เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : จากผู้รู้ ผู้กำหนดนโยบาย เขามองอะไรและเขาเห็นอะไร : วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2564

จากผู้รู้ ผู้กำหนดนโยบาย เขามองอะไรและเขาเห็นอะไร

บทความนี้เกิดขึ้นมาในยามบ่ายแก่ ๆ ของวันเสาร์หลังวันพระใหญ่​ที่ผ่านมา​ ปกติใครต่อใครก็จะพูดถึงการพาญาติผู้ใหญ่ พาครอบครัวไปทำบุญ ผู้เขียนกลับพบว่าวัดใหญ่ ๆ หลายแห่งงดการจัดงานบุญแบบที่เคยเป็นมา สำหรับใครที่ไปก็จะเจอกับมาตรการทางสาธารณสุขแบบเข้มข้น อากาศปลายเดือนกุมภาพันธ์​ ต้นเดือนมีนาคม 2564 เตือนว่าปี 2564 นี้ “ร้อนเป็นไฟ ละลายตรงเธอแน่นอน” เมื่อได้นั่งทานน้ำมองดูต้นไม้ในสวนพร้อมกับอ่านบทความ ข้อคิดความเห็นต่าง ๆ ก็มาสะดุดกับสิ่งที่บุคคลระดับผู้รู้ ผู้กำหนดนโยบาย​ ที่มาพูดถึงอนาคต ในยามที่ผู้คนกำลังสาระวน กับการ​ลงทะเบียน​ ม.33 เรารักกัน เพื่อรับการเยียวยาจากผลกระทบของการแพร่ระบาด​โควิด-19 ในมุมมองของผู้เขียน ทุกวันนี้เราเจออยู่สามเรื่อง

(1) เรามีความรู้จากประสบการณ์​ แต่เอามาใช้ไม่ค่อยจะได้ในปัจจุบัน

(2) เรารู้ตัวว่าเราไม่รู้อะไร เราจึงขนขวายไปหาคนที่รู้เพื่อจะได้รับสิ่งที่เราขาดเอามาเติมเต็มศักยภาพของตัวเราในการนำไปใช้แก้ไขปัญหา ซึ่งก็ต้องระวังว่าจะไปเจอชุดความรู้ที่ล้าสมัยไปแล้ว

(3) เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร​ เพราะทุกสิ่งที่เกิดมาในเวลานี้เช่นลูกค้าหายไป รายได้หายไป ทำไมคนนั้นขายได้แล้วทำไมเราขายไม่ได้ อยู่ดี ๆ ก็มี clubhouse ขึ้นมาเป็นชุมทาง​ความรู้​ ถกเถียง​ พูดคุย​ สนทนา​ และเกิดความรู้ในทันทีทันใด​ คนที่มีแก่นสาระ สามารถสื่อสารออกมาได้ จนทำให้พวกกระพี้ พวกมีแต่เปลือก ภาพดีทีเหลวต้องถอยกรูดออกจากเวทีที่ตนเองชอบจ้อได้อย่างน่าพิศวง

ท่านแรกที่ผู้เขียนประทับใจและใคร่นำมาบอกต่อคือคุณเรืองโรจน์ พูนผล หรือคุณกระทิง CEO ของ​ Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) จากฟากฝั่งธนาคารกสิกรไทย ท่านบอกไว้น่าคิด (ผู้เขียนนำมาบางส่วนที่คิดว่าสำคัญ) ว่าปี ค.ศ. 2021-2030 : เกิดเป็น Continuous Disruption คือการ Disruption อย่างต่อเนื่อง และต่อมาเรียกว่า Complete Overhaul of World Economy ผู้เขียนเห็นด้วยว่ามันเกิดอย่างนั้นจริง ๆ ผู้ที่เคยกุมเงื่อนไขในอดีตอยู่ดี ๆ กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปเฉย ๆ มีคนใหม่เข้ามาในตลาดมากมาย เปลี่ยนหน้ามาเจ๊งก็เยอะ แต่ที่มาแรงแซงโค้งก็ไม่น้อย มันน่าจะเกิด Overhaul of World’s Economy คือการยกเครื่องใหม่ในทุก ๆ sector ของ World Economy

โดยช่วงปี 2024-2025 จะเป็นช่วงจุดหักศอกแรกของการเปลี่ยนแปลง และปี 2028-2030 จะเป็นช่วงจุดหักศอกรอบสองและถ้าหากตัวเราหรือองค์กรยังไม่เปลี่ยน ตอนนั้นหลาย ๆ คนอาจจะเปลี่ยนอะไรไม่ทันแล้ว (จุดนี้แหละที่ผู้เขียนคิดว่า เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร แล้วก็ไม่ทำอะไร ทำแบบเดิม ๆ แล้วคิดว่าจะได้ผลแบบใหม่ ๆ มันจึงน่าจะถึงจุดจบแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว) ระยะของการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแบบ Exponential Change

Digitization : เกิดการ Transform ข้อมูลออกมาเป็น Digital ตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะถ้าข้อมูลมันเกิดแล้วถูกอ่านด้วยคอมพิวเตอร์​ได้​ ไม่มีต้นทุนในการจัดเก็บหรือเปิดเผย มันจะนำมาซึ่งทะเลสาป ทั้งเหมืองให้คนขุดหาความรู้เรื่อง รู้จริง รู้ใจ​ ใช่เลยกับความต้องการของคนที่พร้อมจะจ่าย

Deception : ดูหลอกตาดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่สักพักเกิดการหักศอกเลยเป็น Disruption ผู้เขียนเห็นแจ้งจริง ๆ จา​กปรากฏการณ์​ของการแพร่กระจายโควิด-19 ตัวอย่างเช่นการเกิดม็อบ การเกิดกระแส การสื่อสารแบบคนแปดพันคนบวกเปิดห้องถ่ายทอดต

Demonetization : เงินหายไปจากผู้เล่นดั้งเดิมเพราะถูก Disruption ผู้เขียนเห็นได้ชัดเจน เราสามารถสั่งปาท่องโก๋แสนอร่อยจากพัทยามากินที่กรุงเทพฯ ด้วยการขนส่งภายในหนึ่งวัน มีคู่มือการทอดโดยตู้ทอดไร้น้ำมัน แทนที่เราจะเดินไปตลาดเฉพาะตอนเช้าแล้วซื้อมาทานกับกาแฟ เราสามารถสั่งกาแฟคั่วกลาง บดหยาบ จากผู้ผลิตตรงบนดอยอินทนนท์เอามาทำกาแฟดริปทานเพียงทำผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่​ แบบไม่เยื้องกรายออกจากบ้านเหตุเพราะข้อต่อไปที่คุณกระทิงกล่าวถึงคือ Democratization: ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น การใช้มือถือ ไม่เชื่อท่านก็ลองคุยกับผู้สูงวัยที่ใช้ App​ คนละครึ่งทานข้าวแกงสิครับ

Deception : หลังโควิด-19 จะทำให้ถูกสั้นลงเยอะมาก ไม่หลอกตาแล้ว แต่เป็นการโผล่มาถล่มเราเลย จุดนี้แหละที่ผู้เขียนกังวล เพราะอะไรก็เกิดได้ เกิดแล้วกระแทกแรง เกิดแล้วจะทำให้ไม่เหมือนเดิมจะไม่สามารถกลับไปทางเดิมได้ ต้องขอขอบคุณ คุณกระทิงมากที่ส่งสารสำคัญให้เราได้ตระหนัก ระหว่างที่เราตระหนกกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

สำหรับท่านที่สองก็คือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน​ ที่ได้ให้ข้อมูลไว้ในวารสารพระสยาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1/2564 (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) ความสำคัญตอนหนึ่งว่า… ก้าวต่อไปของประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ว่า

“ถ้าเรามองวิกฤติโควิด-19 เป็นอุปสรรคและแค่รอจนมันผ่านไป สุดท้ายเราก็ต้องเดินต่อไปในเส้นทางเดิมแค่ถึงที่หมายช้าลง หรือยิ่งไปกว่านั้นคือที่หมายจริง ๆ อาจเปลี่ยนไปแล้ว แทนที่เราจะพยายามไปต่อทางเดิม ถ้ามองรอบ ๆ ตัวเราอาจเห็นหนทางใหม่ หรือจุดหมายใหม่ในโลกใหม่หลังโควิด-19”

ดังนั้นเราจึงควรใช้สถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสที่เราจะถามตัวเองอีกครั้งว่าธุรกิจเราและประเทศไทยจะเดินไปทางไหนต่อ จะ reset อะไรใหม่ หรือจะปรับฐานปรับปรุงอย่างไร โดยใช้บทเรียนจากวิกฤติมาสร้างจุดเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น…

ทุกสิ่งในโลกล้วน เกิดมา ตั้งอยู่​ เสื่อม​ลง​ ดับ​ไป​ เป้าหมายระดับปัจเจกทุกคนรวมทั้งตัวผู้เขียนลึก ๆ แล้วเราแค่ต้องการ เกิดมา​ แก่ลง (ไม่)​ เจ็บ และตายไปอย่างสงบ ไม่มีใครอยากมีอาการ แก่ก่อนรวย​ ป่วยก่อนตาย ดังบทความของนักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนเอาไว้ ส่วนคำว่ารวยมิได้หมายถึงล้นฟ้า คดโกงเขามา ฉ้อฉลระเบียบกติกาเขามาแต่หมายถึงให้มีสติว่ารวยเท่าที่เรามี​ มีเท่าที่เราจำเป็น ตามฐานานุรูป

ขอบคุณที่ติดตามครับ