เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : คนเราชอบฟังแต่จะไม่ได้ยินเวลารู้สึกว่าถูก “ขัดลาภ” : วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2564

คนเราชอบฟังแต่จะไม่ได้ยินเวลารู้สึกว่าถูก “ขัดลาภ”
ขัดลาภ​ คำสั้น ๆ​ เข้าใจง่าย ๆ​ ภาษาบ้าน ๆ​ เราคนไทยมักจะใช้เวลาที่ใครบางคนหรือตัวเรากำลังคิดว่า​กำลังจะได้รับประโยชน์​ก้อนใหญ่​ กำลังคิดว่าผลประโยชน์​ที่กะเก็งเอาไว้กำลังจะไหลมาเข้ากระเป๋าของเราอย่างชนิดไม่มีวันผิดพลาด​ หรืออยู่ในระหว่างที่จิตใจกำลังฮึกเหิมเมื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ​อะไรบางอย่างแล้วก็คิดว่าผลประโยชน์​ตอบแทนกำลังจะกลับมาหา​ ตัวอย่างมีมากมาย เช่น
(1) ลงทุนซื้อหุ้นเพราะมั่นใจในข่าวชัวร์​ ข่าวลึก​ ที่เชื่อว่าเจ้า​ของ​ลงมาจัดการให้มันไปในทิศทางเดียวกับที่ตัวเราลงทุนไป 
(2)​ ลงทุนซื้อที่เพราะมั่นใจว่าราคามันต้องพุ่งทะลุเพดาน เมื่อมีการตัดถนนสิบเลนผ่าน​เพราะตัวเราเชื่อว่าเรามีข่าววงใน​ วงลึก​ เป็นต้น
ทีนี้พอจะมีใครสักคนมาทัก​ มาท้วง​ มาพูดให้ได้ยินแบบเช็กความถูกต้อง​ ยืนยันแหล่งข่าวระหว่างความเชื่อ (ซึ่งก็เชื่อไปแล้ว)​ กับความน่าจะเป็นจริง​ เพราะคนทัก​ ก็ไม่ได้รู้ความจริงเหมือนกัน​ แต่ทักตามหลักการยืนยันที่ดี​ ที่ว่า​ “อันการจะลงทุนใด ๆ​ ผู้ที่คิดจะลงทุน​ ควรต้องศึกษา​ ข้อมูล​ให้ครบถ้วน​ รอบด้าน​ รอบคอบ​ก่อนการตัดสินใจ​ เหตุเพราะ​ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา​ถ้าไม่เหมือนใจเราคิด ก็คือเงินเรา​ ​ เงินครอบครัวเรา​ สิ่งที่เราหามาได้ยาก​ จะสูญเสีย​ไป” แต่ก็อีกนั่นแหละครับ​ ใครก็ตามยามนี้​ ยามที่คิดว่ามันใช่ไปแล้ว​ พอมีคนมาทักว่า​ โลภไปหรือเปล่า​ โลภมากลาภจะหายนะ​ อย่าประมาทเพราะว่าโลภนะ​ อาการตอบกลับก็จะมีตั้งแต่​ ไม่ฟัง​ เปลี่ยนเรื่องพูด​ พูดกระแทกกลับว่าไม่รู้จริง​ หนักหน่อยก็ชวนทะเลาะ​ และจะจบลงด้วยคำว่า​ จะมา “ขัดลาภ” เขาทำไม​ เงินก็ไม่ใช่ของตัวเอง​ ญาติพี่น้องก็ไม่ใช่​ ความหวังดีเอากองไว้หน้าบ้านนะ​ เดี๋ยว​รวยแล้วจะแบ่งค่าขนมให้​ อะไรประมาณ​นี้​ 
เหตุที่ผู้เขียนเกริ่นนำมาก็เพราะเหตุว่า​ มันมีปรากฏการณ์​แปลก ๆในระบบคิดของเราในเวลายามโรคระบาดนี้
1.เราตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่เราลงทุนมันคืออะไร
2.เราตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่เราลงทุนมันทำงานให้เกิดผลตอบแทนกลับมาสูง ๆ ได้อย่างไร
3.เราตอบไม่ได้ว่าการซื้อเข้า​ ขายออกนั้นเราใช้หลักเหตุผลอะไรนอกจากราคามันขึ้นก็ขาย​ เราตอบไม่ได้ว่าเหตุใดราคามันขึ้น​ หรือทำไมมันถึงราคาลดลงฮวบฮาบ​ 
4. เราตอบไม่ได้ว่าของที่เราซื้อแล้วเก็บไว้​ มันเก็บรักษากันอย่างไร​ จะหายได้ไหม ถ้าหายจะไปตามเอากับใคร​ และใครคนนั้น เขามีหน้าที่เก็บรักษาของ ๆ เราไว้อย่างดีหรือไม่
5. ตัวบทกฎหมาย​ที่จะปกป้องคุ้มครองเรา ถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อเข้า​ ขายออก​ หรือจัดเก็บรักษาไม่ดี​ 
6. เรารู้หรือยังชัด ๆ ว่าหน้าที่​ ความรับผิดของ​ คนซื้อ​ คนขาย​ ตัวกลางที่จัดให้มีการซื้อขาย​ ตำรวจที่จะมาสอดส่องดูแล​ให้เรียบร้อย​ สัญญา​มันถูกต้องบังคับได้ตามกฎหมายนะ
7. สุดท้ายนะครับ​ ถ้ามันเกิดอะ​ไรขึ้นมาจนทำให้เราไม่ได้ดังหวัง​ หรือเราคิดว่าถูกคดโกง​ ตัวเราจะสามารถบรรยายฟ้องให้ตำรวจได้ว่า​ ฉันซื้ออะไร​ มันมีราคาเท่าไหร่​ มันเก็บไว้ที่ไหน​ มันหายไป​ มันสูญเสียมูลค่าลงไป​ เพราะใคร​ ใครคนนั้นทำอย่างไร​ และการกระทำของเขาผิดสัญญา​อย่างไร​ หน้าตาสัญญา​เป็นอย่างไร​ รายละเอียด​ว่าอย่างไร​ เรียกว่าการบรรยายว่า​ การค้นหาลาภ​ ตัวของลาภ​ รายละเอียดของลาภ​ คุณค่าของลาภ​ ลาภมันหายไปอย่างไร​ เพราะใครทำ​ เพื่อปรับบทเข้ากับกฎหมายบ้าน ๆ เพื่อเอาผิดกับคนทำลาภหายได้อย่างไร​
ผู้เขียนตัดสินใจเขียนบทความชิ้นนี้เพราะได้อ่านบทความของท่านรองผู้ว่าการ​ธนาคารแห่งประเทศไทย​ที่ผู้เขียนขอนำบางส่วนมานำเสนอดังนี้นะครับ​ ความตอนหนึ่งของบทความท่านได้กล่าวไว้ว่า
….. วิกฤติการณ์การเงินของโลกกว่า 25 ครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20-21 ล้วนเกิดจาก “ความอยากได้ไม่รู้จักพอ” ของมนุษย์ทั้งสิ้น เช่น วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ที่เกิดจากภาวะฟองสบู่แตกในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ในปี 2550 เนื่องจากมีการเก็งกำไรซื้อขายบ้านในราคาสูงเกินความเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น เกิดการแปลงบ้านที่เป็นหลักประกันมาเป็นหลักทรัพย์ในรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อราคาบ้านลดลง หลักทรัพย์เหล่านั้นจึงดิ่งลดลงฮวบฮาบ กลายเป็นวิกฤติทางการเงินที่ร้ายแรงที่สุดของโลกในรอบ 2 ทศวรรษ เจ้าของบ้านในสหรัฐฯ กว่า 8.8 ล้านคน หรือร้อยละ 10.3 ตกอยู่ในสภาพที่มีหนี้มากกว่าราคาสินทรัพย์ และผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินของโลกประสบผลขาดทุนกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้บริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจ อันดับต้นของโลกต้องล้มละลาย… 
หากข้อคิดความเห็นในบทความนี้จะได้เป็นกุศลก่อให้หลาย ๆ ท่านที่ตระหนักว่า​ ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง​ โลภมากลาภจะหาย​ จงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทเป็นที่ตั้ง​ ก็ถือได้ว่า​ คำกล่าว​ “ขัดลาภ” หนนี้ได้บรรลุเป้าหมายของผู้เขียนทุกประการแล้ว… 
ขอบคุณ​ครับที่ติดตาม