เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : การปรับโครงสร้างหนี้กับรายงานเครดิตบูโร : วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน2564

การปรับโครงสร้างหนี้กับรายงานเครดิตบูโร

บทความวันนี้ต้องขอเรียนว่าเป็นข้อมูลสำหรับท่านที่สนใจว่าความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันระหว่างธุรกรรมการปรับโครงสร้างหนี้กับการรายงานของเจ้าหนี้ที่จะมีมายังเครดิตบูโรทุกสิ้นเดือนว่าลักษณะของบัญชีสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างหนี้นั้นมันแสดงรายการอะไร มีผลอะไรกับตัวลูกหนี้ ทั้งนี้หลายครั้งหลายครามักมีการนำเอาข้อมูลไปบิดเบือน นำเอาไปเป็นวาทกรรมในการเรียกร้อง ชักจูงให้ลูกหนี้ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ออกมาประท้วงกับหน่วยงานราชการ ประท้วงสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งพอได้รับการชี้แจงอย่างชัดเจน หลายครั้งก็ต้องกลับไปเพราะเหตุและผลนั้นมันถูกต้อง ครบถ้วนแล้วในตัวของมันเองอย่างหมดจด หมดข้อสงสัย ในครั้งนี้ผู้เขียนจึงขอนำเอาข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งดังนี้นะครับ

1. ทำไมต้องปรับโครงสร้างหนี้ เหตุก็เพราะลูกหนี้มีความสามารถลดลงในการชำระหนี้ อาจจะมาจากความผิดพลาดในการประกอบธุรกิจ อาจเกิดจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลกระทบหลัก ๆ คือรายได้ลดลง แต่ตารางการชำระหนี้ต้นเงินกับดอกเบี้ยที่เรียกว่าค่างวดมันไม่ได้ลดลงตาม ดังนั้นการปรับเงื่อนไขการชำระใหม่ให้สอดคล้องกับรายได้จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ไม่อย่างนั้นลูกหนี้จะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้ง่าย ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น จุดเริ่มต้นมันจึงมาจากจุดนี้เป็นส่วนใหญ่

2. ทีนี้ถ้าตัวลูกหนี้ยังไม่มีการค้างชำระเกินกว่า 90 วัน เช่น เริ่มมีการค้างชำระ 30 วัน หรือ ค้างชำระ 31 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน หรือ ค้างชำระ 61 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน สถาบันการเงินยังถือว่าลูกหนี้มีอาการสีเหลือง คือ เริ่มมีการค้างชำระเกิดขึ้น มีอาการเสียทรงแล้ว หากว่ารีบแก้ไขทัน ก็จะยังคงรักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีให้กลับมาได้ การรีบดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ในระยะนี้จึงถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ป้องกันอะไร ป้องกันการเป็นหนี้เสียหรือป้องกันการเป็น NPL (Non-Performing Loan : หนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) นั่นเอง การปรับโครงสร้างหนี้แบบนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีคำสั่งห้ามมิให้มีการรายงานหรือมีการติดรหัส ติดหมายเหตุ หรือระบุอะไรลงไปในรายงานข้อมูลเครดิต (รายงานเครดิตบูโร) ถ้าจะมีเหตุสงสัยกันเวลาที่ดูรายงานกันก็คือ มันมีประวัติการค้างชำระเดือนใดเดือนหนึ่งหรือหลายเดือนติดต่อกันแต่ยังไม่เกิน 90 วัน ซึ่งก็เป็นไปตามความจริงที่เกิดขึ้น

3. แต่ในกรณีที่มีการค้างชำระเกิน 90 วันไปแล้วในบัญชีใดบัญชีหนึ่งของลูกหนี้ ก็จะถือว่าลูกหนี้คนนั้นเป็น NPL ลูกหนี้คนนั้นกลายเป็นหนี้เสียไปแล้วนั่นเอง ถ้าลูกหนี้มีการขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ไม่ว่าจะเป็นแขวนเงินต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย ปรับตารางการจ่ายหนี้ใหม่ ลดดอกเบี้ยลงมา มีการจ่ายเงินงวดแบบขั้นบันไดคือจ่ายยอดน้อย ๆ ตอนต้นแล้วค่อยเพิ่มตอนหลัง การปรับโครงสร้างหนี้หลังการค้างชำระเกิน 90 วัน เราเรียกว่า “การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา” ซึ่งถือเป็นกรณีร้ายแรงพอสมควร เมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้กันวันไหน เช่น ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้วันไหน มันก็จะเกิดวันที่ปรับโครงสร้างหนี้ขึ้นในระบบ วันที่ดังกล่าวจะถูกส่งเข้ามาในระบบของเครดิตบูโรเพื่อให้รู้ว่ามีการปรับเงื่อนไขการชำระในบัญชีที่ผ่านการเป็นหนี้เสียมาแล้ว เรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบ ประกาศของ ธปท. และตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ทุกประการ

จากที่กล่าวมาข้างต้นก็จะเห็นว่าในช่วงปี 2563 ต่อเนื่องมาจนปี 2564 และจะเลยไปเข้าระยะเวลามาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยั่งยืนในปี 2565-2566 ตามนโยบายของ ธปท. การยึดถือในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และการรายงานในเครดิตบูโรก็เป็นแบบนี้มาตลอด เป็นไปตามข้อเท็จจริงทุกประการ แน่นอนว่าทุกฝ่ายต่างก็ยึดหลักตรงนี้มาตลอด แต่ว่าการจะให้กู้เพิ่มได้หรือไม่ มันก็ต้องกลับไปดูเรื่องที่มาของรายได้ ว่าจะมีมาไหม มากพอหรือไม่ จะมีมาแน่นอนขนาดไหนเป็นสำคัญ การบอกว่าถ้าปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่ให้กู้เพราะมีการติดรหัสมันคงจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งหมดมันมาจากเหตุและผลดังกล่าวข้างต้นครับ

ขอบคุณที่ติดตามนะครับ