เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : พ.ร.ก. มาแล้ว​ การ​ Jump Start เพื่อเดินธุรกิจต่อไปก็จำเป็น : วันจันทร์ที่ 12 เมษายน2564

พ.ร.ก. มาแล้ว​ การ​ Jump Start เพื่อเดินธุรกิจต่อไปก็จำเป็น

ในช่วงวันที่ 10 เมษายน 2564 ได้มีการเผยแพร่ผ่านเว็บ​ไซต์​ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564″ วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ตามที่เราได้ทราบความกันแล้วเมื่อวันที่​ 23​ มีนาคม​ 2564​ ซึ่งในวันนั้นมีทั้งมติคณะรัฐมนตรี​ การแถลงข่าวของกระทรวงการคลัง​ ธนาคารแห่งประเทศไทย​ สมาคมธนาคารไทย​ สมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ​ สภาหอการค้า​ สภาอุตสาหกรรม​ หากนับเวลาจากวันนั้นจนกฎหมายออกมาแล้ว​ จะพบว่ามีความเร่งด่วนมาก ๆ​ นอกจากนี้ในด้านสาธารณสุข​ก็ยังมีเรื่องทั้งดีและร้าย​ ที่ดีคือวัคซีน​มาเพิ่ม​ มีการตั้งคณะคุณหมอไปดูแลการที่เราจะมีวัคซีน​ทางเลือกจากภาคเอกชน (โรงพยาบาลเอกชน) ตัวเลขน่าจะไม่หนี​ 10 ล้านโดส​ ข่าวร้ายคือการแพร่ระบาด COVID-19 รอบใหม่ที่มีการพูดถึงสายพันธุ์​ที่แพร่ได้เร็ว​ ข่าวกึ่งดีกึ่งร้ายคือการเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลสนาม​ สถานการณ์​ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงคือ​ การเดินทางกลับภูมิลำเนาในเทศกาลสงกรานต์​ มาตรการในปี​ 2564​ เบากว่าปี​ 2563​ มาก ๆ​ เหตุเพราะถ้าทำแรง​ มันกระทบสูง​ ตามมาด้วยการเยียวยา​ ตามมาด้วยการใช้เงินภาครัฐ​ การก่อหนี้​ และอื่น ๆ อีกมากมาย​ ที่จะกระทบต่อการดำเนินนโยบาย​ การดำเนินธุรกิจที่มีความเปราะบางในเวลานี้​ 

ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านได้ลองดูข้อมูลท้ายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งเป็นเหตุว่าทำไมจึงต้องมีกฎหมายนี้​ มีทำไม​ มีแล้วต้องการแก้ปัญหาอะไร​ ความมุ่งหมายของสิ่งที่ออกมาบังคับใช้คืออะไร​ เพื่อให้เรา ๆ ท่าน ๆ​ เข้าอกเข้าใจการดำเนินนโยบายภาครัฐดังนี้

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม (ผู้เขียน​ : ขีดเส้นใต้คำว่ายาวนานกว่าที่คาดการณ์​ไว้เดิม)​ ส่งผลให้ความเสี่ยง ด้านเครดิตในระบบการเงินของประเทศปรับสูงขึ้นมาก

ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว (ผู้เขียน​ : ชัดเจนว่าภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) 12% น่าจะกลับมาได้ปี​ 2567 ตามการบรรยายของ​ CEO ค่ายแบงก์​สีเขียว)​ และต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ (ผู้เขียน​ : พ.ร. ก. เดิมมันปล่อยไปได้​ประมาณ​ 1.5 แสนล้านบาทจากวงเงิน​ 5 แสนล้านบาท​ มันติดขัดหลายเงื่อนไข)​ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางการเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติม แก่ผู้ประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับวัฏจักรการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก (ผู้เขียน​ : ครั้งนี้ทุกภาคส่วนทั้งสมาคมคนให้​กู้​ สมาคมคนขอกู้ ผู้คุมกติกา​ มารวมกันคิด​จนเป็นเงื่อนไขใหม่ที่น่าจะรับกันได้)​

รวมถึงมีมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ (พักทรัพย์ พักหนี้) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไข ซื้อคืนในราคาที่โอนไปและมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นกลับไปใช้ประกอบธุรกิจ (ผู้เขียน​ : ขายหลักประกันให้เจ้าหนี้ตามราคาที่ตกลงกันเพื่อหักกับหนี้​ ดอกเบี้ยก็ไม่เกิด​ เงินต้นก็ไม่ต้องส่ง จากนั้นหา​ Biz Model มาดำเนินธุรกิจโดยการขอเช่าทรัพย์สิน​ที่ตีโอนชำระหนี้ไปมาทำมาหากิน​ รักษาการจ้างงาน​ ครบกำหนดในอนาคตวันหน้าก็ไปกู้มาซื้อทรัพย์สิน​อันนี้คืนในราคาที่ตกลงกันวันนี้)​ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะ ขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้อันจะส่งผลต่อฐานะทางการเงินของสถาบันการเงิน และต่อเสถียรภาพ ทางการเงินและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง (ผู้เขียน​ : ถ้าไม่ทำก็จะมีหนี้เสียเยอะ หนี้เสียเยอะก็จะทำให้สถาบันการเงินอ่อนแอ​ คล้าย ๆ กับวิกฤติ​ปี​ 2540​ ที่สำคัญคือถ้าไม่มีโกดังมาเก็บหนี้เอาไว้​ มันก็ต้องบังคับตามสัญญาเงินกู้​ กลายเป็นทรัพย์สิน​รอการขาย​ ต้องกันสำรองการด้อยค่า​ ตามมาด้วยปัญหาอีกมากมาย​ จุดสำคัญอีกเรื่องคือ​ การถูกบังคับขายมาก ๆ​ ราคาทรัพย์สิน​จะตกลงมาก​ ไม่สะท้อนกับคุณค่า​ เป็นโอกาสให้คนมีเงิน​ ทุนต่างชาติ​ กดราคาซื้อให้ต่ำกว่าคุณ​ค่าทรัพย์สิน​ ที่เราเรียกว่าราคาโปรไฟไหม้ หรือ​ Firesale ปัญหาอีกเรื่องคือราคาที่ไม่สะท้อนนี้จะมีส่วนทำให้การประเมินราคาหลักประกันในสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วส่วนอื่น ๆ อาจถูกประเมินลดลง​ การกันสำรองต้องเพิ่ม มันก็อาจจะซ้ำเติมปัญหาให้ระบบสถาบันการเงินได้อีกด้วย)​

ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับการออก​ พ.ร.ก. ฉบับนี้เพราะเหตุของการทำเป็นเรื่องของการหารือกันแทบจะทุกขั้นตอน เช่น​ ทางฟากฝั่งคนขอกู้ก็ออกมายอมรับว่าดอกเบี้ยที่คิด​ 2% นั้นคนให้กู้คงได้ไม่คุ้มค่าความเสี่ยงในเวลานั้น​ จะคิดเพิ่มก็ได้ถ้ากู้ผ่าน​ แต่มันก็ทำไม่ได้เพราะกฎหมายมันล็อคไว้แล้ว​ สิ่งที่เป็นผลลัพธ์​ออกมาในครั้งนี้มันต่างจากกระบวนการทำแบบแล็บแห้ง​ ผลัดกันเขียน​ เวียนกันอ่าน​ ผ่านกันชม​ของชมรมคนดื้อ​ เอะอะอะไรก็ความลับ​ รู้ก็รู้ไม่จริง​ ตัวอย่างเช่น​ สูตรการชดเชยความเสียหาย​ คนเขาลือให้แซ่ดว่าบอกแล้ว​ ขอแล้วว่าอย่าไปยุ่งกับหลักประกันเก่า​ ก็ดันผูกสูตรจนเป็นเรื่อง​ เข้าใจว่าจนถึงวันนี้ก็คงยังเถียงกับตัวเองหน้ากระจกว่าฉันคิดถูก​ อันนี้ผู้เขียนรำพึงรำพันกับตัวเองนะครับ​ ไม่ได้ว่าใคร ต้องออกตัวไว้ก่อน​ เรามันชนชั้นผู้ปฏิบัติงาน​ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานเลี้ยงลูกเมีย.. 

จุดที่ผู้เขียนได้รับข้อมูลมาจากฟากฝั่งผู้ประกอบการในฐานะไปทำงานเป็นกรรมการในคณะกรรมการของสำนักงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริม​ สนับสนุน​ ช่วยเหลือ​ และแก้ไขปัญหาของ SME​s ก็พบว่า​ในการดำเนินตามกระบวนการ​ พักทรัพย์​ พักหนี้​นั้น​ เมื่อดำเนินการไปแล้ว​ อาจต้องรบกวนเงินกู้เพิ่มเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการ Jump Start ธุรกิจให้กลับมาให้บริการได้อีกครั้ง​ เพราะสภาพคล่องของผู้ประกอบการในช่วงตั้งแต่เมษายน​ 2563​ จนถึงเวลานี้​เมษายน​ 2564​ อาจจะเหือดแห้ง​ หรือหมดไป​ หรือมีไม่พอ​ การเพิ่มการจ้างงาน​ การปรับปรุงบางสิ่งอย่างอาจจำเป็น​ ดังนั้นถ้าได้​ Soft​ Loan มาอุดหนุน​อีกสักส่วนหนึ่งก็น่าจะช่วยทำให้การลุกขึ้นมาขยับเนื้อขยับตัว​ มันคล่องมากขึ้น​ เครื่องยนต์​ดับ ๆ ติด ๆ ไปหนึ่งปี จะทำให้มันเดินก็ต้องใส่ไฟกระตุ้น​ อะไรประมาณนั้น​ ขออย่าได้ติดขัดเรื่องหลักประกันเพิ่ม เพราะผู้เขียนเชื่อว่า​อัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้าน (Loan to Value หรือ LTV) ของทรัพย์สิน​ที่ตีเข้าโกดังพักทรัพย์​ พักหนี้​ น่าจะยังพอมีส่วนที่จะจัดสรรให้ได้บ้าง (มี​ room) ตามควรแก่กรณีก็ถือโอกาสนี้ขอความเมตตาจากสถาบันการเงินให้การช่วยเหลือ​ สนับสนุน​ธุรกิจ​ ที่กำลังเผชิญคลื่นลมทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงให้อยู่รอด​ปลอดภัย​ สามารถ​ตั้งลำได้ เพื่อจะได้กลับมาจ่ายดอกเบี้ยจ่ายเงินต้นให้กับท่านได้ในอนาคตนะครับ

ขอบคุณ​ที่ติดตามครับ​ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย​ ปี 2564​ หากล่วงเกินหรือผิดพลาดประการใดขอได้ให้อภัยด้วยนะครับ​