เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : กติกา​ หน้าที่​ เป้าหมาย​ ผลลัพธ์​และผลกระทบ : วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 :

กติกา​ หน้าที่​ เป้าหมาย​ ผลลัพธ์​และผลกระทบ

ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนา​ กับอดีตนายธนาคารของรัฐ​ ผู้บริหารชั้นต้น​/ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลาง​ อดีตผู้บริหารกองทุน​ คนรุ่นใหม่เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร และหัวหน้าหน่วยงานวิจัย​ระดับประเทศ ได้เข้าไปฟัง​ Clubhouse ซึ่งมีบทสนทนาของคุณหมอข้าราชการน้ำดี​ สุภาพ​ มีภูมิรู้​ มีความเป็นแพทย์​ด้านระบาดวิทยาในทางปฏิบัติหน้างานจนถึงระดับการบริหารจัดการพื้นที่​ เข้ามาตอบคำถามปนอารมณ์​ของผู้คน​ที่ออกอาการเหวี่ยง แถมด้วยต้องอรรถาธิบาย​กับฟากฝั่งนักการเมืองที่หลุดใช้วาจาอันอาจเชื่อด้วยความสุจริตใจได้ว่าคุกคามความเห็นต่างแบบอ้างคิดแทนประชาชน​ (… คุณต้องฟังผมและกร้าวให้คุณหมอต้องขอโทษ)​ โดยที่ประชาชนแบบผมพยายามจะกดไมค์เข้าไปบอกว่า​ ท่านไม่ต้องคิดและพูดแทนผม​ อย่าอ้างผม​ ท่านไม่ใช่ตัวแทนของผม​ ผมคิดเองเป็น​ เมื่อได้กลับมานั่งตกผลึกข้อมูล​ด้วยตนเองวันที่ต้องอยู่บ้านเพราะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื่อโควิด-19 ใกล้แตะหมื่นคนแล้ว​ จึงเริ่มเขีบนบทความนี้​ ตามขอบเขตความรู้ที่ตนเองพอจะมีดังนี้​

1.ในการแก้ไขปัญหา​ทางการเงินและให้ระบบมันพอจะเคลื่อนไปปะทะสถานการณ์​ที่ไม่แน่นอนนั้น​ เราจะเจอกับการทำหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ​ แต่ทำไมตอนจะกลายเป็นผลลัพธ์​มันกลับไม่ได้ดังหวัง​ การทำหน้าที่ตามกติกาบวกความตั้งใจที่จะไปสู่เป้าหมายแต่ผลลัพธ์​ไม่เกิดขึ้น​ แรงกระแทกให้เกิดพลังกลับแป้ก

2. ตัวอย่างเช่น เกณฑ์การให้สินเชื่อของเราที่กติกากำหนดบอกว่าต้องดูรายได้ ต้องมี​ cash flow เป็นบวก​ พร้อมกับดูรายงานเครดิตบูโรว่ามีการผิดนัดชำระอย่างไร​ สถานะทางบัญชีของเดือนปัจจุบันในทุกบัญชี​เก่าของผู้ยื่นขอกู้ต้องใสสะอาดขนาดไหน มันทำให้การให้สินเชื่อในช่วงนี้แทบจะไม่ได้เลยในบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ​ บางกลุ่มที่กำลังหมดแรง​ (สีส้ม)​ หรือแม้แต่บางกลุ่มที่หมดลมยอมแพ้ไปแล้ว (สีแดง)​

3. อาการตามข้อ 2 มีความรุนแรงกี่มากน้อยก็พอจะคิดได้ในหมู่สถาบันการเงินที่รัฐเป็นเจ้าของเพราะคนทำงานนอกจาก
3.1​) เกิดอาการกลัว​ เกิดอาการเกร็งจากการที่ผู้ตรวจสอบจะให้ความเห็นในรายงานต่าง ๆ ที่อิงกติกาบนลายลักษณ์อักษร​ที่ร่างและใช้กันมาแต่ในอดีต​ ผลของการกลัวผู้ตรวจสอบให้ความเห็น​ไม่ว่าจะเป็น​ จำนวนครั้งการปรับโครงสร้างหนี้​ สมมุติฐาน​ของการประมาณการรายได้​ สถานะทางบัญชีสินเชื่อ​ ประวัติการชำระในอดีต ผลขาดทุนทางบัญชี​ในงบการเงินที่ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันมีความคลาดเคลื่อนพอสมควร เนื่องจากอาการกลัวเสียภาษีของคนค้าขาย​ ยิ่งถ้าเลยไปอิงถึงการให้สินเชื่อที่พึงคาดได้ว่าจะไม่ได้รับชำระคืนแล้วล่ะก็​ เป็นอันจบข่าว​ เพราะคนทำเรื่องสินเชื่อเขาก็กลัว กฎหมายมาตรา​ 157 (ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่) หรือเปล่าขณะที่คนตรวจก็กลัวว่าตนเองจะเจอ​ กฎหมายมาตรา 157​ เหมือนกันถ้าไม่เขียนกันตนเองออกมาก่อน​ สุดท้ายก็จะไม่มีใครยอมเอาตนเอง​ครอบครัว​อนาคตมา มีโอกาสเดือดร้อนแม้ลูกค้าจะได้รับประโยชน์ขึ้นมาบ้าง​ มันจึงมีแต่เรื่องของฉัน​ เรื่องของเธอ​ มันไม่มีเรื่องของเราในสมการแก้ไขความท้าทายที่รอเราอยู่ สถานการณ์​นี้จึงอาจเรียกได้ว่า​ เป็นไปตามยถากรรม​โดยแท้

3.2​) ผมขอยกเอาคำของนายธนาคารกลางซึ่งเป็นแนวหน้าในมาตรการสำคัญมาสื่อต่อกับท่านผู้อ่านดังนี้ครับ ความว่า… เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาของชาติที่ต้องเร่งแก้ไข วันนี้ถ้าเทียบกับช่วงก่อน ๆ ครัวเรือนและธุรกิจ เงินเก็บ/wealth แทบที่จะไม่เหลือแล้ว ถ้าเราไม่สามารถมองโลกให้เห็นตามข้อเท็จจริงว่า ระบบการให้สินเชื่อแบบ risk based impaired อยู่ในปัจจุบัน หลายเรื่องจะไปต่อไม่ได้​ หรือไปต่อได้ยากมาก ถ้าผู้คน/ธุรกิจไม่ได้เงินใหม่ตอนนี้ก็เหมือนคนไข้ที่ขาดเลือดรออยู่แค่ว่าจะชีพจรตก​ และช็อกวันไหนเท่านั้น
ถ้าเราจะช่วยชาติในตอนนี้ต้องพยายามทำให้สองเรื่องเกิดขึ้น (1) การปรับโครงสร้างหนี้และไกล่เกลี่ยหนี้อย่างเป็นธรรม (2) การผลักดันให้มีการให้สินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุดและทันท่วงที

3.3​) หลักประกัน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในระบบการเงินมาตั้งแต่ในอดีตที่แต่เดิมผู้กู้และผู้ให้บริการไม่รู้จักกันความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันนั้นมีไม่มาก หลักประกันกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ผู้ให้บริการยอมที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้กู้

ในบริบทที่ความเสี่ยงในระบบการเงินปรับสูงมากอย่างเช่นในช่วงโควิด-19 ระบาด ที่การประเมินความเสี่ยงหรือการคาดการณ์อนาคตอย่างชัดเจนและมั่นใจแทบจะไม่สามารถทำได้เลย หลักประกันกลับมามีความสำคัญมากอีกครั้งหนึ่งในฐานะที่จะเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจให้ผู้ให้บริการยอมที่ให้สินเชื่อใหม่แก่ผู้กู้

อย่างไรก็ดีในการนำหลักประกันของผู้กู้มาค้ำประกันเงินกู้ ผู้ให้บริการจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีเหตุมีผล และตรงไปตรงมา การประเมินราคาควรจะใช้ราคาที่สอดคล้องกับราคาตลาดที่ใกล้เคียงราคาที่แท้จริงมากที่สุด หรือจะต้องเป็นราคาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ในการประเมินราคาหลักประกันผู้ให้บริการจำเป็นต้องคำนึงถึงภาระที่จะเกิดขึ้นกับผู้กู้ด้วย และในกรณีที่ต้องมีการวางหลักประกันไว้กับผู้ให้กู้อาทิ โฉนดที่ดิน หรือ ทะเบียนรถ ผู้ให้บริการจำเป็นต้องจัดเก็บเอกสารสำคัญดังกล่าวไว้เป็นอย่างดีไม่ให้เกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ ในกรณีผู้กู้ได้ชำระหนี้ที่ได้ยืมมาในระดับหนึ่งแล้ว เช่นเดิมกู้เงิน 1 ล้านบาทและได้ใช้หลักทรัพย์ 1 ล้านบาท ประกันการกู้ยืม ต่อมาผู้กู้ได้ชำระหนี้มาอย่างต่อเนื่องจนหนี้เหลือ 2 แสนบาทหรือเพียง 20% ของหลักประกัน ในกรณีที่ลูกหนี้ต้องการสินเชื่อเพิ่มเติ่มลูกหนี้ต้องสอบถามผู้ให้บริการเป็นรายแรกก่อนว่าต้องการที่จะให้สินเชื่อเพิ่มเติมหรือไม่ ในกรณีผู้ให้บริการไม่ต้องการจะให้สินเชื่อเพิ่มเติม ผู้กู้สามารถนำหลักประกันดังกล่าวไปขอสินเชื่อจากแหล่งอื่น โดยสามารถนำไปจำนองลำดับ 2 ที่สถาบันการเงินอื่นได้ (ผู้เขียน​ : อันนี้ต้องไม่ให้ผู้บริการรายแรกขัดขวางหรือขัดข้อง​ ซึ่งมันก็มีประเด็นความยินยอม การยึดหน่วงของเจ้าหนี้เข้ามาเกี่ยวพัน)​ หรือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินสินเชื่อละมุนนุ่ม หรือ Soft loan ที่ออกมาช่วยเหลือได้​ โดยเมื่อผู้กู้ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ให้บริการตามที่ได้ตกลงกันแล้ว ผู้ให้บริการต้องคืนหลักประกันให้แก่ผู้กู้ทันที หรือโดยเร็วที่สุด ไม่เกินกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่สามารถคืนหลักประกันดังกล่าวให้แก่ผู้กู้ได้ ผู้ให้บริการจะต้องชดเชยความเสียหายหรือค่าเสียประโยชน์ที่ผู้กู้จะได้รับจากการนำหลักประกันดังกล่าวไปใช้ประโยชน์

การให้สินเชื่อโดยยึดเอาหลักประกันเป็นเกณฑ์​นั้น​ อาจเป็นที่ขัดอกขัดใจกติกา​ เพราะลึก ๆ ในใจเรากลัวผีปี​ 2540​ เรากลัวคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริง​ฯ ที่จะมาพิสูจ​น์ทราบความเสียหาย (ถ้ามีและถ้ามีคนร้อง) ซึ่งคนที่กลัวเขาก็มีสิทธิ์​ที่จะกลัวเหตุเพราะอีกสองสามปีก็เกษียณ​แล้ว​ จะทำไปเพื่อเป็นปมความเสี่ยงทำไม​ ตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้ว​ ผู้เขียนมองไปจึงเห็นแต่​ กติกา​ หน้าที่​ เป้าหมาย​ ผลลัพธ์​และผลกระทบ​ ที่แต่ละส่วนได้ลงมือทำตามความเชื่อของตนว่าดีและปลอดภัยที่สุด​ ทุกคนรวมทั้งผู้เขียนอาจจะคิดคล้าย ๆ กันว่า​ วิกฤติ​นี้ก็จะผ่านไปเหมือนวิกฤติ​อื่น​ มันก็ทำได้เท่านี้แหละ​ เดี๋ยวก็เคลียร์​กันไปได้เอง​ หนักกว่านั้นคือ​ ให้เวลามันเยียวยาทุกสิ่ง​ แต่ที่ต่างนิดหนึ่งในความคิดของผู้เขียนคือ​ การไม่ทำอะไรที่ต่างและมากพอคือเครื่องมือในการแก้ไข​ในเวลานี้​ ในเวลาข้างหน้าเราจะไม่เหลืออะไรให้เคลียร์​ เราจะเห็นแต่คนที่มีแผลเป็นทางเศรษฐกิจ​ เราจะเห็นแต่ความเหลื่อมล้ำ​ เราจะเห็นคนที่มีศักย​ภาพไปอยู่ต่างประเทศ​ ทำงานกับทุนต่างชาติ​ ความมั่นคงทางด้านอาหารของเราจะอยู่ในมือของกลไก​ supply chain ของใครก็ไม่รู้​ เราจะเห็น​ SME​s สายพันธุ์​ไทยแท้แบบ​ Stand Alone ที่พิการบาดเจ็บ​ แบกหนี้มาก​ สุดท้ายเราจะเห็นคนทำงานในเมืองกลับคืนถิ่นแต่ทำเกษตรกรรม​ได้ยาก​ ถึงยากมาก​เพราะทุนทางปัญญา​มันขาดวิ่นไปแล้ว​ สุดท้ายของสุดท้ายเราอาจจะได้เห็น​ วัฒนธรรม​ใหม่ในการขับเคลื่อนทุกอย่างของบ้านเมืองนี้ที่ใช้การด่า​ ด้อยค่ามันให้มากสุดด้วยการด่า​และด่า เพื่อให้บรรลุ​เป้าหมายที่ตอบโจทย์​ของตนเอง​ กลุ่มของตนเอง​ การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ​ สังคม​ และการเมืองด้วยการด่าทอ​ คือนวัตกรรม​ไทยที่ตัวผู้อ่านคาดว่าจะเห็นเป็นการถาวรในช่วงอยู่กับโควิด-19 ตอนนี้​ และโลกหลังโควิด​-19 ในวันหน้า

ขอบคุณ​ทุกท่านที่ติดตามครับ