอยู่แล้วว่า ให้ระวังตัว วัคซีนกันเจ็บหนัก กันตาย แต่ไม่ได้กันติด ต้องรักษาระยะห่าง ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือให้สะอาด สถานที่ทำงานต้องทดสอบด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อความมั่นใจเป็นระยะ สุดท้ายคือส่งสัญญาณว่า ยอดผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้น ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ระดับ 100-200 ท่านต่อวัน คนเจ็บหนัก คนใส่ท่อหายใจยังอยู่ในระดับสูงพอควร ผู้เขียนได้แต่กังวลว่า เวฟ 4 – 5 ขออย่าได้มาเลยในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ปลายปี 2564 จะได้เฉลิมฉลองกันแบบระวังกันได้บ้าง อย่าได้เป็นแบบปลายปี 2562 และ 2563 ที่เราเจออีกเลย เทียบกับภาพก็คือ คนติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ การปะทุจากคลัสเตอร์ใหญ่เหมือนจานชามที่รอวันเปิดประตูตู้เก็บ…เราจะเห็นในไม่ช้าอย่างแน่นอน
- ภาพเดียวกันนี้สะท้อนในบทสนทนาที่น่าสนใจมาก มันมีการตั้งคำถามว่า ถ้าจานชามที่รอวันร่วงลงมาเมื่อเวลาเปิดประตูตู้เก็บคือบัญชีสินเชื่อ SMEs ที่กำลังสะบักสะบอมในเวลานี้ กำลังเอาตัวรอดในเวลานี้ โดยความจริงแล้วคือบางส่วนเป็น NPL ไปแล้ว แต่ด้วยมาตรการผ่อนผันผ่อนปรนบนเงื่อนไขทางบัญชี ทางปฏิบัติ มันเลยยังไม่ถูกนับว่าเป็น เมื่อไหร่เปิดบานประตูกลับไปมาตรฐานเดิมล่ะก็ มันคงร่วงลงมาแบบหยิบจับไม่ทัน คำถามคือทางแก้ ทางเตรียมตัว ทางที่จะลดผลกระทบให้จานชามแตกน้อยที่สุด หล่นไปจำนวนที่พอรับได้จะทำแบบไหนอย่างไร ก็มีคนออกมาให้ความเห็นเชิงแซะนิด ๆ ว่าที่ทำกันก็คือคิดทางแก้แบบวกไปเวียนมา ต้นทุนแพง น้อยเกินไป ช้าเกินไป ยังไม่โดนอะไรประมาณนั้น ข้อความที่แซะในเชิงเปรียบเทียบในการแก้ปัญหาจานชามไม่ให้เสียหายจากการเปิดตู้ท่านเขียนไว้ว่า “… รื้อหลังคาบ้านออกก่อน โหนสลิงลงมาแล้วเจาะเพดานบ้านชั้นสองลงมาชั้นล่าง หลังจากนั้น ทุบเพดานที่ติดกับห้องครัวออกให้หมดจนไปถึงตู้นี้ ค่อย ๆ เปิดแล้วเอื้อมมือไปหยิบชามนั้นออกมาจากตู้ครับ…”
อีกท่านหนึ่งที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของเมืองไทยในธุรกิจแนวหน้า ท่านให้ความเห็นไว้ว่า “…ชอบการเปรียบเทียบ แต่สงสัยว่า ทำไมไม่ทุบกระจกด้านที่ กระทบน้อยที่สุด แล้วประคับประคองจานที่กำลังจะล้มให้ ตั้งขึ้นมายืนได้ใหม่ มันมีกฎระเบียบหลายอย่างที่ควรจะรื้อทิ้งได้ในตอนนี้…”
ท่านสุดท้ายที่อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยว ท่านตอบแบบปิด ตัดจบดังนี้ “… เขาคงไม่รื้อหลังคา เพดาน หรอกครับ เพราะคนคุมเรื่อง คุมกติกามารยาท เขาน่าจะคิดกันว่าปล่อยให้แตกคุ้มกว่า แต่ที่ยังไม่กล้าเปิดตู้ น่าจะเพราะเหตุผลบางประการ จานแต่ละใบนี่ SME ทั้งนั้นครับ
ผู้เขียน มองภาพนี้อีกครั้ง กราบขอบคุณท่านเจ้าของ FB ท่านที่เขียนเหนือภาพและแชร์ภาพนี้นะครับ