เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : เรายังพอมีหวังกับการหาสภาพคล่อง : ข้อเสนอบ้าน ๆ : วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 :

เรายังพอมีหวังกับการหาสภาพคล่อง : ข้อเสนอบ้าน ๆ

ผู้เขียนตั้งสติจะเขียนบทความเพื่อขอสนับสนุนโครงการของทีมงานธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ครั้งท่านผู้ว่าคนเดิม (ท่านวิรไท สันติประภพ) จนมาเริ่มปฏิบัติการ​ในยุคท่านผู้ว่าคนปัจจุบัน​ นั่นคือโครงการ​ Digital Factoring สรุปสั้น ๆ คือ

1.คนซื้อของคือกิจการขนาดใหญ่เล็กเราเรียกว่า​ Buyers ในบทความนี้ขอเน้นคนตัวใหญ่​ มีความน่าเชื่อถือสูง เช่น​ Modern​ trade Big corporate ระดับบริษัทจดทะเบียน ​(SET​ Top 100)

2. คนขายคือ​ Suppliers ซึ่งส่วนใหญ่เป็น​ SMEs เขาเหล่านั้นคือเส้นเลือดฝอยที่ส่งสิ่งต่าง ๆ เข้าไปรวมร่าง ประกอบกันเป็นสินค้าหรือบริการของ​ Buyers ในท้ายที่สุด​ ถ้าเรานึกถึงสินค้าของกินที่อยู่ในเซเว่น​อีเลฟเว่น ของเหล่านั้นมาจากการผลิตและส่งโดย​ SMEs มากมาย

3.คนขายเมื่อส่งของให้คนซื้อก็จะมีเอกสารตัวหนึ่งเรียกว่า​ Invoice หากของถูกคนซื้อตรวจแล้วผ่าน​ ก็จะเข้าสู่กระบวนการที่คนซื้อจะจ่ายเงินให้กับคนขายโดยมีระยะเวลาชำระเงิน​ 45 วันบ้าง​ 60 วันบ้าง​ 90 วันบ้าง​

4.เอกสารตามข้อ 3 นั้นหากคนขายต้องการเงินก่อน​ ก็นำไปขายลดกับตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงิน​ เมื่อถึงเวลาคนซื้อจ่ายมา​ ก็เอาเงินจากคนซื้อมาหักหนี้​ ส่วนต่างก็คืนให้คนขายไป​ เรื่องมันควรจะง่ายแบบนี้

แต่ว่า​

4.1 เอกสารที่เป็นหลักฐานการส่งของและเรียกรับเงินนั้นเป็นของจริงไหม ซื้อขายจริงไหม

4.2 เอกสารนั้นคนขาย​ ได้นำไปยื่นขอกู้กับสถาบันการเงินหลายแห่งหรือไม่​

4.3 คนซื้อของดึงเวลาตรวจสินค้าได้ไหม เช่น ควรเสร็จใน 1 สัปดาห์ก็ดึงเช็งเป็นตรวจ​ 3 สัปดาห์เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเร็ว

4.4 คนซื้อให้เขียนเงื่อนไขในเอกสารส่งของและเรียกเก็บเงินแบบว่า​ สงวนสิทธิ์​ที่จะคืนของได้ภายใน​ 3 เดือน​ สงวนสิทธิ์​นั่นโน่นนี่จนมันเกิดความไม่แน่นอนว่า​ ตอนสุดท้ายเวลาที่ถึงกำหนด​ สถาบันการเงินจะได้รับเงินจากคนขายแทนคนซื้อได้หรือเปล่า

4.5​ ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินคิดตอนรับซื้อ​ Invoice นั้นก็เล่นเสียแพง​ บางแห่งคนซื้อเป็นกิจการในครอบครัว​ คนขายก็เป็น​ SME​s ที่ค้าขายกันมา​ ตัวสถาบัน​การเงิน​ที่รับซื้อ Invoice จากคนขายก็คือลูกหลานของคนซื้อ​ ดังนั้น​ SMEs เลยเหมือนทาสในเรือนเบี้ยนั่นเอง​

5. โครงการของ​ ธปท. คือการสร้าง​ platform กลางที่จะใช้ในการตรวจสอบยืนยัน​ว่า​ การซื้อขายมีจริงไม่โกหก เอกสารการซื้อขายเพื่อเก็บเงินจากคนซื้อไม่ปลอม ไม่มีการเอาไปขายกับสถาบันการเงินหลายแห่งในเวลาเดียวกัน​ และถ้ามีสถาบันการเงินทั้งผู้เล่นในปัจจุบันกับพวกธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ​ เข้ามาร่วมวงด้วยมาก ๆ ก็จะทำใก้เกิดการแข่งขันในการให้สินเชื่อระยะสั้นเอาไปหมุนเวียนได้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่​ ส่วนสมาคมหรือสมาพันธ์​ของผู้ซื้อที่เป็น​ Big corporate ถ้าเข้ามาร่วมวงไพบูลย์​โดยการแชร์​ข้อมูล​ยืนยันว่ามีการซื้อจริง​ นิสัยใจคอพฤติกรรม​ของผู้ขายว่าเป็นอย่างไร​ กำหนดเรื่องการตรวจรับสินค้าอย่าเอาเปรียบ​ อย่าดึงเชิง ปลดเงื่อนไขข้อสงวนสิทธิ์​บ้าบอคอแตก​ออกไป กำหนดข้อความเป็นมาตรฐานแบบพอดี​ มีศีลมีสัจจะ​ มันก็จะเกิดความเอื้ออาทร​ เกื้อหนุนของคนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็กที่ค้าขายกันมา​ ปรับความสัมพันธ์​ให้มันเป็นแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึงป่า​ ราชสีห์​เป็นเพื่อนหนู​ ประมาณนั้น​ เพราะถ้าเราสามารถลดความเสี่ยงเรื่องข้อมูล​เรื่องเงื่อนความน่าเชื่อถือเอกสารลงมาได้จริง​ การพิจารณา​สินเชื่อของสถาบันการเงิน​ก็จะมุ่งไปที่​ credit cost ของตัวคนขายหรือ​ SMEs เท่านั้น​ ไม่ต้องไปเผื่อเรื่องอื่น ๆ

ในส่วนของธนาคารกลาง​ กฎกติกาที่พอจะผ่อนผันได้ไหม ถ้า​ Big corporate เขาออกแรงช่วย​ เอกสารหลักฐานมีความน่าเชื่อถือ​ การกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้าน (Loan to Value หรือ LTV) ให้มันสูงได้ถึง​ 90% ของมูลค่า​ Invoice ได้หรือไม่​ หรือเอาให้แรงก็ระบุไปเลยว่า​ สินเชื่อที่ปล่อยให้กับคนขายที่เป็น​ SMEs โดยผ่าน​ platform นี้​ มีการยืนยันแบบนี้​ มีมาตรฐานเอกสารที่สถาบันการเงินยอมรับ​แล้ว​ ให้นับการให้สินเชื่อนี้เป็นสินทรัพย์​เสี่ยงแบบเดียวกับสินเชื่อบ้านได้มไหม ดอกเบี้ยมันจะได้ลดลงมาได้บ้าง​ ยอมผ่อนเกณฑ์​การกันสำรองถ้าสถาบันการเงินต้องปล่อยกู้แบบนี้ให้กับคนขายของที่เป็น​ SMEs แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีประวัติการค้างชำระบ้างแต่ยังไม่เกิน​ 90 วันคือยังไม่เป็น​ NPL เหตุเพราะว่าแม้เครดิตทางการเงินจะไม่ใส หากแต่เครดิตทางการค้ายังดีอยู่เพราะว่ายังมีคนซื้อของอยู่พอสมควร ​เป็นต้น​

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนได้รับภาพจากการแชร์มาโดยไม่ได้ระบุว่าท่านผู้ใดเป็นผู้จัดทำ​ มันโดนใจผู้เขียนมาก​ เพราะนี้คือสภาพของผู้ขายของที่เป็น​ SMEs ในเวลานี้ ตอนนี้​ ตอนที่เราอยู่ในการแพร่ระบาดระลอกสาม

 

มันจะไม่จบเร็ว​ ไวรัสมันจะทำลายร้างลงไปลึก​ และเจ็บปวดกว่าสองครั้งแรก​ สภาพเศรษฐกิจ​ของเราถ้าโตได้เกิน​ 2% ในปีนี้ก็ต้องถือว่าบุญรักษา​ คุณพระคุ้มครองแล้วล่ะครับ​ เราทุกคนไม่ว่าจะทำหน้าที่ใด (อย่าแยกเป็นรัฐหรือเอกชน ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา)​ จะต้องช่วยคิด​ ช่วยขับเคลื่อน​ การช่วยเหลือ​ SME​s ไทยให้เหลือรอดจากคลื่นการระบาดระลอกใหม่นี้ไปให้ได้​

 เมื่อจิบกาแฟชมคลื่นแม่น้ำเจ้าพระยา​ นินทาผักตบที่ลอยไปมาว่าไม่สวยแล้ว​ ควรต้องลงมือแล้วครับ​ หลายเรื่องของบ้านเมืองนี้มันเป็นแบบเตะกระป๋องบนถนน เตะไปเรื่อย ๆ ไม่จบไม่สิ้น​ อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา ทั้งที่เราก็มองเห็นข้างถนนเต็มไปด้วยกองไฟเผาศพ​ SMEs​ เป็นที่น่าอนาถยิ่ง…