เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : 19 ก.ค. 2564 เริ่มมาตรการชะลอการชำระหนี้ 2 เดือน : วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 :

19 ก.ค. 2564 เริ่มมาตรการชะลอการชำระหนี้ 2 เดือน

ไฟเซอร์ก็ยังไม่มาแต่ไฟแนนซ์มาเยือนแล้ว” มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน 19 ก.ค. 2564 ท่านลูกหนี้ต้องรีบนะครับ จะได้แก้ปัญหาเสียแต่ต้นมือ

ผลของการใช้มาตรการเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสกินปอดที่กำลังเป็นประเด็นกันทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยที่กำลังมีเรื่อง “ไฟเซอร์ก็ยังไม่มาแต่ไฟแนนซ์มาเยือนแล้ว” พอทางรัฐบาลออกมาตรการเข้มสำหรับ 10 จังหวัด การแพร่ระบาดสีแดง ผลกระทบทันทีก็เกิดกับคนทำมาหากินใน 9 ประเภท ที่ค่อนข้างชัดเจน

1. การสั่งให้หยุดหรือชะลอการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อมทำให้คนที่พร้อมทำมาหากิน มันทำไม่ได้ หรือทำได้น้อย หรือทำได้ยาก ผลก็คือไม่มีรายได้จากทุกสิ่งอย่างที่ตนเองเตรียมมาทำมาค้าขายหรือให้บริการ

2. คนที่เป็นลูกค้าก็เกิดอาการเกร็งไปด้วย กลัวที่จะติดเชื้อโรค ชะลอการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามไปด้วย ชะลอการใช้จ่าย หรืออยากใช้จ่ายแต่ไม่มีที่จะไปใช้จ่าย เช่น ปิดร้านขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า ถึงอยากจะซื้อก็ไม่มีอะไรให้ซื้อ

3. แต่คนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า คนที่เป็นลูกจ้างมันมีภาระหนี้ ดอกเบี้ยยังเดินทุกวัน เงินต้นก็มีตารางการจ่ายคืนแน่นอน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นยอดผ่อนในแต่ละเดือนคือสิ่งที่ต้องจ่าย และตัวเงินที่จะเอามาจ่ายก็ควรมาจากรายได้ของการทำมาหากิน ซึ่งมันก็ทำแทบไม่ได้ หรือไม่ได้ทำตามเงื่อนไขข้อ 1

4. การไม่ชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนดก็จะถูกถือว่าค้างชำระ และเจ้าหนี้จะส่งข้อมูลเข้ามาที่เครดิตบูโร นั่นคือสิ่งที่ไม่มีใครต้องการคือ การเสียเครดิตในการเป็นหนี้ เพราะมันจะส่งผลลบในอนาคตหากจะมีการยื่นขอกู้เพื่อทำสิ่งต่าง ๆ

5. เมื่อภาพของ 1-4 ข้างต้นมันออกมาเป็นแบบนี้ การจัดทำโครงการลดผลกระทบต่อผู้คนทั้งนายจ้าง ลูกจ้างจากรัฐบาลจึงต้องออกมา เพราะว่ารัฐบาลสั่งลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ต้องมีการเยียวยา ช่วยเหลือ ให้คนที่ได้รับผลกระทบผ่านช่วงเวลาตามมาตรการทางสาธารณสุข ผ่านมาตการที่เข้มข้น ตามความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 3 ทับด้วยการกลายพันธุ์ของไวรัสในรอบ 4 ทับมาด้วยวัคซีนไม่มาตามนัด ดังนั้น เมื่อโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น มิเห็นที่พึ่งพาจะอาศัย การออกแบบความช่วยเหลือจึงต้องให้ครอบคลุม

6. มาตรการที่ออกก่อนหนึ่งชุดก็เป็นเรื่องทางฝั่งลูกจ้าง นายจ้างผ่านระบบประกันสังคม ลดค่าน้ำค่าไฟ ผ่อนปรนค่าเช่าในที่ทางของหลวง เป็นต้น ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึง

7. มาตรการเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินก็คือ การให้ลูกหนี้ชะลอการชำระหนี้ออกไป 2 เดือน หรือทำ skip payment 2 งวดการชำระในเดือนกรกฎาคม- สิงหาคม หรือ เดือนสิงหาคม – กันยายน แล้วแต่จะออกแบบกันไป ความหมายง่าย ๆ คือ ใครก็ตามที่เป็นคนได้รับผลกระทบ และไปยื่นเรื่องขอเข้าโครงการกับเจ้าหนี้ตามช่องทางต่างๆ ได้รับพิจารณาแล้วว่าคือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจริงก็จะสามารถ skip payment 2 งวดการชำระหรือไม่ต้องจ่ายหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว เพื่อให้ภาระตรงนี้หายไปชั่วคราว

8. สิ่งที่ลูกหนี้ต้องทำความเข้าใจนะครับว่า

8.1) เงินที่เป็นหนี้ 2 งวดนั้นไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่แต่จะไปเคลียร์กันตอนไหน จะไปเคลียร์?กันต่อท้ายงวดสุดท้ายของตารางการชำระหนี้ หรือจะไปต่อท้ายแทนเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม โดยขยับเลื่อนกันออกไป หรือยากสุดคือให้จ่ายทั้งก้อน 2 งวดในเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคมก่อนจะเข้าตารางตามปกติต่อไปสิ่งที่คนเป็นหนี้อยากได้มากคือ โยกไปต่อท้ายจากงวดท้ายสุดตามสัญญา เช่น สัญญาเก่าต้องผ่อนหมด 10 งวด ก็จะกลายเป็น 10 งวด + 2 งวด นั่นเอง

8.2) ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงฟันหลอที่ไม่ได้จ่ายนั้นยังเดินนะครับ แต่ไม่เดินด้วยดอกเบี้ยผิดนัด เดินด้วยอัตราปกติ ไม่ได้เอาฐานการคิดจากยอดหนี้ทั้งก้อนที่ยังไม่ได้จ่าย แต่ให้เอายอดเงินต้นจาก 2 งวดที่ยังไม่จ่ายช่วงฟันหลอมาคิดนะครับ ผลคือดอกเบี้ยช่วงฟันหลอจะไม่มากมายก่ายกอง แต่จะเป็นจำนวนที่สมเหตุสมผล และดอกเบี้ยตรงนี้ก็ควรเอาไปหยอดไว้ตอนท้ายของสัญญาคือเอาไปจ่ายท้ายสุดตอนปิดบัญชีจะเป็นแนวทางที่ลูกหนี้ต้องการ

8.3) ทีนี้การส่งรายงานให้กับเครดิตบูโรก็จะส่งว่าลูกหนี้ไม่ค้างชำระนะครับ กรณีที่เดือนปัจจุบันก่อนเข้ามาตรการถ้าลูกหนี้เริ่มค้างชำระ วันที่ค้างชำระก็จะไม่นับต่อเนื่อง เช่น เดือนมิถุนายน มีการค้างชำระไว้แล้ว 30 วัน ดังนั้นพอเข้าโครงการได้แล้ว วันที่ผิดนัดก็จะคงที่ไป 2 เดือนว่า ค้างชำระ 30 วันในเดือนกรกฎาคมและค้างชำระ 30 วัน ในเดือนสิงหาคม ส่วนใครที่ไม่ค้างก่อนหน้า ก็จะรายงานว่าไม่ค้างชำระต่อเนื่องไปทั้ง ๆ ที่มีการ skip payment ทั้งนี้เพราะมีการสั่งการชัดเจนมาที่เครดิตบูโรและสมาชิกเครดิตบูโรว่าต้องถือว่ามีการ skip payment ใน 2 เดือนที่ว่านี้ ลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองรักษา?ประวัติการชำระหนี้ตามมาตรการที่ออกมาบนความร่วมมือของ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ตามข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรีนั่นเอง

9. ความสำเร็จของมาตรการนี้คือต้องเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เหล่านั้นอย่างรีบด่วน และที่ต้องทำต่อเนื่องคือ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินที่ลูกหนี้ทำได้ ไม่ใช่อย่างที่เจ้าหนี้อยากได้ เพราะยามนี้ คนไม่มีคือไม่มี ไม่ได้หนีไปไหน อยากทำมาค้าขาย แต่มันทำไม่ได้ แม้จะกลัวอดมากกว่ากลัวติดกลัวตาย แต่มันมีคำสั่งให้ทำไม่ได้ เจ้าหนี้ต้องใช้เหตุใช้ผล รู้ร้อนรู้หนาว รู้ว่าลูกหนี้ไหวที่ที่ตรงไหน ส่วนลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้ ท่านก็ต้องไม่เอาเปรียบเจ้าหนี้ด้วยการเล่นไม่ชำระหนี้ แบบนี้มันก็ศรีธนญชัยไปหน่อย ถ้าเป็นหนี้และจ่ายได้แต่ไม่จ่าย เจ้าหนี้เขารู้เขาก็ฟ้องนะครับ มันไม่คุ้ม

สุดท้ายครับ มาตรการนี้เริ่ม 19 กรกฎาคม 2564 ท่านลูกหนี้ครับ ท่านต้องแจ้งความประสงค์เข้าโครงการกับเจ้าหนี้ตามช่องทางที่เขาระบุนะครับ อย่าคิดเอาเองว่าเจ้าหนี้ต้องรู้เองนะครับ รีบนะครับ จะได้แก้ปัญหาเสียแต่ต้นมือ เรื่องของชาวบ้าน เรื่องอยากรู้อยากเห็น เรื่องที่เราไม่ได้รู้ เรารู้ต้องพักไว้ก่อน เวลานี้ไม่ใช่เวลาต่อว่ากัน เวลาแสดงวิสัยทัศน์ เวลานี้คือเวลาอยู่กับเรื่องตัวเอง แก้ปัญหาตัวเอง และรักษาสุขภาพให้เคร่งครัดตามที่หมอโรคและหมอหนี้เขาบอกให้ปฏิบัติตัวครับ

ขอบคุณครับที่ติดตาม